ทำอย่างไรเมื่อตัวจากไปแต่ของยังอยู่ ? รู้จัก Death Cleaning วิธีจัดบ้านก่อนจากแบบ Swedish

10 Nov 2023 - 5 mins read

Lifestyle / Home & Living

Share

ในวันที่เราจากโลกใบนี้ไป สิ่งที่เหลือทิ้งไว้บนโลกใบนี้ นอกจากความทรงจำที่ฝากไว้กับคนที่เรารักแล้ว ก็ยังมีข้าวของมากมายที่สะสมไว้ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่  

 

เมื่อสมาชิกในครอบครัวจากไป หลาย ๆ ครอบครัวต่างก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับข้าวของเหล่านั้นอย่างไร ไม่รู้ว่าของเหล่านั้นมีมูลค่ามากแค่ไหน และส่งต่อให้ใครได้บ้าง คงจะดีไม่น้อยหากข้าวของทุกชิ้นจะได้ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ถูกใช้ต่ออย่างมีคุณค่า นั่นทำให้แนวคิด Death Cleaning ถือกำเนิดขึ้น 

 

Death Cleaning หรือ döstädning (เดอสแต็กนิง) ในภาษาสวีเดน คือการจัดระเบียบข้าวของของเราให้พร้อมสำหรับการจากโลกใบนี้ไป เป็นวิธีการหนึ่งในแนวคิดแบบมินิมอลิสม์ (Minimalism) แบบฉบับชาวสวีเดน ซึ่งนอกจากจัดข้าวของให้เป็นระเบียบแล้ว ยังช่วยให้เราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าของแต่ละชิ้นที่เรามีอยู่ หรือกำลังจะรับมาไว้ในครอบครองนั้นมีความหมายและมีประโยชน์กับชีวิตอย่างไร  

 

“มันคือการใช้เวลาดื่มด่ำกับข้าวของที่คุณมีอยู่ และจากนั้นก็ทิ้งมันไปเสีย” - มาการ์รีตา แม็กนัสสัน 

 

มาการีตา แม็กนัสสัน (Margareta Magnusson) ศิลปินชาวสวีเดน วัย 89 ปี เธอเป็นคนแรกที่รวบรวมวิธีการจัดของแบบ Death Cleaning ขึ้นมาอย่างเป็นกิจลักษณะในหนังสือที่ชื่อว่า The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter

 

หลายคนเมื่อได้เห็นคำว่า ‘ทิ้ง’ อาจคิดว่าบ้านของมาร์การีตาโล่งโปร่ง แทบไม่มีของเหลืออยู่เลย แต่ตรงกันข้าม บ้านของเธอก็เป็นเหมือนบ้านของคนทั่วไป เธอไม่ได้ทิ้งของทุกอย่างไปจนหมด ยังเก็บอัลบั้มผลงานภาพถ่ายและหนังสือที่ชอบเอาไว้ แต่ที่อาจจะต่างออกไปคือ เธอรู้ว่าเธอมีสิ่งใดอยู่ในครอบครองบ้างและ ‘ของทุกชิ้นเหล่านั้นล้วนมีความหมายต่อเธอ’ 

 

มาร์การีตาเล่าว่าการที่เรารู้ว่าเรามีของสิ่งใดในครอบครองบ้าง จะช่วยให้ชีวิตเป็นระเบียบมากขึ้น ยิ่งในวันที่เราจากไป ครอบครัวต้องจัดการหลายอย่าง เพียงรับมือกับความโศกเศร้าก็ใช้กำลังมหาศาลแล้ว เธอเชื่อว่าการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบและรู้หนทางที่จะส่งต่อ จะช่วยลดภาระของคนที่ยังอยู่ได้ อีกทั้งทำให้ของเหล่านั้นไม่กลายเป็นขยะทิ้งเปล่าอีกด้วย  

 

วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีการจัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ที่เหมาะกับคนทุกวัย เพื่อเตรียมรับกับทุกช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลง  

 

แต่ถึงอย่างนั้น มาร์การีตาก็ได้ระบุว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับ Death Cleaning คือก่อน 65 ปี ซึ่งเธอให้เหตุผลว่ายังเป็นวัยที่แข็งแรง มีกำลังในการจัดเก็บข้าวของได้ และสำหรับใครที่อายุน้อยกว่านั้น สัญญาณที่บ่งบอกว่าต้องเริ่มได้แล้ว อาจหมายถึงวันที่ของในลิ้นชักเริ่มล้นออกมา ตู้เสื้อผ้าเริ่มไม่มีที่แขวน เริ่มปิดไม่ได้ นั่นแหละถึงเวลาที่ต้องสังคายนาบ้านของเราครั้งใหญ่แล้ว 

 

มาร์การีตาระบุรายละเอียดในการจัดข้าวของแบบ Death Cleaning ไว้ในหนังสือของเธอมากมาย เราจึงขอหยิบยกเคล็ดลับฉบับเข้าใจง่ายและเร่งรัดมาฝาก เผื่อว่าใครกำลังวางแผนจะเริ่ม Death Cleaning ในสุดสัปดาห์นี้ 

 

เริ่มจาก ‘ของชิ้นใหญ่’ ไร้พันธะทางใจ 

หากไม่รู้จะเริ่มจัดของจากตรงไหน มาร์การีตาแนะนำให้พิจารณาของชิ้นใหญ่ในบ้านก่อน เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เลือกจะทิ้งหรือเก็บง่าย ไม่ค่อยมีความหมายกับจิตใจ ทำให้ไม่ต้องตัดสินใจนาน ส่วนของชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างรูปถ่าย ตั๋วภาพยนตร์เก่า ๆ จดหมาย เอกสารต่าง ๆ เรามักจะใช้เวลาแยกเก็บแยกทิ้งนานเป็นพิเศษ เพราะแต่ละชิ้นบรรจุความทรงจำเอาไว้ และมีความหมายกับจิตใจมากกว่า 

 

กำจัดของที่มีจำนวน ‘มากเกินความจำเป็น’ 

สำรวจของใช้ในบ้านว่าสิ่งไหนมีจำนวนมากเกินความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ เช่น หากอยู่คนเดียวแต่มีถ้วยชามวางซ้อนเป็นตั้งมากมายจนฝุ่นเกาะ นั่นก็อาจหมายความว่าเกินจำเป็น ต้องหาทางไปต่อให้กับถ้วยชามเหล่านั้น 

 

บอกลาของที่ ‘เดินผ่านทุกวัน’ แต่ไม่เคยสังเกตเห็น  

ลองนึกดูว่าทุกวันนี้ มีสิ่งไหนบ้างที่คุณเดินผ่านมันทุกวัน แต่ไม่ได้ใส่ใจสังเกตเห็น มีอยู่แต่ก็เหมือนไม่มี นั่นหมายความของชิ้นนั้นอาจไม่ได้มีความหมายกับชีวิตอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะเก่าเก็บของปีก่อน ๆ ที่ไม่เคยหยิบมาใช้งาน หรือเสื้อผ้าที่นอนอยู่ในมุมหนึ่งของตู้ ซึ่งแม้ว่าเราจะเปิดตู้ทุกวันแต่กลับไม่เคยหยิบเอามาใส่เลย นั่นก็ชัดเจนแล้วว่าถึงไม่มีสิ่งนี้ ชีวิตเราก็ยังอยู่ได้ คงถึงเวลาแล้วที่ต้องหาที่ไปให้สิ่งเหล่านั้น 

 

ส่งต่อ ‘ของ’ ให้คนที่ต้องการ  

สถานีต่อไปของข้าวของไม่ใช่การทิ้ง แต่เป็นการ ‘บริจาค’ มาร์การีตาแนะนำให้ทุกคนลองตั้งคำถามว่า ‘ถ้าฉันเก็บสิ่งนี้ไว้ ใครจะมีความสุขขึ้นไหม ?’ หากเราพอจะนึกออกว่ายังมีใครต้องการใช้มันอยู่ก็ให้เก็บไว้ รอนำไปมอบให้กับคนคนนั้น แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าคงไม่มีใครที่ต้องการใช้มันจริง ๆ ค่อยตัดสินใจทิ้ง  

 

เธอแนะนำว่าแม้การบริจาคของจะเป็นทางออกที่ดีอย่างยิ่งในการเคลียร์บ้านแบบ Death Cleaning แต่ก็ควรมอบของที่คนต้องการมันจริง ๆ เพราะถ้าเป็นของที่ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา หรือเป็นของที่คนนั้นอาจไม่ได้ใช้ ของเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะรอวันถูกทิ้งได้ไม่ต่างกัน เคล็ดลับของเธอคือ ในวันที่เรารื้อค้น จัดบ้าน อาจชวนใครสักคนมาช่วย และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เลือกสิ่งของที่เขาสนใจรับไปใช้ต่อ หรือหากจะนำของไปบริจาคให้กับคนอื่นหรือองค์กรต่าง ๆ ควรถามให้ถี่ถ้วนและหาข้อมูลจนแน่ใจว่าพวกเขาจะได้ใช้ของชิ้นนั้นจริง ๆ  

 

เก็บของที่มีความหมายต่อจิตใจเอาไว้  

เมื่อปล่อยของที่ไม่จำเป็นออกไปจากบ้านแล้ว สิ่งที่มีอยู่หยิบมือนั้นก็เหลือเพียงแต่ของที่มีความหมายกับชีวิต แต่สำหรับ Death Cleaning เราจะไปกันต่อจนถึงขั้นสุดท้ายคือ เตรียมพร้อมจัดการกับของที่เรารักในวันที่เราได้จากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายแห่งความทรงจำ จดหมายจากคนรักในอดีต หรือของสะสมสุดรักสุดหวง เราก็ต้องหาที่ทางไปให้กับมันไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหรือทิ้ง มาร์การีตาแนะนำว่าหากเป็นของที่ทิ้งได้ ให้เก็บมันในกล่องที่เขียนว่า ‘ทิ้ง’ และบอกคนรอบข้างเอาไว้ให้รับรู้ทั่วกัน เพื่อในวันหนึ่งที่เราจากไป เขาจะได้ทิ้งมันไปแบบไม่ต้องรู้สึกลังเล 

 

เห็นได้ว่าการจัดการบ้านแบบ Death Cleaning นั้นทำให้เราพร้อมจากโลกนี้ไปอย่างสงบและไร้ซึ่งภาระให้คนที่อยู่เบื้องหลัง  

 

อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับทุก ๆ วันของเราที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อจากนี้ เพราะนอกจากจะได้อยู่ในบ้านที่เป็นระเบียบ ยังทำให้เรารู้ว่าของสิ่งไหนที่มีคุณค่ากับเราจริง ๆ และส่งผลให้คิดถี่ถ้วนมากขึ้นก่อนที่จะซื้อของในครั้งต่อ ๆ ไปอีกด้วย  

 

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...