เยือนวัดเก่าแก่และนาขั้นบันไดใน ‘บาหลี’ ที่แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาด้านการจัดการน้ำแบบยั่งยืน

19 Sep 2023 - 10 mins read

Travel / World

Share

 

เมื่อพูดถึง ‘บาหลี’ ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคือ นาขั้นบันไดเขียวขจี ที่เป็นแลนด์มาร์กดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนบาหลีแห่งนี้

 

นอกจากนาขั้นบันได ยังมีวัดวาอารามต่าง ๆ ที่อยู่ในลิสต์สถานที่ที่ต้องไปเยือน เช่น วัดตามันอายุน วัดบราตัน วัดเตียร์ตาอัมปึล ฯลฯ และมีอีกหลายคนที่วางแผนไปเที่ยวบาหลีโดยมีเป้าหมายว่า จะต้องไปยืนโพสต์ท่าถ่ายรูประหว่าง จันดีเบินตาร์ (Candi Bentar) ซุ้มประตูแบบผ่ากลางที่พบได้ทั่วไปทั้งตามวัด โบสถ์พราหมณ์ และพระราชวังสำคัญ ๆ ของบาหลี เพื่อนำมาประดับใน Instagram ให้ได้ 

จันดีเบินตาร์ (Candi Bentar) แห่งวัดเตียร์ตาอัมปึล

 

รู้หรือไม่ว่าวัดเก่าแก่และนาขั้นบันไดเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงามที่แตกต่างกัน เพราะหากสังเกตดี ๆ วัดส่วนใหญ่ในบาหลีมักอยู่ไม่ไกลจากผืนนาขั้นบันได นั่นเพราะวัดและท้องนามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันผ่านวิถีชลประทานเก่าแก่ที่เรียกว่า ระบบสุบัก (Subak) ที่เปรียบเหมือนหัวใจหล่อเลี้ยงบาหลีทั้งเกาะให้คงความอุดมสมบูรณ์ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณี ที่ยังคงขนบดั้งเดิมเอาไว้อย่างเข้มแข็ง

 

วัดและนาขั้นบันไดหลายแห่งในบาหลีได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2012 โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลี : ระบบสุบัก หลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภูมิปัญญาด้านการจัดการน้ำแบบยั่งยืน ที่ LIVE TO LIFE อยากนำมาบอกเล่าให้คนที่กำลังวางแผนไปเที่ยวบาหลีได้ทำความรู้จักเรื่องราวของวัด สายน้ำ นาข้าว และวิถีชีวิตชาวบาหลี เพื่อเสริมอรรถรสในการท่องเที่ยวให้กลมกล่อมด้วยสาระผสมความบันเทิง

 

 

เกาะสวรรค์แห่งอินโดนีเซีย

 

บาหลีได้รับการขนานนามให้เป็นเกาะสวรรค์แห่งอินโดนีเซีย เพราะบนเกาะ ๆ เดียวแห่งนี้มีธรรมชาติที่หลากหลาย ไล่มาตั้งแต่ชายหาดสีดำ คลื่นทะเลลูกโตเหมาะแก่การเล่นเซิร์ฟ ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับสนิท ทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟ น้ำตกกลางป่า และนาขั้นบันได ฯลฯ

 

นอกจากจะรุ่มรวยด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั่วทั้งเกาะ ในแง่สถาปัตยกรรมและศิลปะวัฒนธรรมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะบาหลีเป็นเกาะเดียวของประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรนับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาอิสลาม 

 

ดังนั้น บนเกาะบาหลีจึงมีวัดมากกว่า 14,000 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นอารามหลวงหรือวัดขนาดเล็กก็ล้วนแทรกซึมเกาะเกี่ยวอยู่กับวิถีชีวิตผู้คนอย่างแยกไม่ออก โดยมีตัวเชื่อมโยงที่สำคัญคือ “น้ำ”

 

ด้วยความที่ชาวบาหลีเชื่อกันว่าเทพเจ้าสถิตอยู่บนขุนเขา โดยเฉพาะแนวภูเขาไฟในบาหลีที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ผืนดิน ทั้งยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วถึง 4 แห่ง ซึ่งด้วยทำเลที่อยู่สูงกว่า 1,200 เมตร น้ำที่ซึมลงสู่ใต้ดินจึงเกิดเป็นตาน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ต่ำลงไป

 

ชาวบาหลีที่ผนวกศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ากับธรรมชาติจนเป็นหนึ่งเดียวอยู่แล้ว จึงนับถือน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน

 

 

เยือน 4 วัดน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งบาหลี

 

เมื่อชาวบาหลีมีความเชื่อว่าน้ำคือสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้มนุษย์ น้ำจากภูเขาจึงต้องไหลไปยังเทวสถานต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้พราหมณ์ประกอบพิธีกรรมให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้ควบคุมการปล่อยน้ำไปตามคลองหรือท่อให้แก่ชาวนา จึงเป็นที่มาของ ระบบสุบัก วิถีชลประทานแบบดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 (เทียบเท่าพุทธศตวรรษที่ 13) 

 

ระบบสุบักเป็นการบริหารจัดการน้ำผ่านทางลำคลองและฝายไปตามนาแบบขั้นบันได โดยมี “อุทกอาราม” หรือแปลตรงตัวว่า วัดน้ำ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการแจกจ่ายน้ำให้ทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง โดยก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังเก็บเกี่ยวจะมีการทำพิธีที่วัดน้ำสำคัญ ๆ ซึ่งส่วนมากมักตั้งอยู่ไม่ไกลจากนาขั้นบันไดที่มีอยู่หลายแห่งทั่วเกาะบาหลี

วัดตามันอายุน

 

วัดน้ำที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ควรค่าแก่การไปเยือน ได้แก่ วัดตามันอายุน (Royal Temple of Taman Ayun) ที่ถือเป็นศูนย์กลางการบริหารของระบบสุบักก็ว่าได้ โดยมีสถานะเป็นวัดหลวงของราชวงศ์เม็งวี (Mengwi) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และทำการบูรณะเมื่อปี 1937 

บารอง (Barong) สัตว์ในตำนานของบาหลี

 

วัดที่ชื่อมีความหมายว่า “สวนกลางน้ำ” แห่งนี้ถือเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด และมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมมากพอ ๆ กับความสำคัญในฐานะการใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยวัดตามันอายุนถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่อยู่ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลีฯ ที่องค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

 

สำหรับนักท่องเที่ยวนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตวัด ทำได้เพียงเดินชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเจดีย์ 11 ชั้นตามรั้วที่กั้นไว้รอบเขตอาราม นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก และห้องฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบาหลี อาทิ บารองแดนซ์ (Barong Dance) ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวบาหลี เพื่อให้นักท่องเที่ยวทำความรู้จักเกาะแห่งนี้ดียิ่งขึ้น

 

(** ค่าเข้าคนละ 30,000 รูเปียห์ ประมาณ 70 บาท)

วัดอูลุนดานูบราตัน

 

วัดอูลุนดานูบราตัน (Pura Ulun Danu Bratan) หรือวัดบราตัน ถือเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญที่สุดบนเกาะ โดยตัววัดตั้งอยู่กลางทะเลสาบบราตัน เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้ทำพิธีทางศาสนาถวายแด่เทพีดานู ที่ได้รับการเคารพนับถือในฐานะเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

 

ความงดงามของเจดีย์ 11 ชั้นที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ และเจดีย์ 3 ชั้นที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระศิวะ ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของบาหลี โดยภาพของวัดที่เหมือนลอยอยู่บนผิวน้ำแห่งนี้ยังไปปรากฏอยู่บนธนบัตร 50,000 รูเปียห์ ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างก็ต้องหาโอกาสมาเห็นวัดบราตันด้วยตาตนเอง โดยเฉพาะในวันที่ฟ้าใสไร้หมอก จะสามารถเห็นยอดเขาคินตามณี (Kintamani) เป็นฉากหลังเสริมความงดงามอลังการให้เทวสถานโบราณแห่งนี้ดูสวยขลังยิ่งขึ้น

 

สำหรับใครที่อยากหากิจกรรมทำเพิ่มเติม แนะนำบริการเรือเช่า ซึ่งเป็นเรือไม้พื้นเมืองสีสันสดใสของอินโดนีเซียที่เรียกว่า Jukung ล่องไปในทะเลสาบเพื่อเข้าถึงอีกหนึ่งวัฒนธรรมของบาหลี

 

(** ค่าเข้าคนละ 75,000 รูเปียห์ ประมาณ 174 บาท)

 

วัดอูลันดานูบาตูร์ และชาวบาหลีที่มาทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

วัดอูลันดานูบาตูร์ (Pura Ulun Danu Batur) ตั้งอยู่ไม่ไกลทะเลสาบบาตูร์บนปล่องภูเขาไฟ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดสูงสุดของแหล่งตาน้ำและแม่น้ำทุกสาย ดังนั้น การทำพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อเริ่มเพาะปลูกและหลังจากเก็บเกี่ยวจึงเกิดขึ้นที่วัดอูลันดานูบาตูร์ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำก่อนจะปล่อยให้ไหลเป็นเครือข่ายไปสู่วัดน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ โดยแต่ละแห่งจะมีหน่วยระบบควบคุมของตนเอง

 

(** ค่าเข้าคนละ 35,000 รูเปียห์ ประมาณ 80 บาท)

วัดเตียร์ตาอัมปึล 

 

สำหรับวัดที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เปี่ยมด้วยแรงศรัทธาตลอดทั้งปี ต้องยกให้ วัดเตียร์ตาอัมปึล (Pura Tirta Empul) ที่สร้างขึ้นบริเวณตาน้ำพุเพื่อถวายแด่พระวิษณุ โดยมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ราว ค.ศ. 962 เชื่อกันว่าน้ำพุในวัดนี้ถือเป็นน้ำอมฤตที่หากได้ลงไปอาบและดื่มกินจะเป็นสิริมงคล ช่วยให้อาการเจ็บป่วยบรรเทาลง ที่นี่จึงเป็นจุดอาบน้ำของผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวที่มารอต่อคิวแช่น้ำในบ่อน้ำโบราณแห่งนี้อย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวคือ ห้ามถ่ายรูปชาวบาหลีขณะอาบน้ำเป็นอันขาด เพราะถือว่าไม่สุภาพ เนื่องจากเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวบาหลีจึงไม่ควรรบกวน และในช่วงเทศกาลที่มีคนรอคิวอาบน้ำเป็นจำนวนมากก็ไม่ควรแช่น้ำนานจนเกินไป

 

(** ค่าเข้าคนละ 50,000 รูเปียห์ ประมาณ 116 บาท)

 

 

ปรัชญาในนาขั้นบันได

 

สำหรับปรัชญา "ไตรหิตครณะ" ที่ปรากฏอยู่ในชื่อเรียก “ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลี : ระบบสุบัก หลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ” นั้น หมายถึง หลักความสมดุลกลมกลืน 3 ประการ ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักการสร้างความสงบสุขแก่ชีวิตตามปรัชญาความเชื่อแบบฮินดูที่แพร่หลายในหมู่ชาวบาหลี 

 

เมื่อนำหลักไตรหิตครณะมาใช้ในระบบสุบัก ทำให้เกิดกระบวนการคล้ายกับระบบสหกรณ์ชาวบ้าน ที่ผนวกศาสนา ความเชื่อ เทคโนโลยีทางการเกษตร วัฒนธรรม และการเมืองท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน โดยหนึ่งสุบักสามารถกินพื้นที่ตั้งแต่ไม่กี่ไร่ไปจนถึงนับพันไร่ สมาชิกในแต่ละสุบักจะเป็นเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่นาในสุบักนั้น ๆ โดยสมาชิกจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกผ่านข้อตกลงร่วมกัน  

นาขั้นบันไดเตกัลลาลัง

 

ข้อตกลงดังกล่าวประกอบด้วยเงื่อนไขสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

1.       สมาชิกจะเกี่ยวข้าวตามตารางการเพาะปลูกที่ได้ตกลงร่วมกัน

2.       สมาชิกต้องช่วยกันรักษาระบบชลประทานที่ใช้ในการเพาะปลูกแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย 

3.       มีการกำหนดรูปแบบของกระบวนการที่จะใช้ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสมาชิก

4.       ข้อตกลงที่จะมีส่วนร่วมกันในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 

 

ดังนั้น ในแต่ละปีสมาชิกในหมู่บ้านจะมาทำความตกลงร่วมกันว่าจะปลูกพืชชนิดไหน ต้องมีการผันน้ำอย่างไรให้ทุกแปลงได้รับน้ำอย่างเท่าเทียม ต้องเคร่งครัดในการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำและผืนดินร่วมกัน ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังความอุดมสมบูรณ์ของนาขั้นบันได ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกพากันตบเท้าเข้าไปเยือน และถ่ายภาพกลับไปเป็นที่ระลึก ซึ่งสืบทอดความเขียวขจีอย่างยาวนานนับศตวรรษได้ ก็เพราะวิถีปฏิบัติของชาวบาหลีที่ไม่เพียงเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ แต่ยังเคารพในสิทธิของเพื่อนบ้านอย่างเคร่งครัดอีกด้วย 

นาขั้นบันไดจาติลูวีห์

 

สำหรับใครที่อยากไปเยือนนาขั้นบันไดในบาหลีนั้นมีให้เลือกหลายแห่ง แนะนำ นาขั้นบันไดจาติลูวีห์ (Jatiluwih) หนึ่งในนาขั้นบันไดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่มีทิวทัศน์งดงามตั้งแต่เช้าจรดเย็น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการชมความงามทั้งเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและลับขอบฟ้า

คาเฟ่ในเขตนาขั้นบันไดเตกัลลาลัง

 

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่พลาด ได้แก่ นาขั้นบันไดเตกัลลาลัง (Tegalalung) นาขั้นบันไดมรดกโลก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองอูบุด ที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของนาข้าวขั้นบันไดแต่โบราณเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้ยาวนานไม่มีเบื่อ ใครชอบเดินเทร็กกิ้งก็สามารถเดินลัดเลาะขึ้นลงไปตามเส้นทางเทร็กที่มีจัดไว้ให้ ใครชอบนั่งชิลชมวิวก็มีคาเฟ่และร้านอาหารไว้บริการชมความเขียวขจีของนาข้าวชนิดติดฟร้อนท์โรว อย่าลืมสั่งกาแฟขี้ชะมด (Kopi Luwak) ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของบาหลีมาจิบสักแก้ว เพื่อลิ้มรสชาติกาแฟที่ขึ้นชื่อว่ามีราคาแพงที่สุดในโลกกันถึงถิ่น

บาหลีสวิงที่นาขั้นบันไดเตกัลลาลัง

 

รวมถึงอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่พลาดคือการ โล้ชิงช้าบาหลีสวิง ที่มีฉากหลังเป็นผืนนาสีเขียว แน่นอนว่าต้องเลือกชุดที่โดดเด่นจะได้เฉิดฉายไปบนชิงช้าได้แบบไม่ซ้ำใครในโลกโซเชียล

วัดกูนุงกาวีเซบาตู

 

ไม่ไกลจากนาขั้นบันไดเตกัลลาลัง มีอีกหนึ่งวัดโบราณที่น่าไปเยือน ได้แก่ วัดกูนุงกาวีเซบาตู (Gunung Kawi Sebatu Temple) ซึ่งแฝงเร้นอยู่ในแมกไม้ โดยต้องเดินลัดเลาะไปตามนาขั้นบันได ก่อนจะก้าวลงบันไดไปอีกหลายร้อยขั้น จึงจะได้สัมผัสความพิเศษของอนุสรณ์สถานที่สร้างอุทิศแด่ราชวงศ์กษัตริย์ในสมัยโบราณ ลักษณะเป็นงานแกะสลักหินบนภูเขาที่สูงใหญ่อลังการและงดงาม ที่นี่บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย เพราะมีทั้งร่มไม้และลำธารไหลโดยรอบ เหมาะแก่การชาร์จพลังดี ๆ ให้ชีวิต

 

(** ค่าเข้าคนละ 15,000 รูเปียห์ ประมาณ 35 บาท)

วัดกูนุงกาวีเซบาตู

 

อุทกอาราม ขุนเขา นาขั้นบันได สายน้ำศักดิ์สิทธิ์ และศรัทธาของชาวบาหลี คือส่วนผสมของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอันเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและรากเหง้าทางวัฒนธรรมของบาหลี ให้คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ไม่เสื่อมคลาย ไม่แปลกที่หนึ่งในเกาะแห่งนี้จะสามารถดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกได้ปีละกว่า 4 แสนคน และจะยังคงความเป็นเพชรเม็ดงามของอินโดนีเซียสืบไป

 

 

อ้างอิง

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...