บอกลา Fast Fashion ด้วย 5 แบรนด์ไทยที่ดีไซน์เสื้อผ้า Eco-Friendly ให้เป็นมิตรกับโลก

13 Sep 2023 - 5 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

จะดีกว่าไหม? หากเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อโลก

 

เพราะเสื้อผ้าแฟชั่นจำนวนมากในท้องตลาด เป็นเสื้อผ้าตามกระแสนิยมหรือ Fast Fashion แม้จะดูสวยงามและเย้ายวนให้ซื้อมาเป็นเจ้าของ แต่กลับไม่คงทน เนื้อผ้าขาดชำรุดง่าย เนื่องจากเน้นการผลิตออกมาขายในปริมาณมากด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ทำให้สวมใส่ได้จริงไม่กี่ครั้ง สุดท้ายเสื้อผ้าที่อายุสั้นเหล่านี้จะกลายเป็นขยะสิ่งทอที่ส่งผลเสียต่อโลกอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง

 

ในทุก ๆ วัน มีขยะจากเสื้อผ้า Fast Fashion หลายร้อยตันเกิดขึ้นบนโลกของเรา ทั้งเสื้อผ้าที่เสื่อมสภาพ เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งเพราะความเบื่อง่ายของคนใส่ และเสื้อผ้าตกรุ่นที่ขายไม่ออกเพราะผลิตออกมามากเกินความต้องการ

 

ยังไม่นับความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต เพราะอุตสาหกรรม Fast Fashion ใช้ทั้งน้ำและเส้นใยเกินความจำเป็น รวมถึงการเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่ปล่อยน้ำเสีย มลพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้นจนกระทบกับธรรมชาติและทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก

 

หนทางเดียวที่เราในฐานะผู้บริโภค พอจะช่วยเยียวยาโลกจากปัญหาขยะสิ่งทอได้ คือ ต้องบอกลา Fast Fashion แล้วหันมาเลือกสวมใส่เสื้อผ้า Eco-Friendly ที่เป็นมิตรกับโลก 

 

LIVE TO LIFE ได้คัดสรรแบรนด์ไทยที่ดีไซน์เสื้อผ้า Eco-Friendly จากแนวคิดความยั่งยืนผ่านวัสดุธรรมชาติและใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกัน

 

 

TAKTAI : เสื้อผ้าเส้นใยไม้ไผ่ แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาไทย

 

หากได้สัมผัสกับเนื้อผ้าที่อ่อนนุ่มของแบรนด์ TAKTAI แทบไม่น่าเชื่อว่าทอมาจากเส้นใยของต้นไผ่ โดยนำมาปั่นด้ายก่อนนำมาทอเป็นผืน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ TAKTAI ที่หลงใหลในผ้าทอมือและความรักในธรรมชาติ กับชุมชนทอผ้าในจังหวัดมหาสารคาม เกิดเป็นเสื้อผ้าคุณภาพดีจากธรรมชาติที่ไม่ทำร้ายโลก แถมยังนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านให้เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมรายได้ในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

 

คุณสมบัติของเนื้อผ้าใยไผ่ยังมีความยืดหยุ่นสูง แข็งแรง น้ำหนักเบา สัมผัสสบายผิว ป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และระบายอากาศได้ดี จึงเหมาะกับการนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ส่วนสีต่าง ๆ ที่ใช้ย้อมเนื้อผ้าใยไผ่ ทางแบรนด์ TAKTAI เลือกใช้สีจากธรรมชาติเท่านั้น ผู้สวมใส่จึงอุ่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองผิว

 

 

CIRCULAR : หมุนเวียนเปลี่ยนเศษผ้ามาเป็นชุดตัวเก่ง

 

เพราะความยั่งยืนของโลกจะเกิดขึ้นได้จากการลดจำนวนของเหลือใช้และไม่สร้างขยะเพิ่ม แบรนด์ CIRCULAR จึงเลือกผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล 100% โดยไม่ใช้ผ้าจากฝ้ายที่ปลูกใหม่และไม่ใช้ผ้าที่ผ่านการฟอกย้อม เพื่อช่วยลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เท่าที่แบรนด์แฟชั่นจะทำได้ในทุกขั้นตอน

 

วัสดุรีไซเคิลที่แบรนด์ CIRCULAR นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง รวมถึงถุงเท้า หมวก และรองเท้า เคยเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ โดยเฉพาะเศษผ้าจากการตัดเย็บ แต่แบรนด์ CIRCULAR นำมาแปรสภาพกลับเป็นเสื้อผ้าหลากสีที่สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันอีกครั้ง เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ เสื้อผ้าทุกตัวยังได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล Global Recycle Standard (GRS) ซึ่งมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิลเท่านั้นอีกด้วย

 

 

MADMATTER : ออกแบบเสื้อด้วยม้วนผ้าที่เหลือค้างจากโรงงาน

 

MADMATTER เป็นแบรนด์ที่เกิดจากความตั้งใจอยากผลักดัน Sustainable Fashion หรือ เสื้อผ้าแฟชั่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ผ้า Dead Stock ที่คงค้างอยู่ในโรงงานผลิตเป็นเวลานานมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ ซึ่งช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้นระหว่างทอผ้าขึ้นใหม่ไปได้เยอะมาก

 

ส่วนการดีไซน์เสื้อผ้าแต่ละตัว นอกจากความสวยงามและการออกแบบเสื้อผ้า Gender Neutral ให้คนทุกเพศทุกวัยใส่ได้ แบรนด์ MADMATTER ยังตั้งใจออกแบบและตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน เพื่อยืดอายุการใช้งานของชุดให้ยาวนานขึ้น ถือเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่สวนทางกับ Fast Fashion ที่เน้นแต่ความหวือหวา ใส่ได้ไม่นานก็ต้องทิ้งไปเป็นขยะ

 

 

EARTHOLOGY : รีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นเสื้อผ้าน่าสวมใส่

 

คำว่า EARTHOLOGY เกิดจากการรวมกันระหว่างคำว่า Earth และ Technology เพราะแบรนด์เชื่อมั่นมาเสมอว่า เสื้อผ้าที่ดีเกิดจากการผสมผสานระหว่างความยั่งยืนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต โดยนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเส้นใยที่เหนียว เมื่อนำมาทอรวมกับเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรด ใยกัญชง และฝ้ายออร์แกนิก ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อโลกและดีต่อคนที่สวมใส่ เป็นเนื้อผ้าที่ทนทาน แต่ยังนุ่มสบาย พร้อมเนื้อสัมผัสและสีสันสวยงามไม่ต่างจากผ้าทั่วไป

 

ความมุ่งมั่นของแบรนด์ EARTHOLOGY จึงไม่ใช่แค่ออกแบบและตัดเย็บชุดจากผ้ารีไซเคิลเท่านั้น แต่ตั้งใจใช้แฟชั่นที่ยั่งยืนของแบรนด์สร้างความเข้าใจใหม่และปลุกกระแสให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพียงเลือกสวมใส่เสื้อผ้า Eco-Friendly ก็เท่ากับว่า ได้ช่วยดูแลโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันจากผลเสียของ Fast Fashion

 

 

DRY CLEAN ONLY : ผ่าตัดเสื้อตัวเก่าเป็นเสื้อตัวเก๋าที่มีตัวเดียวในโลก 

 

คงไม่มีแบรนด์แฟชั่นไทยแบรนด์ไหน ทำเสื้อผ้าออกมาได้สนุก น่าใส่ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และดีต่อโลกได้เท่า DRY CLEAN ONLY เพราะเป็นแบรนด์ที่คืนชีวิตใหม่ให้เสื้อวินเทจและเสื้อผ้ามือสอง เริ่มจากตัดแบ่งส่วนเป็นชิ้น ๆ ก่อนนำมาประกอบเข้ากันใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นเสื้อตัวเก๋าที่มีเพียงตัวเดียวในโลก ถึงขนาดเข้าตาศิลปินดังระดับโลกอย่าง บียอนเซ (Beyoncé) และ รีฮานน่า (Rihanna) เลือกใส่มาแล้ว

 

เสื้อผ้าของ DRY CLEAN ONLY จึงเป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่ยืนยันได้ว่า ความเก่าไม่ได้หมายถึงของที่ควรถูกทิ้ง แต่ความกล้าแตกต่างและการเห็นคุณค่าของทุกสิ่งที่ใช้พลังงานและทรัพยากรมากมายเพื่อผลิตขึ้นมาต่างหาก ควรค่าแก่การให้ความสำคัญ เพื่อให้เสื้อผ้าได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป โดยการนำกลับมาซ่อมแซม ดัดแปลง และเพิ่มเติม จนสวมใส่ได้อีกครั้งหนึ่ง

 

สำหรับคนที่มีเสื้อผ้าเก่าอยู่เต็มตู้ แต่ไม่รู้ว่าควรจัดการอย่างไรให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เสื้อผ้าเหล่านี้กลายเป็นขยะที่สร้างปัญหาต่อโลกและทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม LIVE TO LIFE ได้รวบรวมวิธีจัดการกับเสื้อผ้าเหลือใช้ฉบับกระชับ ไว้เป็นแนวทางให้ทุกคนลองทำตามกันดู

 

1. ส่งต่อให้คนใกล้ชิดที่ต้องการ ถือเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ถ้าเราจะส่งต่อเสื้อผ้าให้กับพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือใครก็ตามที่ต้องการเสื้อผ้าที่เราไม่ใส่แล้วหรือคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ใส่อีก ดีกว่าแขวนทิ้งไว้ในตู้ให้รกพื้นที่

 

2. บริจาคให้มูลนิธิ หากมีเสื้อผ้าไม่ใช้แล้วจำนวนมาก แนะนำให้คัดเลือกไปบริจาคกับมูลนิธิต่าง ๆ ตามความสนใจอยากสนับสนุน สามารถนำไปบริจาคได้ที่มูลนิธิและสถานสงเคราะห์ที่เปิดรับบริจาคเสื้อผ้า

 

3. ส่งไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี อย่างที่เราทราบกันว่า เสื้อผ้าสามารถนำไปรีไซเคิลให้กลับมาเป็นเส้นใยได้อีกครั้ง โดยเฉพาะเศษผ้าที่ชำรุดจนใส่ไม่ได้ เพียงแต่ต้องส่งต่อให้องค์กรที่รับบริจาคช่วยคัดแยกอย่างถูกต้อง เพราะการทิ้งเสื้อผ้าลงถังขยะทั่วไปมีความเป็นไปได้สูงมากที่เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกนำไปเผาหรือฝังกลบซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าการรีไซเคิล

 

4. ขายต่อเป็นเสื้อผ้ามือสอง หากเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วหลายตัวอยู่ในสภาพดีมาก แนะนำให้ขายต่อ เพราะเป็นวิธีช่วยสร้างรายได้ในอีกช่องทางหนึ่ง อาจลงขายในกลุ่มซื้อ-ขายของสื่อสังคมออนไลน์ หรือลงขายใน Hangles ศูนย์รวมเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดี ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยคนไทยเพื่อช่วยจัดการปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ โดยส่งต่อให้เจ้าของคนใหม่ หวังยืดอายุให้ชุดตัวสวยและช่วยโลกจากขยะเสื้อผ้าที่มักจะถูกทิ้งเร็วเกินไป

 

 

อ้างอิง

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...