

แก้ปัญหาเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง ด้วยวิธีออมและลงทุนให้ชนะ ‘ของแพง’ ในยุค ‘เงินเฟ้อ’
Wealth / Money
27 Sep 2024 - 4 mins read
Wealth / Money
SHARE
27 Sep 2024 - 4 mins read
ย้อนไปสมัยยังเป็นเด็ก จำได้ไหมว่า หากอยากกินก๋วยเตี๋ยวสักชาม ต้องมีเงินกี่บาท ถึงจะซื้อได้ ?
คำตอบย่อมมีหลากหลาย เพราะขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคน หมายความว่า ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ ราคาก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ยิ่งถูกลงเท่านั้น
ถ้าไม่เชื่อ ให้ลองถามคนรุ่นพ่อแม่ กับคนรุ่นปู่ย่าตายาย จะได้คำตอบเป็นราคาก๋วยเตี๋ยวแสนถูก จนชวนให้สงสัยว่า ทำไมคนรุ่นก่อนมีเงินแค่บาทเดียว ก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวกินได้แล้ว ต่างจากปัจจุบัน ที่ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 50 บาท เพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม
ทั้งหมดนี้เกิดจาก ‘เงินเฟ้อ’ ต้นเหตุที่ทำให้ทุกคนต้องจ่ายเงินซื้อของทุกอย่างแพงขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อหาทางรับมือและเอาชนะของแพงในยุคเงินเฟ้อ LIVE TO LIFE มีวิธีออมเงินและลงทุนมาแนะนำเป็นแนวทางให้ทุกคนได้นำไปทำตาม
เงินเฟ้อ คืออะไร ?
เรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่ทุกคนต้องรู้ทัน
สิ่งแรกที่ทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจ คือ ความหมาย สาเหตุ และผลจากเงินเฟ้อที่กระทบกับเงินในกระเป๋า จนสร้างปัญหาปากท้องให้ใครหลายคนจับจ่ายใช้สอยเงินได้ไม่คล่องมืออย่างที่ควรจะเป็น
ความหมายของเงินเฟ้อ (Inflation) ในทางเศรษฐศาสตร์ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เงินมีค่าน้อยลง เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น เพื่อซื้อสินค้าและบริการให้ได้ในปริมาณเท่าเดิม
แต่ LIVE TO LIFE ขอสรุปใหม่สั้น ๆ ให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุดว่า ‘เงินเฟ้อ’ คือ ราคาข้าวของที่แพงขึ้นนั่นเอง
หมายความว่า ภาวะที่ราคาสินค้า (เช่น ค่าอาหาร) และบริการ (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) แพงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าเงินถูกลง (ถ้าจะซื้อของให้ได้จำนวนเท่าเดิม ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เท่ากับว่า จำนวนเงินเท่าเดิม ใช้ซื้อของได้น้อยลง) เงินเฟ้อจึงทำให้ทุกคนจนลง
เช่นเดียวกับตัวอย่างราคาก๋วยเตี๋ยวที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นของบทความ ซึ่งแสดงให้เห็นภาพชัดเจนของเงินเฟ้อว่า เมื่อเวลาผ่านไป ราคาของจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ค่าของเงินในมือจะยิ่งถูกลงเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคนต้องขวนขวายหาเงินเพิ่มตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยสุขสบายจะเริ่มฝืดเคือง เพราะมีเงินไม่พอใช้ให้ซื้อของที่มีราคาแพงขึ้น
ส่วนที่มาของเงินเฟ้อเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรก คือ คนส่วนใหญ่ต้องการของชิ้นใดชิ้นหนึ่งพร้อมกัน โดยเฉพาะของที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ของชิ้นนั้นกลับมีอยู่อย่างจำกัด ผู้ขายจึงตั้งราคาขายให้แพงขึ้น เพราะมั่นใจว่า แม้ราคาสูงขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังซื้อเหมือนเดิม สาเหตุสอง คือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ทำให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุน เพื่อคงกำไรไว้ไม่ให้น้อยไปกว่าเดิม
ต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ ?
ให้พอใช้ในยุคของแพงจากเงินเฟ้อ
หลายคนเข้าใจว่า เมื่อราคาของแพงขึ้นจากเงินเฟ้อ ค่าแรงและเงินเดือนก็ควรปรับขึ้นตาม แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ค่าแรงและเงินเดือนมักจะถูกปรับขึ้นตามวาระที่บริษัทหรือรัฐบาลกำหนด หรือในบางปีอาจไม่ได้ปรับขึ้นเลย เท่ากับว่า ค่าแรงและเงินเดือนที่ปรับขึ้นแล้ว ก็ยังปรับขึ้นได้ไม่เท่ากับราคาของที่แพงจากเงินเฟ้อ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ยิ่งหารายได้เพื่อซื้อสินทรัพย์ได้ยากขึ้นเท่านั้น เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในยุคของแพงจากเงินเฟ้อ ผู้คนมักจะปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน คือ เลือกกินอยู่อย่างประหยัด แต่ในระยะยาวจะกลายเป็นผลเสียมากกว่า หากไม่หาวิธีเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เกิดเป็นคำถามสำคัญว่า ต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ ?
โดยปกติแล้วในแต่ละเดือน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศอัตราเงินเฟ้อให้ทุกคนรู้ว่า ราคาของในเดือนนี้แพงขึ้นกว่าเดือนก่อนกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 0.5-3% แต่ถ้ามองภาพรวมเป็นรายปี ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูงมากกว่า 7% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีก ดังนั้น เงินเดือนที่ปรับขึ้น ควรมีเปอร์เซ็นต์ไม่ต่ำกว่า 10% จึงจะเพียงพอให้จับจ่ายใช้สอยในยุคของแพงจากเงินเฟ้อ
สำหรับคนที่อยากตรวจสอบว่าเงินเดือนใหม่ที่บริษัทปรับขึ้นให้นั้นมีจำนวนเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ ให้คำนวณโดยแทนค่าตัวเลขลงใน สูตรเปอร์เซ็นต์เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น หรือ Salary Increase Percentage
ตัวอย่างการคำนวณ บริษัทปรับขึ้นเงินเดือนให้นาย A จากเดิม 32,500 บาทต่อเดือน เป็น 35,600 บาทต่อเดือน แทนค่าตัวเลขในสูตรได้ดังนี้ (35,600-32,500)×100 จะได้ 310,000 นำมาหาร 32,500 ผลลัพธ์คือ 9.54 หมายความว่า ถึงแม้เงินเดือนใหม่ของนาย A เพิ่มขึ้น 9.54% แต่ก็ยังน้อยกว่า 10% เป็นตัวอย่างของคนที่เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่กลับรู้สึกจนลง เพราะใช้จ่ายได้น้อยลงตามภาวะเงินเฟ้อ
แนะนำวิธีออมและลงทุน
ให้ชนะเงินเฟ้อและมีเงินใช้จ่ายอย่างสบายใจ
หนทางเดียวที่ทุกคนจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ คือ จัดการเงินออมและเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเป็นรายรับ ซึ่งควรเป็นจำนวนเงินที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นทุกปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอทั้งสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างราบรื่น และแบ่งมาต่อยอดเพื่อการออมและลงทุนให้เงินงอกเงยต่อไปได้อีก
แต่การออมเงินโดยทั่วไป หรือการฝากเงินในบัญชีธนาคาร อาจไม่เพียงพอที่จะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ จึงควรมองหาทางออมที่ควบการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ
หากมองในแง่มุมการลงทุน เงินเฟ้อมีข้อดีตรงที่ ทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับยังไม่ใช่ผลตอบแทนที่แท้จริง ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงควรตรวจสอบผลตอบแทนด้วย สูตรคำนวณหาอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Rate of Return เพราะเป็นผลตอบแทนที่หักอัตราเงินเฟ้อออกไป
ตัวอย่างการคำนวณ หากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% นาย A นำเงินไปลงทุนในกองทุนได้รับผลตอบแทน 5% ต่อปี แทนค่าตัวเลขในสูตรได้ดังนี้ 5-3 ผลลัพธ์คือ 2 หมายความว่า นาย A ได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ 2% ในทางตรงกันข้าม หากผลลัพธ์ที่ได้เป็นลบ เท่ากับว่า วิธีการลงทุนที่นาย A เลือก ไม่ได้สร้างผลตอบแทนให้กับนาย A เลย ควรเปลี่ยนไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เวลาเจ็บป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หลายคนตกใจกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน นี่คือผลกระทบของเงินเฟ้อที่หลายคนไม่ทันคาดคิด เพราะว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถปรับเพิ่มได้สูงตามภาวะเงินเฟ้อ การเลือกซื้อ ‘ประกันสุขภาพ’ ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมจึงเป็นอีกหนทางที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเงินเฟ้อจะทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนทั้งหมดเอง
นอกจากนี้การออมเงินด้วยประกันเพื่อการออมและลดหย่อนภาษี ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยเพิ่มเงินออมและยังมีโอกาสรับเงินปันผล อย่าง ทีแอล มันนี่ ฟิต เวลท์ตี้ 15/5 (มีเงินปันผล) ของไทยประกันชีวิต ที่สมัครง่ายโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ มีโอกาสรับเงินปันผลระหว่างสัญญาและเมื่อครบกําหนดสัญญา พร้อมความคุ้มครองตลอดสัญญา และรับผลประโยชน์รวมตลอดสัญญาขั้นต่ำ 520% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด
ของแพงจากเงินเฟ้อ คือสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การมีความรู้เรื่องเงินเฟ้อและการเลือกลงทุนอย่างเหมาะสม คืออาวุธที่จะช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และสามารถทำให้เงินงอกเงยจนเอาชนะเงินเฟ้อในยุคของแพงได้
อ้างอิง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. วิชาเงินเฟ้อ 101. https://bit.ly/4cXO6PB
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. การวางแผนทางการเงิน. https://bit.ly/3XzRL1v