

เก็บเงินไม่อยู่ใช่ไหม ? ลองใช้เทคนิคแบ่งเงินใส่โหล 6 ใบ บอกลาปัญหาเดือนชนเดือน
Wealth / Money
04 Dec 2023 - 5 mins read
Wealth / Money
SHARE
04 Dec 2023 - 5 mins read
เมื่อไหร่จะถึงสิ้นเดือนสักที ? เมื่อไหร่เงินเดือนจะออก ?
นี่คือคำถามร้อนใจของเหล่าคนทำงานที่กำลังประสบปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง และหมุนเงินไม่ทัน จนต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือนมาตลอด กว่าจะพาตัวเองผ่านพ้นแต่ละเดือนไปได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากและหนักหนาเอาการ เพราะต้องลุ้นว่าจะมีเงินเหลือพอให้ใช้ก่อนถึงวันเงินเดือนออกในรอบถัดไปหรือเปล่า
สำหรับคนที่กำลังรู้สึกเครียดและเป็นทุกข์กับปัญหานี้ ถึงขนาดคิดไม่ตกว่าจะหาทางแก้ไขอย่างไรดี LIVE TO LIFE มีเคล็ดลับเกี่ยวกับการจัดการเงินที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้แก้ไขได้จริงมาแนะนำ นั่นคือการแบ่งเงินเดือนใส่ขวดโหล 6 ใบด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Jars Money Management System หรือ 6 Jars System
แต่ก่อนจะไปถึงส่วนของเนื้อหาที่อธิบายขั้นตอนการแบ่งเงินตามเทคนิคนี้ LIVE TO LIFE อยากชวนมนุษย์เงินเดือนทุกคนมาสำรวจเงินเก็บของตัวเองกันก่อน เพราะจำนวนเงินเก็บที่แต่ละคนมี สามารถชี้ชัดได้เลยว่า ใครบ้างที่เก็บเงินไม่อยู่ และใครบ้างควรนำเทคนิคแบ่งเงินไปใช้เพื่อบอกลาปัญหาเดือนชนเดือน
สำรวจเงินเก็บ (ขั้นต่ำ) ที่ควรมีในบัญชี
เพราะ ‘การออม’ หรือ ‘การเก็บเงิน’ คือจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะนำพาทุกคนไปสู่การสร้างรากฐานด้านการเงินที่ดีในอนาคต คนทำงานที่สามารถจัดสรรปันส่วนเงินเดือนมาเป็นเงินเก็บได้อย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน จึงมีภูมิคุ้มกันด้านการเงินมากกว่าคนที่ไม่มีเงินเก็บเลย อย่างน้อยที่สุด หากมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องใช้เงิน ก็สามารถนำเงินเก็บมาสำรองจ่ายยามฉุกเฉินก่อนได้โดยไม่จำเป็นต้องก่อหนี้หรือหยิบยืมเงินจากใคร
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนเคยสำรวจตัวเองกันไหมว่า เก็บเงินได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ? และมีเงินเก็บมากแค่ไหน ?
ตัวเลขที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ คือ ‘ยอดรวมของเงินเก็บตลอดปีที่ควรมี’ หากคิดเป็นตัวเลขกลม ๆ คนวัยทำงานทั่วไปควรมีจำนวนเงินเก็บหรือเงินออมในหนึ่งปีไม่น้อยกว่า 10% ของเงินเดือน × 12 เดือน แต่ถ้าเป็นคนทำงานที่ไม่มีหนี้สินหรือภาระค่ารายจ่ายประจำเดือนใด ๆ เลย ก็ควรมีเงินเก็บหรือเงินออมตลอดหนึ่งปีมากกว่า 15% ของเงินเดือน × 12 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณ สมมุติว่ามีเงินเดือน 25,000 บาท ควรแบ่งเงินเดือนออกมา 10% เป็นเงินเก็บ เท่ากับ 2,500 บาทต่อเดือน จากนั้นคูณด้วย 12 (เดือน) จะได้ยอดรวมของเงินเก็บตลอดปีที่ควรมี คือ 30,000 บาท หากเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นานและยังไม่มีรายจ่ายอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ แนะนำให้แบ่งเงินเดือนออกมา 15% เมื่อคำนวณตามสูตรแล้ว จะได้ยอดรวมของเงินเก็บตลอดปีที่ควรมีเท่ากับ 45,000 บาท
ส่วนคนทำงานที่มีเงินเก็บไม่ถึงตัวเลขที่คำนวณได้ โดยเฉพาะคนที่เก็บเงินมานานพอสมควร แต่จำนวนเงินออมที่ได้กลับน้อยนิดและไม่งอกเงยอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงคนที่ไม่มีเงินเก็บเลย เคยสงสัยตัวเองกันไหมว่า ทำไมเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ?
สาเหตุที่สำคัญที่สุด ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่มักมองข้ามไป คือ การสร้างระบบจัดการเงินและเก็บเงิน เพราะจะช่วยฝึกวินัยให้ทุกคนสามารถเก็บเงินได้ต่อเนื่องตามเป้าหมาย
สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จเรื่องเก็บเงิน ควรเริ่มต้นด้วยเทคนิค Jars Money Management System หรือ 6 Jars System ซึ่งเป็นวิธีแบ่งเงินใส่โหล 6 ใบตามจุดประสงค์การใช้เงิน 6 ด้าน ถือเป็นตัวช่วยจัดการเงินเดือนเพื่อคนทำงานที่เริ่มต้นออมเงิน รับรองว่าทำให้มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้ ไม่เกิดปัญหาเดือนชนเดือนเหมือนที่แล้วมา
เริ่มต้นแบ่งเงินเดือนใส่โหล 6 ใบ
Jars Money Management System หรือ 6 Jars System เป็นเทคนิคจัดการเงินที่คิดค้นขึ้นโดย ที. ฮาร์ฟ เอคเคอร์ (T. Harv Eker) ผู้เป็นทั้งนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ปรึกษาทางการเงิน นักสร้างความมั่งคั่ง และนักเขียนเจ้าของหนังสือด้านการเงินและการลงทุนที่ขายดีระดับโลก
ภาพ: T. Harv Eker
คำว่าโหลในที่นี้ เป็นเพียงคำเปรียบเปรยเพื่อให้คนทำงานที่ตั้งใจจัดการเงินของตัวเองมองเห็นระบบแบ่งเงินออกเป็นภาพชัดเจน เพราะในความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนว่า จะแบ่งเงินแบบไหน ? บางคนเลือกแบ่งเงินใส่ขวดโหล 6 ใบ ขณะที่บางคนเลือกแบ่งเงินใส่บัญชีเงินฝาก 6 บัญชี แต่จุดสำคัญของการใช้เทคนิค 6 Jars System คือ การแบ่งเงินเป็น 6 โหล (หรือก็คือ 6 ส่วน) โดยแต่ละโหลมีชื่อเรียกและวัตถุประสงค์การใช้เงินที่แตกต่างกัน ดังนี้
โหลใบที่ 1 โหลแห่งความจำเป็น
(Necessities Account)
สัดส่วน : 55% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลที่มีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาโหลทั้ง 6 ใบ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกับชีวิต ซึ่งจะทำให้คนทำงานสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นทุกเดือน ไม่จ่ายไม่ได้ จึงต้องแบ่งเงินเดือนออกมาจ่ายในจำนวนเกินครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าหากลดหรือตัดรายจ่ายบางรายการลง ก็จะทำให้มีเงินเหลือเพิ่มเล็กน้อย ควรนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มโหลอื่นได้ความสนใจ
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : ค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าเดินทาง รวมถึงค่าสมาชิกต่าง ๆ อย่าง ค่าใช้บริการฟิตเนส และภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือน
โหลใบที่ 2 โหลเงินระยะยาว
(Long Term Savings for Spending Account)
สัดส่วน : 10% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลเงินที่เตรียมไว้ใช้ในอนาคต อาจเป็นรายจ่ายเพื่อการวางแผนชีวิตภายภาคหน้า อย่างวางแผนสร้างครอบครัว วางแผนแต่งงานและมีลูก วางแผนซื้อบ้านและรถยนต์ สำหรับคนทำงานที่ไม่ได้มีครอบครัวและใช้ชีวิตโสด หรือไม่ได้มีแผนว่าจะซื้อของชิ้นใหญ่ เงินก้อนส่วนนี้จะกลายเป็นทุนสำรองระยะยาว หรือที่หลายคนเรียกว่าเงินสำรองฉุกเฉิน หากไม่ได้ใช้เลย เงินที่เก็บมาตลอดจะกลายเป็นเงินก้อนที่เอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณได้
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อหรือผ่อนของชิ้นใหญ่ อย่างบ้าน คอนโด และรถยนต์ หรือสำรองเป็นเงินก้อนที่เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
โหลใบที่ 3 โหลแห่งความสำราญ
(Play Account)
สัดส่วน : 10% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลเงินที่ใช้เพื่อนันทนาการและเติมเต็มความชอบส่วนตัว สามารถนำเงินไปสร้างความบันเทิงให้ตัวเองและคนรอบข้างได้เต็มที่ เป็นการให้รางวัลตัวเองอย่างหนึ่ง เพราะการเติมเต็มความสุขให้ชีวิต จะช่วยผ่อนคลายและเพิ่มสีสันให้คนทำงานไม่รู้สึกเคร่งเครียดหรือเบื่อจนเกินไป แถมจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มจำนวนเงินในโหลแห่งความสำราญนี้ เพื่อทำให้ตัวเองมีเงินเอาไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่ชอบมากขึ้น
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : ค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขตามไลฟ์สไตล์ เช่น ค่าซื้อของที่อยากได้มานาน ค่าบัตรคอนเสิร์ต ค่าบัตรชมการแสดง และค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
โหลใบที่ 4 โหลแห่งการศึกษาเรียนรู้
(Education Account)
สัดส่วน : 10% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลที่แบ่งเงินออกมาไว้ใช้เพื่อการศึกษาและพัฒนาตนเองให้เก่งและมีความสามารถมากขึ้น เป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคือต้นทุนความรู้ที่ต่อยอดต่อไปได้ เป็นการเปิดโลกและเปิดโอกาสให้ตัวเองในอีกช่องทางหนึ่ง
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : ค่าเรียนภาษา ค่าเรียนพิเศษ ค่าลงเรียนคอร์สอบรมและสัมมนาตามความสนใจ ค่าหนังสือ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง เป็นคนเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม
โหลใบที่ 5 โหลแห่งอิสรภาพทางการเงิน
(Financial Freedom Account)
สัดส่วน : 10% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้ชีวิต แม้จะกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 10% แต่ถ้าหากมีเงินในโหลอื่นเหลือ แนะนำให้มาเพิ่มที่โหลนี้เพื่อให้เงินต่อเงิน โดยนำเงินไปลงทุนต่อในรูปแบบที่ตัวเองสนใจและมีความรู้ เช่น ซื้อประกันชีวิต ซื้อหุ้น ซื้อกองทุน หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะกำไรและปันผลที่ได้จากการลงทุนเหล่านี้ จะสร้าง Passive Income ทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากเงินเดือน ไม่เพียงช่วยให้เงินงอกเงยแต่ยังเป็นหนทางไปสู่อิสรภาพทางการเงินที่หลายคนต้องการได้อีกด้วย
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : เงินลงทุน และเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกัน
สำหรับคนทำงานที่กำลังมองหาประกันเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ตัวเอง LIVE TO LIFE ขอแนะนำ ‘ไทยประกันชีวิต ทีแอล ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ 90/90’ เป็นประกันชีวิตควบการลงทุนที่ให้ความคุ้มครองชีวิตสูงสุดถึง 2,000,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันขั้นต่ำเพียงปีละ 12,000 บาท หรือเดือนละ 1,000 บาท มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเพิ่มหรือลดเบี้ยประกันได้ตลอดอายุกรมธรรม์ และหยุดพักชำระเบี้ยได้โดยยังได้รับความคุ้มครองเหมือนเดิม เหมาะกับคนที่อยากได้ทั้งความคุ้มครองทางการเงินและความคุ้มครองชีวิต ทั้งนี้ ควรศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
โหลใบที่ 6 โหลแห่งการให้และแบ่งปัน
(Give Account)
สัดส่วน : 5% ของเงินเดือน
รายละเอียด : เป็นโหลที่แบ่งเงินไว้สำหรับช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อสร้างความสุขทางใจให้ตัวเองที่ได้แบ่งปันเพื่อสังคมให้กับมูลนิธิและคนที่ขาดแคลนโอกาส รวมถึงใช้สำหรับซื้อของขวัญให้คนใกล้ชิดในโอกาสสำคัญ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ดี ช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างค่าใช้จ่าย : เงินบริจาค เงินทำบุญ และเงินซื้อของขวัญ
เทคนิคแบ่งเงินเดือนออกเป็น 6 โหล หรือ 6 ส่วน จึงเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคนทำงานที่อยากเริ่มต้นออมเงินหรืออยากสร้างระบบเก็บเงินที่เข้าใจง่ายและลงมือทำได้ทันที เมื่อเก็บเงินไปได้สักระยะหนึ่ง สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วน ลดหรือเพิ่มโหลได้ตามความเหมาะสมให้เข้ากับเป้าหมายของชีวิต
แต่โหลที่สำคัญและไม่ควรลดสัดส่วนคือ โหลใบที่ 2 โหลเงินระยะยาว และ โหลใบที่ 5 โหลแห่งอิสรภาพทางการเงิน เพราะเป็นโหลที่ช่วยสร้างรากฐานด้านการเงินที่ดี และช่วยทำให้ชีวิตในอนาคตมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คนทำงานหลายคนต่างใฝ่ฝันเอาไว้
อ้างอิง
- T. Harv Eker. This JARS Money Management System Can Work Miracles For You. https://bit.ly/478NlBa
- ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์. (2551). Secrets of the Millionaire Mind [ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน] (พิมพ์ครั้งที่ 3). .วีเลิร์น.