เช็กลิสต์ต้องรู้ ! ก่อนซื้อ ‘กองทุนรวม’ ฉบับมือใหม่ ไม่ขาดทุนจากกับดักผลตอบแทนย้อนหลัง

06 Jan 2025 - 4 mins read

Wealth / Money

Share

ถ้าอยากต่อยอดเงินออมให้งอกเงย ต้องเริ่มต้นซื้อ ‘กองทุนรวม’ ให้เร็ว

 

เพราะการซื้อกองทุนรวม เป็นเหมือนการเปิดประตูบานแรกที่ช่วยนำนักลงทุนมือใหม่ก้าวเข้าสู่โลกกว้างของการลงทุน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ การสร้างอนาคตที่มั่นคงทางการเงินให้ตัวเองได้

 

แต่หลุมพรางที่เป็นอุปสรรคให้มือใหม่หัดลงทุนหลายคนก้าวพลาด จนประสบกับปัญหาขาดทุนมากกว่าทำให้เงินทุนที่ลงไปงอกเงย คือสิ่งลวงตาที่เรียกว่า ผลตอบแทนย้อนหลังในอดีต (Past Performance) เพราะคนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจเลือกซื้อกองทุนทันทีที่เห็นว่ามีผลตอบแทนย้อนหลังดีต่อเนื่อง จนหลงลืมกฎการลงทุนข้อสำคัญที่ว่า ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต

 

หนทางสำคัญที่จะช่วยให้คนที่สนใจอยากลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมาได้ โดยไม่ขาดทุนเพราะดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลัง คือ การเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวม ด้วย ‘เช็กลิสต์ต้องรู้ทั้ง 5 ข้อ’ ต่อไปนี้

 

 

เช็กลิสต์ข้อ 1 :

เตรียมต้นทุนให้พร้อม

ก่อนเตรียมต้นทุนให้พร้อม จำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลที่ทำให้กองทุนรวมเป็นรูปแบบการลงทุนสำหรับมือใหม่หัดลงทุน เพราะ…

  • ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การลงทุน
  • ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมาก 
  • ไม่จำเป็นต้องติดตามข้อมูลของกองทุนรวมตลอดเวลา
  • สามารถลงทุนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี

 

จากเหตุผลทั้ง 4 ข้อนี้ กลายมาเป็นเกณฑ์เบื้องต้นให้ทุกคนใช้ประเมินตัวเองได้ว่า กองทุนรวมตอบโจทย์พฤติกรรมการลงทุนของตนมากน้อยแค่ไหน ? การลงทุนในกองทุนรวมจึงเหมาะกับ…

   ☑️ คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนมาก่อน หรือมีน้อยมาก ๆ

   ☑️ คนที่มีเงินทุนไม่มากนัก เพราะมีเงินแค่หลักร้อยก็เริ่มต้นซื้อกองทุนรวมได้

   ☑️ คนที่ไม่มีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุนรวมด้วยตัวเอง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่บริหารจัดการเงินลงทุนและดูแลพอร์ตกองทุนรวมให้

   ☑️ คนที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่ม จากกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

 

เมื่อมั่นใจแล้วว่าจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวม เช็กลิสต์ข้อแรกที่ต้องทำ คือ เตรียมต้นทุนให้พร้อม ซึ่ง ‘ต้นทุน’ ในความหมายนี้แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • ต้นทุนด้านประสบการณ์ความรู้
  • ต้นทุนด้านเงินลงทุน

 

แม้ว่าการลงทุนในกองทุนรวม ไม่ได้ต้องการประสบการณ์ด้านการลงทุนและเงินจำนวนมากมาย แต่เพื่อสุขภาพการเงินที่ดี มือใหม่หัดลงทุนจำเป็นต้องวางแผนแบ่งเงินลงทุนให้สอดคล้องกับรายรับหรือเงินเดือน ซึ่งทุกคนสามารถกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนได้เองอย่างอิสระ

 

แต่โดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนที่เหมาะสมของจำนวนเงินที่แบ่งมาซื้อกองทุนในแต่ละเดือน ควรอยู่ระหว่าง 10-30% ของเงินเดือน หรืออาจแบ่งเงินด้วยหลัก Golden Ratio ซึ่งทำตามง่ายและปรับสัดส่วนให้เข้ากับความต้องการส่วนตัวในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ เหมาะกับการลงทุนในกองทุนรวม เพราะไม่มีข้อบังคับว่า ต้องลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกเดือนเหมือนเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เพียงแต่ควรลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

 

 

เช็กลิสต์ข้อ 2 :

เตรียมข้อมูลต้องรู้

หลังจากเตรียมเงินทุนสำหรับซื้อกองทุนรวมเอาไว้แล้ว เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกองทุนรวมที่ต้องรู้และเข้าใจ เพราะว่าทุก ๆ ครั้งก่อนเริ่มลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนอะไรและในรูปแบบใดก็ตาม จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานของการลงทุนนั้นเสมอ หมายความว่า ไม่ควรลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงทำให้ขาดทุนมากกว่าได้รับผลตอบแทน

 

เพื่อให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดของกองทุนรวม จึงควรทำความเข้าใจตั้งแต่ความหมาย กลไกการดำเนินงาน และเส้นทางของเงินที่เริ่มต้นจากลงทุนจนถึงปลายทางที่เป็นผลลัพธ์

 

ความหมายของ ‘กองทุนรวม’ (Mutual Fund) แปลตรงตัวตามคำได้ว่า ‘เอาทุนมากองรวมกัน’ ซึ่งแต่ละคนลงเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนของหน่วยลงทุนที่นักลงทุนแต่ละคนต้องการซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากนั้นผู้จัดการกองทุนจะนำเงินที่ทุกคนลงทุนเอาไว้ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายที่กองทุนรวมกำหนด เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กองทุนรวม เมื่อได้รับผลตอบแทนกลับมาก็จะเฉลี่ยคืนให้ทุกคนตามสัดส่วนที่เคยลงทุนไว้

 

‘ผู้จัดการกองทุน’ (Fund Manager) จึงเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญของกองทุนรวม เพราะต้องทำหน้าที่ทั้งบริหารเงินกองทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และจัดการความเสี่ยงในการลงทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์และความสามารถของผู้จัดการกองทุน ไม่อาจการันตีผลการลงทุนในอนาคตได้เสมอไป มีโอกาสลงทุนผิดพลาดและขาดทุนได้ นักลงทุนมือใหม่จึงต้องคอยติดตามผลการลงทุนสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมี ‘เงื่อนไขการลงทุน’ ทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งมือใหม่หัดลงทุนในกองทุนรวมต้องจำให้ขึ้นใจ

  • ค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวม เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเพิ่มกับคนที่ลงทุนโดยตรง เช่น ค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน (เก็บตอนซื้อหน่วยลงทุน) ค่าธรรมเนียมซื้อคืนหน่วยลงทุน (เก็บตอนขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวม) รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม ซึ่งคิดเป็น % ต่อปี เป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนมือใหม่เสียค่าธรรมเนียมมากเกินไป
  • ความยืดหยุ่นต่ำ เพราะการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการให้อำนาจตัดสินใจกับผู้จัดการกองทุน เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเงินลงทุนแทน ผลการดำเนินงานในกองทุนรวมทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • ผลตอบแทนย้อนหลังในอดีต ไม่อาจยืนยันผลตอบแทนในอนาคตได้ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงและผันผวนได้ตลอดเวลา

 

 

เช็กลิสต์ข้อ 3 :

เตรียมรับความเสี่ยง

ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมไหนดี ? นี่คือคำถามแรก ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนมือใหม่ เพราะ ณ ปัจจุบัน (ธันวาคม พ.ศ. 2567) ในประเทศไทยมีจำนวนกองทุนรวมที่เปิดให้ลงทุนได้มากถึง 2,237 กองทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ทุกคนจึงควรเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด คำว่าเหมาะสมในความหมายนี้ คือ เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ระดับ โดยไล่เลียงตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำสุดไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูงสุด

 

  • ความเสี่ยงระดับ 1 : กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ
    เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดเงินเฉพาะในประเทศไทย เน้นลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการความเสี่ยงใด ๆ และคนที่ต้องการพักเงินในช่วงที่ผลตอบแทนไม่ดี
  • ความเสี่ยงระดับ 2 : กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ
    เน้นลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี เช่นเดียวกับความเสี่ยงระดับที่ 1 แต่เพิ่มเติมการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ถึงอย่างนั้น กองทุนรวมประเภทนี้ มักมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้แล้ว
  • ความเสี่ยงระดับ 3 : กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
    เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จึงมีความผันผวนมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน
  • ความเสี่ยงระดับ 4 : กองทุนรวมตราสารหนี้
    เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง และหุ้นกู้เอกชน ซึ่งมีทั้งกองที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว (อายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี) จึงเหมาะกับคนที่ลงทุนได้ทั้งระยะสั้น ระยะยาว และคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก คาดหวังผลตอบแทนที่แน่นอน สม่ำเสมอ

 

  • ความเสี่ยงระดับ 5 : กองทุนรวมผสม
    เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น และอื่น ๆ ส่วนสัดส่วนการลงทุนจะลงทุนในสินทรัพย์ไหนมากกว่ากัน ต้องดูที่นโยบายการลงทุน กองทุนรวมผสมจึงเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง และคนที่ไม่มีเวลาปรับสัดส่วนกองทุนหรือหุ้นด้วยตัวเอง ในกรณีตลาดมีความผันผวนมาก
  • ความเสี่ยงระดับ 6 : กองทุนรวมตราสารทุน
    เน้นลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ด้วย เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูง หรือคนที่ชอบการลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีเวลาบริหารการลงทุนด้วยตัวเอง
  • ความเสี่ยงระดับ 7 : กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม
    เน้นลงทุนในหุ้น แต่เจาะจงในบางหมวดอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เช่น หุ้นธนาคาร หุ้นสื่อสาร หุ้นโรงพยาบาล กองทุนรวมประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมากกว่ากองทุนรวมตราสารทุนทั่วไป เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง และต้องมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ เป็นอย่างดี
  • ความเสี่ยงระดับ 8 : กองทุนรวมทางเลือก
    เน้นลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงสูงได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งก่อนและระหว่างลงทุน

 

ประเด็นสำคัญ คือ นักลงทุนมือใหม่ต้องรู้ตัวว่า ‘ยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ?’ เพราะจะช่วยให้สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม เช่น หากเป็นคนที่ไม่ยอมความผันผวน ให้เลือกระดับความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนเพียงเล็ก เพราะเน้นรักษาเงินต้นที่ลงทุนไปให้ปลอดภัยที่สุด

 

แต่ถ้ารับความผันผวนได้บ้าง เพื่อแลกกับการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ให้เลือกระดับความเสี่ยงปานกลาง ส่วนคนที่กล้าได้กล้าเสีย ไม่กังวลกับความผันผวนใด ๆ ยอมรับความเสี่ยงขาดทุนหรือสูญเงินลงทุนทั้งหมดได้ เพราะหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูง รวมถึงโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโต ให้เลือกระดับความเสี่ยงสูง

 

 

เช็กลิสต์ข้อ 4 :

เตรียมตัดสินใจซื้อกองทุนรวม

เป็นไหม ? ก่อนตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง ต้องดูรายละเอียด เปรียบเทียบของต่างแบรนด์ ต่างรุ่น เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป การซื้อกองทุนรวมก็ใช้หลักการเดียวกันกับการจับจ่ายซื้อของ คือต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนเสมอ

 

รายละเอียดที่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับกองทุนรวมที่สนใจอยากลงทุน จะรวมอยู่ในเอกสารที่มีชื่อว่า Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ของกองทุนรวมนั้น ๆ การอ่านข้อมูลใน Fund Fact Sheet ให้เข้าใจมากที่สุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพราะจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของกองทุนรวม และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า ควรลงทุนกองทุนรวมนั้นหรือไม่ ? 

 

แม้ว่าเนื้อหาใน Fund Fact Sheet จะมีรายละเอียดอยู่มากมาย แต่ข้อมูลสำคัญที่ต้องหาให้เจอมีเพียง 6 จุด เพราะใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่าดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลังในอดีตอย่างเดียว

 

  • นโยบายการลงทุน
    บอกให้รู้ว่านำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน มุ่งเน้นลงทุนแบบใด ที่สำคัญคือ บอกกลยุทธ์การบริหารจัดการลงทุน ทำให้ประเมินได้ว่า กองทุนรวมนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับใครบ้าง
  • คำเตือนและปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ
    นอกจากบอกให้รู้ระดับความเสี่ยงแล้ว ยังมีคำเตือนสำคัญที่กองทุนรวมนั้น ๆ ต้องการบอกให้นักลงทุนรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะค่าความเสี่ยงต่าง ๆ ของกองทุนรวม เช่น ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard Deviation) ใช้วัดว่าผลตอบแทนของกองทุนเบี่ยงเบนออกจากผลตอบแทนก่อนหน้านี้หรือค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ยิ่งมีค่าน้อยจะยิ่งดี
  • สัดส่วนของประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน
    แสดงเป็น Pie Chart ให้เห็นสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท และเปิดเผยสินทรัพย์ 5 อันดับแรกที่กองทุนรวมนำเงินไปลงทุน
  • ผลการดำเนินงาน
    แม้ว่าจะเป็นผลการดำเนินงานย้อนหลังในอดีต ที่ใช้การันตีว่าในอนาคตกองทุนรวมนี้จะทำได้ดีเหมือนเดิมไม่ได้ แต่บ่งบอกให้รู้ถึงความสามารถและความน่าเชื่อถือของผู้จัดการกองทุนและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ว่า ที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนได้ดีมากน้อยแค่ไหน มีผลขาดทุนสูงสุดเท่าไหร่ มีความผันผวนมากน้อยเพียงใด และไม่ควรมีประวัติเสียหายด้านการบริหารกองทุนรวม 
  • ธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย
    กองทุนรวมที่ดี ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่น ๆ ที่มีลักษณะและนโยบายการลงทุนคล้ายกัน เพราะค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ทำให้ได้รับผลตอบแทนลดลง
  • ข้อมูลสถิติ และข้อมูลอื่น ๆ ทั่วไป 
    บอกให้รู้จำนวนเงินทุน ขนาดกองทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล แต่ค่าสถิติสำคัญที่ต้องดู คือ Maximum Drawdown แสดงค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ผลขาดทุนสูงสุดของกองทุนรวมในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง เสมือนการเตือนนักลงทุนมือใหม่ว่า ถ้าขาดทุนประมาณนี้ ยังรับได้ไหม

 

 

เช็กลิสต์ข้อ 5 :

เตรียมจัดการเงินได้และภาษี

ทุกคนที่ลงทุนในกองทุนรวม ย่อมคาดหวังแต่ผลตอบแทนที่สูง แต่สิ่งที่หลายคนมักมองข้ามไป คือ ‘ภาษี’ ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน

 

ผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนรวม มี 2 รูปแบบ

  • เงินปันผล (Dividend) จะได้รับเฉพาะกรณีลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเท่านั้น โดยภาษีจากเงินปันผลจะถูกหัก ณ ที่จ่าย 10% หมายความว่า คนลงทุนที่มีฐานภาษีสูงกว่า 10% แนะนำให้หัก ณ ที่จ่าย ส่วนคนที่มีฐานภาษีต่ำกว่า 10% ให้นำไปรวมกับเงินได้เพื่อยื่นภาษีตามปีภาษี เพราะช่วยประหยัดภาษี ทำให้จ่ายภาษีในฐานที่ต่ำกว่า โดยมีข้อแม้ว่า ต้องยื่นเงินปันผลทั้งหมดที่เกิดจากการลงทุนทุกประเภทที่ได้รับมาตลอดปีนั้น ๆ
  • ส่วนต่างกำไร (Capital Gain) จะได้รับก็ต่อเมื่อขายหน่วยลงทุนได้ในราคาที่สูงกว่าตอนซื้อ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับการยกเว้นภาษี

 

สำหรับคนที่สงสัยว่า ผลตอบแทนแบบไหนดีกว่ากัน ? คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุน หากต้องการผลตอบแทนเป็นเงินก้อนในอนาคต ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมไม่มีเงินปันผล เพราะเป็นกองทุนที่นำผลกำไรไปลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น แต่ถ้าต้องการผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดระหว่างทางตลอดการลงทุน ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีเงินปันผล เพราะตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า

 

แต่ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ย่อมมีความเสี่ยงเป็นของคู่กันเสมอ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึงจนสูญเงินลงทุนไปทั้งหมดได้ การเลือกซื้อ ‘ประกันชีวิตควบการลงทุน’ จึงเป็นทางออกสำหรับคนที่ยังต้องการรับผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ แต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวมไว้กับตัวเอง

 

หนึ่งในแบบประกันควบการลงทุนของไทยประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ คือ TL Universal Life 90/90 เพราะเป็นประกันชีวิตควบการลงทุนที่ได้รับทั้งความคุ้มครองชีวิต และเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าแบบประกันชีวิตทั่วไปตามพอร์ตการลงทุน โดยการันตีอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ หากชำระเบี้ยประกันภัยหลักต่อเนื่องจนถึงปีที่ 10 จะได้รับโบนัสเพิ่ม 2%* สามารถเพิ่มหรือลดเบี้ยประกันภัยได้ตามความต้องการ และใช้สิทธิหยุดพักชำระเบี้ยประกันภัยได้โดยอัตโนมัติโดยยังได้รับความคุ้มครองอยู่ ที่สำคัญสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ตามที่กรมสรรพากรกำหนด *ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์

 

LIVE TO LIFE หวังว่า ‘เช็กลิสต์ต้องรู้ทั้ง 5 ข้อ’ นี้ จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนมือใหม่สามารถเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมได้ ด้วยความตั้งใจต่อยอดเงินออมให้งอกเงย และได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยไม่ขาดทุนเพราะดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลังอย่างเดียว

 

หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาให้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

อ้างอิง

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เลือกกองทุนฉบับมือใหม่. https://bit.ly/3DnJ96z
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. อยากเริ่มซื้อกองทุนรวม ให้เริ่มอ่าน Fund Factsheet. https://bit.ly/3ZTSvi2
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สรุปตัวเลขการลงทุนของกองทุน. https://bit.ly/49QVH2G

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...