

ทำประกันแบบไหนดี ? รวมคำถามที่ต้องตอบ ก่อนซื้อประกันชีวิตฉบับแรก
Wealth / Money
09 Jul 2024 - 5 mins read
Wealth / Money
SHARE
09 Jul 2024 - 5 mins read
ขึ้นชื่อว่า ‘ประกันฉบับแรก’ ย่อมสำคัญกับชีวิตที่สุด
เพราะเปรียบได้กับหลักประกันของชีวิตที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจและความมั่นใจได้ว่า ตัวเราจะได้รับความคุ้มครองและผลประโยชน์หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ด้วยอายุและสถานะที่เปลี่ยนแปลงความเสี่ยงและความรับผิดชอบในการใช้ชีวิตก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสุขภาพและด้านการเงิน ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจ ‘ทำประกันชีวิตให้ตัวเอง’ มากขึ้นตามไปด้วย
แต่ปัญหาก็คือ หลายคนยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประกันชีวิตมากเพียงพอ และไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นหาข้อมูลจากตรงไหน LIVE TO LIFE รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ผ่านการตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจเลือกทำประกันชีวิตฉบับแรกได้สะดวกและง่ายขึ้น ที่สำคัญคือตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด
คำถามข้อที่ 1
ตั้ง ‘เป้าหมาย’ ไว้อย่างไร ?
กับการทำประกันชีวิตฉบับแรก
เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ควรตอบตัวเองให้ได้ คือ ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘วัตถุประสงค์’ ของการทำประกันชีวิตฉบับแรก ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อสำรวจความต้องการในชีวิต หมายความว่า ยิ่งรู้เป้าหมายอย่างชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้เลือกประเภทของประกันได้ตรงกับความต้องการมากเท่านั้น
บางคนต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และหวังว่าประกันจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลกรณีป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่บางคนต้องการส่งต่อความมั่นคงให้กับคนข้างหลัง เพื่อสร้างความมั่นใจเอาไว้ล่วงหน้าว่า หากถึงวันที่ตัวเองไม่อยู่แล้ว คนที่รักจะได้ไม่ลำบากและใช้ชีวิตต่อไปได้
การทำประกันชีวิตจึงเปรียบได้กับการพกร่มติดตัวไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าฝนจะตกแรงแค่ไหน อย่างน้อยร่มคันนี้จะป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ช่วยสร้างความสบายใจและทำให้หมดกังวลได้เป็นอย่างดี
คนส่วนมากมักจะเลือกทำ ‘ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ’ (Whole Life Insurance) เป็นฉบับแรก เพราะทำหน้าที่เหมือนร่มตลอดระยะเวลาของชีวิต แต่ถ้าเป้าหมายของการทำประกันชีวิตคือต้องการเก็บเงินก้อนเพื่อบั้นปลาย แนะนำให้เลือกทำ ‘ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์’ (Endowment Insurance) หรือ ‘ประกันชีวิตแบบบำนาญ’ (Annuities Insurance) แทน
ซึ่ง ‘เป้าหมาย’ ของการทำประกันชีวิต เชื่อมโยงกับ ‘ความคุ้มครอง’ ที่แต่ละคนมองหา จึงนำไปสู่คำถามข้อต่อไป
คำถามข้อที่ 2
‘ความคุ้มครอง’ แบบไหน ?
ที่ชีวิตยังขาดหายแล้วอยากเติมให้เต็ม
หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งของการเลือกประกันชีวิตฉบับแรก คือ การประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ที่อาจเกิดขึ้น และการรองรับความเสี่ยงของชีวิตที่ยังขาดอยู่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้รู้ทันทีว่า หากเกิดขึ้นมาในตอนนี้ ทั้งตัวเองและคนใกล้ชิดจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาจพลิกผันชีวิตไม่ให้เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการเงิน กรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
เมื่อย้อนกลับไปดูชีวิตก่อนหน้านี้ หลายคนมีประกันชีวิตที่พ่อแม่เคยทำไว้ให้ตั้งแต่ยังเด็ก รวมกับมีประกันกลุ่มที่บริษัททำไว้ให้พนักงาน รวมถึงกองทุนประกันสังคม ทุกคนจำเป็นต้องตรวจสอบสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ได้รับเหล่านี้ว่าเพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน หรือสอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคตแล้วหรือยัง พร้อมหาทางลดความเสี่ยงที่มักสร้างความกังวลว่าชีวิตยังไม่มั่นคงมากพอด้วยประกันชีวิต
เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาเลือกทำประกันชีวิตฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม สามารถจับคู่ความคุ้มครองที่เข้ากับแบบประกันได้ออกเป็น 3 กลุ่มตามความต้องการ ได้แก่
(1) ความคุ้มครองชีวิต : เพื่อสร้างหลักประกันทางการเงิน ช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าคนที่คุณรักจะไม่สะดุดกับปัญหาในการดำเนินชีวิตต่อไปได้แม้ในยามที่คุณจากไป เหมาะกับคนที่เป็นเสาหลักครอบครัว ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ คือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
(2) ความคุ้มครองสุขภาพ : เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยและเกิดการสูญเสียอวัยวะจนทุพพลภาพ หรือเป็นการเพิ่มความคุ้มครองให้มากขึ้นจากประกันสังคมหรือประกันกลุ่มที่มีอยู่เดิมประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ คือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) หรือ ประกันสุขภาพ
(3) ความคุ้มครองการเงินช่วงบั้นปลาย : เพื่อสร้างหลักประกันให้ตัวเองพร้อมมีเงินก้อนเอาไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ เน้นสร้างวินัยเรื่องการออมและต้องการสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี เหมาะกับคนโสดที่วางแผนเกษียณ ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ คือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ
หลังจากรู้เป้าหมายและความคุ้มครองที่ต้องการจากการทำประกันชีวิตฉบับแรกแล้ว นำไปสู่คำถามข้อสุดท้าย ที่ช่วยให้ตัดสินใจเลือกแบบประกันให้เข้ากับตัวเองได้เหมาะสมที่สุด
คำถามข้อที่ 3
‘เบี้ยประกัน’ เท่าไหร่ ? ที่จ่ายไหว
หาสมดุลที่ใช่ให้เงินที่จ่ายกับความคุ้มครองที่ต้องการ
คำถามข้อสุดท้ายสำคัญไม่แพ้สองข้อแรก เพราะช่วยประเมินความสามารถในการชำระ ‘เบี้ยประกัน’ โดยเริ่มจากการสำรวจสถานะการเงินของตัวเองว่ามีเพียงพอให้แบ่งมาชำระเป็นงวดตามระยะเวลาที่เงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดไว้หรือไม่
เพราะประกันชีวิตส่วนใหญ่ จะกำหนดจำนวนเบี้ยประกันที่ต้องชำระไว้อย่างชัดเจน ส่วนวันครบกำหนดชำระเบี้ยฯ นั้น ประกันชีวิตบางประเภทเปิดโอกาสให้เลือกได้ว่าจะชำระเป็นรายเดือนหรือรายปี ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละกรมธรรม์
เพื่อความสบายใจ แนะนำให้เปรียบเทียบระหว่างรายได้หรือเงินเดือนกับเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย หากเบี้ยประกันมีจำนวนเกินกว่า 20% จากรายได้ ให้ถือว่ามีความเสี่ยงอาจเกิดปัญหาเรื่องติดขัดทางการเงินจนผิดนัดชำระเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะส่งผลเสียตามมา เช่น ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่ได้เงินคืนตามสัญญา
ดังนั้น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและผลประโยชน์ครบถ้วน จึงควรปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ว่าไว้ในประกันฉบับแรกอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมให้ติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตโดยตรง หรือผ่านตัวแทนประกันชีวิตในกรณีที่มี
สามารถคลิกที่แบบประกันแต่ละประเภทของไทยประกันชีวิต เพื่อศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตฉบับแรกให้ตัวเองและคนที่คุณรัก