

เที่ยว ‘สุโขทัย’ ชมความงามเมืองมรดกโลก ในประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ
Travel / Thailand
17 Nov 2023 - 8 mins read
Travel / Thailand
SHARE
17 Nov 2023 - 8 mins read
‘ลอยกระทง’ เดือนพฤศจิกายนนี้ วางแผนกันไว้หรือยังว่าจะไปที่ไหน ?
สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ LIVE TO LIFE ชวนเดินทางข้ามจังหวัดมาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์กว่า 7 ศตวรรษ ด้วยการท่องเที่ยวลัดเลาะไปตามโบราณสถานในเวลากลางวัน จนกว่าพระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า จึงถึงเวลาดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมน่าหลงใหลของ ‘ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ’ ที่จังหวัดสุโขทัย พร้อมกับลอยกระทงบนผืนน้ำที่สะท้อนให้เห็นแสงสีนวลเต็มดวงของพระจันทร์
รับรองเลยว่า ลอยกระทงที่ไหนก็ไม่เหมือนกับลอยกระทงที่ ‘สุโขทัย’ แม้จะเป็นทริปสั้น ๆ แต่สร้างความประทับใจได้ไม่รู้ลืม เพราะเป็นโอกาสเดียวเพียงปีละครั้ง ที่ทุกคนจะได้ชมความงามของเมืองมรดกโลกในบรรยากาศลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ
‘สุโขทัย’ ดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข
แรกเริ่มเดิมที เมื่อ 700 กว่าปีก่อน ‘สุโขทัย’ เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล บ้านเมืองมีแต่ความผาสุกร่มเย็นตรงตามความหมายของชื่อที่แปลว่า ‘รุ่งอรุณแห่งความสุข’ และเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ทั้งภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม
เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งดีงามเหล่านี้ไม่ได้เลือนหายแต่อย่างใด เพราะยังคงได้รับการดูแลรักษาและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นทั้งสมบัติและมรดกของชาติที่บ่งบอกรากเหง้าความเป็นไทยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
หนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญและความยิ่งใหญ่ของสุโขทัย คือ เมืองเก่าสุโขทัยซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักร หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อ ‘อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย’ ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2534
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งสำคัญที่ทุกคนต้องมาเยี่ยมชมร่องรอยความเรืองรองของอดีตด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้งในชีวิต
ลัดเลาะไปใน ‘อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย’
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ในตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยประมาณ 12 กิโลเมตร สำหรับคนที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมา ให้ตั้งต้นที่ศาลากลางจังหวัด แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกตามทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก
หากโดยสารรถประจำทาง แนะนำให้นั่งรถคอกหมูสายสุโขทัย-เมืองเก่า ที่สถานีขนส่งสุโขทัย (ราคา 30 บาท) ซึ่งเป็นรถท้องถิ่นของจังหวัดสุโขทัย เพื่อเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ผังเมืองเก่าสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และกว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร แต่ละด้านมีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมือง มีค่าเข้าชม 10 บาทสำหรับคนไทย และ 30 บาทสำหรับชาวต่างชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30 - 19.30 น.
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานอยู่ทั่วพื้นที่ ทั้งพระราชวังและวัดวาอาราม ทั้งหมด 60 แห่ง ส่วนพื้นที่รอบนอกมีโบราณสถานอีก 193 แห่ง นั่นหมายความว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะชมโบราณสถานครบทุกแห่งภายในวันเดียว
แต่ไม่ต้องกังวลใจไป หากไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน LIVE TO LIFE แนะนำให้ไปเริ่มต้นที่ ‘ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย’ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมือง สังเกตได้จากลักษณะอาคารที่มีหลังคาเป็นเรือนไทยหน้าจั่ว ตั้งอยู่หน้าวัดพระพายหลวง
ภายในศูนย์ฯ มีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลและคำแนะนำในการเที่ยวชมอุทยานฯ รวมทั้งมีแผนที่ และแบบจำลองโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัยไว้อย่างครบถ้วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
สำหรับการเที่ยวชม สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ เดินเท้า เช่าจักรยานปั่น และใช้บริการนั่งรถรางไฟฟ้า แม้จะเป็นการลัดเลาะในพื้นที่อุทยานฯ ด้วยตัวเอง ไม่มีไกด์คอยพาเที่ยว แต่หน้าโบราณสถานทุกแห่งมีป้ายกำกับไว้ สามารถใช้สมาร์ตโฟนสแกน QR Code แล้วเลือกภาษาตามต้องการ ซึ่งมีให้เลือก 4 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่ออ่านรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาของสถานที่นั้น ๆ
‘วัดวาอาราม’ แลนด์มาร์กที่ทุกคนต้องมาเยือน
สถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเป็นที่แรก เพราะเป็นภาพจำและแลนด์มาร์กของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือ ‘วัดมหาธาตุ’ ซึ่งเป็นวัดที่ขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นสถานที่หลักสำหรับจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟด้วย ในพื้นที่มีวิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์ รวมกันมากกว่า 200 องค์ ส่วนเจดีย์องค์ประธาน มีลักษณะทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมของสุโขทัยในอดีต
วัดมหาธาตุยังเป็นจุดที่คนจำนวนมากมักจะมารอคอยรอบบริเวณ เพื่อเฝ้าชมบรรยากาศตอนพระอาทิตย์ตก เพราะแสงสุดท้ายของวันที่กำลังลาลับขอบฟ้า จะฉายกระทบกับโบราณสถานและเจดีย์ พร้อมกับเปลี่ยนสีของก้อนอิฐจากสีน้ำตาลอมแดงเป็นสีเหลืองราวกับสีของทองที่สุกสว่าง เป็นภาพสวยงามชวนให้นึกถึงอดีตที่รุ่งโรจน์ของสุโขทัย
ภายในอุทยานฯ ยังมีวัดสำคัญที่น่าไปชมอีกมากมาย เช่น ‘วัดชนะสงคราม’ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ด้วยจุดที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ วัดชนะสงครามจึงถูกนับรวมให้เป็นสถานที่จัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟเช่นเดียวกัน
วัดถัดมาที่แนะนำให้ไปชม คือ ‘วัดพระพายหลวง’ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ เดิมเป็นเทวสถาน ก่อนจะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมแล้วปรับให้เป็นพุทธสถาน บริเวณวัดพระพายหลวงมีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น โดดเด่นด้วยพระปรางค์ ปัจจุบันองค์กลางและองค์ทางด้านทิศใต้ได้ผุพังเหลือเพียงแต่ฐาน ส่วนองค์ทางด้านทิศเหนือเป็นองค์เดียวที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ ซึ่งเป็นองค์ประธานของวัด
เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นชัดเจนว่า ลวดลายบนพระปรางค์เป็นปูนปั้นตามเรื่องราวในพุทธประวัติ ส่วนบริเวณหน้าพระปรางค์ มีวิหารที่เหลือเพียงเสาขนาดใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐศิลาแลง และมีร่องรอยว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปปูนปั้น แม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ทุกคนที่มายังวัดพระพายหลวงจะยังคงสามารถสัมผัสได้ถึงอดีตที่ความสวยงามและยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัย
อีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญ คือ ‘วัดศรีชุม’ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในเป็นพื้นที่แคบ ๆ แต่มีพระมณฑป หรืออาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งไร้หลังคา ยิ่งสร้างความโดดเด่นให้พระอจนะ หรือพระประธานองค์ใหญ่ที่มีหน้าตักกว้าง 11.30 เมตร และสูงถึง 15 เมตร มีพระพักตร์เปี่ยมรอยยิ้มและความเมตตา เพราะในอดีตเป็นองค์พระที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร
แวะสักการะ ‘พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช’
นอกจากวัดและโบราณสถาน บริเวณใกล้เคียงกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยังมีสถานที่สำคัญที่ควรแวะสักการะเพื่อเป็นมงคลกับชีวิต นั่นคือ ‘พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช’ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 จนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519
พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของพระองค์จริง ถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงในสมัยสุโขทัย ผู้มีพระปรีชาสามารถนานัปการ โดยเฉพาะการประดิษฐ์ลายสือไทย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพยัญชนะไทย และศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำให้ประเทศไทยมีภาษาไทยและตัวอักษรไทยเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำชาติ
ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ยังมีกระดิ่งแขวนไว้ เพื่อจำลองบรรยากาศตามคำจารึกในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า ชาวเมือง (สุโขทัย) ที่มีเรื่องทุกข์ร้อนจะมาสั่นกระดิ่ง พ่อขุนรามคำแหงจะเสด็จมาตรวจสอบความทุกข์ร้อนนั้นด้วยพระองค์เองเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ
พลบค่ำ ‘ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ’ ในเมืองเก่าสุโขทัย
ในวันปกติ เมื่อถึงเวลาเย็นที่ท้องฟ้าเริ่มมืด ทางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะเปิดไฟส่องไปยังโบราณสถาน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 21.00 น. เป็นภาพความประทับใจที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากเวลากลางวัน
แต่ในช่วงเวลาที่จัด ‘งานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ’ ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี (ในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 - 17 พฤศจิกายน 2567) เมืองเก่าสุโขทัยจะถูกประดับประดาด้วยไฟสีสันตระการตาตลอดคืน ส่วนคูคลองและแหล่งน้ำรอบบริเวณวัดมหาธาตุและวัดชนะสงคราม จะมีโคมลอยและกระทงสวยงามอยู่กลางน้ำ เพื่อบอกให้ผู้คนรู้ว่า สามารถนำกระทงมาลอยได้
ตามประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 2-28 มีการบันทึกไว้ว่า
“...ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วย (ประชาชน) มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจึ่งแล้ว (ระยะเวลาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กรานกฐินได้) เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอมโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน (ปีละสองล้านเบี้ย) ไปสูดญัติกฐินเถิงอไรญิกพู้น (ป่าไกลโพ้น) เมื่อจักเข้าเวียงเรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวล้าน คงบงคมกลอง ด้วยเสียงพาดเยงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ดังจักแตก…”
เป็นการบรรยายถึงบรรยากาศของเมืองสุโขทัยในอดีตที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งเบียดเสียดกันเข้าประตูเมืองทั้งสี่เพื่อดูการเผาเทียนเล่นไฟ
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า การเผาเทียนเล่นไฟ เป็นการเฉลิมฉลองด้วยการลอยประทีป หรือลอยกระทง เพราะเป็นพิธีกรรมที่ทำหลังออกพรรษาไปแล้วครบ 1 เดือน ซึ่งตรงกับกลางเดือน 12 หรือช่วงเวลาลอยกระทงพอดี จึงถือว่าสุโขทัยเป็นต้นกำเนิดและสถานที่จัดประเพณีลอยกระทงของไทยที่เก่าแก่ที่สุด ดังนั้น การที่ใครได้มาลอยกระทงในเมืองเก่า ก็เท่ากับได้ย้อนรำลึกถึงวันวานที่เฟื่องฟูของสุโขทัยไปด้วย
ไม่พลาดโอกาสชม ‘การแสดงแสงเสียง’ และเดิน ‘ตลาด’
อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่พลาดไม่ได้ คือ ‘การแสดงแสงเสียง’ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยตรงลานพื้นที่โล่งของวัดมหาธาตุ ซึ่งจัดแสดงเพียงวันละรอบเท่านั้น ยกเว้นคืนสุดท้ายของงานที่จัดแสดงเพิ่มเป็นสองรอบ
เล่าย้อนอดีตถึงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยผ่านการแสดงนาฏศิลป์ ที่ใช้นักแสดงมากกว่า 400 คน พร้อมกับชมขบวนช้างยุทธหัตถี การละเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง หรือพลุไฟไทยแบบโบราณ และปิดท้ายด้วยการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองค่ำคืนลอยกระทง
นอกจากการแสดงแสงเสียงแล้ว รอบพื้นที่จัดงานยังมีตลาดและการแสดงอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การประกวดโคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ กระทงเล็ก และกระทงใหญ่ การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ และละครหุ่น การแสดงจำลองวิถีชีวิตสมัยกรุงสุโขทัย สำหรับคนที่ชอบเดินตลาด แนะนำให้เที่ยวชมรอบรั้วเมืองพระร่วง เพราะเป็นจุดที่มีร้านค้ามาออกร้านจำนวนมาก
ทั้งหมดนี้คือทริปสั้น ๆ ที่เที่ยวได้ครบภายในวันเดียว คือ ได้ทั้งชมทั้งความงามของเมืองมรดกโลกและร่วมลอยกระทงในประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ เป็นการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวครั้งใหม่ที่สุโขทัย จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความสุขที่รอต้อนรับทุกคนเสมอ
อ้างอิง
- กรมศิลปกร. (2563). ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม
- กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. องค์ความรู้ : วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย. https://bit.ly/47j6GPV
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (เมืองเก่าสุโขทัย). https://bit.ly/3Qommup
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย. https://bit.ly/3MwaVjd