

มีเงินเก็บทุกเดือนแน่ แค่จด ‘รายรับรายจ่าย’ รู้จัก Kakeibo ศิลปะการทำบัญชีของคนญี่ปุ่น
Wealth / Money
13 May 2024 - 3 mins read
Wealth / Money
SHARE
13 May 2024 - 3 mins read
เงินหายไปไหนหมด ?
ยังไม่ทันจะพ้นเดือน แต่จำนวนเงินที่มีตอนนี้ กลับเหลืออยู่น้อยนิดจนอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาตัวเองใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง ?
เพราะไม่ได้จดบันทึกรายจ่ายเอาไว้ ทำให้หลายคนต้องนั่งนึกอยู่นาน ถึงอย่างนั้นก็จำได้ไม่ครบ จึงจะดียิ่งกว่า ถ้าทุกคนหันมาเริ่มต้น ‘ทำบัญชีรายรับรายจ่าย’ เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งไม่เพียงทำให้รู้ที่มาที่ไปของเงินทุกบาท แต่ยังช่วยวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างรัดกุมและคุ้มค่า
LIVE TO LIFE ชวนทุกคนบอกลาปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ ด้วยศิลปะการทำบัญชีของคนญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kakeibo ซึ่งได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมานานมากกว่า 120 ปี เปรียบได้กับภูมิปัญญาทางการเงินแห่งแดนอาทิตย์อุทัย เพราะทำให้มีเงินเหลือเก็บและจัดสรรเงินเป็น
คะเคโบะ คืออะไร ?
หนทางแก้ปัญหาการเงินที่พลิกชีวิตคนญี่ปุ่น
คะเคโบะ เป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาญี่ปุ่น 家計簿 มีความหมายตรงตัวว่า สมุดบัญชีครัวเรือน เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1904 โดย ฮานิ โมโตโกะ (Hani Motoko) นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น
ช่วงเวลานั้น ฮานิสังเกตเห็นว่าบรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นต้องรับหน้าที่จัดสรรค่าใช้จ่ายภายในบ้านตามงบฯ ที่ได้รับจากสามี ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด
ปัญหาก็คือ แค่จัดการเงินให้พอใช้ในแต่ละเดือนก็เป็นเรื่องยากมากแล้ว จึงลืมความคิดที่ว่า ‘แม่บ้านญี่ปุ่นคงมีเงินเหลือเก็บเป็นเงินออมของตัวเองบ้าง’ ไปได้เลย
ด้วยความตั้งใจของฮานิที่อยากแก้ปัญหานี้ให้แม่บ้านญี่ปุ่นมีเงินเก็บและมีอิสระในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเธอเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกคนใช้ชีวิตได้สุขสบาย คือต้องหมดกังวลเรื่องเงิน ฮานิจึงคิดหลักการจดบันทึกรายรับรายจ่ายด้วยสมุดบัญชีครัวเรือนขึ้นมา เน้นความง่ายและสะดวกโดยใช้เพียงสมุดเปล่า 1 เล่ม และปากกา 1 ด้าม เพราะในตอนนั้น แม่บ้านญี่ปุ่นยังไม่มีแนวทางหรือวิธีการใดที่ช่วยจัดระเบียบการใช้จ่ายให้เป็นระบบ
หลังจากฮานิตีพิมพ์วิธีทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะลงในนิตยสารสำหรับผู้หญิง เธอได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สังคมญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เพราะคะเคโบะไม่ได้แค่พลิกฟื้นชีวิตขัดสนของแม่บ้านญี่ปุ่น แต่ยังสร้างหลักคิดใหม่ให้คนญี่ปุ่นหันมาสนใจการทำบัญชีรายรับรายจ่ายกันอย่างจริงจัง
คะเคโบะ ทำอย่างไร ?
การเงินดีขึ้นด้วยบัญชีรายรับรายจ่ายเล่มเดียว
จำได้ไหม ? ทำ ‘บัญชีรายรับรายจ่าย’ ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่
เพราะการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นก้าวแรกของการมีสุขภาพการเงินที่ดี แต่วิธีทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะนั้นแตกต่างจากบัญชีรายรับรายจ่ายทั่วไป
ก่อนอื่น ต้องเริ่มต้นด้วยการตอบ ‘คำถามสำคัญ’ 4 ข้อต่อไปนี้อย่างละเอียดที่สุด
- มีเงิน (รายรับ) เพียงพอให้ใช้จ่ายตลอดทั้งเดือนหรือไม่ ?
- ต้องการเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ ? ควรกำหนดจำนวนเงินที่เป็นไปได้ไว้ให้ชัดเจน
- มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ ? แล้วใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ ?
- เมื่อเปรียบเทียบรายรับกับรายจ่ายแล้ว เพื่อปรับปรุงการใช้เงินให้รัดกุมขึ้นและมีเงินเหลือเก็บ ควรต้องอย่างไร ?
คำตอบที่ได้จะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพการใช้จ่ายเงินของตัวเองชัดเจน นำไปสู่การลงมือทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะ เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีเงินเหลือสำหรับเก็บออมมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
ขั้นตอน 1 : รวมรายรับตลอดเดือน
จดรายรับทุกช่องทางที่หามาได้ ทั้งรายได้ประจำ เช่น เงินเดือนจากงานที่เป็นรายได้หลัก และรายได้พิเศษจากช่องทางอื่น เช่น รายได้จากการทำงานเสริม เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีเงินรับเข้ามารวมเป็นจำนวนเท่าไหร่
ขั้นตอน 2 : รวมรายจ่ายคงที่ตลอดเดือน
จดรายจ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายตามกำหนดเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงหนี้สินผ่อนจ่ายรายงวด เช่น เบี้ยประกัน ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ และค่าเช่า เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีจำนวนเงินเท่าไหร่ที่ต้องจ่ายออกแน่นอน
ขั้นตอน 3 : หาจำนวนเงินคงเหลือ
นำรายรับรวมตลอดเดือน (จากขั้นตอน 1) ตั้ง แล้วลบออกด้วยรายจ่ายคงที่ตลอดเดือน (จากขั้นตอน 2) จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินคงเหลือสำหรับใช้จ่ายได้จริงตลอดเดือน
ขั้นตอน 4 : กำหนดจำนวนเงินเก็บให้พอเหมาะพอดี
เพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตในเดือนนั้น จึงแนะนำให้กำหนดจำนวนเงินเก็บตามความเป็นไปได้ เพราะต้องหักลบจากจำนวนเงินคงเหลือ (จากขั้นตอน 3) จะได้เงินยอดสุดท้าย หมายความว่า ยิ่งต้องการเก็บเงินมากเกินเท่าไหร่ ยิ่งมีจำนวนยอดสุดท้ายสำหรับใช้จ่ายจริงตลอดเดือนน้อยลง
ขั้นตอน 5 : จำกัดงบฯ ที่ใช้ได้ต่อสัปดาห์
นำเงินยอดสุดท้ายมาหารด้วย 4 ตามจำนวนสัปดาห์ต่อเดือน จะได้งบฯ ต่อสัปดาห์ เมื่อรู้ว่าแต่ละสัปดาห์มีเงินพอให้ใช้ไม่เกินเท่าไหร่ ก็จะทำให้คุ้มค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
ในขั้นตอนนี้ให้เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะอย่างละเอียดรายสัปดาห์ โดยแบ่งประเภทค่าใช้จ่ายออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่ม 1 Needs หรือ Survival ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพที่ชีวิตขาดไม่ได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายารักษาโรค ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค
- กลุ่ม 2 Wants หรือ Optional ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ถ้ามีจะทำให้ใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย หากตัดรายจ่ายส่วนนี้ออกไปทั้งหมด ก็ยังใช้ชีวิตได้ เช่น ค่าเสื้อผ้าแฟชั่น ค่าชอปปิง
- กลุ่ม 3 Culture ค่าใช้จ่ายที่สร้างความรื่นรมย์และความบันเทิงให้ชีวิต ในอีกมุมหนึ่งช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้ เช่น ค่าหนังสือ ค่าตั๋วดูหนัง ค่าบัตรคอนเสิร์ต
- กลุ่ม 4 Unexpected ค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นไม่บ่อย เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าปรับ ค่าของขวัญแสดงความยินดีกับคนอื่นในโอกาสต่าง ๆ
ขั้นตอน 6 : ทบทวนรายจ่ายเพื่อวางแผนการออม
เมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือน ให้ย้อนกลับไปดูรายการใช้จ่ายที่บันทึกเอาไว้ตลอด 4 สัปดาห์
เพราะภาพรวมของบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะจะแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า หมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายกลุ่มไหนบ้าง และเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับวางแผนการใช้เงินในเดือนต่อไปได้
จุดสำคัญที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ คุมรายจ่าย โดยลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แล้วเพิ่มเป็นเงินเก็บออมแทน เท่ากับว่าในเดือนต่อไป จำนวนเงินออมจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่งบฯ ใช้จ่ายต่อสัปดาห์จะลดลง
ส่วนเงินออม แนะนำให้เก็บสะสมไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอให้ใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปก่อน เมื่อครบจำนวนแล้วค่อยสะสมเงินก้อนใหม่เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย
หนึ่งในวิธีต่อยอดเงินออมได้อย่างคุ้มค่า คือ การเลือกซื้อประกันที่ได้รับทั้งความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทน* อย่าง ไทยประกันชีวิต มันนี่ ฟิต เฟิร์ม 25/20 (1) (มีเงินปันผล) เป็นทางเลือกในการออมที่ใช่ เพราะเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น มีเงินคืนทุกปี ตลอดสัญญารับเงินคืนขั้นต่ำ 211%* และมีโอกาสรับเงินปันผล พร้อมรับความคุ้มครองชีวิตสูงสุดถึง 190%* และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท/ปี**
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด **ตามที่สรรพากรกำหนด ทั้งนี้ ผู้ซื้อควรศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
คะเคโบะ เหมาะกับใคร ?
เปลี่ยนชีวิตใหม่ให้มีเงินออมเพื่อความมั่นคง
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายแบบคะเคโบะเหมาะกับใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านการเงินให้ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เพราะ หัวใจสำคัญของคะเคโบะ คือ ความมุ่งมั่นวางแผนและปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นความตั้งใจจริงที่อยากบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บออม ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องทำต่อเนื่องจึงจะเห็นผลลัพธ์
นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดเวลา 120 ปีที่ผ่านมา คะเคโบะคือเคล็ดลับการเงินที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จและความมั่นคงแล้วว่า มีเงินเหลือเก็บทุกเดือนแน่ แค่จดรายรับรายจ่ายให้เป็นระบบ
อ้างอิง
- Fumiko Chiba. (2018). Kakeibo: The Japanese Art of Saving Money. Penguin Publishing.