มีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่า ‘รวย’ ชวนคำนวณ Net Worth หาความมั่งคั่งสู่โอกาสเป็นเศรษฐีเงินล้าน

04 Sep 2024 - 4 mins read

Wealth / Money

Share

เคยสงสัยไหม ? ต้องมี ‘เงิน’ มากแค่ไหน ถึงเรียกว่า ‘รวย’

 

บางคนมีเงินเก็บหลักแสน แม้ในสายตาคนอื่นจะมองเห็นเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก อาจเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เจ้าตัวกลับเห็นเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ช่วยยกฐานะให้ตนเป็นคนร่ำรวยได้

 

ขณะที่บางคนมีเงินหลักล้านและสามารถใช้ชีวิตหรูหราได้ตามที่ใจต้องการ ถึงแม้จะไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองยังมีเงินจำกัด ไม่เหมาะจะให้ใครมาเรียกว่าเป็นคนรวยหรือเศรษฐีเงินล้าน

 

หากใช้ความรู้สึกส่วนตัวเป็นเกณฑ์ตัดสินคำว่า ‘รวย’ แต่ละคนย่อมให้ความหมาย และกำหนดมูลค่าความรวยแตกต่างกันตามความพอใจ ซึ่งอาจมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง

 

LIVE TO LIFE จึงอยากชวนทุกคนมาตรวจสุขภาพการเงิน และทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ที่ใช้วัดความรวยได้อย่างเที่ยงตรงมากกว่าความรู้สึกส่วนตัว เพื่อช่วยให้ทุกคนได้รับคำตอบที่ถูกต้องหลังจากอ่านบทความนี้จบว่า สรุปแล้วตัวเองต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะรู้สึกมั่นคงได้อย่างสบายใจ

 

‘ความมั่งคั่ง’

ความหมายที่แท้จริงของความรวย

เมื่อความรวยในความหมายทั่วไปกลายเป็นเรื่องนามธรรมที่จับต้องยาก ความหมายในทางการเงินจึงเลือกใช้คำว่า ‘Wealth’ แทน ซึ่งหมายถึง ‘ความมั่งคั่ง’ ของสถานะการเงินที่ทำให้ชีวิตมั่งคั่ง เป็นความมั่นใจว่ามีเงินเพียงพอให้เอาไว้ใช้จ่ายได้อย่างคล่องมือ และหมดกังวลเรื่องปัญหาเงิน ๆ ทอง ๆ ไปโดยปริยาย ที่สำคัญคือ ความมั่งคั่งยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพราะมีสูตรที่ใช้คิดคำนวณหาจำนวนเงินที่ควรมีออกมาเป็นตัวเลขชัดเจน ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์วัดความรวยได้ตรงกับความเป็นจริง

 

สูตรหาความมั่งคั่ง หรือ Wealth Formula ที่ทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนจึงมีอยู่ด้วยกัน 2 สูตร ได้แก่

 

1. ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) : เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สินทรัพย์สุทธิ ใช้สำหรับตรวจสอบฐานะการเงินของแต่ละคน ณ ปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร มั่งคั่งร่ำรวย หรือ ย่ำแย่จนน่าเป็นห่วง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ควรมีค่ามากกว่า 1 ล้านบาท ถึงจะเรียกได้ว่ารวย นอกจากนี้ สถาบันทางการเงินชั้นนำของโลก ยังเลือกใช้ความมั่งคั่งสุทธิเป็นเกณฑ์จัดอันดับความรวยอีกด้วย

 

เริ่มคิดคำนวณด้วยการรวบรวมสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีเป็นตัวตั้ง (สินทรัพย์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเงินสดและเงินฝาก เป็นมูลค่าเงินลงทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และสิ่งของที่มีมูลค่าสูง ให้ตีมูลค่าตามราคาตลาดหรือราคาที่คาดว่าจะขายต่อได้) แล้วนำมาหักลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่มี ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ คือ ความมั่งคั่งสุทธิ

 

หากผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก แสดงว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เท่ากับมีความมั่งคั่งสูง ยิ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นบวกมากเท่าไหร่ (มากกว่า 1 ล้านบาท) ยิ่งมีโอกาสนำเงินไปต่อยอดสร้างความมั่งคั่งให้ชีวิตได้อีก

 

ในทางกลับกัน หากผลลัพธ์ออกมาเป็นลบ แสดงว่ามีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ ซึ่งในทางการเงิน ถือว่าการมีหนี้สินไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้าม หากเป็นหนี้ดีหรือหนี้สินที่สร้างรายได้หรือความมั่นคงให้ชีวิตได้ในอนาคต เช่น หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย และต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนด ถึงอย่างนั้น ถ้าให้ดีที่สุด ไม่ควรมีหนี้สินเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบฐานะการเงิน

 

ตัวอย่างการคำนวณ นาย A มีสินทรัพย์รวม 2,000,000 บาท และหนี้สินรวม 900,000 บาท เมื่อนำมาหักลบกันแล้ว ความมั่งคั่งสุทธิของนาย A จะเท่ากับ 1,100,000 บาท หมายความ นาย A มีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า 1 ล้านบาท

 

แม้ว่าจะผ่านเกณฑ์ตัดสินความรวยในทางการเงินแล้ว แต่ฐานะการเงินและความมั่งคั่งสุทธิเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของนาย A เช่น ถ้านาย A เป็นคนที่ออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำ และวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ฐานะการเงินดียิ่งขึ้นอีก ถือเป็นการสร้างความมั่งคั่งสุทธิ แต่ถ้านาย A ใช้เงินฟุ่มเฟือย ใช้เงินมากกว่าที่หามาได้ ก่อหนี้ใหม่โดยไม่ปลดหนี้เดิม ในเวลาไม่นาน ฐานะการเงินของนาย A ที่เคยร่ำรวยจะกลับกลายเป็นฝืดเคืองและยากจน หมดสิ้นซึ่งความมั่งคั่งทางการเงินทันที

 

เพื่อคิดตามและตรวจสอบฐานะการเงินของตัวเองอย่างใกล้ชิด ควรคำนวณหาความมั่งคั่งสุทธิอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน

 

2. ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ (Net Worth by Age) : เป็นความมั่งคั่งสุทธิที่สัมพันธ์กับอายุและความสามารถในการหารายรับต่อปี ใช้คำนวณหาตัวเลขเป็นจำนวนสินทรัพย์ขั้นต่ำที่ควรมีให้ถึงเกณฑ์ จึงจะเรียกว่ารวยได้ ซึ่งเป็นความมั่งคั่งสุทธิที่เฉพาะเจาะจงตามอายุของแต่ละคน

 

เริ่มคิดคำนวณด้วยการนำอายุปัจจุบันเป็นตัวตั้ง คูณกับจำนวนรายได้รวมตลอดปี (รวบรวมทั้งเงินเดือนประจำจากการทำงาน และรายได้จากช่องทางอื่น ๆ) แล้วหารด้วย 10 ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ คือ ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ

 

ตัวอย่างการคำนวณ นาย A อายุ 35 ปี มีรายได้รวมตลอดทั้งปีคิดเป็นเงิน 480,000 บาท เมื่อนำมาแทนค่าในสูตร จะได้ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุของนาย A เท่ากับ 1,680,000 บาท

 

จากนั้นนำความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุมาเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งสุทธิ เพื่อดูว่านาย A มีฐานะการเงินเป็นอย่างไรบ้าง หากมีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า แสดงว่านาย A มีฐานะการเงินดี

 

ในทางกลับกัน แม้นาย A จะมีความมั่งคั่งสุทธิเกิน 1 ล้านบาท แต่ถ้ายังเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ (จากตัวอย่าง นาย A มีจำนวนเงินน้อยกว่า 580,000 บาท) ให้กลับมาทบทวนการใช้จ่ายและวางแผนการเงินใหม่ เพื่อให้มีเงินหรือจำนวนสินทรัพย์มากกว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ อาจลดรายจ่าย หาทางเพิ่มรายได้ รวมถึงต้องเริ่มลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์

 

‘บริหารความมั่งคั่ง’

ก้าวแรกสู่ความร่ำรวย

การเก็บเงินอย่างเดียวไม่ได้ทำให้รวยเร็วอย่างที่หลายคนคิด แต่การรู้จักบริหารความมั่งคั่งผ่านการวางแผนการลงทุน จะทำให้เข้าใกล้คำว่าร่ำรวยได้เร็วกว่า ซึ่งเป็นหนทางที่เหมาะสำหรับสร้างความมั่งคั่งให้ชีวิตทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า ทุกคนจึงจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ หลักการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ผ่านการวางแผนทางการเงินในด้านต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

 

ขั้นตอน 1 สร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) : เริ่มต้นด้วยวิธีพื้นฐานอย่างการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ เช่น การทำบัญชีแบบ Kakeibo ของคนญี่ปุ่น หากมีหนี้ ให้วางแผนการชำระหนี้ตามกำหนดอย่างรัดกุม จัดสรรรายรับให้เพียงพอชำระหนี้ก่อน แล้ววางแผนการออมเงิน ซึ่งเงินออมก้อนแรกที่ควรมี คือ เงินสำรองฉุกเฉิน จำเป็นต้องมีเงินมากพอเอาไว้ใช้จ่ายได้นานกว่า 6 เดือนขึ้นไป

 

ขั้นตอน 2 ปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) : เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน จึงต้องปกป้องความมั่งคั่งที่สร้างสะสมมา ด้วยการวางแผนซื้อประกันต่าง ๆ ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เพื่อเป็นกันชนช่วยลดความรุนแรงในด้านการเงิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

สำหรับคนที่กำลังมองหาประกันที่ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาและสามารถปกป้องความมั่งคั่งทั้งด้านการเงินและการใช้ชีวิตได้ LIVE TO LIFE ขอแนะนำ ไทยประกันชีวิต ทีแอล ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (UL2) ประกันชีวิตที่พร้อมดูแลในทุกภาวะของการเปลี่ยนแปลง เพราะสามารถใช้สิทธิหยุดพักชำระเบี้ยประกันภัย (Premium Holiday) ได้โดยอัตโนมัติโดยยังได้รับความคุ้มครองอยู่ และหากชำระเบี้ยประกันภัยหลักอย่างต่อเนื่องจนถึงปีที่ 10 จะได้รับโบนัสเพิ่มเติมร้อยละ 2

 

นอกจากนี้ การวางแผนเกษียณยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องความมั่งคั่งได้เช่นกัน เพราะเป็นการเตรียมเงินเอาไว้ใช้ในยามบั้นปลายที่ไม่ได้มีรายได้จากการทำงาน

 

ขั้นตอน 3 สะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) : ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ต้องสะสมให้เพิ่มพูนต่อเนื่อง เพราะความมั่งคั่งในปัจจุบัน อาจลดลงหรือหมดไปได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนการลงทุนควบคู่กับการวางแผนภาษี เพราะการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเป็นวิธีสะสมความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด แนะนำให้ศึกษาหาความรู้และข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ส่วนการวางแผนภาษีที่ดีทำให้ได้เงินคืน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากพอให้นำไปเก็บออม หรือลงทุนต่อยอดได้

 

ขั้นตอน 4 ส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) : เมื่อสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างสะดวกสบาย ต้องไม่ลืมคิดหาวิธีส่งต่อความมั่งคั่งนี้ให้กับคนข้างหลัง เช่น คนในครอบครัว ลูกหลาน หรือใครก็ตามที่อยากให้ได้รับความมั่งคั่งเหล่านี้ ด้วยการวางแผนมรดกเพื่อส่งมอบสินทรัพย์และความมั่งคั่งให้ถึงมือคนที่รัก หรือ ทำประกันเพื่อวางแผนมรดก เพราะอยากให้คนใกล้ ๆ มีชีวิตที่ร่ำรวยเหมือนกัน

 

ในท้ายที่สุด สิ่งสำคัญของการรู้จักฐานะการเงินของตัวเอง คงไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าร่ำรวยแล้วหรือยัง แต่เป็นการเตือนตัวเองให้สามารถวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และเป็นหนทางที่ทำให้สร้างความมั่งคั่งต่อไปได้ เพื่อชีวิตในวันข้างหน้าที่ดีและมั่นคง

 

 

อ้างอิง

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 2 ขั้นตอนเช็คความมั่งคั่ง สู่อิสรภาพทางการเงิน. https://bit.ly/3T53cf0
  • สมาคมนักวางแผนการเงินไทย. มาทำความรู้จักกับ “ความมั่งคั่ง” กันเถอะ. https://bit.ly/4fYdqrA
  • Stanley, T. J., & Danko, W. D. (2010). The Millionaire Next Door: The Surprising Secrets of America's Wealthy. First Taylor Trade Publishing edition. Lanham, Taylor Trade Publishing.

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...