รวม Creative Park น่าเที่ยวทั่วไต้หวัน จากพื้นที่ร้างแปลงร่างเป็นสวนสร้างแรงบันดาลใจ

17 Jul 2023 - 7 mins read

Travel / World

Share

ใครเคยไปเที่ยวไทเป เมืองหลวงของประเทศไต้หวัน ย่อมสัมผัสได้ถึงเอกลักษณ์การอยู่ร่วมกันระหว่างอาคารเกิดใหม่ทันสมัยที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อันเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม โดยมีธรรมชาติสีเขียวของทิวเขาและแมกไม้คอยสร้างความสดชื่นอีกแรง

 

ไม่เฉพาะไทเปเท่านั้น อีกหลายเมืองบนเกาะไต้หวันล้วนได้รับการออกแบบเมืองโดยรวมเอากลิ่นอายของความเก่า-ใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เกิดเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ไต้หวันเป็นทั้งจุดหมายที่ถูกใจนักเดินทาง และเป็นบ้านที่น่าอยู่ของคนไต้หวัน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการที่รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พลเมืองของตน

 

หนึ่งในผลงานเด่นของรัฐบาลไต้หวันตลอดสองทศวรรษมานี้ คือ การพัฒนางานด้านการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 435,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันเป็น 794,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ระหว่างปี 2002 - 2014 เช่นเดียวกับปริมาณของคนทำงานในแวดวงศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จาก 160,000 คนเป็น 250,000 คน  ภายในระยะเวลา 12 ปี

 

เหตุผลหลักของการเติบโตอย่างต่อเนื่องในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมของไต้หวันเกิดจากแรงผลักดันและสนับสนุนของรัฐบาล โดยการถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของหน่วยงานด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาของประเทศในปี 2002 และต่อมาในปี 2010 ได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงสำหรับพัฒนาวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในไต้หวัน และเพื่อส่งเสริมทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของไต้หวัน และสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินและผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมรุ่นใหม่ต่อไป

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง อาทิ หมู่บ้านทหาร โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานยาสูบ บ้านพักข้าราชการ ฯลฯ ซึ่งสร้างขึ้นทุกหัวเมืองในยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน จนกระทั่งสิ้นสุดยุคอาณานิคม สถานที่เหล่านั้นก็ถูกทิ้งร้างไว้นานปี จนกระทั่งรัฐบาลไต้หวันดำริแผนพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมดังกล่าวขึ้น จึงเกิดการชุบชีวิตให้พื้นที่รกร้างในหลายเมืองทั่วไต้หวันให้กลายเป็น Creative Park ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อัดแน่นในทุกตารางเมตร จนทำให้ Creative Park กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของชาวไต้หวัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างก็หาโอกาสไปเช็กอินเพื่อเติมแรงบันดาลใจให้ชีวิต

 

LIVE TO LIFE คัดสรร Creative Park 5 แห่งในไทเป ไถหนาน ไถตง ไถจง และอี้หลาน ไว้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใครที่วางแผนเดินทางไปเที่ยวไต้หวัน รวมถึงเป็นไอเดียในการแปลงพื้นที่รกร้างในเมืองไทยให้กลายเป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นให้เกิดเสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็อยากมาเยือน

 

1.

Songshan Cultural and Creative Park

เมืองไทเป

 

อดีตโรงงานยาสูบแห่งแรกของไต้หวันที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1937 มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุหรี่เป็นสินค้าส่งออกไปยังจีนกลาง จีนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานยาสูบแห่งนี้จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไต้หวันให้เฟื่องฟูในช่วงสงครามแปซิฟิก ก่อนที่ความต้องการในตลาดจะค่อย ๆ ลดลง กระทั่งโรงงานปิดทำการลงในปี ค.ศ. 1998 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ทางด้านประวัติศาสตร์ของไต้หวันในเวลาต่อมา

 

ด้วยความที่อาคารดั้งเดิมทุกหลังของโรงงานยาสูบแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ทั้งโกดังเก็บของเก่า 5 หลัง ห้องเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงานโรงงาน อาคารสำนักงานเก่า ตัวโรงงานสำหรับผลิตยาสูบ รวมถึงสวนภายในโรงงาน ทำให้เมื่อถึงเวลาชุบชีวิตใหม่ให้ที่นี่กลายเป็น Songshan Cultural and Creative Park ในปี 2011 ‘สวนความคิดสร้างสรรค์ซงซาน’ จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายของงานศิลปะทั่วทุกตารางเมตร 

 

ที่นี่มีทั้งแกลเลอรี่ คาเฟ่ ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบ ห้องสมุด โรงละคร ศูนย์ประชุม ฯลฯ ครบครันทุกตัวเลือกของทั้งคนรักศิลปะ งานดีไซน์ หรือแค่ได้เช็กอิน ถ่ายรูปในสเปซที่เต็มไปด้วยงานดีไซน์แปลกใหม่แห่งนี้ก็มีความสุขและสนุกแล้ว

 

“Creative Park ไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับมาเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในชุมชนอย่างยั่งยืน เห็นได้จากร้านขายสินค้าที่เต็มไปด้วยไอเดีย ดีไซน์สตูดิโอ แกลเลอรี่ทั้งใหญ่และเล็กที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและเริ่มขยับมาอยู่ใกล้ ๆ บริเวณ Creative Park กันมากขึ้น” จัสมิน โช ผู้อำนวยการบริหาร Songshan Cultural and Creative Park กล่าว 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการแผ่ขยายอาณาเขตความคิดสร้างสรรค์ คือ การเกิดขึ้นใหม่ของ Taipei New Horizon (TNH) อาคารสูง 18 ชั้นที่จะเห็นเป็นแบ็กกราวด์ด้านหลังอาคารโรงงานยาสูบเก่าเสมอ โดยเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2013 ภายในอาคารมีทั้งโรงแรม โรงละคร ร้านหนังสือชื่อดังของไต้หวันอย่าง Eslte ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และออฟฟิศขององค์กรทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไต้หวัน 

 

ความเหมือนประการหนึ่งของอดีตโรงงานยาสูบเก่าที่เปลี่ยนสถานะกลายเป็นสวนความคิดสร้างสรรค์ ก็คือ เป็นสถานที่ที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากเข้ามาใช้ชีวิต เพราะตัวโรงงานยาสูบเองถือว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันที่สุดในยุค 30s ตั้งแต่ห้องพยาบาล ห้องเลี้ยงเด็ก สวนสวยสำหรับหย่อนใจ ฯลฯ ส่วน Creative Park ขวัญใจชาวเมืองในปัจจุบันก็เต็มไปด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ที่พร้อมเติมไฟให้ผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนได้เสพแรงบันดาลใจดี ๆ ติดตัวกลับไป

 

2.

Blueprint Culture and Creative Park

เมืองไถหนาน

 

Blueprint Culture and Creative Park เป็นหนึ่งในจุดเช็คอินเพื่อถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไถหนาน อดีตเมืองหลวงแห่งแรกของไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ 

 

สวนแห่งความคิดสร้างสรรค์แห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่งานศิลปะกราฟิตี้ที่ชื่อ Blueprint ซึ่งปรากฏอยู่บนถนน Haian ถูกแจ้งจับและลบออกไปจากพื้นที่ สร้างความผิดหวังให้ชาวเมืองที่ชื่นชอบงานศิลปะอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ชิ้นนี้ 

 

เทศบาลนครไถหนานหวังจะฟื้นฟูการอันตรธานของศิลปะบนกำแพงให้กลับมามีชีวิตและได้รับความนิยมอีกครั้ง จึงร่วมมือกับกลุ่มศิลปินในการเปลี่ยนหอพักเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ศาลตุลาการสมัยรัฐบาลญี่ปุ่นยึดครองเกาะไต้หวัน ให้กลายเป็น Creative Park อีกแห่งของประเทศ

 

แผนฟื้นฟูศิลปะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะนับตั้งแต่ Blueprint Culture & Creative Park ได้รับการเปลี่ยนโฉมใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและสื่อสร้างสรรค์ที่เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2015 สวนที่สว่างไสวโดดเด่นเป็นพิเศษในยามค่ำคืนด้วยการออกแบบแสงสีฟ้า-ขาวให้ออกมาเป็นเส้นสวยรูปร่างแปลกตาบนผนังอาคาร เคียงข้างกับต้นไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดคู่พื้นที่มานานหลายทศวรรษ ยืนต้นแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาราวกับเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในการเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเสพงานศิลป์อันหลากหลายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากเอกลักษณ์ของ Blueprint Culture & Creative Park จะเป็นบรรดากราฟิตี้และงานศิลป์สีฟ้าขนาดใหญ่ที่ดึงดูดใจผู้มาเยือนให้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพได้เสมอ ทุกร้านรวงของที่นี่ล้วนมีคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นไม่ซ้ำกัน จึงเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดผู้มาเยี่ยมชมให้รู้สึกทึ่งไปกับงานศิลปะและสินค้าที่ล้วนน่าจับจอง ไม่ว่าจะเป็นงานโลหะ ไม้ โปสการ์ด กระเป๋าถือพิมพ์ลายแลนด์มาร์คต่าง ๆ ของเมืองไถหนาน ฯลฯ

 

จริง ๆ แล้ว แค่ได้มาเดินเล่นพักผ่อนที่นี่ คุณก็จะได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะที่ประดับอยู่ทั่วทุกตารางนิ้วกลับบ้านโดยไม่ต้องเสียสตางค์ 

 

 

3.

Chung Hsing Cultural and Creative Park

เมืองอี้หลาน

 

อดีตโรงงานกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวันที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1935 และไม่ได้อลังการแค่ขนาดของพื้นที่ แต่ยังมีกำลังการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ ธนบัตร สลากกินแบ่งรัฐบาล กระดาษชำระ ฯลฯ ได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

 

โรงงานกระดาษ Chung Hsing ปิดตัวลงในปี 2001 ก่อนจะได้รับการชุบชีวิตใหม่ในทศวรรษถัดมา โดยเทศบาลนครอี้หลานได้ผลักดันให้โรงงานร้างแห่งนี้เป็นพื้นที่ในการนำเสนอศิลปะวัฒนธรรม โดยใช้ชื่อว่า Chung Hsing Cultural and Creative Park ในปี 2014

 

เอกลักษณ์ของ Creative Park แห่งนี้คือยังคงไว้ซึ่งความดิบของโรงงานที่ถูกทิ้งร้างไว้อย่างเก่า ใครที่ไม่ได้ทำการบ้านก่อนไปที่นี่ อาจจะต้องรวบรวมความกล้าในการเดินเข้าไปภายในอาคารแต่ละหลัง จึงจะได้พบกับงานนิทรรศการและศิลปะหลากแขนงที่จัดแสดงและแทรกอยู่ตามจุดต่าง ๆ ภายในโรงงานร้างแห่งนี้

 

ชิ้นงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นหัตถกรรมพื้นเมืองที่ถูกนำมาปรับโฉมให้ร่วมสมัย ทั้งยังมีกิจกรรม DIY หลากหลายให้ผู้มาเยือนได้ร่วมลงมือผลิตงานศิลปะที่ถูกใจ โดยสามารถเข้าไปเสพงานศิลป์ภายในตัวอาคารได้ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. ส่วนพื้นที่ด้านนอกตัวโรงงานสามารถเดินเล่นเดินถ่ายรูปได้ตั้งแต่ตามสบาย ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. (ปิดวันพุธและวันตรุษจีน) 

 

4.

Guangfu New Village

เมืองไถจง

 

ไถจงเป็นอีกหนึ่งเมืองในไต้หวันที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านทหารเก่า โดย Guangfu New Village เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นมากที่สุด

 

Guangfu New Village สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1956 ในยุคที่รัฐบาลย้ายมาตั้งสำนักงานสำคัญ ๆ ในบริเวณนี้ เนื่องจากห่างไกลชายทะเล จึงป้องกันการรุกรานจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดีในระดับหนึ่ง หมู่บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า Guangfu ซึ่งหมายถึง การฟื้นฟูบูรณะ สื่อถึงการปลดแอกไต้หวันจากจีนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

Photo: www.tcdream.taichung.gov.tw

 

บ้านพักแต่ละหลังได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายบังกะโลที่ตั้งอยู่ติด ๆ กัน โดยใช้เป็นบ้านพักของข้าราชการในหน่วยงานศึกษาธิการ สาธารณสุข และพนักงานโรงงานกระดาษ นอกจากตัวบ้านจะมีเอกลักษณ์น่ามองแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีการวางผังถนนหนทางอย่างเป็นระเบียบ เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งโรงเรียน ตลาด สวนสาธารณะ ฯลฯ 

 

ที่สำคัญ คือ หมู่บ้านกวงฟูยังมีการวางระบบชลประทานเป็นแห่งแรกในไต้หวัน โดยแยกท่อน้ำฝนสำหรับใช้ดื่มกับท่อน้ำทิ้งออกจากกัน จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การออกแบบผังเมืองของไต้หวันก็ว่าได้

Photo: www.tcdream.taichung.gov.tw

 

แต่ด้วยกาลเวลาที่ผันผ่าน หมู่บ้านต้นแบบของไต้หวันแห่งนี้เริ่มมีจำนวนผู้อยู่อาศัยลดลง เหลือเพียงตัวบ้านที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้นานนับทศวรรษ จนกระทั่งถึงยุคที่ Creative Park ก้าวมาปลุกชีพจรพื้นที่รกร้างในไต้หวัน Guangfu New Village จึงกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง โดยเทศบาลนครไถจงได้เชิญชวนศิลปินหลายแขนงให้เข้ามาใช้พื้นที่บ้านแต่ละหลังเป็นสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์และจำหน่ายผลงาน ส่งผลให้ปัจจุบัน Guangfu New Village มีจำนวนร้านค้ามากกว่า 70 ร้าน

 

ร้านเด่น ๆ อย่างเช่น Mode Yang สตูดิโอผลิตงานเซรามิกและแก้วที่สอดแทรกความงามของศิลปะและศาสนาไว้ในชิ้นงานอย่างลงตัว, Mr.Wuller ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ประจำถิ่นไถจงที่ขยันสร้างสรรค์เบียร์รสชาติดีผลัดเปลี่ยนให้ลิ้มลอง และ 2 Fish Cafe คาเฟ่ที่โดดเด่นด้วยบรรยากาศน่านั่งที่ใครไปเยือนเป็นต้องแวะทุกราย

Photo: www.tcdream.taichung.gov.tw

 

นอกจากการแวะเวียนไปตามคาเฟ่ แกลเลอรี่ หรือสตูดิโอผลิตงานศิลป์ของศิลปินหลายแขนง รอบ ๆ หมู่บ้านยังมีการจัดวางศิลปะไว้ทั่วบริเวณ มีการออกแบบม้านั่งรูปทรงสีสันต่าง ๆ และบรรดาภาพเพนต์บนผืนผนังที่ชวนให้อยากยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำดี ๆ

 

5.

Tiehua Music Village

เมืองไถตง

 

แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อว่า Creative Park โดยตรง แต่ Tiehua Music Village หรือ หมู่บ้านดนตรีไถฮัว ก็ใช้ท่วงทำนองไพเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของเพลงพื้นบ้านไต้หวันในการปลุกเร้าทุกโสตประสาทของแขกผู้มาเยือนให้เกิดไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

เหตุผลที่หมู่บ้านดนตรีมาสถิตอยู่ ณ เมืองไถตง เพราะที่นี่เป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองหลายเผ่าของไต้หวัน เช่น เผ่าอาเหม่ย เผ่าปู้หนง ฯลฯ ที่ยังคงสืบสานบทเพลงดั้งเดิมของชนเผ่าให้ยังคงเข้ายุคเข้าสมัย ด้วยการนำเครื่องดนตรีสากลมาประยุกต์บรรเลงเพลงชนเผ่าในจังหวะสนุกสนาน และมีรูปแบบการแสดงที่ร่วมสมัย โดยศิลปินชนเผ่าซึ่งเป็นที่รู้จักและสร้างชื่อในระดับนานาชาติ อย่าง Kimbo, Suming และ วง A-mei ล้วนเป็นชาวเมืองไถตงทั้งสิ้น แต่ก่อนหน้านี้ เมืองไถตงไม่เคยมีเวทีให้ศิลปินเหล่านี้ได้แสดงความสามารถมาก่อน จนกระทั่ง Tiehua Music Village ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010

 

เดิมกลุ่มอาคารบริเวณนี้เคยเป็นหอพักของพนักงานการรถไฟไต้หวัน ก่อนจะได้รับการชุบชีวิตใหม่เป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีสดที่เปิดแสดงตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ โดยวันพุธยกเวทีให้ศิลปินหน้าใหม่ วันศุกร์และวันเสาร์เป็นการแสดงดนตรีของศิลปินที่เป็นที่รู้จักดีแล้ว ส่วนวันอื่น ๆ เปิดพื้นที่ให้นักร้องและศิลปินท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการจัดประกวดวงดนตรีร็อคเป็นประจำทุกฤดูร้อน ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 จนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากเรื่องของเสียงเพลง Tiehua Music Village ยังเสิร์ฟไอเดียสร้างสรรค์ผ่านเครื่องดื่มทุกแก้วใน Tiehua Bar ที่รังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบสดใหม่ประจำท้องถิ่น และมีสินค้าหัตถกรรมชนเผ่าให้เลือกซื้อในร้าน Hao De Bai (แปลว่า Good to buy) และเช่นเดียวกับ Creative Park ทุกแห่ง Tiehua Music Village มีการเปิดตลาดนัดขายของทุกวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ใช้ชื่อว่า Slow Bazaar โดยเน้นบรรยากาศความเป็นตลาดเก่าย้อนยุค จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น โดยมีไฮไลท์เป็นโคมไฟทรงบอลลูน เอกลักษณ์ของเมืองไถตงที่สามารถซื้อเป็นของฝากที่ไม่ซ้ำใคร

 

 

อ้างอิง

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...