

อยากรอดต้องรู้ ! Megatrend เปลี่ยนชีวิตคนไทยภายในปี 2030 เพราะอนาคตมาเร็วกว่าที่คิด
Lifestyle / Trends
15 Jan 2025 - 4 mins read
Lifestyle / Trends
SHARE
15 Jan 2025 - 4 mins read
อีก 5 ปี นับจากวันนี้ ชีวิตคนไทยจะเป็นอย่างไร ?
นี่คือคำถามสำคัญที่ LIVE TO LIFE อยากชวนทุกคนมาหาคำตอบร่วมกัน ผ่าน ‘เทรนด์แห่งโลกอนาคตที่น่าจับตามอง’ หรือ ‘Megatrend’ ซึ่งบอกให้รู้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับโลกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ที่จะส่งผลกระทบมาถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
ทุกคำตอบจากการมองไปในอนาคต จึงเป็นทั้งแรงขับเคลื่อนชีวิตและแรงบันดาลใจให้คนไทยสามารถปรับตัวได้ก่อนใคร ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่รอดแต่จะทำให้อยู่ได้สบาย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
รู้ Megatrend 2030 ไว้ ! ย่อมดีกว่า
เชื่อไหม ? ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ 5 ปี ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวจะถูกพัฒนาและถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเสมอ ด้วยความล้ำหน้าของสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เท่ากับว่าในอนาคตจะไม่มีสิ่งใดคงอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และอาชีพการงานของคนไทยก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ The Future is Faster Than You Think เขียนโดย ปีเตอร์ ไดมอนด์ (Peter Diamond) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้ความรุดหน้าของอนาคตเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด จากการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีความก้าวกระโดดของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่งเวลาให้ทุกคนต้องหันมาใส่ใจความเป็นไปของโลกและชีวิตในอนาคตอย่างจริงจัง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม เทคโนโลยี และชีวิต ที่สร้างความท้าทายใหม่ ๆ อยู่ตลอด ทำให้ผู้คนต้องหาหนทางให้ตัวเองใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตได้อย่างราบรื่น โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
เมื่อ ‘โลกอนาคต’ ไม่ใช่เรื่องของวันพรุ่งนี้หรือเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า คนไทยจึงต้องรู้เท่าทันความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างความพลิกผันให้ชีวิตในวันข้างหน้าได้
นั่นหมายความว่า ยิ่งคนไทยรู้ Megatrend เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้เตรียมความพร้อมได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ
- สร้างความเข้าใจในทุกความเป็นไปของโลก เพราะทุกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ล้วนแล้วแต่ต่อยอดมาจากสิ่งที่มีอยู่ก่อน
- สร้างความสามารถให้คาดการณ์อนาคตได้ ทำให้มองเห็นแนวโน้มและทิศทางของกระแสความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
- สร้างโอกาสที่ดีกว่าให้ชีวิตในอนาคต โดยเฉพาะโอกาสทางธุรกิจและอาชีพการงาน สามารถวางแผนชีวิต ตัดสินใจ และปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้ทันท่วงที
หากทุกคนเข้าใจภาพรวมและความสำคัญของ Megatrend แล้ว ต่อไปนี้คือข้อมูลเจาะลึกเทรนด์แห่งโลกอนาคต ซึ่ง LIVE TO LIFE ได้สรุปออกเป็น 3 ด้านที่น่าจับตามอง และควรเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่วันนี้
Megatrend อนาคตไลฟ์สไตล์คนไทย
มองหาชีวิตที่ดีที่ใช่ในสังคมยุคดิจิทัล
สังคมไทยในอนาคตจะเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ เต็มรูปแบบ โดยมีความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย 6G เป็นตัวเร่ง ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ดิจิทัล ทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายขึ้น
ถึงอย่างนั้น ยิ่งสังคมไทยก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากเท่าไหร่ คนไทยจะยิ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตมากตามไปด้วย เพราะมอง ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ (Well-being) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้ยั่งยืน มากกว่าแค่ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI
มีความเป็นไปได้สูงว่า โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของคนไทยในปี ค.ศ. 2030 จะดียิ่งกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค และระบบคมนาคม เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยการจัดอันดับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index หรือ SPI) ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 58 จากทั้งหมด 170 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นจากปีก่อน 13 อันดับ และยังคงครองอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น
เทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ
- ยกระดับการใช้จ่ายไร้เงินสด (Bio-payment) ด้วยการใช้อัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะคน เช่น เค้าโครงใบหน้า ลายมือและตำแหน่งเส้นเลือดทั้งฝ่ามือ เพื่อทำธุรกรรม ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขั้นสูงให้กับทุกการใช้จ่าย เพราะเป็นการยืนยันตัวตนที่ลอกเลียนแบบไม่ได้ ปัจจุบันบัตรเครดิต Visa ได้พัฒนาระบบ Pay by Plam แค่สแกนฝ่ามือก็จ่ายเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องรูดบัตร โดยเริ่มทดลองใช้งานแล้วในบางประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
- เมืองที่ดีต้องให้ทุกคนได้เดิน (Walkable City) ไปไหนไม่จำเป็นต้องนั่งรถ แต่เปลี่ยนมาเดินแทน เพราะมีทางเท้าที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความสะดวกและความปลอดภัยให้ผู้คนทั่วไปและผู้ใช้วีลแชร์ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดบนทางเท้าและท้องถนน ติดตั้งเสาอัจฉริยะที่ให้ความสว่างยามค่ำคืนและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ทุกคนใช้งานได้ฟรีในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
- เช่ามากกว่าซื้อขาด (Rental Lifestyle) ภายในเวลา 5 ปีนับจากปัจจุบัน ราคาที่อยู่อาศัยจะแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์แบบ DINK และ DINKWAD คือ คู่รักที่เลี้ยงสัตว์แทนการมีลูก การเช่าอยู่จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนซื้อ และมีเงินเหลือใช้ไว้วางแผนชีวิตบั้นปลาย
- ชีวิตบั้นปลายที่เลือกได้ (Nursing Home) เมื่อไม่มีลูกและไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีบ้าน ก็อาจขายทิ้ง เพราะเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราแทน ซึ่งในอนาคตจะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาก ข้อดีคือมีบริการทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเพื่อไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จึงให้ความรู้สึกอุ่นใจและสบายใจมากกว่าอยู่บ้านตามลำพัง
แม้ว่าอนาคตไลฟ์สไตล์คนไทยจะมีเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต เสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ชีวิตขาดไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยังคงมีโอกาสเข้าถึงได้น้อยกว่า
Megatrend อนาคตสุขภาพคนไทย
ดูแลและรักษาตรงจุดด้วยการแพทย์ไฮเทค
ในปี ค.ศ. 2030 สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ หรือ Super Aged Society อย่างสมบูรณ์ เพราะทั่วประเทศมีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) รวมกันมากกว่า 20% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทรนด์กินอาหารเป็นยา การออกกำลังกาย และการดูแลตัวเองเพื่อชะลอวัย ที่ช่วยสร้างการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ทำให้คนไทยมีอายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ เพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่า 81 ปี ส่วนเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่า 75 ปี
ในทางกลับกัน ปัญหาสุขภาพที่ต้องระวังในอนาคต คือ โรคทางเดินหายใจ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงละเลยการดูแลตัวเอง ทำให้ป่วยเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ Non-Communicable Diseases) เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารที่มีรสจัด กินอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ
แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้คนไทยโดยรวมเข้าถึงการรักษาและมีสุขภาพดีขึ้นด้วย ‘การแพทย์ไฮเทค’ ซึ่งผสมผสานระหว่างหุ่นยนต์ ระบบเซ็นเซอร์ และประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ ช่วยยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เทรนด์สุขภาพที่น่าสนใจ
- ผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะ (AI Imaging & Diagnostics) มีเครื่องมือและระบบปัญญาประดิษฐ์ ช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ปัจจุบันบริษัท Google ได้พัฒนา AI ที่สามารถตรวจพบโรคมะเร็งและเนื้องอกในปอดและเต้านม รวมถึงคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังและดวงตาได้เทียบเท่ากับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- อุปกรณ์ติดตามสุขภาพ 24 ชั่วโมง (Wearable AI) คนไทยมีตัวเลือกอุปกรณ์ให้สวมใส่มากขึ้น ทั้งนาฬิกา แว่นตา เสื้อ รองเท้า และเครื่องประดับที่มีไมโครโฟนและเซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด ทำงานพร้อมแอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนผู้ใช้ได้ เมื่อระบบพบความผิดปกติบางอย่าง หรือในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แพทย์สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุความป่วยไข้และให้การรักษาได้ตรงจุด ช่วยแพทย์ประหยัดเวลาที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้มากถึง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- อยู่ที่ไหนก็พบแพทย์ได้ (Telehealth & Telemedicine) การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้บริการทางการแพทย์ผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมาก ในอนาคตมีระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยขอคำปรึกษาแพทย์ได้จากทุกที่ทุกเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวกให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และลดจำนวนคนมาโรงพยาบาลต่อวัน
- ยาที่ออกแบบมาเฉพาะคน (Personalized Medicine) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพช่วยให้แพทย์และเภสัชกรเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับตัวคนไข้และโรคที่เป็น โดยเฉพาะโรครักษายากอย่างมะเร็ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคแบบมุ่งเป้าและลดผลข้างเคียงให้ได้มากที่สุด เช่น ยายีนบำบัด (Gene Therapy) โดยดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนลำดับ DNA ที่ผิดปกติซึ่งเป็นต้นตอของโรคให้เป็นปกติ
ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยตั้งเป้าในการเป็น Medical & Wellness Hub หรือศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพแห่งสำคัญของโลก ที่ให้บริการทางแพทย์แบบครบวงจร ทั้งรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพร่างกาย สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) เป็นความมุ่งมั่นสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ซึ่งประเทศไทยปักธงแห่งความสำเร็จเอาไว้ในปี ค.ศ. 2030
Megatrend อนาคตอาชีพการงานคนไทย
เมื่อ AI สร้างความท้าทายใหม่ในโลกการทำงาน
McKinsey Global Institute สถาบันวิจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลก ได้คาดการณ์ตัวเลขเอาไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 จำนวนงานมากถึง 375 ล้านตำแหน่งทั่วโลกจะหายไปเพราะถูกแทนที่ด้วย ‘ระบบอัตโนมัติ’ ของ AI เท่ากับว่านับจากวันนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องมีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน โดยกลุ่มคนทำงานที่ตกอยู่ในความเสี่ยงได้รับผลกระทบที่สุด คือ คนทำงานที่เน้นใช้แรงกายทำงานเดิมซ้ำ ๆ เป็นหลัก มากกว่างานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถขั้นสูง และทักษะเฉพาะทาง
นอกจากนี้ มุมมองต่องานของคนไทยในอนาคตยังเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน คือ ไม่สนใจค่านิยมรักมั่นในองค์กรที่ทำให้คนรุ่นก่อนเลือกทำงานที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน ๆ จนเกษียณอายุ แต่หันมาให้ความสำคัญกับลักษณะงานและสิ่งตอบแทนที่จะได้รับมากกว่า โดยเฉพาะรายได้ที่มั่นคง สวัสดิการที่ครอบคลุม และโอกาสเติบโตในสายงานนั้น ๆ
คนทำงานในอนาคตจึงเน้นเลือกงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองมากขึ้น เลือกองค์กรที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับคุณค่าที่ตนยึดถือ และมองหาการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัดจนเกิดเป็นความเครียด เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนงานใหม่ ก็สามารถตัดสินใจได้ทันที
เทรนด์การงานที่น่าสนใจ
- บอกลางานซ้ำซากจำเจ (AI & Robotic Automation) ถึงเวลาที่ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาบุกตลาดแรงงานอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุผลที่สามารถสร้างกำลังผลิตได้เร็วกว่าและมากกว่า รวมถึงสร้างความมั่นใจได้ว่าไม่มีความผิดพลาดที่เกิดจากตัวบุคคล (Human Error) ธุรกิจในอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต และการบริการ จึงเลือกใช้เครื่องจักรทำงานแทนคน
- แรงงานแห่งอนาคต (Future Jobs) เกิดการจ้างงานในอาชีพใหม่ ๆ ที่ข้องเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะ AI Engineer หรือวิศวกรผู้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และ Cybersecurity Specialist หรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลและตรวจสอบระบบให้ปลอดภัย
- ยุคทองของฟรีแลนซ์ (Gig Economy) โลกของการทำงานในอนาคตจะเน้นงานชั่วคราวมากกว่างานประจำ เพราะบริษัทส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายลดจำนวนสัญญาจ้างงานแบบถาวรด้วยเหตุผลทางการเงิน ทำให้เกิดการจ้างงานพาร์ตไทม์ งานฟรีแลนซ์ และงานสัญญาจ้างในระยะเวลาสั้น ๆ รวมถึงตลาดแรงงานให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาน้อยลง แต่จะมองหาคนทำงานที่มีประสบการณ์ ผลงาน และทักษะที่ตรงกับเป้าหมายของงานมากกว่า โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น ๆ
- เกณฑ์เกษียณที่เปลี่ยนไป (Phased Retirement) การเกษียณของอาชีพในอนาคต จะไม่ได้ใช้อายุเป็นตัวกำหนดอีกต่อไป เมื่อคนมีอายุยืนยาวขึ้น และสามารถเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา จึงมีแนวโน้มว่าคนทำงานส่วนใหญ่ จะเลือกเกษียณจากเป้าหมายในชีวิต โดยเฉพาะเป้าหมายทางการเงิน ดังนั้น หากมีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ต่อให้มีอายุมากแต่ยังทำงานต่อไปได้สบาย
อาชีพการงานของคนไทยในปี ค.ศ. 2030 จึงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและภัยคุกคาม นี่คือความท้าทายใหม่ในโลกของการทำงานที่ทุกคนต้องรีบหาหนทางรับมือให้ไวหรือนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้น เพราะคนที่ปรับตัวไม่ทันอาจได้รับผลกระทบไม่มาก็น้อย
อ้างอิง
- กรมกิจการผู้สูงอายุ. สถานการณ์และแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2556-2573. https://bit.ly/3PlpuqP
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ. อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย. https://bit.ly/40ljftn
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ. อนาคตของการใช้ชีวิตในบริบทประเทศไทย พ.ศ. 2573. https://bit.ly/40jzkje
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ. อนาคตของการทำงานในบริบทประเทศไทย พ.ศ. 2573. https://bit.ly/4j3hPeg
- Google Health. AI Imaging & Diagnostics. https://bit.ly/422GxoV
- McKinsey Global Institute. Jobs Lost, Jobs Gained: Workforce Transitions in a Time of Automation. https://bit.ly/4j7FURl
- Social Progress Imperative. Global Social Progress Index. https://bit.ly/3BZVe1x