‘ถิ่นนิยมคลาสรูม’ ห้องเรียนที่คนท้องถิ่นพาไปดูข้าว ยา ป่า อาหาร และวิถีชาวบ้านในชุมชน

22 Nov 2024 - 5 mins read

Lifestyle / Guide

Share

นานแค่ไหนแล้วนะ…ที่เท้าเปลือยเปล่าไม่ได้สัมผัสพื้นดินอ่อนนุ่ม

นานแค่ไหนแล้วนะ…ที่ไม่ได้เงี่ยหูฟังเสียงหรีดหริ่งของจักจั่นในป่า

นานแค่ไหนแล้วนะ…ที่ไม่ได้หย่อนขาลงในลำห้วยที่มีสายน้ำเย็นไหลเอื่อย 

 

ถ้าคุณกำลังคิดถึงบรรยากาศเหล่านั้นหรืออยากลองสัมผัสดูสักครั้ง LIVE TO LIFE ขอชวนมาทำความรู้จักกับ ‘ถิ่นนิยมคลาสรูม’ ห้องเรียนชุมชนที่พาพวกเราไปเรียนรู้เรื่องชุมชน ทั้งข้าว ยา ป่า อาหาร และวิถีชีวิต เพื่อให้เรากลับมาเชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกครั้ง และจะพบว่าท้องถิ่นของประเทศไทยก็มีขุมทรัพย์อันมีค่ามากมายรอให้ค้นพบ 

 

 

ถิ่นนิยมคลาสรูม 

ห้องเรียนชุมชนที่พาคนมาหลงรักท้องถิ่น

เรื่องราวของ ‘ถิ่นนิยมคลาสรูม’ เริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านหัวทุ่ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของ มล - จิราวรรณ คำซาว หรือ ดร.พี่มล นักจุลชีววิทยาและนักจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ชุมชนบ้านป่าตึงงามเต็มไปด้วยพืชพรรณสีเขียวขจี ข้าวเต็มผืนนา เก็บน้ำผึ้งได้จากป่าในหมู่บ้าน มีปู ปลาในลำธารใสไหลเย็น และยังมีผู้คนในชุมชนที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาดั้งเดิม

 

เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2554 มลตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่เชียงดาว สายตาของนักชีววิทยาอันแหลมคมทำให้เธอมองเห็นพืชพรรณดี ๆ มากมายในป่าชุมชน ที่อุดมไปด้วยข้าว ยา อาหาร เปรียบดั่งขุมทรัพย์อันมีค่า เธอจึงเริ่มลงพื้นที่ จดบันทึก ทำวิจัย แล้วห้องเรียนชุมชน ‘ถิ่นนิยมคลาสรูม’ ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ 

 

“ช่วงสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ ก็มีเด็ก ๆ อยากมาเล่นด้วย เลยกลายเป็นแก๊ง ก็คิดว่าจะชื่อแก๊งอะไรดี มันมีคำว่าทุนนิยม สังคมนิยม ทำไมไม่มีใครมานิยมท้องถิ่นบ้าง เลยเกิดเป็นคำว่าท้องถิ่นนิยมและเป็นที่มาของแก๊งถิ่นนิยม”

 

“เราพาเด็ก ๆ เข้าป่าไปช่วยเก็บข้อมูล ตอนนั้นทำโปรเจกต์มะม่วงป่า เด็กสนุกมาก เอาใบไม้มาวางบนกริดสีเขียว ถ่ายรูปเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราว่ามันน่ารักดี แล้วเด็กไปเล่าให้เพื่อนที่โรงเรียนฟัง คุณครูก็ชอบ หลัง ๆ เพื่อนของน้อง ๆ ก็ชวนกันมา ไม่ใช่แค่เข้าป่าแต่ยังชวนไปปลูกข้าว สอนเรื่องข้าว เอาแว่นขยายมาส่องดูข้าว พาไปเก็บน้ำผึ้งมาทำข้าวแต๋นกับแม่หล้า และนำไปแปรรูป ไปออกบูธขาย ครบวงจร เราเป็นเกษตรกรเลยใส่ความรู้เข้าไปด้วย กิจกรรมในชุมชนมันกลายเป็นห้องเรียนได้”

 

มลสำรวจป่าที่บ้านแบบนี้อยู่ราว ๆ 6 ปี เธอก็เริ่มเป็นที่รู้จักและได้เป็นหนึ่งในเกษตรกรไทยที่มีโอกาสไปเยี่ยมเกษตรกรญี่ปุ่นในรายการ ‘ดูให้รู้’ ทำให้ แหม่ม - พจนีย์ ธารประดับ โปรดิวเซอร์ในตอนนั้นช่วยผลักดันและชวนมลมาเปิดทริปพาไปเรียนรู้เรื่องในชุมชน

 

“ทริปท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการครั้งแรกชื่อ Go to Learn ตอนนั้นประกาศไป 6,000 บาท รู้สึกว่าแพงนะ มีผู้สนใจมาร่วม 2 ครอบครัว เป็นเด็ก 2 คน กับผู้ปกครอง แต่มีสต๊าฟ 10 คน (หัวเราะ)”

 

“สต๊าฟคือแก๊งถิ่นนิยมเด็กน้อยในหมู่บ้าน เขาดีใจมาก ดูแลแขกแบบวีวีไอพีเลย ตอนนั้นเราให้เด็กรันกระบวนการ พาไปเข้าป่า เก็บหน่อไม้ จับปู จับปลา มาทำอาหาร เด็ก ๆ ดีใจ ได้เงินด้วย หักต้นทุนแล้ว เฉลี่ยกันเหลือคนละร้อยบาท (หัวเราะ)”

 

หลังจากนั้นมลก็ได้จับมือกับ โอ๊ค - คทา มหากายี นักออกแบบบ้านเรียน ทำให้ห้องเรียนแห่งนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยการออกแบบ ‘เครื่องมือ’ ต่าง ๆ ที่ใช้เรียนรู้และสำรวจป่า เช่น ขวดแก้ว สมุดบันทึกธรรมชาติ บันทึกสีท้องฟ้า ฯลฯ

จากกลุ่มเล็ก ๆ ที่จัดทริปกันสนุก ๆ ก็เริ่มได้รับความสนใจ มีคนมากหน้าหลายตามาเข้าร่วมทริป มลและโอ๊คผันตัวมาเป็นกระบวนกรหลักแทนเด็ก ๆ มีทีมงานชาวเชียงดาวอีก 2 คน คือ ดาว - ประกายดาว คันธะวงศ์ และ กิ๊บ - อัจฉา กันทวี มาร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และให้เด็ก ๆ แก๊งถิ่นนิยมทำหน้าที่สต๊าฟตัวน้อยคอยพาพี่ ๆ เดินป่า เริ่มแรกห้องเรียนนี้ชื่อ ‘เชียงดาวคลาสรูม’ และกลายมาเป็น ‘ถิ่นนิยมคลาสรูม’ ในที่สุด 

 

เรียนรู้ต่างฤดูในห้องเรียนที่ชื่อ ‘ธรรมชาติ’

แม้จะได้ชื่อว่า ‘คลาสรูม’ กลับไม่ได้เรียนในห้อง หากแต่เป็นป่า ลำธาร และหมู่บ้าน ทุกที่ล้วนเป็นห้องเรียนได้ทั้งสิ้น ในแต่ละปีถิ่นนิยมคลาสรูมก็จะมีกิจกรรมต่างกันไป มีทั้งทริปเล็ก ทริปใหญ่ ทั้งเดินสำรวจป่า ดูต้นน้ำ เก็บหินมาระบายสี เรียนรู้เรื่องเห็ดและเชื้อรา ดับไฟป่า ย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ และอีกหลายคลาสที่นอกจากสนุกแล้วยังได้เรียนรู้กับนักชีววิทยาและชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

 

‘ฤดูร้อน’ แม้แห้งแล้งแต่ดอกไม้สีสวยผลิบาน ถิ่นนิยมก็พาไปเรียนรู้เรื่องสีจากธรรมชาติ เก็บน้ำผึ้งในป่าใหญ่ เป็นอาสาสมัครช่วยดับไฟป่า เรียนรู้เรื่องมลพิษ PM 2.5 และหารือวิธีเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น 

 

‘ฤดูฝน’ อากาศชื้น ๆ ทำให้ยอดไม้แตกยอดอ่อน ป่าฝนมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เห็ด รา ก็เติบโตอย่างดี หน้านี้พาไปเปิดเซนส์ ประสาทสัมผัสทั้งห้า ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส เรียนรู้สำรวจระบบนิเวศในห่วงโซ่อาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้ย่อยสลาย

 

‘ฤดูหนาว’ ช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเก็บเกี่ยวก่อนอากาศเย็นจะมาเยือน ชวนไปเกี่ยวข้าวในนา และเรียนรู้เรื่อง ‘ข้าว’ ในทุกมิติ ฤดูนี้เหมาะแก่การมาเยือนเชียงดาวเป็นอย่างยิ่ง 

 

นอกจากห้องเรียนตามฤดูกาลแล้ว ยังมีห้องเรียนพิเศษเฉพาะกิจสนุก ๆ ให้ติดตามตลอดทั้งปี เช่น Seasonal Folk Dining ในเดือนมิถุนายนจัดร่วมกับเชฟตาม ชุดารี เทพาคำ แห่ง Baan Tepa Culinary Space เรียนรู้เรื่องอาหารตามวัฒนธรรมตามฤดูกาลในธีม ‘กิ๋นต๋ามฮีต ต๋ามฮอย’ และในสิงหาคมที่ผ่านมาได้ เชฟแบล็ค จาก Blackitch Artisan Kitchen พาไปค้นหาหาวัตถุดิบดี ๆ ในท้องถิ่นมารังสรรค์เมนูอร่อย หรือจะเป็นโปรเจกต์ที่ร่วมกับอำเภอเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ เปิดผามแม่ครัว (โรงครัวชั่วคราว) สอนทำถั่วเน่า ลาบเหนือ หน่อไม้ดอง ของดีของเด็ดเมืองเชียงดาว 

 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านหัวทุ่งเพียงเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนสถานที่ขยายไปในพื้นที่อื่น ทั่วทั้งอำเภอเชียงดาว อีกทั้งยังขยับขยายไปยังอำเภอจอมทอง อำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เรียนรู้ธรรมชาติในผืนดินที่ต่างจากเดิม และทำให้มี ‘จอมทองคลาสรูม’ ถือกำเนิดขึ้น โดยกระบวนกรและหัวเรือใหญ่คือ เปเล่ - ธิรารัตน์ พุทธวงศ์ ศิษย์เก่าของถิ่นนิยมคลาสรูมนั่นเอง 

 

มลเผยกับ LIFE TO LIFE ว่าถิ่นนิยมนั้นเกิดขึ้นได้ทั่วทุกพื้นที่ เพราะยังมีเรื่องราวในท้องถิ่นอีกมากมายที่รอให้เราค้นพบและเรียนรู้ ศิษย์เก่ายุคบุกเบิกของเชียงดาวคลาสรูมอย่าง แพรี่พาย - อมตา จิตตะเสนีย์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ขยับจากนักเรียนมาเป็นกระบวนกรและเป็นผู้เชี่ยวชาญ สอนเรื่องสีสันจากธรรมชาติให้กับถิ่นนิยมคลาสรูมในตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันได้เนรมิตประยุกต์เอาห้องเรียนธรรมชาติและห้องเรียนเกษตรที่เชียงดาวมาไว้ที่สวนดาดฟ้า ใจกลางกรุงเทพฯ  

 

“บนดาดฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการมอบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ถ้าเขาได้มาเรียนรู้การปลูกผัก เขาจะรู้ว่าการจะได้มามันยาก เขาอาจปลูกได้นิดหน่อย ซื้อดีกว่า แต่ถ้าเขาเคยกินผักปลอดสารพิษ เขาจะเห็นความแตกต่าง และจะเริ่มสรรหาว่าผักอินทรีย์มีขายที่ไหนบ้าง สวนดาดฟ้าจะช่วยเล่าเรื่องให้เห็นว่าผักที่ปลูกแบบอินทรีย์ด้วยระบบธรรมชาติ ผักที่โตมาด้วยระบบนิเวศที่ดีมันมีประโยชน์กว่าผักในท้องตลาดทั่วไปอย่างไร”

 

“การที่เราอยากได้โปรตีนจากถั่ว เราไม่ต้องกินถั่วเหลืองอย่างเดียว ถั่วฝักยาวมีหลายสี หลายแบบ ถั่วลิสงลายเสือก็มี เมื่อเรากินผักแปลก ๆ กินอย่างหลากหลายตามที่ชาวบ้านเอามาขาย มันก็สนับสนุนให้เขาเห็นว่ามีคนกินเหมือนเขาด้วย ทำให้ชาวบ้านก็อยากเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเพื่อเอามาขายอีก เมื่อปลูกต่อก็ไม่สูญพันธุ์ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์พันธุ์พืชอีกอย่างหนึ่ง”

 

“เรามีหน้าที่แค่หาห้องเรียนใหม่ ๆ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย บางคนถนัดกับทริปทำอาหาร ก็อาจจะไปเรียนรู้เรื่องผึ้ง เราพยายามทำห้องเรียนหลากหลายให้เลือก” มลกล่าว

 

 

เปลี่ยน ‘ผู้ล่า’ ให้เป็นผู้เล่า 

เปลี่ยนให้พวกเรามานิยมท้องถิ่น

เชียงดาวได้รับการประกาศจาก องค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น พื้นที่ Biosphere Reserve หรือ พื้นที่สงวนชีวมณฑล เพราะที่นี่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชพรรณหายาก และบางชนิดก็เป็นชนิดเดียวที่มีในโลกและพบได้ในเชียงดาวเท่านั้น มลเชื่อว่าวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนเชียงดาวจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับการอนุรักษ์ และไม่เพียงรักษาไว้เท่านั้น แต่ต้องตอบแทนคืนอย่างยั่งยืนด้วย 

 

“หัวใจหลักของที่นี่คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ และปลูกจิตสำนึกสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น โดยการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการใช้ส่งเสริมชุมชน สมัยก่อนเราพูดในเชิงวิชาการ ว่าเราต้องช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วยังไงต่อ การทำให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมได้คือเขาต้องได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ยุคสมัยนี้ตัดไม้ไม่ได้แล้วนะ เก็บของป่าก็ขายไม่ได้มากขนาดนั้น แต่เราทำการท่องเที่ยวได้ เราเปลี่ยนผู้ล่าให้เป็นผู้เล่าได้ นายพรานที่เคยเข้าป่าไปยิงนก ยิงสัตว์ป่าสมัยก่อน เขารู้ว่านกมันอยู่ตรงไหน ถ้าเขาไม่ยิง แต่พาคนไปดูนกหายากแทน เขาสามารถขายทริปดูนกให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อยามาส่องนกได้ ยิ่งนายพรานช่วยกันอนุรักษ์นกให้มีเยอะ มีหลายสายพันธุ์ มีพันธุ์แปลก ๆ หายากเพิ่มเท่าไหร่ รายได้จากการท่องเที่ยวดูนกก็เพิ่มมากขึ้นตาม”

 

“หรือจะพานักท่องเที่ยวไปพักที่บ้านชาวบ้าน ให้แม่ ๆ ทำกับข้าวให้กิน พาเดินสำรวจป่าก็ได้ ถ้ามีคนมานอนบ้านเขา เขาได้ค่าที่นอน ค่าทำอาหาร เขาก็จะหวงแหนพื้นที่ตรงนี้ไว้ หรือมีเชฟมาบอกว่าพืชต้นนี้อร่อย อยากซื้อไปใช้ที่ร้าน ชาวบ้านก็จะดั้นด้นปลูก อยากรักษาไว้” 

 

“คนในพื้นที่อาจคิดว่าอะไร แค่นี้ก็ว้าวแล้วเหรอ แต่จากต้นอะไรไม่รู้ที่คนท้องถิ่นกินกันจนชิน กินทิ้งกินขว้าง คนนอกที่มาเขาอาจจะอยากซื้อกลับ เห็นคุณค่าผักไม้ใบหญ้านั้น มันเปิดโอกาสให้ชาวบ้านนำมาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ คนในพื้นที่รู้จักทรัพยากรอยู่แล้ว เขาอาจเคยชิน จัดการผิดวิธี ในฐานะที่เราเป็นคนท้องถิ่น เราก็หวงแหนนะ แต่บางครั้งพูดแล้วไม่มีใครเชื่อ สิ่งที่ถิ่นนิยมคลาสรูมทำคือเปิดห้องเรียนให้คนข้างนอกเข้ามาเห็นคุณค่าและรักที่นี่ ให้ค่ากับสิ่งที่ชาวบ้านทำ แล้วชาวบ้านจะรู้สึกว่าฉันจะต้องทำสิ่งนี้ต่อไป”

 

“บางครั้งการท่องเที่ยวบางรูปแบบก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านไม่ค่อยได้ประโยชน์ แค่ไปดู แต่ไม่ได้ไปเรียนรู้กับชาวบ้าน แต่สิ่งที่พวกเราทำคือการเรียนรู้วิถีชีวิต เขาไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อมารับแขก เคยทำอะไรก็ทำแบบนั้น”

 

 

เล่าเรื่องง่ายและงดงาม

การเล่าเรื่องระบบนิเวศ ความยั่งยืนแบบในหนังสือเรียนอาจไม่สนุกพอที่จะทำให้คนจดจำนำไปใส่ใจ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นห้องเรียน แต่อยากให้ลืมภาพของครูและลูกศิษย์ไป เพราะถิ่นนิยมคือการเพื่อนไปเปิดประสบการณ์อันตื่นตาตื่นใจที่จะทำให้ตราตรึงอยู่ตราบนานเท่านาน และครูคือธรรมชาติ ส่วนพวกเราคือนักเรียนที่พร้อมจะเรียนรู้ห้องเรียนที่กว้างใหญ่นี้

 

“เราเป็นเหมือนพัฒนาชุมชนที่มีข้อมูล จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) เพียงแต่เรารู้ว่าจะต้องเล่าเรื่องอย่างไร (หัวเราะ) คลาสเราเล่าเรื่องผ่านรูป รส กลิ่น เสียง ให้ได้สัมผัส ได้ชิม ได้ลงมือทำ เห็นสีสวย รสชาติดี จะทำให้จำชื่อพืชชนิดนั้นได้ดีกว่าดูจากในทีวี เราเล่าเรื่องให้ง่ายและใช้การบันทึกธรรมชาติถ่ายทอดความงดงามเพื่อให้คนเปิดใจแล้วค่อยไปเล่าเรื่องยาก ๆ ทีหลัง บางทีมีคนมาถามว่าปลูกต้นนั้น ต้นนี้ยังไง เราก็จะเล่าให้เขาเห็นความสำคัญของทั้งระบบนิเวศ ให้เห็นความสัมพันธ์ของต้นนั้น ๆ กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แล้วเขาจะค่อย ๆ เข้าใจแก่นแท้ว่าจะปลูกและดูแลต้นที่เขาต้องการอย่างไร”

 

นอกจากเล่าเรื่องเรียบง่ายและเป็นกันเองแล้ว คลาสนี้ยังพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ให้ง่ายต่อการสื่อสารอีกด้วย 

 

“ชาวต่างชาติที่มาไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขาทั้งหมด เพราะเราออกแบบเครื่องมือสำหรับสื่อสารเพื่อเป็นสื่อกลาง สมมุติจะอธิบายว่านี่คือมะแขว่น แม่ ๆ ก็จำแค่เบอร์ วัน ทู ทรี ไม่ต้องจำชื่อ เพราะเราเขียนชื่อมะแขว่นภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวต่างขาติที่มาเรียนแล้ว”

 

 

‘ถิ่นนิยม Selected’ 

พืชผักท้องถิ่นมีค่า สมุนไพรในป่าก็กินได้

 

จากห้องเรียนชุมชนต่อยอดเป็น ‘ถิ่นนิยม Selected’ ที่นำเอาของดีจากในอำเภอมาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ดี ๆ หัวใจหลักไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพและรายได้ แต่หมายถึงการทำให้เห็นว่าพืชผักท้องถิ่นมีคุณค่า สมุนไพรในป่าเป็นของกินได้ ค่อย ๆ เตรียมความพร้อมให้ชาวบ้านสามารถเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาปลูกพืชแบบที่ดีต่อโลกได้ง่ายขึ้น

 

“เวลาเข้าป่า ชาวบ้านมักจะเอารางจืดมาทากันแมลงกัดต่อย หรือเวลาโดนพืชมีพิษ เลยคิดว่าถ้าเราเอามาสกัดและทำเป็นยาหม่อง เป็นผลิตภัณฑ์ได้ เราลองทำแบรนด์ของตัวเอง และทำตัวอย่างให้เห็นว่าวัตถุดิบมันนำไปใช้ได้ รางจืดปลูกง่ายมาก ถ้ามีคนซื้อ คนใช้ เราก็สามารถปลูกแทนผักกาด แทนกะหล่ำ สร้างเงินให้เกษตรกรในชุมชนได้”

 

“บางคนบอกถั่วลิสงลายเสืออร่อยมากเลย เราพาไปดูที่ปลูกที่บ้านแม่คองซ้ายเลย และเวลาที่พวกเราไปลงพื้นที่ที่อ.จอมทอง เราก็จะไปดูว่าเขาปลูกอะไรและพยายามดึงให้กลายมาเป็นโปรดักต์หลักของที่นั่น”

 

“ถ้ามีความรู้และเล่าเรื่องเป็น หยิบ จับ อะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แค่ไปนั่งชิมถั่วเน่าแผ่น น้ำพริกตาแดง บอกให้แม่ ๆ ทำขายก็ได้เงินแล้ว เดี๋ยวนี้มีกลุ่มคนที่สนใจสินค้า สนใจสตอรี่เยอะขึ้น เวลาชาวบ้านขายกระปุกละ 90 เขาก็พูดได้แค่ราคา 90 บาท แต่คนซื้อจะไม่รู้เลยว่ามันต่างกับกระปุกละ 20 ตามท้องตลาดยังไง แต่ถ้าเราบอกว่ากระเทียมนี้ปลูกบนดอย ใช้พริกปลอดสาร ไม่ใส่สารกันบูด ทำด้วยความพิภีพิถันตามสูตร ตามตำรับ คนเขาก็จะอยากซื้อ อยากกินและอยากสนับสนุนมากกว่า”

 

“ชาวบ้านบางคนเขาเกิดในยุคเกษตรกรรมที่การถาง พ่นสารเคมี การเผา เผาเป็นเรื่องปกติ เขาอยากเปลี่ยนนะ แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปปลูกอะไร เช่นที่บ้านแม่คองซ้าย เราให้เขาเปลี่ยนมาปลูกขิง กระเทียม พริกกะเหรี่ยง แล้วเรารับซื้อ ซึ่งทำให้เขาลดการปลูกข้าวโพดลง และเขาก็ได้เงินเยอะกว่าปลูกข้าวโพดมาก แต่มันก็ยากนะ เพราะกลุ่มลูกค้ายังน้อย แต่เราต้องทำ ถ้าไม่ทำชาวบ้านก็อาจจะกลับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์วนลูปเหมือนเดิม”

 

ก้าวต่อไปของถิ่นนิยมคือการทำฉลาก Carbon Footprint of product ที่ระบุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัตถุดิบนั้น ๆ ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การขนส่ง ตลอดจนการกำจัดซาก กำจัดของเสียต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้ว่าการเลือกใช้ของจากในชุมชนนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่างไร

 

 

ของฝากจากถิ่นนิยม

มลบอกกับเราว่าจากการที่เธอได้สังเกต คนที่มาเยือนถิ่นนิยมคลาสรูมนั้นมักกำลังมองหาความยั่งยืนในสายงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสายสุขภาพ แฟชั่น อาหาร หรืออื่น ๆ และโจทย์คืออยากเฟ้นหาวัตถุดิบและคุณค่าบางอย่างจากชุมชนที่ทำให้เกิดความยั่งยืนที่สุด ผู้คนจึงมาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เธอสังเกตเห็นคือ คนที่มีเรื่องในใจที่ยังไม่ตกผลึก กำลังหมดไฟ เหนื่อยล้ากับสังคมที่วุ่นวาย และอยากมาให้ธรรมชาติเติมเต็ม

 

“เราไม่ได้หวังให้ต้องมาร่วมอุดมการณ์ เพียงอยากให้ทุกคนกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เมื่อเข้าใจธรรมชาติแล้วจะค่อย ๆ เข้าใจตัวตนข้างในของเราเอง ถิ่นนิยมคลาสรูมพาคนเข้าไปหาธรรมชาติ แต่ไม่ได้แค่พาไปดูว่าต้นนั้น ต้นนี้ชื่ออะไร แต่เราได้รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราได้ลองถอดรองเท้าเดินบนพื้นที่มีทั้งนุ่ม แฉะ แข็ง หยาบ ฟู เป็นโคลนเละ เป็นมอส มีหินเล็ก ๆ เจอน้ำตกเย็น ๆ บ้าง เจอพื้นอุ่น ๆ บ้าง เหมือนได้เจริญสติเบา ๆ นะ (หัวเราะ)”

 

“แค่เขายอมถอดรองเท้าก็ถือว่าเชื่อมต่อกับโลกแล้ว เราเกิดมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ในพื้นดิน ผืนโลก แต่รองเท้าหรือเสื้อผ้ามันทำให้เราแยกออกจากโลก และมีอัตตาเป็นปัจเจก ยกเผ่าพันธุ์ตนขึ้นมาเหนือกว่า การที่เราโดนแยกออกมามันเลยทำให้เราไม่แคร์สิ่งมีชีวิตอื่น ใช้ความฉลาดกอบโกยทรัพยากร โดยไม่คำนึงถึงสมดุล จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมกับโลกทุกวันนี้ แค่เรากลับไปสัมผัสธรรมชาติ เราจะเกิดความเคารพและรู้สึกนอบน้อมมากยิ่งขึ้น” 

 

“การได้อยู่นิ่ง ๆ ในธรรมชาติมันมหัศจรรย์มาก เพราะทำให้เราแสดงศักยภาพภายในที่แท้จริงของเราออกมา เราทุกคนเป็นฮีโร่ในแบบต่าง ๆ แต่การเติบโตอาจทำให้เราเจอเหตุการณ์ที่ทำให้กลัวและทำให้ศักยภาพภายในถูกกด มันเลยทำให้อึดอัด ในธรรมชาติ เราทุกคนเท่ากัน เรามีคุณค่าเท่ากับมด ที่ยกน้ำหนักที่หนักกว่าตัวเองได้ 50 เท่า แม้แต่เห็ดราที่อยู่ใต้ดินที่มนุษย์บอกว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำก็ยังมีประโยชน์ เป็นผู้ช่วยย่อยสลาย มีความสำคัญ สร้างประโยชน์ในระบบห่วงโซ่อาหารได้ เมื่อได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ เราจะรู้สึกตัวเล็กลง และค้นหาว่าในระบบนิเวศแห่งนี้ เรามีหน้าที่อะไร แม้ว่าเราจะเชื่อมโยงกับป่าไม่ได้เหมือนสิงสาราสัตว์ แต่เราสร้างประโยชน์กับชุมชนได้ สร้างประโยชน์ให้กับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ได้เช่นกัน เมื่อเราค้นหาตัวเองเจอ ศักยภาพภายในตัวก็จะเปล่งประกายออกมา”

 

“ที่ถิ่นนิยมคลาสรูมสามารถเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนแสดงศักยภาพนั้นออกมาได้ การให้เพื่อน ๆ ได้พูด ได้รับฟัง ได้แสดงตัวตน แสดงศักยภาพ เกื้อกูลกันและกัน มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า หลังจากกลับบ้านไปแล้ว เขาสามารถนำสิ่งเล็ก ๆ นี้ไปต่อยอดกับพ่อแม่ เพื่อน ครอบครัวได้ ค่อย ๆ เป็นแรงกระเพื่อมให้ความอยากเป็นส่วนหนึ่งกับโลกใบนี้ขยายได้ในอนาคต เราไม่ใช่ลัทธิที่จะมาปลดล็อกอะไรนะ แค่เชื่อว่าธรรมชาติจะทำงานบางอย่างกับตัวเราเท่านั้นเอง (หัวเราะ)”         

 

“เราอยากให้มีห้องเรียนแบบนี้ทั่วประเทศ อยากให้คนที่รักถิ่นของตนเอง กลับไปสร้างห้องเรียนในถิ่นของตน เพราะระบบนิเวศของไทยแต่ละที่มันต่างกัน ตัวเราเองคนเดียวไม่มีทางไปสร้างห้องเรียนแบบนี้ทั่วประเทศได้ แต่เราได้ให้ความรู้กับคนที่เขาอยากรู้จริง ๆ เพื่อให้ความรู้นี้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่ามันจะขยายไปได้อย่างไร จนกระทั่งเห็นน้องแพร น้องเปเล่ น้องสิรามล จากที่มาเรียน กลายเป็นครูที่สอนคนอื่น สร้างห้องเรียนตนเองในพื้นที่อื่นได้เอง”

 

“เคยคิดว่าถ้าตัวเองตายไปจะมีใครรักบ้านเราเหมือนเราไหม แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่าหลาย ๆ คนรักและเห็นว่าความเป็นถิ่นนิยมนั้นมีจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่เราฝันขึ้นมา”

 

ถิ่นนิยมคลาสรูม 

Facebook : Tinniyom Classroom

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...