รู้ทันภาษีมีแต่ได้! ชวนคนทำงาน ‘วางแผนภาษี’ ตั้งแต่ต้นปี ให้มีเงินเหลือใช้แถมได้เงินคืน

10 Jan 2024 - 5 mins read

Wealth / Money

Share

รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ทัน ‘ภาษี’ เพราะการเริ่มต้นวางแผนภาษีอย่างถูกวิธีตั้งแต่เดือนแรกของปี มีแต่ได้กับได้

 

LIVE TO LIFE เชื่อว่าคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่มีเงินเดือนถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี จะรู้สึกปวดหัวทันที เพราะแค่คิดถึงการวางแผนภาษี ตัวเลขมากมายก็เด้งขึ้นมาเต็มไปหมด ชวนให้ยิ่งงุนงงจนไม่รู้ว่าควรจะเริ่มจากตรงไหน จึงมักจะลงเอยด้วยการไม่ทำอะไรเลย กลายเป็นว่าเมื่อถึงเวลายื่นภาษี กลับต้องจ่ายภาษีเต็มจำนวน

 

ทั้ง ๆ ที่ ‘การวางแผนภาษี’ (ภาษากฎหมายเรียกว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิดและลงมือทำได้ทันที เพียงแค่ต้องรู้หลักการวางแผนภาษี ซึ่งในบทความนี้ LIVE TO LIFE ได้สรุปออกเป็น 4 ขั้นตอนที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นตัวช่วยให้คนทำงานทุกคนสามารถวางแผนภาษีได้เอง รับรองว่านอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มแล้ว ยังได้รับเงินภาษีที่เคยถูกหักจากเงินเดือนกลับคืนมา ยิ่งทำให้มีเงินเหลือ เอาไว้นำไปลงทุนต่อเพื่อสร้างความมั่งคั่งด้านการเงินให้ตัวเอง

 

 

ขั้นตอนที่ 1:
รู้รอบทุกรายรับและรายได้ตลอดปี

ทุกครั้งที่ได้รับเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนจากงานประจำ หรือเงินพิเศษอื่น ๆ ซึ่งเป็นค่าจ้างจากงานเสริมที่ไปรับจ๊อบมา ทุกคนจำเป็นต้องรู้ยอดของเงินเสมอ เพราะ ‘ยอดรวมของรายรับ’ ที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีภาษี (1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้น ๆ) ซึ่งในวงการภาษีหรือภาษากฎหมายจะเรียกว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’ คือ สิ่งเดียวที่บอกให้รู้ได้ว่า ต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ ?

 

โดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้กำหนดยอดรายรับเอาไว้เป็นเกณฑ์เสียภาษีอย่างชัดเจน แต่เพื่อความเข้าใจง่าย LIVE TO LIFE ขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

  • กลุ่ม 1 คนทำงานที่มีรายรับไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องยื่นภาษี และไม่เสียภาษี
  • กลุ่ม 2 คนทำงานที่มีรายรับเกิน 10,000 บาทแต่ไม่ถึง 25,833.33 บาทต่อเดือน (หรือมีรายรับตลอดปีไม่เกิน 310,000 บาท) ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม เพราะได้รับการยกเว้นภาษี
  • กลุ่ม 3 คนทำงานที่มีรายรับเกิน 25,833.33 บาทต่อเดือน (หรือมีรายรับตลอดปีเกิน 310,000 บาท) ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีเพิ่ม

 

หมายความว่า คนกลุ่ม 3 ต้องวางแผนภาษีอย่างแน่นอน ส่วนคนกลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 หากได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติม เช่น ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จบำนาญ เมื่อนำมานับรวมกับเงินเดือนตลอดปีแล้วมียอดเกิน 150,000 บาท ก็ต้องวางแผนภาษีเช่นเดียวกัน เพราะถือว่ามีรายรับถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเพิ่ม

 

แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะการวางแผนภาษีที่ดีเป็นวิธีที่ช่วยผ่อนปรนให้คนทำงานจ่ายภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องจ่ายเลย และดีที่สุดคือได้รับเงินภาษีที่เคยจ่ายไปคืน (ข้อมูลส่วนนี้ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในขั้นตอนที่ 3)

 

 

ขั้นตอนที่ 2:
ชี้ชัดจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม

เมื่อรู้แล้วว่าอยู่ในกลุ่มต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษีเพิ่ม คำถามยอดฮิตที่เกิดขึ้นกับคนทำงานที่เพิ่งเริ่มวางแผนภาษี และจำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ ก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ? ซึ่งสามารถตอบด้วยสูตรคำนวณนี้

 

ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี

 

จากสูตรคำนวณจะเห็นว่ามีอยู่ 2 ยอดที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน คือ เงินได้สุทธิ และ อัตราภาษี

 

  • เงินได้สุทธิ หาได้จาก นำยอดรายรับตลอดปีมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เขียนเป็นสูตรได้ว่า
    เงินได้สุทธิ = รายรับตลอดปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
  • อัตราภาษี แบ่งออกเป็น 8 ขั้นบันได เริ่มต้น 5% และสูงสุดอยู่ที่ 35% ขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิ หมายความว่า ยิ่งมีรายได้สุทธิมากยิ่งเสียภาษีเยอะตามไปด้วย สามารถดูอัตราภาษีเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หน้า 31

 

สำหรับ ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่นำมาหักกับรายรับตลอดปีของคนทำงาน หักได้ 50% ของรายรับรวม แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

 

ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม (กรณีไม่รวมค่าลดหย่อนใด ๆ)

นายเอเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือน 30,000 บาท เท่ากับมีรายรับรวมหรือเงินได้พึงประเมิน 360,000 บาทต่อปี สามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ 50% ของรายรับรวม แม้ว่า 50% ของรายรับรวมจะเท่ากับ 180,000 บาท แต่กฎหมายอนุญาตให้หักได้สูงสุด 100,000 บาท เงินได้สุทธิของนายเอ จึงเท่ากับ 260,000 บาท

 

สูตรคำนวณ: เงินได้สุทธิ = รายรับตลอดปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

 

แทนค่าตัวเลข: 260,000 = 360,000 - 100,000 - 0

 

หากนำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อ จากเงินได้สุทธิ 260,000 บาท ให้แบ่งคำนวณตามอัตราภาษีแบ่งขั้นบันได 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้น ส่วนที่เหลือ 110,000 บาทของเงินได้สุทธิ อยู่ในอัตราภาษี 5% (รายได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 - 300,000 บาท)

 

สูตรคำนวณ: ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี

 

แทนค่าตัวเลข:

ขั้นที่ 1: 0 = 150,000 × 0%

ขั้นที่ 2: 5,500 = 110,000 (ช่วงเงินได้ 150,001 - 300,000 บาท) × 5%

 

เท่ากับว่า นายเอต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 5,500 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องวางแผนภาษี เพราะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้เพิ่มได้

 

ถึงแม้ว่าจะมีสูตรคำนวณเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็เพื่อทำความเข้าใจเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง การคำนวณภาษีด้วยมือนอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เพื่อถูกต้องแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว แนะนำให้ใช้โปรแกรมวางแผนประหยัดภาษี TAX Planning ช่วยคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งพัฒนาโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

 

ขั้นตอนที่ 3:
ไม่ลืมเติมค่าลดหย่อนทุกรายการให้ครบ

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในขั้นตอนก่อนหน้าว่า แม้รายรับจะถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่การวางแผนภาษีที่ดีอย่างครอบคลุมด้วยการเพิ่ม ‘ค่าลดหย่อน’ จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา คือ ลดจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายลงไปได้ตามรายการค่าลดหย่อนที่มี ซึ่งคนทำงานไม่ควรมองข้ามจุดนี้

 

โดยเริ่มจากสำรวจว่าภายในปีภาษีนั้น ๆ กรมสรรพากรกำหนดให้มีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง เพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่ายค่าลดหย่อนเพิ่มเติมให้ตัวเอง ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีต่อไปนี้ อ้างอิงจากปีภาษี 2566 สำหรับปีภาษี 2567 ให้รอประกาศจากกรงสรรพากรอีกทีหนึ่ง เพราะอาจมีเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก คือ ทุกค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อน จะต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เอาไว้แสดงและยืนยันได้เสมอ หากสรรพากรเรียกตรวจสอบ

 

(1) กลุ่มลดหย่อนพื้นฐาน เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าเลี้ยงดูคนในครอบครัว

  • 1. คนโสด ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • 2. คนที่มีคู่ ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • 3. ค่าลดหย่อนลูกคนแรก 30,000 บาท
  • 4. ค่าลดหย่อนลูกคนสองเป็นต้นไป (เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561) คนละ 60,000 บาท
  • 5. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • 6. ค่าลดหย่อนพ่อ และ/หรือ แม่ คนละ 30,000 บาท
  • 7. ค่าลดหย่อนอุปการะคนพิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท

 

(2) กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการออมการลงทุน เป็นค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันและการลงทุนทางการเงิน 

  • 1. ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท
  • 2. ประกันสุขภาพพ่อแม่และคู่สมรส ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • 3. ประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์ (ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • 4. ประกันสุขภาพตัวเอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท

รายการ 3-4 รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

  • 5. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • 6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • 7. กองทุนการออมแห่งชาติ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
  • 8. ประกันแบบบำนาญ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • 9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาท

รายการ 5-9 รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  • 10. กองทุน ThaiESG (ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนครบ 8 ปี) 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

 

(3) กลุ่มเงินบริจาค 

  • 1. เงินบริจาคทั่วไป ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • 2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • 3. เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

 

(4) กลุ่มค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลประกาศให้นำมาลดหย่อนเพิ่มได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปีภาษีนั้น ๆ

  • 1. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • 2. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • 3. โครงการช้อปดีมีคืน Easy e-Receipt (ตามระยะเวลาที่กำหนด 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

 

ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม (กรณีรวมค่าลดหย่อน)

จากเงินได้สุทธิของนายเอ เท่ากับ 260,000 บาท แต่นายเอวางแผนภาษีดีมาก มีค่าลดหย่อนหลากหลายและครบถ้วนทุกกลุ่ม ดังนี้ เมื่อเป็นคนโสดจะได้ค่าลดหย่อนส่วนตัวอัตโนมัติ 60,000 บาท กรณีพ่อแม่ไม่มีรายรับ นายเอสามารถเพิ่มค่าลดหย่อนพ่อและแม่ คนละ 30,000 บาท ถ้ามีพี่น้องให้ตกลงกันว่าใครจะใช้สิทธิ เพราะลูก ๆ ห้ามใช้สิทธิซ้ำกัน นายเอยังมีประกันสังคมที่จ่ายรายเดือน 1,000 บาท จึงนำมาลดหย่อนได้เต็มจำนวน 9,000 บาท และมีค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันสะสมทรัพย์ที่จ่ายรายปี รวมกัน 58,000 บาท มีรายจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 36,000 บาท เคยบริจาคให้พรรคการเมือง 5,000 บาท และใช้จ่ายในโครงการช้อปดีมีคืนรวม 24,000 บาท รวมค่าลดหย่อนของนายเอทั้งสิ้น 252,000 บาท

 

สูตรคำนวณ: เงินได้สุทธิ = รายรับตลอดปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

 

แทนค่าตัวเลข: 8,000 = 360,000 - 100,000 - 252,000

 

เมื่อหักลบกันแล้ว เงินได้สุทธิเหลือ 8,000 บาท เมื่อนำไปคำนวณภาษีต่อด้วยโปรแกรม พบว่าไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือต่อให้นายเอต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แต่โดยปกติคนทำงานที่ได้เงินเดือนจึงเกณฑ์เสียภาษี จะถูกหัก ‘ภาษี ณ ที่จ่าย’ เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว จุดนี้เองจะช่วยทำให้คนทำงานได้รับเงินคืนภาษี หากภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนหน้านี้มีจำนวนเกินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ส่วนต่างคนทำงานจ่ายไว้ล่วงหน้าจะได้รับคืนกลับมานั่นเอง

 

สำหรับคนทำงานที่มองหาตัวเลือกลดหน่อยภาษี LIVE TO LIFE ขอแนะนำ ไทยประกันชีวิต มันนี่ ฟิต รีไทร์ (G) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ สมัครได้โดยไม่ต้องตรวจและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี

 

เพราะการวางแผนภาษีสามารถวางแผนระยะยาวตลอดอายุการทำงานได้ จึงมั่นใจได้ว่าค่าเบี้ยประกันที่จ่ายรายปีเป็นประจำทุกปี จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ต่อเนื่อง ซึ่งลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท รวมลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้รับความคุ้มครองต่อไปแม้เลยวัยเกษียณตามระยะเวลาที่ทำไว้ ช่วยสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางการเงินในชีวิตคนทำงานได้ หรือถ้าอยากหาประกันอื่น ๆ ของไทยประกันชีวิต ศึกษาแบบประกันเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thailife.com/

 

 

ขั้นตอนที่ 4:
จบเรื่องภาษีด้วยการยื่นให้ถูกที่ถูกเวลา

เมื่อคำนวณภาษีเสร็จแล้วเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการยื่นภาษีกับกรมสรรพากร เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ยื่นภาษีถูกต้องครบถ้วน โดยวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด คือ การยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ได้ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

 

โดยปกติแล้ว การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยื่นได้ปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566 (ปีภาษี 2566) ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2567 แต่ให้ติดตามประกาศวันที่แน่นอนจากกรมสรรพากรอีกที เพราะอาจขยายวันให้ยื่นถึงต้นเดือนเมษายน

 

ทั้งหมดนี้ คือ 4 ขั้นตอนวางแผนภาษีที่เริ่มตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนสิ้นสุด สำหรับคนทำงานที่ทำได้ครบทุกขั้นตอน มั่นใจได้เลยว่าการวางแผนภาษีจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีไปได้มาก และสามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปสร้างความมั่งคั่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 

อ้างอิง

  • กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง. คู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. https://bit.ly/3RBXEHg
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วางแผนเรื่องเงินภาษี. https://bit.ly/4at1lYH
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เทคนิควางแผนภาษี ให้มีเงินเหลือเก็บ. https://bit.ly/3v6z5e9

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...