

Sapphic Riot บาร์เล็ก ๆ ในเชียงใหม่ที่ชาว ‘แซฟฟิก’ มาพบปะกันได้อย่างอุ่นใจ
Lifestyle / Guide
27 Jun 2024 - 7 mins read
Lifestyle / Guide
SHARE
27 Jun 2024 - 7 mins read
ทุกวันนี้ แม้คำว่า ‘แซฟฟิก’ (Sapphic) หรือ หญิงรักหญิง ถูกพูดถึงมากขึ้น แต่เชื่อไหมว่าในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั้น กลับไม่มีบาร์สำหรับแซฟฟิกเลยแม้แต่แห่งเดียวในปัจจุบัน
แซฟฟิกหลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือกลัวที่จะต้องแสดงตัวตนในบาร์ทั่ว ๆ ไป บางคนรู้สึกแตกต่างเพียงเพราะไม่มีพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้เจอคนที่เหมือนกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ‘โลกนี้ต้องมีบาร์แซฟฟิก’
LIVE TO LIFE ขอพาทุกคนไปเยือนและทำความรู้จักกับ Sapphic Riot บาร์แซฟฟิกที่ดีต่อใจ กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รวมตัวสังสรรค์ พบปะ พูดคุยของหญิงรักหญิง ในบรรยากาศที่เป็นมิตร อบอุ่น และปลอดภัย
จักคำว่า ‘แซฟฟิก’ ให้มากขึ้นอีกนิด
‘แซฟฟิก’ คือ คำที่ใช้เรียกหญิงรักหญิง หรือ ผู้มีรสนิยมทางเพศที่ดึงดูดผู้หญิงด้วยกัน คำนี้จะไม่จำกัดว่าอัตลักษณ์ทางเพศจะต้องเป็นเพศหญิง ไว้ผมยาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเลสเบี้ยน, นอนไบนารี, ทอม, ดี้, ทรานส์, เควียร์, ไบเซ็กชวล ฯลฯ ที่ดึงดูดผู้หญิงด้วยกันเองอีกด้วย
แม้คำว่าแซฟฟิกจะไม่ใช่คำใหม่ แต่ในปัจจุบันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์และตัวตนแบบหญิงรักหญิงได้อย่างครอบคลุม สามารถรวมอัตลักษณ์ทางเพศของผู้คนในชุมชนหญิงรักหญิงซึ่งมีหลากหลายไว้ในคำเดียว
Sapphic Riot
บาร์แซฟฟิกที่กำเนิดขึ้นเพราะเชื่อว่า
หญิงรักหญิงต้องการ ‘พื้นที่’ ที่เป็นของตัวเอง
หากลองค้นหาหาคำว่า ‘บาร์เลสเบี้ยน’, ‘บาร์หญิงรักหญิง’ หรือ ‘บาร์แซฟฟิก’ ในประเทศไทย เราแทบจะไม่เจอผลลัพธ์ที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีบาร์ ไม่มีที่รวมตัว ไม่มีสถานที่ที่ให้ชาวหญิงรักหญิงออกมาพบปะกันได้แบบสบาย ๆ เท่าที่มีเห็นจะเป็นผับทอม-ดี้ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ทุกคนในชุมชนแซฟฟิกทั้งหมด
นั่นทำให้เห็นว่า ‘พื้นที่’ ของชาวแซฟฟิกยังน้อยมาก และคนในชุมชนต้องการสิ่งนั้น
หมวย - ชนานาถ โชติสุวรรณรัตน์
วันนี้เราขอมานั่งคุยกับ ‘หมวย’ - ชนานาถ โชติสุวรรณรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบาร์ Sapphic Riot ที่เป็นทั้งนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และผู้ก่อตั้ง Sapphic Pride กลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ของชุมชนแซฟฟิกอีกด้วย
หมวยเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มแซฟฟิกไพรด์ ทั้งงานเสวนา ฉายหนัง และปาร์ตี้ ก่อนชุมชนนี้จะมีสมาชิกเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เธอและ ‘โรส’ เพื่อนชาวแซฟฟิกจึงชวนกันมาทำบาร์แห่งนี้ เพื่อให้เป็นสถานที่พบปะอย่างเป็นทางการของกลุ่ม
“เราสนใจคอมมูนิตี้นี้มาตั้งแต่ ม.ปลาย พยายามหาทั้งเพื่อนและแฟนผ่านอินเตอร์เน็ต สมัยนั้นยังเล่นเอ็มฯ (MSN) ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จนเราไปเจอเว็บไซต์ของกลุ่มหญิงรักหญิง ซึ่งในนั้นมีสมาชิกอยู่ประมาณ 30-40 คน เขามาพูดคุย แลกเปลี่ยนกันทางออนไลน์ เวลามีอะไรเกี่ยวกับหญิงรักหญิงก็พยายามติดตามว่าเขามีงานอะไร นัดเจอกันที่ไหน”
“ก่อนหน้านี้มีกลุ่มชื่อ อัญจารี (Anjaree) เขาติดต่อกันทางจดหมายและทำนิตยสารด้วย แต่ก็หมดยุคไปและขาดช่วงมานาน ไม่ต่อเนื่อง บาร์เลสเบี้ยนก็เคยมีนะ แต่หายไปแล้ว เราว่าเรื่องตัวตนของแซฟฟิกค่อนข้างเป็นเรื่อง
ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ว่าทำไม ‘โลกนี้ต้องมีบาร์แซฟฟิก’ นอกจากจะเป็นคอมมูนิตี้ที่ได้มาแชร์เรื่องราวกับคนที่มีรสนิยมทางเพศเดียวกันแล้ว อีกเหตุผลนั้นเป็นเพราะพื้นที่สังสรรค์ยามค่ำคืนยังไม่เป็นมิตรมากพอทั้งสำหรับแซฟฟิกและผู้หญิง
“แซฟฟิกบางคนมีความแตกต่างจากมาตรฐานของสังคมเยอะ ไม่ได้เป็นเลสเบี้ยนผมยาวอย่างที่ทุกคนเข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเข้ากับสังคมอื่น ๆ ไม่ได้ รู้สึกแปลกแยก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปอยู่ตรงไหน บางทีเราก็ได้รับฟังและทำความเข้าใจเขา”
แม้จะเป็นบาร์เฉพาะกลุ่มของแซฟฟิก แต่หมวยเล่าว่าที่นี่ยังเป็นพื้นที่สำหรับ ‘เฟมินิสต์’ เปิดประตูต้อนรับผู้หญิงที่เป็นสเตรท และผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
“เราอยากให้ผู้หญิงมา ผู้หญิงที่ชอบผู้ชายก็ได้ แค่คุณเปิดรับความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน แค่นั้นเลย เราเน้นสร้างความปลอดภัยให้กับผู้หญิง แน่นอนว่าถ้าผู้หญิงคนไหนมาดื่มคนเดียวที่นี่ เขาก็จะไม่เจอใครเข้ามาคุกคามทางเพศอย่างแน่นอน หญิงรักหญิงบางคนเขาก็มาเดตกัน พออยู่ที่นี่เขาสามารถแสดงความรักกันได้โดยที่ไม่ต้องกลัวสายตามองเหยียดหรือตัดสิน บางคนมาแล้วอยากหาเพื่อนคุย บางทีก็มานั่งคุยกับเรา แลกเปลี่ยนเรื่องตัวตนของกันและกัน”
“บางครั้งก็มีคู่รักชาย-หญิงเข้ามา เราโอเคนะ เพราะเขาไม่ได้เข้ามาสร้างปัญหาหรือเหยียดคอมมูนิตี้นี้ ก่อนจะเปิดร้าน โรสที่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันเขากลัวนะ เพราะที่อเมริกาบางทีก็แกล้งกันแรงแบบไม่กลัวใครเลย ที่ผ่านมาก็มีฝรั่งเดินมาอ่านป้ายหน้าร้านแล้วถ่ายรูป ทำหน้าแบบกวน ๆ แต่ตั้งแต่เปิดร้านมายังไม่เคยเจอคนไทยมาทำอะไรแบบนี้ ผู้ชายเองเขาก็ไม่ได้อยากมาที่นี่อยู่แล้ว”
บาร์ที่เป็นเหมือนบ้านเพื่อน
และ ‘คาเฟ่ปิดดึก’ ที่คนไม่ดื่มก็มาจอยได้
มุมหนึ่งของร้านมีตู้ที่เต็มไปด้วยหนังสือเรียงรายทั้งสำหรับอ่านที่บาร์และซื้อกลับบ้าน บอร์ดเกมวางเป็นตั้ง หมวยเล่าว่าเคยมีคนมานั่งอ่านหนังสือที่นี่ นอกจากเป็นบาร์แล้วเธอยังมองว่าที่นี่เป็นเหมือนคาเฟ่ที่เปิดดึก มีบอร์ดเกมให้นั่งเล่นสนุก ๆ กับเพื่อน ใครที่แค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งอ่านหนังสือนอกบ้านตอนกลางคืน Sapphic Riot ก็ยินดีต้อนรับเสมอ
ทุกสุดสัปดาห์จะมีดีเจและศิลปินมาเล่นดนตรีให้ฟัง โดยศิลปินที่หมวยชักชวนมาที่นี่ก็เป็นสมาชิกชาวแซฟฟิก ผู้หญิง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างบรรยากาศให้คนที่มาที่นี่รู้สึกสบายใจ และเปิดโอกาสให้กับคนในคอมมูนิตี้นี้ได้แสดงความสามารถ
ซิกเนเจอร์ค็อกเทลของทางร้าน แต่ละเมนูมีชื่อเก๋ ๆ ที่แฝงไปด้วยความหมายดี ๆ ที่บอกเล่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เช่น
Feeling fruity - ลำยองสีไท
ใช้ผลไม้ประจำฤดูกาลของเชียงใหม่ ซึ่งปกติจะเป็น ‘ลำไย’ ซึ่งมีแหล่งปลูกในภาคเหนือ เมนูนี้ชวนให้ทุกคนมา Feeling Fruity หรือปลดปล่อยตัวตนที่เราเป็นออกมา
Cucumber smasher - ไอจะขยี้ยู
แก้วนี้ได้ชื่อมาจากมีมตลก ๆ ที่เคยเป็นกระแสอยู่พักใหญ่ สื่อถึงการเอาชนะปิตาธิปไตยในที่ยังคงแผ่ขยายปกคลุมในสังคมของเรา
Smoking herb - เปรี้ยวใจในสายหมอก
แก้วที่หมวยภูมิใจนำเสนอในวันนี้ รังสรรค์ชื่อเพราะ ๆ โดยเพื่อนผู้เป็นกวีของเธอ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน สดชื่น
วัตถุดิบและเครื่องดื่มทั้งหมดในบาร์นั้นใช้ของจากชุมชนและของไทยทั้งหมด เพื่อสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตในท้องถิ่น นอกจากเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว หมวยเสริมว่าที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่เธอจะบอกเล่าในสิ่งที่สังคมของเราต้องการเรียกร้องอยู่อีกด้วย
เพราะโลกใบนี้ต้องมีพื้นที่ของ ‘แซฟฟิก’
ปริ๊น หนึ่งในทีมงาน Sapphic Riot และ หมวย
หมวยตั้งใจจะจัดปาร์ตี้ในบาร์ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ชาวแซฟฟิกออกมาพบปะกัน และเธอเชื่อว่าการที่ชุมชนของหญิงรักหญิงแน่นแฟ้นขึ้นจะทำให้สังคมมองเห็นถึงตัวตนของพวกเขาชัดขึ้น
กิจกรรมที่ชาวบาร์แห่งนี้ชื่นชอบเป็นพิเศษคงจะเป็น ‘คาราโอเกะไนท์’ ค่ำคืนที่ทุกคนมารวมตัวกันร้องเพลงไปด้วยกัน แม้ตอนเริ่มบรรเลงเพลงต่างคนจะเขินอายไม่มีใครลุกมาจับไมค์ เกี่ยงกันไปมาอยู่นาน แต่ท้ายที่สุดแล้วกำแพงระหว่างพวกเขาก็พังทะลายลงไป ทุกคนออกมาเต้นไปด้วยกัน และร้องเพลงอย่างสุดเสียง ในสถานที่ที่เชื่อมั่นได้เลยว่าจะไม่มีใครมองว่าเราแปลกแยกหรือแตกต่าง
หมวยเล่าว่าเท่าที่เธอได้สัมผัสมานั้น ส่วนใหญ่ผู้คนในคอมมูนิตี้แซฟฟิกจะไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนอย่างโจ่งแจ้ง ไม่ค่อยออกจากบ้าน ไม่ค่อยได้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งเราไม่อาจรู้เลยว่านั่นเป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวของแต่ละคน หรือเป็นเพราะในสังคมไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขาตั้งแต่แรก
หมวยชี้ให้เราเห็นว่า หากลองสังเกตดูดี ๆ สังคมยังไม่ยอมรับแซฟฟิกเท่าที่ควร และนั่นอาจเป็นเพราะยังมีปัจจัยหลากหลายที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้
“ถ้าถามคนทั่วไปว่า LGBTQ+ คุณนึกถึงอะไร ?“
หมวยตั้งคำถามและอยากให้ทุกคนลองจินตนาการไปพร้อม ๆ กัน
“แต่ละคนก็จะมีภาพในหัวขึ้นมา เวลาพูดถึง LGBTQ+ คนอาจคิดถึงภาพสีสัน สนุกสนาน อลังการ แต่ถ้ามองไปในสังคมจริง ๆ เราอาจไม่รู้เลยว่าแซฟฟิกอยู่ตรงไหน ซึ่งอาจทำให้ประเด็นต่าง ๆ ของแซฟฟิกถูกให้ความสำคัญน้อยลงตามไปด้วย”
“เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอมมูนิตี้นี้มีเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เลสเบี้ยนต้องผมยาว เป็นผู้หญิงกับผู้หญิงเท่านั้นเหมือนในเฉพาะซีรีส์วายไหม ก็ไม่ใช่ บางคนตัดผมสั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นทอม แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจจะเป็นนอนไบนารี เควียร์ หรือนิยามตัวเองเป็นแบบอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งบางครั้งการตัดสินผิวเผินก็อาจทำให้คนที่ถูกตัดสินรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ ความจริงโลกของเรามีหลายเฉดมาก ต้นไม้มีหลายพันธุ์ ใบไม้แต่ละใบยังไม่เหมือนกันเลย”
“ยังมีปัญหาอีกมากที่ไม่ได้แสดงออกให้เห็น เอเชียค่อนข้างแตกต่างจากตะวันตก หลายคนถูกเลี้ยงมาแบบเด็กผู้หญิง ทำให้เขาต้องอยู่ในกรอบ ไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความมั่นใจ อาจต้องปกปิดเพศสภาพเพราะที่บ้านยังไม่ยอมรับ บางความเชื่อ บางศาสนา ผู้หญิงก็ถูกบังคับให้แต่งงาน บางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางครั้งความสัมพันธ์แบบนี้ก็อาจถูกมองว่าไม่มั่นคง เราถูกสร้างภาพจำหลายอย่าง ปัญหาเหล่านั้นอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แซฟฟิกหลายคนไม่รู้จะคุยเรื่องเหล่านี้กับใคร และถ้ามองมาในสังคมของเรา ก็ยังไม่มีพื้นที่สำหรับแซฟฟิกขนาดนั้น” หมวยบอกกับเรา
สิ่งที่หมวยยังคงทำต่อไปคือการสร้างชุมชนนี้ให้แข็งแรง เพื่อทำให้เสียงของแซฟฟิกดังขึ้น บาร์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความตั้งใจนั้นเป็นจริง
“พอคนเริ่มรู้จักมากขึ้น เห็นผ่านตามากขึ้น คนก็กล้าจะออกมารวมตัวกันมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เราอยากเห็น แซฟฟิกคนไทยมาเจอกันเยอะขึ้น”
“อยากสร้างพื้นที่ให้คนที่เป็นแซฟฟิกกล้าแสดงออกและไม่รู้สึกว่าเขาอยู่ตัวคนเดียวแต่ยังมีพวกเราอยู่”
Sapphic Riot
ที่อยู่ : 56 1 ถนนสิงหราช ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
เปิด พุธ - อาทิตย์ เวลา 19.00 น. - 00.00 น. (หยุดวันจันทร์และอังคาร)
Facebook : Sapphic Riot
Instagram : sapphic_riot