

พิกัดใหม่สายมู Trichy นครศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทวาลัยสไตล์วัดแขกใหญ่ที่สุดในอินเดีย
Travel / World
07 Oct 2024 - 7 mins read
Travel / World
SHARE
07 Oct 2024 - 7 mins read
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลือกแรก ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากลองไปเปิดหูเปิดตาที่อินเดียดูสักครั้ง มักเลือกที่จะไปเช็กอินอนุสรณ์แห่งความรักอย่างทัชมาฮาล ท่องเที่ยวเมืองหลากสีรัฐราชสถาน ขึ้นเหนือชมความอลังการสุดเวิ้งว้างของเลห์-ลาดัก หรือเลือกที่จะซื้อทัวร์แสวงบุญบนเส้นทางสี่สังเวชนียสถาน มากกว่าจะไปเยือน ‘ทมิฬนาฑู’ รัฐทางใต้ที่กลายเป็นม้านอกสายตา
ทั้งที่รัฐขนาดใหญ่อันดับที่ 11 ของอินเดียอย่างทมิฬนาฑูได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเฉพาะกับคนไทยที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในการไปเยือนถิ่นอินเดียใต้ ด้วยความที่สภาพภูมิประเทศและอากาศคล้ายกับบ้านเรา อีกทั้งผู้คนในแถบนี้มีความเป็นมิตร และไม่ค่อยจะมีนิสัยตุกติกเหมือนคนตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ในอินเดีย การเดินสำรวจถนนหนทางเพื่อชมบ้านเมืองและวิถีชีวิตของคนทมิฬนาฑูจึงทำได้อย่างสะดวกใจ ไม่ต้องหวาดระแวงจนทำให้เที่ยวไม่สนุก
ผู้หญิงท้องถิ่นในอินเดียใต้จะต้องวาดลวดลายโกลัม (Kolam) บนพื้นหน้าประตูบ้านทุกเช้า
ที่สำคัญคือ รัฐทมิฬนาฑูเป็นที่ตั้งของศาสนธานีหลายแห่ง ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ไปจนถึงภาคใต้ของรัฐ กล่าวกันว่าเทวาลัยฮินดูในรัฐทมิฬนาฑูมีอยู่ราว 30,000 แห่ง ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนวัดพุทธในไทย ทมิฬนาฑูจึงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับคนที่ศรัทธาในเทพฮินดู เช่น พระศิวะ พระแม่อุมาเทวี พระวิษณุ พระคเณศ ฯลฯ
โดยเฉพาะความอลังการด้านสถาปัตยกรรมของเทวาลัยในอินเดียใต้ที่ยิ่งใหญ่ทั้งขนาดและรุ่มรวยด้วยเทคนิคการใช้สีสันสุดวิจิตรพิสดาร ใครเคยไปวัดพระศรีมหาอุมาเทวีหรือวัดแขก ย่านสีลม น่าจะคุ้นเคยดีกับ ‘โคปุรัม’ หรือซุ้มประตูที่ประดับประดาด้วยประติมากรรมองค์เทพหลายสีสัน เพราะวัดแขกสร้างขึ้นตามคตินิยมและรูปแบบของศิลปะอินเดียใต้ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวทมิฬนาฑูในในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน
เพียงแต่ว่าโคปุรัมและเทวาลัยในถิ่นอินเดียใต้นั้นใหญ่กว่าวัดแขกนับสิบเท่า !
ความยิ่งใหญ่ของราชาโคปุรัมแห่งเทวาลัยศรีรังคามในเมืองติรุจิรัปปัลลิ
LIVE TO LIFE ชวนทำความรู้จักเทวาลัยชื่อดังใน 3 เมืองศักดิ์สิทธิ์อย่าง ติรุจิรัปปัลลิ (Tiruchirappalli) มธุไร (Madurai) และ ตัญชาวูร์ (Thanjavur) ที่สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกสบาย ตอบโจทย์สายมูที่ศรัทธาทั้งในพระวิษณุ พระแม่อุมาเทวี และพระศิวะ ให้สามารถตระเวนบูชาองค์เทพได้ครบจบในทริปเดียว
‘ติรุจิรัปปัลลิ’
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมิตรกับนักเดินทาง
เริ่มต้นออกเดินทางสู่ ติรุจิรัปปัลลิ (Tiruchirappalli) หรือ ตริชี่ (Trichy) เมืองที่ตั้งอยู่ใจกลางรัฐทมิฬนาฑู และเป็นที่ตั้งของศาสนธานีที่สำคัญที่สุดแห่งพระวิษณุอย่าง เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี (Sri Ranganatha Swamy Temple) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะศรีรังคาม เกาะกลางน้ำที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำกาเวรี (Kauveri หรือ Cauvery) กับแม่น้ำคอลลิดัม
เทวาลัยศรีรังคนาถ เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย หรือศาสนาฮินดูที่นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่าเทพใด ๆมักเป็นที่รู้จักในชื่อวัดใหญ่ (Big Temple) เพราะเป็นเทวาลัยฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
ราชาโคปุรัมแห่งเทวาลัยศรีรังคนาถ
เทวาลัยศรีรังคนาถใหญ่ขนาดไหน ? ใหญ่ถึงขนาดที่มีปราการหรือกำแพงล้อมรอบถึง 7 ชั้น จึงมีสถานะเป็นเมืองย่อย ๆ หนึ่งเมือง โดยในปัจจุบัน อาณาเขตจากแนวกำแพงชั้นนอกสุดคือ ชั้นที่ 7 เข้าไปจนถึงแนวกำแพงชั้นที่ 4 เป็นชุมชนที่ชาวบ้านมาตั้งร้านค้า ตลาด และเป็นทั้งบ้านของพราหมณ์ ที่ตั้งเทวาลัยน้อยใหญ่ รวมถึงที่พักแรมของผู้มาแสวงบุญ ประมาณการว่ามีผู้อาศัยในเขตกำแพงนี้หลายหมื่นคน จึงนับเป็นชุมชนวัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
โคปุรัมแห่งเทวาลัยศรีรังคนาถ
เทวาลัยศรีรังคนาถ มีโคปุรัมทั้งหมด 21 หลัง โดยโคปุรัมดั้งเดิมสร้างโดยกษัตริย์ชยุตม์เทวราชา แห่งจักรวรรดิวิชัยนคร เมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้ว ทว่าในยุคนั้นเกิดสงครามขยายดินแดนจากกองทัพของกษัตริย์ ออรังเซพแห่งราชวงศ์โมกุล ทำให้โคปุรัมถูกละทิ้งและสร้างเสร็จแค่ตัวฐานล่างมีความสูง 17 เมตร
ภายหลังเมื่อจักรวรรดิวิชัยนครล่มสลายลงด้วยกองทัพพันธมิตรมุสลิมในปี ค.ศ. 1565 อุปราชนายกะที่วิชัยนครสถาปนาให้ไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ พากันแข็งเมือง ตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อป้อมปราการ สร้างพระราชวัง และบูรณะเทวาลัยประจำเมือง จึงเรียกช่วงเวลาหลังวิชัยนครว่า สมัยนายกะ ซึ่งตระกูลนายกะมีอิทธิพลต่อ 3 เมืองสำคัญทมิฬนาฑู ได้แก่ ตริชี่ มธุไร และตัญชาวูร์
ชาวฮินดูพากันมาแสวงบุญที่เทวาลัยศรีรังคนาถ
ในสมัยนายกะนั้นเน้นไปที่การขยายพื้นที่เทวาลัย ด้วยการก่อกำแพงสูงใหญ่ล้อมรอบเป็นชั้น ๆ ดังเช่นที่เทวาลัยศรีรังคนาถแห่งนี้ ที่มีกำแพงล้อมรอบถึง 7 ชั้น เกิดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ศาสนธานี (Temple City) คือ มีศาสนสถานใหญ่ประจำเมืองเป็นศูนย์กลาง ส่วนตัวเมืองก็ตั้งอยู่ในวงล้อมของกำแพงเทวาลัย
กาลเวลาผ่านไปจนกระทั่งองค์พระวิษณุได้มาปรากฎในนิมิตของท่านศรีอโหพีละ มัตถ์ จียาร์ ซึ่งเป็นหัวหน้านักบวชองค์ที่ 44 ในไวษณพนิกายลัทธิ 'วฎากาลัย' ให้ก่อสร้างราชาโคปุรัม (โคปุรัมที่สูงใหญ่ที่สุดในทุก ๆ เทวาลัย จะเรียกว่า 'ราชาโคปุรัม' โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นโคปุรัมด้านทิศไหน)
ศิลปะบนยอดเทวาลัยศรีรังคนาถ
โครงการต่อเติมราชาโคปุรัมใช้แรงงานในการก่อสร้างกว่า 200 ชีวิต ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี จนสำเร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1987 เกิดเป็นราชาโคปุรัมที่มีความสูง 73 เมตร ถือเป็นราชาโคปุรัมที่สูงที่สุดในรัฐทมิฬนาฑูและสูงเป็นอันดับสองของอินเดีย
สำหรับคำว่า ศรีรังคนาถ นั้นหมายถึง เทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์หนึ่งในรามายณะในตอนสิ้นสุดศึกลงกา ทศกัณฑ์สิ้นชีพไปแล้ว และพระรามอภิเษกให้พิเภกกลับไปครองกรุงลงกา โดยประทานเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์หรือศรีรังคนาถ ให้ไปสักการะแทนองค์
สัญลักษณ์ของไวษณพนิกาย
พิเภกจึงนำเทวรูปทูนเหนือเศียรเหาะไปยังกรุงลงกา (เกาะลังกา) ระหว่างทางผ่านแม่น้ำกาเวรี ซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียใต้เทียบเท่าแม่น้ำคงคาในภาคเหนือ พิเภกจึงแวะลงพักผ่อนและชำระร่างกาย โดยวางรูปปฏิมา ณ ริมฝั่งน้ำ แต่เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วกำลังจะอัญเชิญเทวรูปเดินทางต่อ กลับยกไม่ขึ้น จึงต้องยอมตามพระทัยพระนารายณ์ให้ประทับอยู่ริมฝั่งน้ำกาเวรี
นานวันเข้าป่าทึบก็เข้าปกคลุมศรีรังคนาถอยู่นานหลายร้อยปี จนกระทั่งพวกโจฬะมาพบเข้าจึงได้สร้างเทวสถานขึ้นเป็นเทวาลัยศรีรังคนาถ ซึ่งหันไปทางทิศใต้ ตามความเชื่อว่าพระนารายณ์ประสงค์จะให้เกาะลังกาอยู่ในสายพระเนตรนั่นเอง
และก็เชื่อกันอีกเช่นกันว่า หลังจากที่มีการสร้างราชาโคปุรัมสูงทะมึนราวตึก 20 ชั้น ทำให้ไปบดบังสายพระเนตรของพระนารายณ์ที่เฝ้ามองเกาะลังกาอยู่ นับแต่นั้นมา เกาะลังกา (หรือประเทศศรีลังกา) จึงเกิดความวุ่นวายจากการรบพุ่งระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬและรัฐบาลของชาวสิงหลมาจนถึงปัจจุบัน
วิมานแห่งศรีรังคนาถ
นักท่องเที่ยวถ่ายภาพบนเทวาลัย
สำหรับการเยี่ยมชมเทวาลัยศรีรังคนาถมักเริ่มขึ้นใน วงกำแพงชั้นที่ 4 ซึ่งมีหลายจุดน่าสนใจให้เยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นเทวาลัยเวณุโคปาล หรือเทวาลัยพระกฤษณะ ที่ภายในมีจิตรกรรมเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่พระกฤษณะไปอยู่กับคนเลี้ยงวัว และควรขึ้นไปยังจุดชมวิวด้านบนเทวาลัย เพื่อชมความงดงามอร่ามเรืองของหลังคาสีทองของวิมานแห่งศรีรังคนาถ (Sriranga Vimana) หรือเทวาลัยประธาน
นอกจากนี้ ยังมีเทวาลัยศรีรังคนาชายาลักษมี ซึ่งเป็นเทวาลัยของพระลักษมี ชายาของพระวิษณุ โดยในวันนวราตรีจะมีขบวนแห่ศรีรังคนาถมายังเทวาลัยแห่งนี้
ประตูสวรรค์ที่เปิดปีละครั้งในเทศกาลไวกูณฐเอกทศ
อีกหนึ่งพิกัดน่าสนใจ ได้แก่ มณฑปพันเสา เป็นที่ตั้งของเสา 953 ต้นที่สกัดจากหินแกรนิต กลางโถงมีแท่นบัลลังก์รูปร่างคล้าย’รถะ’หรือรถศึก สำหรับประดิษฐานเทวรูปรังคนาถ โดยในเทศกาลไวกูณฐ์เอกทศ (Vaikuntha Ekadasi Festival) ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ประตูทางด้านเหนือจะเปิดออก เหมือนเปิดทางไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ผ่านประตูนี้จะมีส่วนร่วมในการรับพรแห่งคุณธรรมและความดี
มณฑปม้าศึก
อีกหนึ่งประติมากรรมงดงามชวนตะลึงของวงกำแพงชั้นที่ 4 ก็คือ มณฑปม้าศึก ใกล้กับโคปุรัมด้านทิศตะวันออก รูปแบบอาคารเป็นสไตล์สมัยราชวงศ์วิชัยนคร ซึ่งช่างได้สลักต้นเสาหินขนาดมหึมาให้กลายเป็นประติมากรรมลอยตัวรูปม้าศึกพร้อมนักรบบนหลัง ในท่วงท่าที่กำลังต่อสู้กับสัตว์ร้ายหรือข้าศึก โดยเฉพาะเสานอกสุด ที่จะเน้นขนาดและให้ความสำคัญจนแทบจะกลายเป็นประติมากรรมลอยตัวที่งดงามและสมจริงราวกับม้าศึกกำลังจะพุ่งรบกับศัตรู
โคปุรัมด้านทิศตะวันออก
ไม่ไกลจากโคปุรัมตะวันออกมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องสำริดและภาพสลักหินจัดแสดงให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชมในเวลา 10.00-12.00 น. และเวลา 15.00-17.00 น.
สำหรับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาถึงวงกำแพงชั้นที่ 3 เท่านั้น โดยในชั้นนี้มีไฮไลท์ คือ ครุฑมณฑป สถานที่ประดิษฐานรูปครุฑ พาหนะของพระนารายณ์ ในท่วงท่านั่งประนมมือ หันหน้าเข้าหาเทวาลัยที่ประดิษฐานพระนารายณ์ ความงดงามภายในครุฑมณฑปอยู่ตรงโคนเสาทั้ง 212 ต้น ที่จะเห็นรูปผู้อุปถัมภ์สลักไว้ เป็นรูปบุคคลชั้นสูงยืนประนมมือหันหน้าเข้าหาเทวาลัยประธาน กล่าวกันว่าครุฑมณฑปเป็นอาคารที่ประณีตงดงามที่สุดในศรีรังคนาถ
ตั้งแต่วงกำแพงชั้นที่ 2 ไปจนถึงชั้นในสุดอนุญาตให้เข้าเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น ภายในประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ยาว 4.5 เมตรเป็นองค์ประธาน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแสดงความเคารพได้ผ่านทางภาพเทวรูปพระนารายณ์ที่มีการอัดใส่กรอบแขวนไว้ให้ชมด้านนอก
‘เทวาลัยป้อมหิน’
จุดชมวิวเมืองตริชี่บนยอดเขาอายุล้านปี
อีกฟากของแม่น้ำกาเวรี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเทวาลัยศรีรังคนาถ เป็นที่ตั้งของ เทวาลัยป้อมหิน หรือ The Rock Fort Temple ศาสนสถานอายุเก่าแก่กว่าพันปีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยปาลวะ ตั้งอยู่บนโขดหินธรรมชาติที่เชื่อกันว่ามีอายุนับล้านปี
ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของเมืองก็มองเห็นเทวาลัยป้อมหินเด่นเป็นสง่า
ตำนานของเทวาลัยป้อมหินมีส่วนเกี่ยวพันกับเทวาลัยศรีรังคนาถ กล่าวคือ ก่อนที่พิเภกจะลงอาบน้ำในแม่น้ำกาเวรี ได้ฝากให้เด็กเลี้ยงวัวช่วยดูแลรูปปฏิมานารายณ์บรรทมสินธุ์ เมื่อพิเภกลงน้ำ เด็กเลี้ยงวัวก็จัดการนำทรายมาฝังกลบรูปปฏิมาไว้อย่างมิดชิด ด้วยคิดว่าเป็นการดูแลรักษาเป็นอย่างดี พิเภกเห็นเข้าก็โกรธมากรีบวิ่งขึ้นมาไล่ตีจนเด็กเลี้ยงวัววิ่งหนีขึ้นมายังโขดหินแห่งนี้
ทิวทัศน์มุมสูงของเมืองตริชี่จากยอดเทวาลัยป้อมหิน
และเมื่อพิเภกตามมาทัน เด็กเลี้ยงวัวก็กลับคืนร่างเป็นพระคเณศ เป็นเหตุผลที่มีการสร้าง เทวาลัยพระคเณศ (Vinayaka Temple) บนยอดของป้อมหิน รวมถึง เทวาลัยพระศิวะ (Sri Thayumanaswamy Temple) ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้ำตั้งอยู่กลางทาง
บันไดกว่า 400 ขั้นสู่เทวาลัยป้อมหิน
แม้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยือนเทวาลัยทั้งสองแห่ง แต่การได้เดินขึ้นบันไดกว่า 400 ขั้นขึ้นไปชมวิวเมืองตริชี่ที่มีสีสันสดใสหลากหลายราวลูกกวาดก็คุ้มค่าไม่น้อย ทั้งยังสามารถมองเห็นเทวาลัยศรีรังคนาถทางทิศเหนือได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
เทวาลัยศรีรังคนาถ เมื่อมองจากเทวาลัยป้อมหิน
‘มธุไร’
จากทริชี่ นั่งรถไฟราว 2 ชั่วโมงเพื่อไปเที่ยวศาสนธานีในเมืองใกล้เคียงอย่าง มธุไร (Madurai) เมืองใหญ่อันดับสองของรัฐทมิฬนาฑูที่มีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี และมีหลักฐานว่าเคยติดต่อกับกรีก-โรมันมาเนิ่นนาน จนได้รับการขนานนามให้เป็นเอเธนส์แห่งบูรพาทิศ (Athens of the East)
เทวาลัยมีนักษีสุนทเรศวร กลางเมืองมธุไร
มธุไรยังถือเป็นศาสนธานีเช่นเดียวกับเมืองตริชี่ เพราะเป็นที่ตั้งของเทวาลัยฝ่ายหญิง ซึ่งหาได้ยากยิ่งในดินแดนชมพูทวีปแห่งนี้ เทวาลัยแห่งนั้นก็คือ เทวาลัยมีนักษีสุนทเรศวร สร้างขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่ออุทิศแด่เทพีผู้ปกปักรักษาเมืองมธุไรที่ชื่อ ‘มีนักษี’ ที่แปลว่า เจ้าแม่ผู้มีดวงตาเรียวงามเหมือนตัวปลา ซึ่งก็คือปางหนึ่งของพระนางปารวตี ชายาของพระศิวะนั่นเอง
รูปปั้นจำนวนกว่า 4,000 องค์บนโคปุรัม
เทวาลัยแห่งนี้มีโคปุรัมประจำทิศขนาดใหญ่ 4 หลัง และโคปุรัมขนาดลดหลั่นลงมาอีก 8 หลัง รวม 12 หลัง โดยโคปุรัมทางทิศใต้สูงเกือบ 60 เมตร ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เทวาลัยศรีรังคนาถ และมีประเพณีสำคัญคือ ทุก 12 ปีจะมีการบูรณะซ่อมแซมทาสีรูปปั้นจำนวนกว่า 4,000 องค์บนโคปุรัม ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีพิธีอภิเษกที่เรียกว่า กุมภาภิเษก (Kumbabishekam) เพื่อเฉลิมฉลองและเป็นการเบิกพระเนตรอย่างยิ่งใหญ่
บรรยากาศภายในเทวาลัยมีนักษีสุนทเรศวร
ศิลปะที่พบมากในเทวาลัยมีนักษี คือ รูปปูนปั้นระบายสีบนหลังคาโคปุรัม ภาพเขียนบนฝาผนังระเบียง และภาพสลักหินที่เสามณฑปหน้าทางเข้าเทวสถานพระศิวะ เป็นเหตุการณ์ฉากแต่งงานระหว่างพระนางมีนักษีและพระศิวะที่มีพระพรหมมาทำหน้าที่พราหมณ์ในพิธี และมีพระนารายณ์รับหน้าที่เป็นพี่ชายเจ้าสาวแทนบิดามารดา
พระราชวังติรุมไลนายกะ (Thirumalai Nayak Palace)
หากมีเวลาสามารถไปเที่ยวชมอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมสุดอลังการที่สร้างขึ้นในสมัยที่ตระกูลของอุปราชนายกะปกครองเมืองมธุไร นั่นก็คือ พระราชวังติรุมไลนายกะ (Thirumalai Nayak Palace) อยู่ห่างจากเทวาลัยมีนักษีราว 1.5 กิโลเมตร จุดเด่นคือ เสาสูงที่มีการแกะสลักหัวเสาอย่างวิจิตรงดงาม บางห้องมีเสาสูงกว่า 200 ต้น ที่นี่จึงมักถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อินเดียอยู่บ่อยครั้ง
มะลิอยู่ในวิถีชีวิตของชาวมธุไร
อีกหนึ่งชื่อเสียงของมธุไรคือเป็นเมืองที่ส่งออกดอกมะลิไปทั่วอินเดีย ใครชอบเดินเที่ยวตลาด ควรหาโอกาสไปเดินเที่ยวตลาดดอกไม้ทางทิศเหนือของเทวาลัยมีนักษี เพื่อสัมผัสเสน่ห์ที่แท้จริงแห่งมธุไร
เยือนเทวาลัยพฤหธิศวร
มรดกโลกแห่ง ‘ตัญชาวูร์’
ปิดท้ายกันที่อีกหนึ่งเมืองสำคัญของทมิฬนาฑูอย่าง ตัญชาวูร์ (Thanjavur) หรือตัญชอร์ ที่ใช้เวลานั่งรถไฟจากทริชี่ไปเพียงชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงแล้ว
ไฮไลท์ของการมาเยือนตัญชาวูร์ ได้แก่ การไปสักการะองค์พระศิวะที่ เทวาลัยพฤหธิศวร (Brihadiswara Temple) ศาสนสถานเก่าแก่อายุกว่าพันปีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ.1987 จากนั้นมีการประกาศซ้ำใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 2004 ในนามของมหาเทวาลัยโจฬะที่มีชีวิต (Great Living Chola Temples) ร่วมกับเทวาลัยสมัยโจฬะอีกสองแห่งที่กังไกโกณฑะโจฬะปุรัมและทาราสุรัม
เทวาลัยพฤหธิศวร
เทวาลัยพฤหธิศวรสร้างขึ้นโดยพระเจ้าราชราชา กษัตริย์ราชวงศ์โจฬะ เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ โดยโคปุรัมของที่นี่มีความแตกต่างจากโคปุรัมของเทวาลัยแห่งอื่น ๆ ในอินเดียใต้ คือ ยังคงเนื้อแท้ของวัตถุเดิมไว้ ไม่มีการลงสีประดับตกแต่งองค์เทพบนโคปุรัม และซุ้มประตูแต่ละแห่งจะมีรูปสลักยักษ์ถือกระบอง ทำหน้าที่ทวารบาล โดยทวารบาลที่หน้าโคปุรัมชั้นในของเทวาลัยพฤหธิศวร ถือเป็นประติมากรรมประดับอาคารที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะอินเดีย
เอกลักษณ์แห่งโคปุรัมที่เผยเนื้อแท้ของวัตถุเดิม ไม่เติมแต่งแต้มสี
อีกหนึ่งประติมากรรมติดอันดับของที่นี่ คือ รูปโคนนทิหินสลัก ภายในมณฑปโคนนทิ ด้านหน้าเทวาลัยประธาน ซึ่งสลักจากหินก้อนเดียวที่มีน้ำหนักถึง 25 ตัน ถือเป็นโคนนทิที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอินเดีย รองจากนนทิที่ไมซอร์ในรัฐกรณาฏกะ
รูปโคนนทิหินสลักภายในมณฑปโคนนทิ
สำหรับเทวาลัยประธานนั้นมีความสูงเทียบเท่าราชาโคปุรัมที่เทวาลัยศรีรังคนาถ ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในศิลปะอินเดียโบราณ จึงมีชื่อเรียกในศิลาจารึกโบราณว่า ทักษิณเมรุ ซึ่งหมายถึงเขาพระสุเมรุแห่งภาคใต้ ภายในประดิษฐาน พระพฤหธิศวร มีลักษณะเป็นศิวลึงค์สีดำสนิท สูงกว่า 4 เมตร แทนองค์ศิวะเจ้า ส่วนบริเวณรอบ ๆ เป็นที่ตั้งเทวาลัยของสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ เทวาลัยปารวตี เทวาลัยพระขันธกุมาร และเทวาลัยพระคเณศ
พระศิวลึงค์ในระเบียงรอบทักษิณเมรุ
ก่อนร่ำลาเมืองตัญชาวูร์ อย่าลืมซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น Tanjore Painting ภาพเขียนหลากสีที่จำลองฉากภาพสลักหินในเทวาลัย หรือเรื่องราวในคัมภีร์ต่าง ๆ รวมถึงตุ๊กตาสีสันสดใสที่ชวนให้นึกถึงทริปเดินทางท่องเที่ยวอินเดียใต้ได้เป็นอย่างดี
ตุ๊กตาสีสันสดใส ของฝากจากทมิฬนาฑู
ข้อควรปฏิบัติในการเยี่ยมชมเทวาลัย
- เทวาลัยฮินดูมักมีเวลาเปิด-ปิด 2 ช่วง คือ ช่วงเช้ามืดถึงเที่ยง (04.00 - 12.00 น.) และช่วงเย็นถึงค่ำ (16.00 - 22.00 น.) เพราะเชื่อกันว่าช่วงเที่ยงถึงบ่าย 4 โมงเย็นเป็นเวลาที่องค์เทพประทับพักผ่อน
- แต่งกายสุภาพ ควรเป็นเสื้อผ้าเนื้อเบาสบาย เช่น ผ้าฝ้าย เพราะอากาศในแถบอินเดียใต้ค่อนข้างร้อน
- เลือกรองเท้าที่ถอดง่ายและราคาไม่สูงมาก เพราะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าเทวาลัยทุกแห่ง ควรเตรียมถุงสำหรับใส่รองเท้าไปเผื่อ
- ควรใช้เวลาชมเทวสถานแต่ละแห่งแบบพินิจพิเคราะห์ เพื่อซึมซับบรรยากาศและศิลปะอันงดงาม หากเที่ยวแบบรีบเร่งเกินไปจะทำให้รู้สึกว่าทุกแห่งเหมือนกันไปหมด
- เทวสถานหลายแห่งคิดค่าอุปกรณ์ถ่ายภาพเป็นรายตัว และบางจุดในเทวสถานห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้ายเตือนโดยละเอียด
- อาจมีผู้แสดงตัวเป็นไกด์ ควรปฏิเสธให้ชัดเจน หรือตกลงราคาและเงื่อนไขให้แน่ชัด หากพบพราหมณ์โก่งค่าทำพิธีในราคาสูงเกินจริงสามารถปฏิเสธหรือต่อรองได้
รู้ก่อนลองอาหารอินเดียใต้
- ร้านอาหารในรัฐทมิฬนาฑูมักขึ้นป้ายว่า Hotel
- คนทมิฬนาฑูนิยมกินอาหารด้วยมือ หากจะลองกินอาหารด้วยมือ ต้องใช้มือขวาข้างเดียวเท่านั้น แต่โดยปกติตามร้านอาหารมักเสิร์ฟช้อนส้อมให้คนต่างชาติ หรือสามารถขอได้
- อาหารถาด (Tali) ในทมิฬนาฑูจะมีใบตองปูรองสำหรับวางอาหารกลุ่มแป้ง เช่น โดซา (แป้งย่างแผ่นกลมใหญ่) วได (แป้งผสมถั่วบดทอดมีรูตรงกลางเหมือนโดนัท อิดลี่ (แป้งนึ่งสีขาวก้อนกลม) ฯลฯ เคียงด้วยแกงผัก (ซัมบัร) และเครื่องจิ้ม (จัตนี) ในถ้วยเล็ก ๆ เสมอ
การเดินทาง
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการไปเยือนทมิฬนาฑู คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม
- ก่อนเดินทางไปอินเดียต้องทำวีซ่าออนไลน์ หรือ e-Tourist Visa (eTV) สามารถสมัครวีซ่าอินเดียออนไลน์ผ่านสถานทูตโดยตรงได้ที่ https://indianvisaonline.gov.in/
- หากจะเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมือง ควรสมัครสมาชิกให้เรียบร้อยล่วงหน้า โดยเข้าไปที่ www.irctc.co.in/nget/train-search ทำการล็อกอินแล้วเลือกเส้นทางการเดินรถไฟที่ต้องการ รอบเวลา ที่นั่ง และขบวนรถที่ต้องการ กรอกข้อมูลให้ถูกต้อง เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยแล้วจะได้รับ QR Code เพื่อใช้ในการเดินทาง โดยจะมีอีเมลจากทางการรถไฟส่งมาให้ ในวันเดินทางสามารถพรินต์เอกสารออกมา หรือใช้เพียง QR Code ในโทรศัพท์ก็ได้
- สกุลเงินอินเดียคือรูปี สามารถแลกเงินล่วงหน้าได้จากร้านรับแลกเงินในประเทศไทย และควรแลกเงินดอลลาร์สหรัฐติดไปด้วย เผื่อแลกเงินฉุกเฉินที่อินเดีย
อ้างอิง
- Supawan’s Colorful World. ทมิฬนาดู (27) .. เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี เมืองติรุชชี่. https://bit.ly/3BiYxQK
- ศรัณย์ ทองปาน, วิชญดา ทองแดง. อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู. เมืองโบราณ, 2553.