งานบ้านคืองานสนุก เคล็ดลับทำความสะอาดบ้านและคอนโดแบบไม่เหนื่อยด้วยหลักวิทยาศาสตร์

27 Mar 2024 - 5 mins read

Lifestyle / Home & Living

Share

งานบ้านถือเป็นเรื่องเหนื่อยหน่ายของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และคนที่อยู่ในคอนโดมิเนียมทำให้จำเป็นต้องเรียกใช้บริการแม่บ้านมาทำความสะอาดห้องอยู่บ่อยครั้ง 

 

จริง ๆ แล้วงานบ้านที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นเรื่องสนุกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายเยอะเสมอไป หากรู้เคล็ดลับทำความสะอาดตามหลักวิทยาศาสตร์ เท่านี้ก็ลงแรงน้อยแต่ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่สะอาดมากแล้ว

 

บทความนี้จะพาท่องยุทธจักรนักทำความสะอาดบ้านที่ฉลาดนำหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งฟิสิกส์และเคมีมาปรับใช้ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่เรื่องของการเลือกใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดให้เหมาะสม ค่าความเป็นกรด เป็นกลาง หรือเป็นด่างในสารชะล้างประเภทต่าง ๆ เหมาะแก่การทำความสะอาดแบบไหน ไปจนถึงเทคนิคการปัด กวาด เช็ด ถู และซักล้างแต่ละห้องในบ้านอย่างไรให้รู้สึกสนุกกับการทำงานบ้าน

 

เตรียมอุปกรณ์ เตรียมกายและใจให้พร้อม แล้วไปเรียนรู้สารพันเทคนิคในการพิชิตบ้านให้สะอาดนาน โดยเหนื่อยแรงน้อยที่สุดกันเลย

 

เลือกอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เหมาะกับการใช้งาน

 

  • ไม้กวาด ใช้สำหรับกวาดขยะชิ้นใหญ่ ๆ มารวมกัน ควรแยกการใช้งานระหว่างไม้กวาดสำหรับใช้ในบ้านและนอกบ้าน

 

  • ไม้ปัดฝุ่นใยสังเคราะห์ มีคุณสมบัติในการรวบรวมฝุ่นไว้ด้วยไฟฟ้าสถิต จึงเหมาะใช้ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ชั้นหนังสือ และพื้นที่ที่มีฝุ่นเยอะ

 

  • ไม้ดันฝุ่น แผ่นหุ้มใช้แล้วทิ้งกับผ้าใยไมโครไฟเบอร์ช่วยในการดักจับฝุ่นเล็ก ๆ หรือเศษผมบนพื้นได้ดี เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะแก่การทำความสะอาดบ้านคร่าว ๆ ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

 

  • เครื่องดูดฝุ่น ใช้ทำความสะอาดใหญ่ประจำสัปดาห์ อาศัยแรงดูดในการดึงเอาขยะหรือฝุ่นบนพื้นเข้าเครื่องได้อย่างสะอาดหมดจด

 

  • ผ้าไมโครไฟเบอร์ เก็บฝุ่นเล็ก ๆ ได้ดี ใช้ทำความสะอาดได้ทุกพื้นผิว

 

  • ผ้าขี้ริ้ว นำเสื้อผ้าหรือผ้าขนหนูเก่า ๆ มาทำเป็นผ้าขี้ริ้วในการเช็ดทำความสะอาดได้

 

  • แปรงสีฟันเก่า อุปกรณ์อเนกประสงค์สำหรับใช้ขัดหรือเขี่ยสิ่งสกปรกได้ทุกที่ 

 

รู้จักคุณสมบัติของสารชะล้างชนิดต่าง ๆ 

 

เพียงแค่เลือกใช้สารชะล้างที่เหมาะกับคราบสกปรกก็ช่วยให้เบาแรงในการขัดถู โดยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สารชะล้างตามธรรมชาติหรือสารชะล้างที่ทำจากสารเคมี โดยสารชะล้างแต่ละชนิดเหมาะแก่การทำความสะอาดแตกต่างกันออกไป

 

สารชะล้างตามธรรมชาติ

 

  • กรดมะนาว : ใช้ขจัดตะกรันหรือคราบสบู่ 

 

  • เบกกิ้งโซดา : ช่วยให้น้ำมันซึ่งเป็นกรดละลายน้ำได้ง่ายขึ้น และมีคุณสมบัติในการกำจัดกลิ่น จึงช่วยให้กลิ่นเหม็นของกรดจากขยะสดเปลี่ยนค่าเป็นกลาง

 

  • เกลือ : มีคุณสมบัติในการชะล้าง จึงใช้ขจัดคราบชาหรือดูดกลิ่นได้ดีเยี่ยม

 

  • น้ำส้มสายชู : มีคุณสมบัติกำจัดกลิ่น ช่วยกำจัดกลิ่นที่เป็นด่าง เช่น กลิ่นแอมโมเนีย หรือกลิ่นคาวปลาได้ดี

 

สารชะล้างที่ทำจากสารเคมี

 

  • สารชะล้างภายในบ้าน : ควรเลือกสารชะล้างที่เป็นด่าง เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ เพื่อการขจัดรอยนิ้วมือและคราบน้ำมันได้อย่างเห็นผล

 

  • สารชะล้างในห้องสุขา : การขจัดคราบเหลืองในห้องสุขา ควรใช้สารที่เป็นกรด เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ส่วนการขจัดคราบตะกรันติดแน่นอ่างอาบน้ำควรเลือกใช้สารชะล้างที่เป็นกลาง เช่น โซเดียมโพลีอะคริเลต

 

  • สารฟอกขาว : สามารถขจัดคราบเหลืองหรือคราบกาแฟที่ติดแน่นในใยผ้า ด้วยการนำสารฟอกขาว ซึ่งมีค่าเป็นกรด ไปผสมน้ำให้เจือจางก่อนใช้

 

  • สารขจัดเชื้อรา : สารกลุ่มสารฟอกขาวสำหรับขจัดเชื้อรา ควรใช้ในที่อากาศถ่ายเท และระวังอย่าให้ปนกับสารชะล้างที่เป็นกรด เช่น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ เนื่องจากจะให้เกิดก๊าซคลอรีน ซึ่งเป็นก๊าซพิษอันตรายหากสูดดม

 

  • สารฆ่าเชื้อ : เอทิลแอลกอฮอล์มีผลในการฆ่าเชื้อ ดังนั้น การใช้งานควรทำความสะอาดพื้นผิวก่อนแล้วจึงพ่นแอทิลแอลกอฮอล์ตาม แต่ต้องระวังวัสดุที่เป็นหนังและเคลือบสี

 

ข้อควรระวัง : สารชะล้างที่ทำจากสารเคมีส่วนใหญ่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

 

เทคนิคปัด กวาด เช็ด ถู แบบไม่เหนื่อยแรง

 

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่บ่ายเบี่ยงไม่อยากลงมือทำงานบ้านด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าเป็นงานหนัก งานยาก ใช้เวลา ต้องทุ่มเทแรงกาย พานหมดพลังใจไปกับความร้อนและความหงุดหงิดสารพัด 

 

นั่นเพราะคุณจัดลำดับความสำคัญให้งานบ้านเป็นงานที่ต้องทำให้เสร็จภายในครึ่งวันหรือวันเดียว ทั้งที่ในความจริงแล้ว เราสามารถดูแลให้บ้านสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ในทุก ๆ วัน เพื่อที่เมื่อถึงวันทำความสะอาดประจำสัปดาห์ งานบ้านที่เคยคิดว่าหนักหนาก็แทบไม่ต่างอะไรกับกิจกรรมออกกำลังกายเรียกเหงื่อเบา ๆ ที่ทำแล้วเบิกบานใจ ได้บ้านที่สะอาดเป็นของแถม 

 

ลองทำตามเทคนิคจัดระเบียบบ้านดังต่อไปนี้ แล้วจะรู้ว่างานบ้านไม่ใช่ยาขมอีกต่อไป

 

  • ฝึกจัดเก็บข้าวของให้เป็นนิสัย หมั่นเตือนตัวเองรวมถึงสมาชิกในครอบครัวให้จัดเก็บข้าวของให้เป็นที่เป็นทาง เช่น เก็บรองเท้าเข้าตู้ทันทีเมื่อถอดแล้ว หลังล้างจานควรเก็บจานชามใส่ตู้ให้เรียบร้อย ข้าวของกระจุกกระจิกควรเก็บใส่กล่องหรือลิ้นชักเป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการหยิบมาใช้งาน เป็นต้น เพื่อไม่ให้บ้านรกและช่วยลดขั้นตอนในการทำความสะอาดไปในตัว

 

  • วางแผนทำความสะอาดประจำสัปดาห์ ควรกำหนดตารางทำความสะอาดประจำสัปดาห์ให้ชัดเจนว่า ตรงไหนควรทำความสะอาดทุกวัน ตรงไหนทำนาน ๆ ครั้งได้ เช่น วันจันทร์ทำความสะอาดห้องนั่งเล่น วันอังคารห้องสุขา วันพุธห้องครัว วันศุกร์โถงประตูหน้า วันเสาร์ห้องนอน เป็นต้น สำหรับห้องที่มีจุดให้ทำความสะอาดเยอะเป็นพิเศษอย่างห้องครัว ควรเลือกทำสัปดาห์ละจุด เช่น สัปดาห์นี้จัดการตู้เย็นให้เรียบร้อย สัปดาห์หน้าทำความสะอาดเตาแก๊ส ฯลฯ ข้อสำคัญคือ ควรลงมือทำความสะอาดตามตารางที่กำหนดไว้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ทำผ่าน ๆ

 

  • ถือโอกาสทำความสะอาดขณะทำกิจวัตรต่าง ๆ ไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุดก็สามารถทำบ้านให้สะอาดได้ทุกเมื่อ ด้วยการทำความสะอาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในขณะทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น เมื่อล้างหน้าหรือแปรงฟันเสร็จ ให้ถือโอกาสเช็ดกระจก ก๊อกน้ำ หรืออ่างล้างหน้าไปด้วย หรือในขณะทำอาหาร เมื่อมีน้ำมันกระเด็นเลอะ แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ก็ควรเช็ดออกทันที ฯลฯ การจัดการความสกปรกทันทีเมื่อเห็นอะไรสะดุดตาจะช่วยให้เบาแรงและสบายขึ้น เมื่อถึงเวลาทำความสะอาดจริงจังตามแผนประจำสัปดาห์ 

 

  • วางอุปกรณ์ทำความสะอาดในจุดที่หยิบใช้สะดวก ในบริเวณที่สกปรกง่าย เช่น อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ อ่างล้างจานในห้องครัว ฯลฯ ควรวางฟองน้ำ แปรงสีฟันเก่า หรือน้ำยาทำความสะอาดบรรจุขวดพร้อมใช้ไว้ในจุดที่ง่ายต่อการหยิบจับ เพื่อที่จะสามารถลงมือเช็ดได้ทันทีที่เกิดคราบสกปรก

 

  • กำหนดทิศทางในการเช็ดเครื่องเรือน การปัด กวาด เช็ด ถู ควรกำหนดทิศทางว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนแล้ววนไปตามทิศทางนั้นจนรอบห้อง เช่น เลือกเช็ดเครื่องเรือนตามเข็มนาฬิกา ก็ค่อย ๆ ทำวนไปตามทิศทางนั้น อย่าสลับตำแหน่งปัดกวาดตรงนั้น แล้วย้ายไปเช็ดตรงนี้ ฝุ่นผงจะยิ่งกระจายตัว ทำให้เหนื่อยแรงในการทำความสะอาดยิ่งกว่าเดิม 

     
  • เช็ดถูไปในทิศทางเดียว การเช็ดทำความสะอาดนั้นควรเช็ดถูผ้าไปทิศทางเดียว เพื่อฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากใช้ผ้าถูไปมาอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เคยติดอยู่ที่ผ้ากลับไปอยู่บนบริเวณที่ทำความสะอาดแล้ว

 

  • ควรทำความสะอาดหน้าต่างในวันฟ้าครึ้มหรือฝนตก เพราะคราบสกปรกที่เกาะแน่นบนกระจกหน้าต่างจะคลายตัวมากกว่าวันที่แดดออกอากาศแจ่มใส วิธีที่ง่ายที่สุด คือ พ่นน้ำยาทำความสะอาดกระจก แล้วขยุ้มกระดาษหนังสือพิมพ์มาเช็ดทำความสะอาด ให้คาร์บอนในหมึกบนกระดาษรับหน้าที่จับคราบสกปรก และน้ำมันในหมึกช่วยในการสลายคราบมัน เท่านี้กระจกก็ใสสะอาดโดยไม่เหนื่อยแรง

     
  • ให้ความสำคัญกับการระบายอากาศ หัวใจหลักในการรักษาความสะอาด คือ การระบายอากาศ เพราะช่วยทำให้ฝุ่นลงจับได้ยาก และช่วยลดความชื้น ทำให้ไม่เกิดเชื้อรา ดังนั้น ทุกครั้งหลังทำความสะอาดพื้นที่แล้วควรเช็ดพื้นผิวให้แห้ง เพื่อลดความชื้น ป้องกันการเกิดคราบสกปรกได้อย่างเห็นผล

 

เทคนิคทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศและ “ดูดฝุ่น” อย่างถูกวิธี

 

  • ใช้ไม้ดันฝุ่นถูทำความสะอาดตัวเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรใช้ทิชชู่เปียกหรือน้ำยาเช็ดกระจก เพราะจะทำให้พื้นผิวเสียหายได้ 

 

  • กำจัดฝุ่นบนแผ่นกรองด้วยเครื่องดูดฝุ่น สวมท่อดูดชนิดแปรงเพื่อดูดฝุ่นบนแผ่นกรองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

 

  • วิธีกำจัดคราบสกปรกติดแน่นบนแผ่นกรอง นำไปแช่ในสารชะล้างที่เป็นกลางผสมน้ำอุ่น ทิ้งไว้สักพัก เมื่อคราบสกปรกลอยขึ้นมา ให้ใช้แปรงขัดให้สะอาดก่อนล้างออก 

 

  • ไม่ควรใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในวันฝนตกหรืออากาศชื้น เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมักทิ้งรอยฝุ่นไว้บนพื้น จากการที่ล้อของหุ่นยนต์เหยียบและลากฝุ่นที่ดูดซับความชื้นจากพื้นไปทั่วห้อง การใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในวันฝนตกฟ้าครึ้มจึงยิ่งเป็นการแพร่กระจายแหล่งกำเนิดโรคจากฝุ่นโดยไม่คาดคิด

 

  • กำจัดฝุ่นตามมุมห้องด้วยตัวเองในตอนเช้า หลังจากที่เปิดสวิตช์ให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านมาทั้งวัน ให้ทิ้งเวลาไว้หนึ่งคืน แล้วเริ่มลงมือทำความสะอาดขั้นตอนสุดท้ายในตอนเช้า ด้วยการใช้ไม้ถูพื้นกำจัดฝุ่นที่มักไปรวมตัวอยู่บริเวณมุมห้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะเหนื่อยหรือเสียเวลา เพราะทำความสะอาดแค่มุมห้องก็สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

 

  • เปลี่ยนถุงเก็บฝุ่นเป็นประจำ ก่อนที่ถุงจะอัดแน่นไปด้วยฝุ่นและสิ่งสกปรก

 

“ห้องนอน” เป็นห้องที่ต้องทำความสะอาดทุกวัน

 

ห้องนอนเป็นสถานที่ในการผ่อนคลายความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน จึงควรเป็นพื้นที่ที่สะอาดอยู่เสมอ ดังนั้น จึงควรหมั่นทำความสะอาดห้องนอนทุกวันให้เป็นนิสัย เพราะรอบ ๆ เตียง ตามผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มีฝุ่นจับทุกวัน ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดห้องนอนด้วย 3 วิธีต่อไปนี้ทุกวัน

 

  • ใช้ไม้ดันฝุ่นทำความสะอาดรอบ ๆ เตียง

 

  • ใช้ลูกกลิ้งจับฝุ่นจัดการผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน

 

  • ใช้ไม้ปัดฝุ่นใยสังเคราะห์ทำความสะอาดฝุ่นบนโต๊ะเครื่องแป้ง

 

วิธีทำความสะอาด “ห้องครัว” ให้ปลอดเชื้อโรค

 

  • ทำความสะอาดเตาแก๊สทันทีที่ยังอุ่นอยู่ ควรเช็ดคราบเครื่องปรุงหรือน้ำมันด้วยน้ำอุ่นขณะที่เตายังอุ่นอยู่ เพราะคราบสกปรกจะออกได้ง่ายกว่าทิ้งไว้นาน ส่วนคราบที่ติดแน่นสามารถกำจัดได้โดยฉีดสารขจัดคราบน้ำมันลงบนเตา แล้วหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกห่ออาหาร เพื่อดูดคราบสกปรกขึ้นมา ทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าแห้งก่อน เพื่อเอาสารชะล้างและคราบสกปรกออก จากนั้นเช็ดด้วยผ้าเปียก แล้วเช็ดด้วยผ้าแห้งอีกครั้ง

 

  • ซักผ้าขี้ริ้วทุกวัน ผ้าขี้ริ้วเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคจึงไม่ควรสัมผัสผ้าขี้ริ้วระหว่างทำอาหาร หากมีการสัมผัสผ้าขี้ริ้วต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง และหลังจากใช้ผ้าขี้ริ้วเสร็จแล้ว ควรซักด้วยสารฟอกขาวคลอรีนเป็นประจำทุกครั้ง ตากให้แห้งสนิทในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก

 

  • ล้างภาชนะและเช็ดให้แห้งทันทีหลังอาหารทุกมื้อ ไม่ควรกองจานชามที่เปื้อนเศษอาหารแช่น้ำทิ้งไว้นาน ๆ แล้วค่อยเก็บไว้ล้างทีเดียวตอนเย็นหรือตอนเช้า เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งการล้างจานชามทันทีหลังมื้ออาหารทำให้ปริมาณภาชนะที่ต้องล้างไม่มากจนเกินไป เหนื่อยแรงน้อย จึงทำได้บ่อยโดยไม่รู้สึกเป็นภาระ

 

  • ฉีดเอทิลแอกอฮอล์บนขยะสด ลดกลิ่นเหม็น เวลาทิ้งขยะสด ควรฉีดเอทิลแอลกอฮอล์ลงไปในขยะสดโดยตรง เพื่อช่วยยับยั้งแบคทีเรียและป้องกันกลิ่นเหม็น หรือจะโรยเบกกิ้งโซดาลงบนขยะสดโดยตรง แล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนทิ้งลงถัง ก็ลดกลิ่นเหม็นเตะจมูกของขยะสดได้อย่างเห็นผล

     
  • อบผ้าขี้ริ้วเปียกหมาดช่วยให้ทำความสะอาดไมโครเวฟง่ายขึ้น นำผ้าขนหนูหรือผ้าขี้ริ้วสะอาดบิดพอหมาด เข้าอบในไมโครเวฟ 1 นาที คราบสกปรกจะคลายตัวเพราะไอน้ำ จากนั้นจึงค่อยขัดทำความสะอาด แล้วเปิดทิ้งไว้สักพักให้แห้ง เท่านี้ภายในไมโครเวฟก็สะอาดเหมือนใหม่

 

“ห้องน้ำ” ที่ดี คือ ห้องน้ำที่ยิ่งใช้งานบ่อย ยิ่งสะอาด

 

  • ควรมีน้ำผสมเบกกิ้งโซดาติดห้องน้ำไว้เสมอ เตรียมน้ำ 1 ลิตรผสมเบกกิ้งโซดา 4 ช้อนโต๊ะบรรจุใส่ขวดฟ็อกกี้ตั้งไว้ในห้องน้ำ หากพบคราบบนผนังสามารถฉีดพ่นบนพื้นผิว แล้วขัดด้วยฟองน้ำออกได้ทันที ข้อดีของเบกกิ้งโซดา คือ แม้โดนผิวหนังก็ไม่มีปัญหา สามารถใช้เวลาในการอาบน้ำขัดถูทำความสะอาดผนังห้องน้ำได้แบบเพลิน ๆ

     
  • กำจัดเส้นผมและเศษขยะออกจากท่อระบายน้ำทันที กิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำและทำทันที คือ หยิบเส้นผมและเศษขยะออกจากท่อระบายน้ำทุกครั้งที่เห็น เพื่อป้องกันคราบติดแน่นในท่อระบายน้ำ หากไม่อยากใช้มือสัมผัสโดยตรง สามารถใช้แปรงสีฟันเก่าหรือกระดาษทิชชู่ชนิดหนาในการหยิบขยะอุดตันเหล่านั้นทิ้งลงถังขยะได้อย่างสะดวกใจยิ่งขึ้น

     
  • ทำความสะอาดหัวฝักบัว ฝักบัวที่ใช้มานานย่อมเกิดการอุดตันจึงควรทำความสะอาดหัวฝักบัวบ้าง เพียงเติมน้ำครึ่งกะละมัง แล้วใส่น้ำส้มสายชูลงไป 50 cc ถอดหัวฝักบัวลงแช่ 20 นาที แล้วใช้ปลายไม้จิ้มฟันแคะสิ่งอุดตันออก ถ้ามีคราบสกปรกฝังแน่นสามารถเติมน้ำส้มสายชูเพิ่มพลังสลายคราบได้

 

  • ก่อนอาบน้ำให้ใช้น้ำฝักบัวหรือน้ำร้อนราดให้ทั่วห้อง จะช่วยให้คราบสกปรกเกาะติดยากขึ้น เมื่ออาบน้ำอุ่นเสร็จให้ราดด้วยน้ำฝักบัวเย็น ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในห้องน้ำ ยับยั้งการเกิดเชื้อราได้ และไม่ควรปิดประตูห้องอาบน้ำให้สนิท ควรสร้างช่องทางให้อากาศถ่ายเท เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา

     
  • ทำความสะอาดถังซักในเครื่องซักผ้าทุก 2 เดือน ถังซักในเครื่องซักผ้าเป็นพื้นที่ที่เกิดเชื้อราได้ง่าย หากเกิดเชื้อราในถังซัก เชื้อราสามารถติดมากับเสื้อผ้าได้ โดยเฉพาะใครที่ซักผ้าขี้ริ้วและผ้าไมโครไฟเบอร์ที่ใช้ทำความสะอาดพื้นใส่ลงในถังซักที่เต็มไปด้วยเชื้อรา ก็จะยิ่งทำให้สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายไปทั่วห้อง จึงควรหมั่นทำความสะอาดถังซักทุก 2 เดือน (ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งาน) โดยใช้สารฟอกขาวคลอรีน (โซเดียมไฮโปคลอไรด์) ที่มีสารป้องกันการเกิดสนิมในการขจัดเชื้อราในถังซัก และหลังจากใช้เครื่องซักผ้าแล้ว ควรเปิดฝาไว้ทุกครั้งเพื่อให้อาการถ่ายเทได้สะดวก

 

อ้างอิง

  • มัตสึโมโตะ ทาดาโอะ. วิทยาศาสตร์ของการทำความสะอาดบ้าน. วีเลิร์น, 2566
  • ฮิโระมิ ฮนดะ. เหนื่อยน้อย สะอาดนาน ด้วยวิธีดูแลบ้านอย่างเหนือชั้น. สเต็ปส์, 2558

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...