ชวนคู่ชีวิตวางแผนการเงิน พร้อมรับวันที่ประเทศไทยมี ‘สมรสเท่าเทียม’
Wealth / Money
01 Jun 2023 - 5 mins read
Wealth / Money
SHARE
01 Jun 2023 - 5 mins read
แค่รักกันอาจยังไม่พอที่จะให้ความสัมพันธ์ยืนยาวไปได้ตลอดรอดฝั่ง หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตคู่คือการจัดการเงิน
คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปเมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว แน่นอนว่ามีผลกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการจดทะเบียนสมรสหมายถึงการรับผิดชอบเรื่องเงินในฐานะคนคนเดียวกัน ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเสียภาษี มรดกและสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับ
แต่ไม่ใช่ทุกคู่รักจะได้สิทธินี้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้ยังมีผู้คนมากมายที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการจัดการเงินทัดเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง แม้จะลงหลักปักฐานเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างสมบูรณ์แล้วก็ตาม
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมคือความหวังในอนาคตอันใกล้ที่จะทำให้คนทุกเพศได้รับสิทธิเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม เราจึงขอพาไปสำรวจดูว่าหากประเทศไทยมี ‘สมรสเท่าเทียม’ ในอนาคตอันใกล้นี้ คู่รักเพศเดียวกันจะสามารถเตรียมตัววางแผนเรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไรได้บ้าง
‘สินสมรส’
ทำอย่างไรเมื่อมีทรัพย์สินหลังสมรส
และใช้กระเป๋าเงินใบเดียวกัน
เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว หมายความว่ากระเป๋าเงินของทั้งสองฝ่ายกำลังจะกลายเป็นกระเป๋าเงินใบเดียวกัน เงินที่หามาได้หลังจากจดทะเบียนคือ ‘สินสมรส’ ที่ทั้งคู่ต่างมีสิทธิในเงินส่วนนี้คนละครึ่ง
อย่างไรก็ตามในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่าย ยกเว้นการทำนิติกรรมบางอย่างที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวตามที่กฎหมายระบุไว้เช่น การนำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อพนักงานหรือศาล การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์สามปีขึ้นไป ฯลฯ
ดังนั้นการจดทะเบียนสมรสทำให้ชีวิตคู่ง่ายขึ้นตรงที่สามารถจัดการหนี้สินให้หมดไปได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนสองคน แม้เป็นหนี้ส่วนตัว หากทรัพย์สินส่วนตัวไม่สามารถจ่ายได้หมด เจ้าหนี้ก็สามารถเรียกเก็บจากเงินในสินสมรสในส่วนของคู่สมรสคนนั้นได้ คู่สมรสสามารถช่วยกันปลดหนี้ได้ ช่วยกันผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แบ่งเบาหนี้สินเพื่อสร้างครอบครัวได้ แต่อาจเกิดความยุ่งยากหากต้องหย่าร้าง เพราะต้องมีการแบ่งทรัพย์สินกันในภายหลัง
กู้ร่วมได้ง่ายเพื่อชีวิตที่งอกงาม
คู่รักที่จดทะเบียนสมรสสามารถกู้ร่วมกันได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกู้เงินเพื่อลงทุนให้ชีวิตมั่นคงและได้รับดอกผลงดงามงอกเงยก็ทำได้สะดวกกว่ามาก
อย่างไรก็ตามคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนก็สามารถกู้เงินร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องแสดงหลักฐานการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และในปัจจุบันหลาย ๆ ธนาคารก็เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันกู้ร่วมได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องแสดงหลักฐานต่าง ๆ เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากหลายขั้นตอน ทำให้มีโอกาสกู้ผ่านน้อยกว่าคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ซื้อประกันไว้เพื่อใครอีกคนที่ยังอยู่
คู่สมรสสามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์
ในกรมธรรม์ประกันชีวิตได้
การทำประกันชีวิต จะต้องระบุชื่อของคนที่จะได้รับผลประโยชน์ในกรณีที่เราเสียชีวิต คู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมที่สามารถระบุเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องยื่นหลักฐานการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพิ่มเติม
หากคนทุกเพศจดทะเบียนกันได้อย่างถูกกฎหมาย ก็นับว่าสะดวกสบายสำหรับการทำประกันชีวิตที่ต้องการมอบผลประโยชน์ให้กับคู่ของตนเอง นอกจากนี้คู่สมรสยังมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนรายงวด เงินปันผล และเงินครบสัญญาจากประกันชีวิตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีสมรสเท่าเทียม แต่คู่รักเพศเดียวกันก็สามารถระบุชื่อคู่รักของตนเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้ เพียงต้องแสดงหลักฐานและเอกสารเพิ่มเติมที่เป็นหลักฐานว่าทั้งสองเป็นคู่ชีวิตจริง ๆ เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน เปิดบัญชีหรือมีบัญชีบัตรเครดิตร่วมกัน เอกสารยืนยันความสัมพันธ์คู่ชีวิต เป็นต้น ซึ่งแตกต่างตามกระบวนการของประกันแต่ละบริษัท
เตรียมตัวจัดการภาษีฉบับคู่ชีวิต
คู่รักที่จดทะเบียนสมรสกันสามารถเลือกยื่นภาษีแบบคู่สมรสได้ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคู่นั้นจะวางแผนการยื่นภาษีอย่างไรให้คุ้มค่าสำหรับคู่ของตนเอง ในกรณีที่ยื่นภาษีแบบคู่สมรสนั้นจะทำให้สามารถ ‘ลดหย่อนภาษีได้’ ในกรณีต่อไปนี้
ลดหย่อนบิดา - มารดาของคู่สมรส : หากทั้งคู่อายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถลดหย่อนภาษีได้ปีละ 30,000 บาท (คนละ 15,000 บาท)
ลดหย่อนเมื่อซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ไม่เกินปีละ 15,000 บาท
ลดหย่อนซื้อประกันสุขภาพของบิดา - มารดาของคู่สมรส ไม่เกินปีละ 30,000 บาท (คนละ 15,000 บาท)
ลดหย่อนบุตร ปีละ 30,000 บาทสำหรับลูกคนแรกและ 60,000 บาทสำหรับลูกคนที่สอง (คู่สมรส LGBTQ+ ที่รับบุตรบุญธรรมก็สามารถได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกัน)
ลดหย่อนคู่สมรส ในกรณีที่ต้องดูแลคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ปีละ 60,000 บาท
วางแผนก่อนจากโลกนี้ไป
เรื่องพินัยกรรมและมรดก
หากใครคนใดคนหนึ่งจากไปก่อน คู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกของอีกฝ่าย เป็นเรื่องดีหากคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะถ้าอีกฝ่ายจากไป ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้รับมรดกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งมีสิทธิได้รับเงินสินไหมและขอเงินชดเชย หากคู่สมรสเสียชีวิตและทุพพลภาพในฐานะทายาทโดยธรรมได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน หากคู่รักเพศเดียวกันต้องการมอบมรดกของตนเองให้กับอีกฝ่าย ก็สามารถเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ระบุวันที่ให้เรียบร้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้ อีกวิธีคือการการทำพินัยกรรมแบบมีพยานลายมือชื่อ 2 คน หรือทางวาจาแบบมีพยานจำนวน 2 คน ก็ทำได้เช่นกัน
แต่แน่นอนว่าชีวิตไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าเราจะจากไปวันไหน หากคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ก็หมดห่วงเรื่องของพินัยกรรมและมรดกสำหรับคู่ชีวิตอีกคนที่ยังอยู่ โดยไม่ต้องทำพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า
การวางแผนการเงินฉบับคู่สมรสนั้นมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคู่อยากจะวางแผนการเงินและชีวิตของตนเองอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คนทุกเพศควรมีสิทธิที่จะได้เลือกอย่างเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกความรักของทุกชีวิตนั้นมีคุณค่าเสมอภาคกัน