อวดประหยัดกันดีกว่า รู้จัก Loud Budgeting แนวคิดใช้เงินแบบใหม่ ที่ใช้สติก่อนใช้สตางค์

06 Mar 2024 - 5 mins read

Wealth / Money

Share

 

หมดเงินไปเท่าไหร่ ? กับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อไม่ให้ตัวเองเอาท์

 

หากมองดูผู้คนรอบตัว (รวมถึงตัวเอง) จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกซื้อเสื้อผ้าและกระเป๋าสุดฮิตตามอินฟลูเอนเซอร์ และเลือกเข้าคิวรอกินของอร่อย แพงแค่ไหนก็ยอมจ่ายเพราะตามมาจากรีวิวชวนหิวที่เห็นบนโลกโซเชียล ไม่พอแค่นั้น หลายคนยังเลือกไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูปมุมเดียวกันกับภาพที่เห็นใน IG และ TikTok ของคนดัง

 

แล้ว เหนื่อยไหม ? ที่ต้องตามให้ทันเทรนด์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อเทรนด์เก่าผ่านพ้นไป ก็มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นมาแทน แต่ที่หนักหนากว่าความเหนื่อย คงเป็นจำนวนเงินมากมายที่หมดไปกับสิ่งล่อตาล่อใจ

 

เพื่อห้ามตัวเองไม่ให้ใช้เงินฟุ่มเฟือย LIVE TO LIFE จึงอยากชวนทุกคนมองมุมกลับปรับมุมมองถึงเงินทุกบาทที่หามาได้ ด้วยเทรนด์การใช้เงินแนวใหม่ที่เรียกว่า Loud Budgeting ซึ่งคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและหันมาทำตาม

 

 

Loud Budgeting คืออะไร ?

Loud Budgeting คือ เทรนด์การเงินที่มาแรงที่สุดตั้งแต่ต้นปี เป็นแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการใช้จ่าย ซึ่งมีวิธีการง่าย ๆ แค่ป่าวประกาศกับคนใกล้ตัวให้รู้ว่า เรากำลังตั้งใจวางแผนการใช้เงินให้ประหยัดและคุ้มค่าที่สุด ทั้งตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และควบคุมรายจ่ายให้เหมาะสมกับสถานะการเงินตัวเอง โดยไม่สนว่าใครจะคิดหรือมองอย่างไร เพราะไม่อยากใช้เงินเกินตัวจนเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต

 

ก่อนที่เทรนด์นี้จะเป็นกระแส จุดเริ่มต้นของ Loud Budgeting กลับเกิดมาจากอารมณ์ขัน ทีเล่นทีจริงของ ลูคัส แบทเทิล (Lukas Battle) ผู้ใช้งาน TikTok ชาวอเมริกันวัย 26 ปี ที่นึกสนุกทำคลิป My 2024 IN/OUT List เพื่อบอกเล่าเทรนด์ใหม่ในปี 2024 ที่มาแทนเทรนด์เก่าของปี 2023

 

ความตั้งใจแรกของลูคัส แค่อยากล้อเลียน Quiet Luxury หรือเทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เน้นความหรูหราแบบไม่เผยให้เห็นโต้ง ๆ ว่าเป็นของแบรนด์เนม เพราะซ่อนโลโก้เอาไว้ไม่ให้ปรากฏเด่นชัด ถึงอย่างนั้น ยังคงเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูงและตัดเย็บอย่างประณีต ทำให้ของแต่ละชิ้นมีราคาสูงลิ่วเหมือนเดิม

 

ด้วยเหตุนี้ ลูคัสจึงคิดคำใหม่ขึ้นมาว่า Loud Budgeting ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับ Quiet Luxury เพื่อเปลี่ยนจากเทรนด์อวดความหรูหราแบบเงียบ ๆ เป็นเทรนด์อวดความประหยัดแบบตะโกนบอกดัง ๆ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรืออาย หวังเอาใจทั้งคนมัธยัสถ์ รวมถึงคนที่มีเงินไม่มากพอให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะการใช้จ่ายอย่างประหยัดช่วยให้มีเงินเหลือเก็บและมีสถานะการเงินที่ดีขึ้นได้

 

 

Loud Budgeting สำคัญอย่างไร ?

เหตุผลที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจ Loud Budgeting จนกลายเป็นแนวคิดใช้เงินแบบใหม่ที่น่านำไปปรับใช้ในชีวิตจริง เพราะก่อนหน้านี้ ช่วงที่คนอยู่แต่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คนต้องสั่งซื้อของออนไลน์แทน แม้เวลาต่อมา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจนทุกคนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่คนส่วนใหญ่ยังเสพติดซื้อของออนไลน์ไม่เปลี่ยน ต่อให้ราคาของปรับสูงขึ้นก็ตาม

 

ด้วยความง่ายและสะดวกสบายของการซื้อของออนไลน์ รวมกับกระแสสังคมอื่น ๆ ที่ยั่วยวนให้คนอยากได้อยากมีอยู่ตลอดเวลา จนตกหลุมพรางของคำที่ว่า “ของมันต้องมี” ได้ง่าย ๆ จึงทำให้คนจำนวนมากใช้จ่ายเกินความจำเป็น บางคนถึงขั้นใช้จ่ายเกินตัว

 

สุดท้ายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกับสถานะการเงินและเกิดเป็นความเครียด โดยเฉพาะคนที่มีหนี้ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น หนี้จากการซื้อแบบผ่อน หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้ที่เคยกู้ธนาคารมาซื้อของชิ้นใหญ่อย่างบ้าน คอนโด และรถยนต์

 

หากยังใช้เงินมือเติบและใช้ชีวิตอู้ฟู่เหมือนเดิมต่อไป นอกจากจะไม่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินแล้ว ยังทำให้เงินที่หามาได้ร่อยหรอลง ไม่ต่างจากกระปุกที่มีรูรั่ว การยึดถือแนวคิด Loud Budgeting จึงเป็นวิธีที่ได้ผล สำหรับคนที่อยากเตือนตัวเองทุกครั้งก่อนจ่ายเงินว่า ต้องใช้สติไตร่ตรองก่อนใช้สตางค์ เหมือนได้กาวอย่างดีที่สามารถอุดรู ป้องกันไม่ให้เงินไหลออกมาได้

 

 

Loud Budgeting ต้องทำอย่างไร ?

หัวใจของแนวคิด Loud Budgeting ไม่ได้สนใจว่าใครมีเงินเท่าไหร่ แต่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเอาไว้ใช้จ่ายกับสิ่งที่มีคุณค่าให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยอาศัยความหนักแน่นมั่นคงของใจ ไม่ให้หวั่นไหวไปกับสิ่งยั่วยุที่ชวนให้เสียเงิน

 

ขณะเดียวกันให้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ตนกำลังจำกัดงบสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละวันและแต่ละเดือน เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนอื่นรับรู้เป้าหมายการเงินที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจได้ในทันที เพราะบางคนอาจมองในแง่ลบว่าเป็นคนไม่มีเงิน หรือเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว จึงไม่ยอมใช้เงินเหมือนเมื่อก่อน

 

ในประเด็นนี้ จูลี่ โอไบรอัน (Julie O’Brien) รองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์แห่ง U.S. Bank ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ยิ่ง Loud Budgeting ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนมีพลัง มีกำลังใจ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัดเพราะรู้คุณค่าของเงินอีกต่อไป

 

เช่นเดียวกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนที่เห็นตรงกันว่า Loud Budgeting เป็นแนวคิดที่จะทำให้คนใส่ใจการเงินกันมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ลดความเสี่ยงในการสร้างหนี้ และเพิ่มโอกาสในการออมให้เงินงอกเงย หากทำได้ต่อเนื่อง จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีได้

 

สำหรับคนที่สนใจแนวคิด Loud Budgeting แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี ? 

 

LIVE TO LIFE ได้สรุปแนวทาง 3 ข้อ ไว้ให้ทุกคนนำไปทำตามกันได้ง่าย ๆ ดังนี้

 

1. ชัดเจนกับตัวเองว่าจะประหยัดและบอกคนรอบข้างให้รู้ความตั้งใจ

เริ่มต้นตกลงหรือให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ให้ชัดเจนว่าจะอนุญาตให้ตัวเองสามารถใช้เงินได้ไม่เกินเท่าไหร่ เพราะการกำหนดตัวเลขช่วยให้รู้จำนวนเงินที่แน่นอน และช่วยเตือนสติให้รู้ถึงความถูกความแพงได้ทันทีหากต้องตัดสินใจว่าควรจ่ายเงินกับสิ่งนั้นหรือไม่

 

ที่สำคัญไม่ต้องรู้สึกผิด หากต้องปฏิเสธคำชวนของคนอื่น ซึ่งลูคัสได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตจริงว่า หากเพื่อนสนิทชวนไปข้างนอกหรือหาเรื่องเสียเงินโดยไม่จำเป็น ให้ตอบปฏิเสธ แล้วบอกเหตุผลไปตามตรงว่า กำลังคุมรายจ่าย หากเพื่อนไม่เข้าใจ ให้อธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของแนวคิด Loud Budgeting

 

2. ชัดเจนกับรายจ่ายและตัดสินใจได้เด็ดขาด

ก่อนจ่ายเงินกับอะไร ให้คิดเพื่อตัดสินใจเด็ดขาดว่า สิ่งนั้นเป็น Needs (ชีวิตนี้ขาดไม่ได้ เช่น ปัจจัย 4) หรือ Wants (แค่อยากได้อยากมี) แต่ต้องไม่กดดันจนกลายเป็นความเครียด ให้คิดหาวิธีชาเลนจ์ตัวเองควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มความสนุกให้กับการคุมรายจ่าย เช่น No Buy Month ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดทั้งเดือน หรือ No-Spend Challenge เดือนนี้ขอท้าตัวเองให้ใช้เงินน้อยที่สุด หากอยากได้อะไรมาก ๆ ให้ใช้กฎ The 48-Hour Rule คือรอให้เวลาผ่านไป 2 วันแล้วคิดดูอีกทีว่าจำเป็นต้องซื้อจริง ๆ หรือไม่

 

ไม่สำคัญว่ามีเงินมากหรือน้อย ให้ถือคติออมก่อนใช้ทีหลังเสมอ รวมถึงยอมรับว่าการทำตัวประหยัดไม่ใช่เรื่องแย่หรือน่าอาย ในทางกลับกันนับเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพทางการเงินด้วยซ้ำ ยิ่งชัดเจนกับแนวคิด Loud Budgeting มากเท่าไหร่ ยิ่งมั่นคงกับเป้าหมาย เกิดเป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเองไม่ใช้เงินตามอารมณ์

 

3. ชัดเจนกับอนาคตที่อยากทำให้ชีวิตมั่งคั่งและมั่นคง

เอาใจใส่สถานะการเงินและความมั่นคงในอนาคต เน้นการเก็บออมเพื่อต่อยอดเงินออมไปสู่การลงทุนที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับการเงิน ความเสี่ยง ความรู้ และความสนใจของตัวเอง

 

สำหรับคนที่กำลังมองหา ‘ประกันเพื่อการออมเงินและลดหย่อนภาษี’ แนะนำแบบประกันของ ‘ไทยประกันชีวิต’ เพราะให้ผลตอบแทนและความคุ้มครองที่คุ้มค่า ช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้ตลอดสัญญา ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการ สามารถศึกษารายละเอียดแต่ละแบบประกันได้ที่ ประกันเพื่อการออมเงินและลดหย่อนภาษี

 

 

อ้างอิง

  • Jessica Dickler. ‘Loud budgeting’ is having a moment — here's how to take advantage of it. https://cnb.cx/48v9DwS
  • Julia Glum. ‘Loud Budgeting’ Is the First Viral Money Trend of 2024 — but Does It Work?. https://bit.ly/49HIEz9
  • Vanessa Yurkevich. Loud budgeting is in, quiet luxury is out. Meet the TikToker who started the financial trend. https://cnn.it/49oXJWy
  • ชาญชัย ชัยประสิทธิ์. พฤติกรรมผู้บริโภค กับความคาดหวังต่อธุรกิจที่เปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด. https://pwc.to/3I5Vifs

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...