![](/_next/image?url=https%3A%2F%2Fstrapi.livetolife.thailife.internal%3A1337%2Fupload%2Fimages%2F985cef98f5daa0713f04.jpg&w=3840&q=75)
![](/_next/image?url=https%3A%2F%2Fstrapi.livetolife.thailife.internal%3A1337%2Fupload%2Fimages%2Ffebf7b76e106bef1ab45.jpg&w=3840&q=75)
ก่อนหมดปีมี ‘ประกันลดหย่อนภาษี’ หรือยัง ? เคล็ดลับซื้อประกันให้ตอบโจทย์ ทั้งคุ้มค่าและคุ้มครอง
Wealth / Money
09 Dec 2024 - 3 mins read
Wealth / Money
SHARE
09 Dec 2024 - 3 mins read
จะเลือก ‘คว้าโอกาส’ หรือ ‘เสียโอกาส’ ไปอีกปี
เคยไหม ? พอเห็นตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มแล้ว ยิ่งทำให้นึกเสียดายว่า ‘รู้อย่างนี้ น่าจะรีบวางแผนภาษี’ โดยเฉพาะตัวเลือกลดหย่อนภาษีในรูปแบบ ‘ประกันชีวิต’
การเลือกซื้อประกันเป็นหนึ่งในวิธีจัดการภาษีที่น่าสนใจและแตกต่างจากวิธีอื่น ๆ เพราะคนวัยทำงานจะได้รับความคุ้มครองควบคู่กับสิทธิลดหย่อนภาษี
ถึงตอนนี้ หากใครยังไม่ได้ลงมือวางแผน ก็ไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่ทันการณ์ เพราะยังอยู่ในเดือน ‘ธันวาคม’ ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการวางแผนลดหย่อนภาษีก่อนหมดปี เท่ากับว่ายังพอมีเวลาเหลือให้ทุกคนได้วางแผนภาษีให้รัดกุม
ในบทความนี้ LIVE TO LIFE ได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกซื้อ ‘ประกันเพื่อลดหย่อนภาษี’ มาสรุปเป็นเคล็ดลับควรรู้ 3 ข้อ เหมาะสำหรับคนทำงานที่กำลังเตรียมตัวซื้อประกันให้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความคุ้มครองและความคุ้มค่า รับรองว่าเมื่อถึงเวลายื่นภาษี จะไม่มีใครต้องนึกเสียดายภายหลังเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
เคล็ดลับควรรู้ข้อ 1 :
ซื้อประกันให้ตอบโจทย์กับเงินได้
และจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม
กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หากมีรายรับเกิน 25,833.33 บาทต่อเดือน หรือมีรายรับรวมตลอดปีเกิน 310,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี และอาจต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม โดยเกณฑ์การเสียภาษีในปัจจุบัน คิดอัตราภาษีแบบขั้นบันไดจากเงินได้สุทธิ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ขั้น ดังนี้
- ขั้น 1 : เงินได้สุทธิน้อยกว่า 150,001 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
(ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม) - ขั้น 2 : เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท) - ขั้น 3 : เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 20,000 บาท) - ขั้น 4 : เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 15%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 37,500 บาท) - ขั้น 5 : เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 20%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 50,000 บาท) - ขั้น 6 : เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 25%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 250,000 บาท) - ขั้น 7 : เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 30%
(ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นนี้คือ 600,000 บาท) - ขั้น 8 : เงินได้สุทธิมากกว่า 5,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 35%
ส่วนใครที่ยังสงสัยว่า ‘เงินได้สุทธิ คืออะไร ?’ LIVE TO LIFE แนะนำให้เริ่มต้นอ่านบทความ รู้ทันภาษีมีแต่ได้ ! ก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านบทความนี้ต่อ เพราะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องกัน
สำหรับการคิดคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันได ให้ดูว่าจำนวนเงินได้สุทธิอยู่ในขั้นไหน จากทั้งหมด 8 ขั้น สมมุติว่า นางสาว A มีเงินได้สุทธิเท่ากับ 440,000 บาท ถึงเกณฑ์ขั้น 3 นางสาว A ต้องแทนค่าตัวเลขตามลำดับต่อไปนี้ เพื่อคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม
- ลำดับ 1 : เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า
แทนค่าตัวเลข : 440,000 - 300,000 = 140,000 บาท - ลำดับ 2 : ผลลัพธ์ลำดับ 1 × อัตราภาษีขั้นที่เงินได้ถึงเกณฑ์
แทนค่าตัวเลข : 140,000 × 10% = 14,000 บาท - ลำดับ 3 : ผลลัพธ์ลำดับ 2 + ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดในขั้นก่อนหน้า
แทนค่าตัวเลข : 14,000 + 7,500 = 21,500 บาท
สรุปได้ว่า นางสาว A มีเงินได้สุทธิเท่ากับ 440,000 บาท ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 21,500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างเยอะ นั่นหมายความว่า ยิ่งถ้าใครมีเงินได้สุทธิมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่านางสาว A ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเต็มจำนวน 21,500 บาท เพราะต้องนำไปหักลบกับ ‘ภาษีหัก ณ ที่จ่าย’ ซึ่งถูกหักจากเงินเดือน หรือรายได้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เหมือนเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าเอาไว้ หากหักลบกันแล้ว ได้ผลลัพธ์ว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีจำนวนมากกว่าภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม นางสาว A จะได้รับเงินคืน เป็นส่วนต่างของจำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เกิดมา แต่ถ้าหากภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีจำนวนน้อยกว่าภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม นางสาว A จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มให้ครบจำนวน
คนทำงานที่มีเงินเดือนสูง จึงต้องรีบวางแผนลดหย่อนภาษี เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย เพราะการจ่ายภาษีเต็มจำนวนโดยไม่วางแผนลดหย่อน อาจส่งผลต่อความมั่งคั่งทางการเงินได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะนำเงินเก็บมาจ่ายภาษี ทำให้เงินออมที่ควรงอกเงยกลับร่อยหรออย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ทางออกที่ดีที่สุด คือ การวางแผนลดหย่อนภาษีอย่างรัดกุมด้วยการซื้อประกันที่ตอบโจทย์กับเงินได้และจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้คนทำงานที่มีรายได้สูง ไม่เพียงประหยัดภาษีได้มากและมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น แต่ยังได้รับความคุ้มครองจากประกันอีกด้วย
อย่างในกรณีนางสาว A เดิมทีมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 440,000 บาท แล้วต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 21,500 บาท แต่ถ้ามีค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันสะสมทรัพย์ และประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายรายปีรวมกันครบ 135,000 บาท เมื่อนำไปหักกับเงินได้สุทธิ จะได้ยอดใหม่เป็น 305,000 บาท ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ปรับลดลงเหลือ 8,000 บาท
ดังนั้น การเลือกซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี จึงมีค่าเท่ากับการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกัน ซึ่งถือเป็นการลงทุนทางการเงินอย่างหนึ่ง โดยกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้สามารถนำไปหักลบกับรายรับรวมตลอดปีได้ จำนวนเงินได้สุทธิจึงลดลง ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มปรับลดลงตาม
เคล็ดลับควรรู้ข้อ 2 :
ซื้อประกันให้ตอบโจทย์กับปีภาษี
และรับความคุ้มครองทันท่วงที
สงสัยไหม ? ทำไมเดือนธันวาคมของทุกปี ถึงเป็นช่วงเวลาโค้งสุดท้ายของการวางแผนลดหย่อนภาษี
เพราะกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดระยะเวลาเอาไว้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ต้องการนำมาใช้ลดหย่อนภาษี ต้องเกิดขึ้นภายใน 1 ปีภาษีเดียวกัน คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆ หมายความว่า ถ้าต้องการลดหย่อนภาษีในปีนี้ด้วยประกัน ก็ต้องซื้อประกันภายในปีนี้เท่านั้น ทำให้เดือนธันวาคมกลายเป็นช่วงเวลาโค้งสุดท้ายสำหรับซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีไปโดยปริยาย
ในทางตรงกันข้าม หากซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีเกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม คือ ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป เท่ากับเป็นรายจ่ายสำหรับนำไปลดหย่อนภาษีในปีหน้าแทน ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีย้อนหลังในปีนี้ได้ ดังนั้น ทุกคนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มจึงควรรีบวางแผนซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม
ถึงแม้ว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเลือกซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี คือเริ่มวางแผนให้เรียบร้อยตั้งแต่ต้นปี เพราะจะทำให้มีเวลาสำหรับศึกษาเงื่อนไข ความคุ้มครองของกรมธรรม์ก่อนทำสัญญา และวางแผนภาษีได้ครบถ้วนตามความต้องการมากกว่า เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากประกันอย่างคุ้มค่าและได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีอย่างทันท่วงที
แต่สำหรับคนทำงานที่ไม่มีเวลาวางแผนซื้อประกันก่อนหน้านี้ จนต้องเร่งรีบตัดสินใจเลือกซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีช่วงปลายปี LIFE TO LIFE มีเช็กลิสต์ 3 ข้อเป็นตัวช่วยร่นเวลาให้ทุกคนสามารถเลือกแบบประกันสำหรับลดหย่อนภาษีได้ตรงกับความต้องการและทันภายในเดือนธันวาคมนี้
เช็กลิสต์ข้อ 1. เลือกทำประกันที่ลดหย่อนภาษีได้ : ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ประกันที่กำลังจะซื้อ สามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ? เพราะประกันที่ลดหย่อนภาษีได้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่
- ประกันชีวิต (แบบตลอดชีพ/แบบสะสมทรัพย์/แบบควบการลงทุน) ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ประกันสุขภาพ รวมถึงประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อและแม่
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อชีวิตวัยเกษียณ
เช็กลิสต์ข้อ 2. เลือกวงเงินประกันให้เหมาะสมกับความต้องการ : เพราะแต่ละคนมีความต้องการต่างกัน จึงจำเป็นต้องคำนวณวงเงินประกันที่เหมาะสมกับตัวเองและกำลังทรัพย์
- ประกันชีวิตทั่วไป ให้คำนวณด้วยสูตร (ค่าใช้จ่ายต่อปี × จำนวนปี) + ภาระหนี้สิน
ค่าใช้จ่ายต่อปี คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลคนอื่นตลอด 1 ปี เช่น ค่าใช้จ่ายดูแลพ่อและแม่
จำนวนปี คือ ระยะเวลาที่ต้องใช้เงินเพื่อดูแลคนอื่น ซึ่งอาจยาวนานหลายสิบปี
ภาระหนี้สิน คือ หนี้สินในความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น สินเชื่อ
ตัวอย่างการคำนวณวงเงินประกันชีวิต เช่น นางสาว A มีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลพ่อแม่เดือนละ 25,000 บาท นำไปคูณ 12 เดือน ได้ค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 300,000 บาท เธอคาดว่าตัวเองต้องดูแลความเป็นอยู่ของพ่อแม่ต่อไปอีก 10 ปี ส่วนตัวเธอเองมีหนี้สินแค่สินเชื่อรถยนต์ เป็นเงิน 400,000 บาท นำตัวเลขทั้งหมดไปแทนค่าในสูตรจะได้ผลลัพธ์สุดท้าย คือ 3,400,000 บาท เป็นจำนวนวงเงินประกันชีวิตขั้นต่ำที่ควรมี
- ประกันสุขภาพ วงเงินขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน อาจเริ่มจากถามตัวเองว่า ถ้าหากเกิดล้มป่วยหรือมีเหตุให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล อยากได้รับการรักษาพยาบาลแบบไหน ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เพราะสามารถประเมินเป็นค่าใช้จ่ายได้คร่าว ๆ แล้วเลือกทำประกันสุขภาพในวงเงินที่ตอบโจทย์กับความต้องการ
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายประกันสะสมทรัพย์ พร้อมเงินคืนแบบบำนาญ เป็นการคุ้มครองรายได้หลังเกษียณเป็นหลัก จึงช่วยคลายกังวลกับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณได้ ส่วนวงเงินขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ว่าต้องการมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละเท่าไหร่ และเป็นระยะเวลานานกี่ปี แล้วเลือกทำประกันที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับความต้องการ
เช็กลิสต์ข้อ 3. เลือกเบี้ยประกันให้เหมาะสมกับรายได้และกำลังทรัพย์ : เช็กลิสต์ข้อนี้จะสัมพันธ์กับเช็กลิสต์ข้อ 2 เพราะค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายมักแปรผันตามวงเงินคุ้มครอง หมายความว่า ถ้าวงเงินคุ้มครองสูง เบี้ยประกันก็จะสูงตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของเบี้ยประกัน คำนวณและวางแผนให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายในแต่ละปี ซึ่งมักจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนปีที่มากขึ้นของอายุ
ดังนั้น เบี้ยประกันทั้งหมดที่จ่ายต้องเหมาะสมกับรายได้ คือ ไม่เกิน 10-20% ของรายได้ต่อปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงิน ไม่อย่างนั้นอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกินกำลังทรัพย์ เช่น นางสาว A มีรายได้ต่อปี 560,000 บาท เบี้ยประกันทั้งหมดของนางสาว A จึงไม่ควรเกิน 10-20% ของรายได้ต่อปี เท่ากับ 56,000 - 112,000 บาท
เคล็ดลับควรรู้ข้อ 3 :
ซื้อประกันให้ตอบโจทย์ความคุ้มครอง
และรับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีสูงสุด
นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อประกัน LIVE TO LIFE มีคำถามสำคัญที่อยากให้ทุกคนตอบตัวเองให้ได้ว่า กำลังมองหาความคุ้มครองแบบไหน ? เพราะประกันแต่ละประเภท ให้ความคุ้มครองไม่เหมือนกัน
- ประกันชีวิตทั่วไป ให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต พร้อมส่งต่อหลักประกันให้ครอบครัวที่รักและคนที่อยู่ข้างหลัง
- ประกันสุขภาพ ให้ความคุ้มครองเงินออมจากค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ความคุ้มครองชีวิตวัยเกษียณ สร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงินบั้นปลายชีวิต
จากนั้น ให้ดูข้อกำหนดของสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีสูงสุดในประกันแต่ละประเภทประกอบการตัดสินใจ ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีในหมวดประกัน ประจำปี พ.ศ. 2567 กรมสรรพากรได้กำหนดไว้ดังนี้
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป (Life Insurance) รวมถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) และประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Linked Life Insurance) หรือประกันแบบยูนิตลิงก์ (Unit Linked) แบ่งย่อยเป็น 2 กรณี
(1) กรณีเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปของตัวเอง ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องซื้อผ่านบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น
(2) กรณีเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปของคู่สมรส (ถ้ามี) ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขเหมือนกัน
- เบี้ยประกันสุขภาพ (Health Insurance) แบ่งย่อยเป็น 2 กรณี
(1) กรณีเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อนำไปรวมกับกรณีเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปของตัวเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
(2) กรณีเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่และคู่สมรส ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าพ่อแม่และคู่สมรสต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance) ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า หากนำไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF จะลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับคนทำงานที่กำลังมองหาแบบประกันที่ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีสูงสุด* LIVE TO LIFE ขอแนะนำแบบประกันของ ‘ไทยประกันชีวิต’ ดังนี้ (คลิกที่ชื่อแบบประกันเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
- ไทยประกันชีวิต คุ้มธนกิจ 99/20 (Nn) เป็นแผนประกันชีวิตหลัก ช่วยสร้างหลักประกันที่มั่นคง เป็นกองทุนมรดกมอบแด่ครอบครัวหรือคนที่คุณรัก ชำระเบี้ยฯ เพียง 20 ปี ให้ความคุ้มครองในระยะยาวถึงอายุ 99 ปี และลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
- ไทยประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันเพื่อการออมเงินและลดหย่อนภาษี เน้นออมอย่างมีระบบ สร้างอนาคตอย่างมั่นคงจากผลตอบแทนและความคุ้มครองที่คุ้มค่า ช่วยให้อุ่นใจได้ตลอดสัญญา และลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
- ไทยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ Health Fit DD เป็นประกันสุขภาพที่สามารถสมัครได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 80 ปี คุ้มครองยาวนานถึงอายุ 99 ปี ชำระเบี้ยฯ หลักพัน รับความคุ้มครองเหมาจ่ายสูงสุดถึง 30 ล้านบาท และลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 25,000 บาท
- ไทยประกันชีวิต มันนี่ ฟิต รีไทร์ (G) เป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ สมัครได้ไม่ต้องตรวจและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ รับเงินบำนาญแน่นอนทุกปี สูงสุดปีละ 35% ตั้งแต่อายุ 60 ปี จนถึงอายุครบ 85 ปี และลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท
*หมายเหตุ : การลดหย่อนภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
นอกจากนี้ ยังสามารถคลิกที่แบบประกันแต่ละประเภทของไทยประกันชีวิต เพื่อศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีให้ตัวเองและคนที่คุณรัก
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ ประกันสุขภาพ
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ
อ้างอิง
- กรมสรรพากร. ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?. https://bit.ly/3AUZW0c
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เรื่องภาษีที่ต้องรู้. https://bit.ly/3Vi6sF6
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วางแผนเรื่องเงิน : ภาษี. https://bit.ly/4eYc12D
- สมาคมนักวางแผนการเงินไทย. ประกันชีวิตแบบไหนที่ใช่สำหรับคุณ. https://bit.ly/4fSguVM