มีคู่แต่ไม่มีลูก ต้องจัดการเรื่องเงินอย่างไร ให้เกษียณอย่างสบายใจและมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต

07 Feb 2024 - 4 mins read

Wealth / Money

Share

‘ความมั่งคั่ง’ ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อยู่ที่การวางแผนตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะ ‘เรื่องเงิน’ ของ ‘คู่ชีวิตที่ไม่คิดมีลูก’

 

หลังจากคนทั้งสองได้ตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว LIVE TO LIFE เชื่อว่าทุกคู่ย่อมต้องวาดภาพแห่งความสุขเอาไว้ เป็นภาพที่ได้ครองรักอย่างมั่นคงและอยู่เคียงข้างคอยดูแลกันจนแก่เฒ่าอย่างมั่งคั่ง แต่หนทางสู่ภาพฝันในอนาคตที่ดูเหมือนอีกยาวไกลกว่าจะไปถึง ในความเป็นจริงกลับเกิดขึ้นเร็วเกินกว่าที่คู่รักหลายคู่คาดคิดไว้ เพราะถ้าหากปักธงเกษียณจากการทำงานที่อายุ 60 ปี นั่นหมายความว่า คู่รักที่ไม่มีลูกจะมีเวลาวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ทันวัยเกษียณแค่ประมาณ 30 ปี

 

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ต้องกังวลใจไป แม้จะมีเวลาวางแผนอยู่จำกัด แต่ถ้ารู้หลักสำคัญของการจัดระเบียบการเงินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก็เพียงพอช่วยให้คู่ชีวิตที่ไม่คิดมีลูกสามารถจัดการเรื่องเงินได้ตามเป้าหมายในบั้นปลาย ทั้งเกษียณตัวเองอย่างสบายใจและมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต ซึ่ง LIVE TO LIFE ได้รวบรวมหลักการ 3 ขั้นตอนไว้เป็นแนวทางให้แล้วในบทความนี้

  

 

ขั้นตอน 1 : เตรียมแผนให้พร้อม
ตั้งเป้าหมายและรูปแบบชีวิตที่คู่รักอยากใช้

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า อนาคตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนที่ไม่มีลูกสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มคู่รักที่ต่างฝ่ายต่างทำงานจนมีรายได้เป็นสองเท่าแต่ไม่คิดมีลูก หรือที่เรียกว่ากลุ่ม DINKs (Double Income No Kids) เพียงกลุ่มเดียว แต่รวมถึงคนโสดที่ทำงานมีเงินใช้ดูแลตัวเองได้อย่างสบายโดยไม่ต้องการมีคนรักหรือมีลูก หรือที่เรียกว่ากลุ่ม SINKs (Single Income No Kids) อีกด้วย

 

เพราะคนทั้งสองกลุ่มนี้มีความตั้งใจแน่วแน่เหมือนกัน คือ คิดว่าตัวเองสามารถหาเงินเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่คิดมีลูกและไม่คิดพึ่งพาความช่วยเหลือจากเครือญาติ ซึ่งคนทั่วโลกต่างหันมาใช้ชีวิตแบบนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับคนไทย อ้างอิงข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ซึ่งระบุไว้ว่า มีคนไทยที่ใช้ชีวิตโดยไม่มีลูกอยู่ประมาณ 10 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน

 

นำมาสู่คำถามสำคัญของคู่ชีวิตที่ไม่คิดมีลูกต้องตอบร่วมกันให้ได้ว่า อะไรคือเป้าหมายและรูปแบบชีวิตที่ทั้งคู่อยากใช้ในบั้นปลาย ?

 

เพื่อเริ่มต้นวางแผนชีวิตอย่างจริงจังและตั้งเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ แนะนำให้คู่รักสำรวจความต้องการของกันและกันด้วยคำถามเหล่านี้

 

  • อยากมีชีวิตอย่างไรเมื่อถึงวัยสูงอายุ ? บ้านที่อยู่ตอนนี้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตหลังเกษียณแล้วหรือไม่ หรืออยากย้ายไปอยู่ในสถานที่ดูแลคนชราเพื่อความอุ่นใจ
  • อะไรบ้างคือสิ่งจำเป็นกับการใช้ชีวิตโดยไม่มีลูก ? ควรเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และช่วยให้สามารถใช้ชีวิตคู่ได้อย่างสะดวกสบาย
  • เหลือเวลาอีกนานเท่าไหร่ก่อนวัยเกษียณมาถึง ? นับจากวันนี้ถึงวันที่ต้องเกษียณจากการทำงาน เพราะว่าที่มาของรายได้หลักในชีวิตกำลังนับเวลาถอยหลังลงเรื่อย ๆ
  • ทั้งคู่มีเงินมากพอแล้วหรือไม่ ? เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณต่อไปได้อย่างที่ใจต้องการ หากไม่มีรายได้ประจำอีกต่อไปแล้ว

 

จะเห็นชัดเจนว่า ทุกคำถามล้วนมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ คู่รักที่ไม่มีลูกจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะ ‘เงิน’ เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทั้งคู่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุขร่วมกัน

 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องรีบวางแผนและคิดให้ถี่ถ้วนตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ การกำหนดอายุเกษียณและจำนวนเงินที่ต้องการใช้จ่ายในแต่ละเดือนหลังเกษียณ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของคู่รัก DINKs แต่จำเป็นต้องคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ในส่วนนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ เคล็ดลับวางแผนการเงิน

 

เมื่อคู่รัก DINKs ได้ตัวเลขที่ช่วยกันคำนวณออกมาแล้ว ให้นำไปตั้งเป็นเป้าหมายที่ทั้งคู่ต้องร่วมกันวางแผนการเงินในขั้นตอนต่อไป

 

 

ขั้นตอน 2 : เตรียมเงินให้เกินพอ
สวมบทคู่รักนักจัดระเบียบเงิน

ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของคู่ชีวิตที่คิดไม่มีลูก คือ ตัดรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูลูกออกไปได้ทั้งหมด ทำให้มีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มากไปกว่านั้นหลายคู่ที่มีรายได้สูงหรือมีรายรับหลายทาง อาจมีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนรวมกันน้อยกว่าคนโสดด้วยซ้ำ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคู่ชีวิต สามารถแบ่งกันรับผิดชอบได้คนละครึ่ง หากคู่รักยังไม่แน่ใจว่าควรจัดการเรื่องเงินอย่างไร แนะนำให้อ่านบทความ วิธีจัดการเรื่องเงินให้มั่งคั่งเพื่อรักที่มั่นคงฉบับคนมีคู่ เพื่อให้ได้วิธีจัดการเงินที่เข้ากับกันได้คู่ของตัวเอง

 

ย้อนกลับไปยังตัวเลขที่เป็นเป้าหมายของคู่รัก ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องเก็บหอมรอมริบให้ครบก่อนวัยเกษียณ เพราะถือเป็นหลักประกันความมั่นคงของคู่ชีวิตที่คิดไม่มีลูกว่าจะมีเงินเพียงพอให้ใช้ชีวิตไปจนแก่เฒ่า แต่ก่อนจะไปถึงเป้าหมาย คู่รัก DINKs ควรจัดระเบียบการเงินให้ได้ตามเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อต่อไปนี้ นอกจากจะช่วยสร้าง ‘นิสัยการเงินที่ดี’ แล้ว ยังเป็นหนทางที่ช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมายมากยิ่งขึ้น

 

  • เกณฑ์ข้อ 1: เพิ่มรายรับคุมรายจ่าย 
    จำให้ขึ้นใจว่า รายรับต้องมากกว่ารายได้เสมอ และทั้งคู่ต้องพยายามเพิ่มช่องทางของรายได้ให้มีมากกว่าแค่รายได้หลักจากงานประจำ อาจหารายได้เสริมที่ตรงกับความสนใจของแต่ละฝ่าย หรือเป็นความสนใจร่วมกัน แต่ควรระวังหากต้องนำเงินไปลงทุนเพิ่ม เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะเสียเงินที่ลงทุนทั้งหมด รวมถึงลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วย ให้เน้นการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า โดยที่ทั้งคู่รักยังมีความสุข และสนุกกับการจัดระเบียบการเงิน

 

  • เกณฑ์ข้อ 2: คิดให้รอบคอบก่อนเป็นหนี้
    หลายคนเคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่า ‘การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะใช้ได้เฉพาะกับหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือหนี้จากการอุปโภคบริโภคเกินความจำเป็น เช่น หนี้บัตรเครดิต แต่ถ้าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดทรัพย์สิน กระแสเงินสด หรือรายได้เข้ามา เช่น หนี้จากเงินกู้ธนาคารเพื่อนำมาซื้อบ้าน ให้คิดทบทวนก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ และสามารถผ่อนจ่ายไหวหรือเปล่า เพื่อไม่ให้กระทบกับสถานะทางการเงินของคู่ชีวิต

 

  • เกณฑ์ข้อ 3: มีเงินสำรองยามฉุกเฉินมากกว่า 6 เดือน
    เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เงินทุกบาทที่หามาได้ จึงต้องแบ่งมาเป็นเงินออมก่อนเสมอ เงินออมส่วนนี้คือเงินที่สำรองเอาไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินในกรณีที่ขาดรายได้จากงานประจำ โดยคิดคำนวณจากค่าใช้จ่ายรายเดือนของทั้งคู่รวมกัน แล้วนำมาคูณด้วย 6 เท่ากับยอดของเงินก้อนที่คู่รักควรสำรองเอาไว้ ซึ่งเพียงพอให้ใช้จ่ายเป็นเวลา 6 เดือน

 

  • เกณฑ์ข้อ 4: ลงทุนเพื่อร่นเวลาทำเป้าหมายให้สำเร็จ
    แม้ว่าการออมจะเป็นพื้นฐานของการเริ่มต้นวางแผนการเงิน แต่การออมเงินเพียงอย่างเดียวอาจทำให้คู่รักเก็บเงินได้ไม่ถึงเป้าหมายและไม่ทันเวลา จึงต้องวางแผนการลงทุนเพิ่มเติมเป็นตัวช่วย โดยเริ่มจากการศึกษารูปแบบการลงทุนที่สนใจให้เข้าใจถ่องแท้ และเลือกลงทุนในหลากหลายรูปแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงลงทุนอย่างสม่ำเสมอทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพราะให้ผลตอบแทนมากกว่าการออมเงินในธนาคาร

 

เกณฑ์จัดระเบียบและวางแผนการเงินทั้งหมดนี้ จะทำให้คู่รัก DINKs มีสถานะการเงินที่มั่นคงและช่วยให้เก็บเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น จนทั้งคู่สามารถเกษียณอย่างสบายใจ เพราะมีอิสรภาพทางการเงินมากพอใช้จ่ายไปตลอดชีวิต

 

 

ขั้นตอน 3 : เตรียมตัวพร้อมใช้ชีวิต
สร้างความอุ่นใจให้คู่รักได้ดูแลกันและกัน

นอกจากเงินก้อนที่คู่รัก DINKs ต้องวางแผนไว้เป็นเป้าหมายร่วมกัน ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยที่มองข้ามไม่ได้ เพราะชีวิตยามบั้นปลายมีแต่ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง ต่อให้ดูแลตัวเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และวางแผนการเงินไว้อย่างระมัดระวังมาตั้งแต่ขั้นตอนคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว ก็อาจไม่พอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย

 

แม้ว่าการวางแผนการเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะทำได้หลายวิธี แต่ตัวเลือกสำคัญที่น่าสนใจ เพราะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ดี ทั้งผ่อนหนักให้เป็นเบาและเพิ่มความอุ่นใจให้คู่ชีวิตหายกังวลว่าเงินเก็บสำหรับใช้หลังเกษียณจะมีไม่เพียงพอ คือ การเลือกทำ ‘ประกันชีวิต’ ที่คุ้มครองครอบคลุมตามความต้องการของคู่รักที่คิดไม่มีลูก

 

สำหรับประกันชีวิตที่ LIVE TO LIFE แนะนำคือ ประกันมันนี่ ฟิต รีไทร์ (G) (บำนาญแบบลดหย่อนได้) ของไทยประกันชีวิต เพราะเป็นประกันชีวิตที่สร้างหลักประกันรายได้ในยามเกษียณอายุ เริ่มวางแผนได้ตั้งแต่มีเงินเดือน สามารถรับเงินบำนาญรายปี ตั้งแต่อายุ 60 ปีจนถึงอายุครบ 85 ปี นอกจากนี้ ยังมอบความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต

 

คู่รักที่สนใจ สามารถสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของแบบประกันได้ที่ มันนี่ ฟิต รีไทร์ (G) (บำนาญแบบลดหย่อนได้) 

 

การทำประกันชีวิตในแบบที่เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตและตอบโจทย์ความต้องการในบั้นปลาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมให้คู่รัก DINKs สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในอนาคต

 

ในท้ายที่สุด แต่ละคนจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในแบบที่ตนและคนรักต้องการหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเริ่มทำได้ทันที เพื่อสร้างอนาคตที่มีความสุขร่วมกันในวันข้างหน้า โดยไม่มีเรื่องเงินมาคอยรบกวนใจ

 

 

อ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. รายงานสถานการณ์ประชากรไทย โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน. https://bit.ly/3OI50J1
  • ฬุลิยา ธีระธัญศิริกุล. (2558). Happy Retirement : เกษียณสุขอย่างไร แม้ไร้ทายาท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...