ถอดรหัสอาชีพยุคใหม่ ฟรีแลนซ์แบบไหนที่รอด

22 Apr 2022 - 6 mins read

Wealth / Money

Share

“อยากทำงานอิสระ” เป็นความฝันที่คนรุ่นใหม่หลายคนตั้งใจไว้ นั่นคงกลายเป็นเหตุผลที่อาชีพ “ฟรีแลนซ์” กลายเป็นอาชีพยอดฮิตของคนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่เต็มใจก้าวเข้ามาสู่พื้นที่อิสระไม่ต้องตอกบัตรเช้าตอกบัตรเย็น และรอคอยคำสั่งจากหัวหน้างานอยู่ฝ่ายเดียว

 แต่ถ้าถามว่าฟรีแลนซ์เป็นเทรนด์ที่นิยมมากน้อยแค่ไหน เราคงต้องบอกว่าเป็นที่นิยมมาก จากข้อมูลของ Eco-nomic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการสำรวจตลาดฟรีแลนซ์ของประเทศไทยในปี 2020 พบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ นักเขียน ไอที และอื่น ๆ นั้นมีจำนวนมากถึง 1.3 แสนราย ซึ่งถือเป็นอัตราเติบโตมากที่สุดใน 5 ปีย้อนหลัง รวมถึงบรรดาแพลตฟอร์มหางานของฟรีแลนซ์ที่ในปี 2021 มีคนสมัครเข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์

 

ส่วนเหตุผลของการเป็นฟรีแลนซ์มีอยู่ 3 อย่าง คือ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับไลฟ์สไตล์ที่อยากใช้ได้ทุกวัน มีสุขภาพที่ดีกว่าและแน่นอนว่าการทำงานมีความยืดหยุ่นมากกว่า

 

 แต่ถ้ามองประเด็นเหล่านั้นลงไปให้ดี ย่อมเห็นเรื่องที่น่าชวนคิดต่อว่าความชื่นชอบกับความสามารถในการดูแลตัวเองเพื่อเลี้ยงชีพด้วยอาชีพฟรีแลนซ์นั้นสวยงามเหมือนที่คิดไว้หรือเปล่า

 คนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์อาจกำลังหัวเราะเราอยู่ เพราะนั่นอาจเป็นเพียงความหอมหวานแค่ช่วงแรกที่เราเห็น แต่ความจริงแล้วชีวิตฟรีแลนซ์ต้องมีการวางแผนและรอบคอบมากกว่าพนักงานประจำเสียอีก เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และ 2  ทักษะที่อาชีพฟรีแลนซ์จำเป็นต้องมีควบคู่กันไปเพื่อความอยู่รอด นั่นก็คือทักษะทางวิชาชีพและทักษะการบริหารจัดการเงินนั่นเอง

facebook
facebook

ทักษะวิชาชีพ

 

ข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่คนทำฟรีแลนซ์ต้องหมั่นพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่เคยใช้ให้เกิดความประทับใจและกลับมาใช้บริการใหม่ และยังเป็นการสร้างการตลาดแบบการบอกต่อ (Word of Mount) เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคตจากผลงานที่ดีเยี่ยมอีกด้วย ซึ่งทักษะวิชาชีพที่ดีไม่ได้มีดีแค่ผลงาน แต่ยังต้องบริหารความสัมพันธ์โดยรอบเพื่อต่อยอดในการทำงานต่อด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าคนเป็นฟรีแลนซ์นั้นต้องเป็นทั้งผู้สร้างที่ดีและผู้ขายที่เก่งด้วยถึงจะรอด

ทักษะการเงิน

 

เป็นข้อสำคัญที่ฟรีแลนซ์ป้ายแดงหลายคนอาจไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน ซึ่งจำเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของ The Slash Worker เปิดเผยว่า ฟรีแลนซ์กว่า 77% ยอมรับว่ามีปัญหาด้านการเงินที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก นั่นทำให้คนทำอาชีพฟรีแลนซ์จำเป็นต้องมีแผนการเงินที่ชัดเจน รัดกุม เพื่อป้องกันความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินเอาไว้บ้าง

มาถึงบรรทัดนี้หลายคนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์อาจมีความกังวล แต่อย่าเพิ่งถอดใจ หากฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่เราชอบ ยังไม่สายเกินไปที่เราจะลองมาวางแผนการเงินพื้นฐานต่อจากนี้ เพื่อให้อิสรภาพในการทำงานของเรายังคงอยู่ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันครับ

โลกของความมั่นคงเริ่มต้นที่การออม

 

การออมคือพื้นฐานของความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ส่งผลไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย สำหรับฟรีแลนซ์ที่มีรายได้เข้ามาอย่างไม่สม่ำเสมอจำเป็นต้องออกแบบการออมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเอง ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน และสรุปออกมาเป็นรายเดือน เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีค่าใช้จ่ายประจำกับไม่ประจำเท่าไหร่ ซึ่งเราจะเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือน และนำไปสู่เป้าหมายการออมเงินสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำ 6 เดือนนั่นเอง

เช่น ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 40,000 บาทต่อเดือน เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 240,000 บาท หากถามว่าทำไมต้องมีเงินก้อนเยอะขนาดนั้น เราลองถามตัวเองก่อนก็ได้ว่า ถ้าลูกค้าเข้ามาไม่สม่ำเสมอจะมีผลกระทบกับรายได้และค่าใช้จ่ายของเรามากน้อยแค่ไหน และอะไรทำให้เรามั่นใจขนาดนั้น ถ้ายังรู้สึกไม่มั่นใจ การออกแบบเงินสำรองก็ปลอดภัยกว่ากันเยอะ

อย่าประมาทเรื่องชีวิต ให้ลองคิดถึงประกันบ้าง 

 

ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ไม่ได้เข้างานเป็นเวลาเหมือนพนักงานประจำ และบางครั้งต้องแข่งขันกับปริมาณงานภายใต้ความเร่งรีบ ทำให้มีการใช้ร่างกายอย่างหนัก และนั่นคือความเสี่ยงที่ฟรีแลนซ์ทุกคนจำเป็นต้องบริหารให้ดี เพราะกรณีที่ป่วยและเข้าโรงพยาบาล เงินเก็บที่เคยสะสมไว้อาจหายไปในพริบตาเดียวจากค่ารักษาก็เป็นได้

ทางออกหนึ่งนอกเหนือจากการหมั่นดูแลสุขภาพตัวเอง คือการศึกษาและลงทุนกับประกันสุขภาพ ที่สามารถครอบคลุมความเสี่ยงโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ พร้อมกับค่าเบี้ยฯ ที่เหมาะสมกับช่วงอายุและความคุ้มครอง โดยจุดเด่นของประกันสุขภาพนั้นนอกจากจะมาช่วยทำให้เราสบายใจจากการคุ้มครองเงินก้อนของเราแล้ว บางประเภทยังมีค่าชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

อย่าลืมวางแผนเกษียณเพื่อชีวิตที่อิสระ

 

ท้ายที่สุดแล้วก็อย่าลืมเป้าหมายของการทำงาน นั่นคือการวางแผนเกษียณให้แก่ตัวเองในบั้นปลายด้วย เพราะอย่าลืมว่าความเสี่ยงของอาชีพฟรีแลนซ์มีปัจจัยและเงื่อนไขที่ต้องต่อสู้อยู่ คือคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงด้านความสามารถที่ถดถอยลงในเชิงกายภาพ นั่นหมายความว่าสุขภาพของฟรีแลนซ์มีวันหมดอายุได้เหมือนกัน ดังนั้นการวางแผนเกษียณจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ

โดยเราสามารถวางแผนเกษียณด้วยการคิดภาพรวมให้เห็นเป้าหมายง่าย ๆ ด้วยการกำหนดช่วงอายุที่อยากเกษียณ จำนวนเงินก้อนที่อยากใช้เฉลี่ยต่อเดือน และช่วงปีสุดท้ายของชีวิตที่จะอยู่บนโลกใบนี้ แม้ฟังดูแล้วแอบเศร้าไปสักนิด แต่นี่แหละคือการมองโลกในแง่ร้ายที่สุดเพื่อแผนที่ดีที่สุด งั้นเราลองมาดูวิธีคำนวณแบบตรงไปตรงมากัน

ถ้าเราอยากจะเกษียณตอนอายุ 50 และคิดว่าจะมีอายุถึง 80 ปี โดยอยากมีเงินใช้ต่อเดือนเฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท ซึ่งคำนวณเงินเฟ้อมาแล้วด้วย ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีเงินตอนอายุ 50 ประมาณ 18 ล้านบาท โดยคิดจาก 50,000 x 12 เดือน x 30 ปี นั่นเอง

 

ซึ่งหลายคนบอกว่าเงินเยอะขนาดนี้ฟรีแลนซ์แบบเราหาไม่ได้หรอก อย่าเพิ่งตกใจไป เราสามารถแก้ไขได้ 2 แบบ นั่นคือ

1. ขยายเวลาเกษียณออกไปเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

2. ลดจำนวนเงินที่ใช้ต่อเดือนอย่างเหมาะสม

ก็สามารถปรับเพื่อสร้างความเป็นไปได้เช่นกันครับ ซึ่งการจะเก็บเงินอย่างเดียวอาจจะยากไป นั่นทำให้ฟรีแลนซ์จำเป็นต้องศึกษาเรื่องการลงทุนควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุน หรือแม้แต่ประกันควบคู่การลงทุนก็ได้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยอีกทางให้เงินของฟรีแลนซ์ทุกคนเติบโตขึ้น ที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ด้วยนะ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่คิดจะลงทุนนั้นย่อมเสี่ยงกว่าแน่นอนในยุคนี้

ทั้งหมดนี้คือการถอดรหัสทักษะที่สำคัญสำหรับการอยู่รอดของฟรีแลนซ์ในยุคนี้ครับ

 

ภาพ: นำข้อมูลมาทำ infographic

Special Contributor: โอมศิริ วีระกุล อีกหนึ่งนักเขียนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเงิน การลงทุน ผู้เขียนหนังสือ “นี่เงินเดือนหรือเงินทอน” และเป็น Co-Host The Money Case by The Money Coach Podcast รวมถึง Head of Content เพจ aomMONEY อีกด้วย

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...