Hangles แอปฯ ส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง ของคู่พี่น้องเสื้อผ้าล้นตู้ เพื่อ #สายแฟแคร์โลก

22 Sep 2023 - 10 mins read

Lifestyle / Guide

Share

หากได้ลองจัดตู้เสื้อผ้าสักครั้ง คุณอาจพบว่ามี ‘เสื้อผ้า’ ที่ถูกลืมอยู่มากมาย  

 

ข้างในนั้นคุณอาจได้พบกับ เสื้อตัวโปรดที่เคยชอบใส่ กางเกงที่ซื้อมาลองใส่ครั้งเดียวแล้วพับเก็บ ชุดเดรสที่ขาดเป็นรูยังไม่มีเวลาเอาไปซ่อม และอีกหลายชิ้นที่นอนอยู่ในตู้ ตัดใจทิ้งไม่ลงและไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน แต่จะให้กลับไปใส่ก็เลิกอินไปแล้ว

 นุ่น (ซ้าย) – ลูกน้ำ (ขวา) 

 

สองพี่น้อง ‘ลูกน้ำ’ – เพ็ญพิชชา และ ‘นุ่น’ - พิชชาธร สันตินธรกุล ต้องพบกับสถานการณ์นี้ทุกทีที่กลับมาจัดตู้เสื้อผ้า ทั้งสองเล่าว่าแม้เสื้อผ้าจะล้นตู้ แต่กลับรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะใส่ พอซื้อตัวใหม่ ก็ต้องเอาตัวเก่าไปขายที่ตลาดนัดบ้าง ลงขายบน Instagram บ้าง ในที่พวกเธอจึงหาวิธีการยกตลาด ‘เสื้อผ้ามือสอง’ มาไว้บนโลกออนไลน์ เพื่อให้ซื้อง่าย ขายคล่อง ไม่ต้องเหนื่อยขนของเหมือนแต่ก่อน 

 

หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ปลายปี 2019 ลูกน้ำจึงจับมือกับนุ่น ทำ Hangles แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองล้นตู้ ที่เป็นมิตรกับสายแฟ และเป็นมิตรกับโลก นอกจากจะได้สนุกกับการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสองแล้ว ยังเป็นการหมุนเวียนเสื้อผ้าในระบบให้คุ้มค่าโดยไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าผลิตใหม่อีกด้วย

แอปพลิเคชัน Hangles 

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Hangles  

นุ่น : “ตอนเรียนปริญญาตรี นุ่นได้ไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศครึ่งปี ที่นั่นเขาโฟกัสเรื่อง Sustainability มาก ๆ เราจะซื้ออะไร ต้องพกหลอด เพราะเขาไม่แจกหลอด เวลาทิ้งขยะ เขาก็ให้เราแยกขยะจริงจังมาก เราต้องเอาขยะมาทิ้งในวันที่เขากำหนดให้” 

 

“ตอนนั้นเจ้พูดว่าอยากทำสตาร์ทอัพด้วยกัน เจ้ก็เอาไอเดียมาเสนอ เราไม่อินเลยสักอัน ตอนนั้นนุ่นอินเรื่อง Sustainability มาก ๆ เลยบอกเจ้ว่า ถ้าทำธุรกิจก็อยากทำอะไรที่มันยั่งยืน ได้ช่วยโลกด้วย” 

 

“นุ่นกับเจ้เป็นสายแฟชั่นเสื้อผ้าล้นตู้ เปิดตู้มามีเสื้อผ้าเยอะมาก แต่รู้สึกว่าไม่มีอะไรจะใส่ ก็เลยโละทุกปี แล้วเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องเอาไปขายที่ตลาดด้วย ทั้ง ๆ ที่โลกมันเป็นออนไลน์หมดแล้ว”

 

ลูกน้ำ : “มันมีความยุ่งยาก เพราะต้องไปต่อคิวยาวมาก ๆ เพื่อจองพื้นที่ แล้วตอนขายก็เอาของไปกองกับพื้น” 

 

นุ่น : “เหมือนขายแล้วไม่ได้อะไร เพราะเราคิดราคาตอนขายเลย 10 บาทเลยค่ะพี่ 50 บาทเลยค่ะพี่ (หัวเราะ) แล้วเสื้อผ้าพวกเราก็มีแบรนด์ประมาณหนึ่ง แต่พอคนมารุมเยอะ ๆ เราไม่ได้มีสติขนาดนั้น พอไปโพสต์ขายบน Instagram, Facebook ก็ไม่ได้ขายง่ายนะ เพราะถ้าเราไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว มันจะขายยาก บางครั้งเราก็ไม่ได้อยากโพสต์ขายในไอจีตัวเอง ก็ต้องไปสร้างแอคเคาท์ใหม่ แล้วกว่าจะมีคนมา follow อีก” 

 

ลูกน้ำ : “ถ้าเราจะโปรโมท ยิงแอดเสื้อผ้าแค่ชิ้นเดียว ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม”  

 

นุ่น : “ตอนนั้นก็เลยคิดว่านี่คงจะเป็น Pain Point ของใครหลาย ๆ คน เลยลองศึกษาว่าแฟชั่นมันเกี่ยวข้องกับ Sustainability ได้อย่างไร ตอนนั้นนุ่นกำลังจะเรียนจบ เลยเอาเรื่องนี้ไปทำธีสิส พอเราทำแล้วก็เลยเห็นตลาด และลองทำจริงจัง”

 

สาเหตุที่ทำให้เสื้อผ้าล้นตู้สำหรับทั้งสองคนคืออะไร 

นุ่น : “ซื้อมาก่อน” (หัวเราะ)  

 

ลูกน้ำ : “เราเห็นแบบในรูปใส่สวย แล้วคิดว่าถ้าเราใส่ต้องสวยแน่ ๆ” 

 

นุ่น : “เราอาจคิดไปเอง (หัวเราะ) ยิ่งช่วงเซลส์อาจยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าต้องซื้อมาก่อน เวลาเซลส์หลาย ๆ ร้านเขาก็ไม่ให้ลองด้วย เราก็ซื้อมาลอง แล้วก็เอามาเก็บไว้ในตู้ เก็บไป เก็บมาก็ล้นตู้ เพราะคำว่าเผื่อจะได้ใส่ แต่ถ้าเผื่อแล้วผ่านไปหนึ่งปีก็ยังไม่ได้ใส่ นุ่นว่าก็คงไม่น่าจะได้ใส่แล้ว” 

 

 

ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนช้อปปิ้งเสื้อผ้าอย่างไร  

ลูกน้ำ : “เป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้า แต่ไม่ถึงกับเป็นนักช้อปที่ซื้อทุกวัน จะซื้อแค่ตอนจะไปเที่ยวต่างประเทศ ต่างจังหวัด หรือมีงาน แล้วเราแบ่งกันใส่ด้วย” 

 

นุ่น : “จะซื้อตาม occasion ไม่ใช่ว่าวันนี้ฉันอยากช้อปก็เลยซื้อ ไม่ใช่แบบนั้น”

 

แต่ก็ชอบแต่งตัวทั้งคู่ 

นุ่น : “ใช่ค่ะ รู้สึกว่าสวย ชอบแต่งตัวตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าแต่งตัวดีนะ (หัวเราะ) รู้สึกว่าเริ่มแต่งตัวดีขึ้น ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้น ตอนเริ่มทำงานในวงการ พอเราเห็นตัวเองสวย เราก็ยิ่งอยากดูดี” 

 

ลูกน้ำ : “พอเราชอบแต่งตัวทั้งคู่ ก็เลยไม่ได้อยากบอกทุกคนว่าต้องหยุดซื้อเสื้อผ้านะ แต่อยากให้ทุกคนแต่งตัวให้สนุกและบาลานซ์เรื่องความยั่งยืนด้วย จริง ๆ แล้วเสื้อผ้าบนโลกเรามันมีมากพอที่จะหมุนเวียนได้ เราอาจจะหยิบเสื้อผ้ามือสองมาใส่ก็ได้ ถ้าเราบอกทุกคนว่าต้องใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ต้องหยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่ เราคิดว่าคนบางกลุ่มที่เขาชอบแต่งตัวจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมากเกินไป” 

 

นุ่น : “ก็เลยเป็นที่มาของการทำแพลตฟอร์มที่ทำให้คนมาโพสต์ให้เยอะที่สุด ลูกค้าจะได้มีตัวเลือกเยอะที่สุด ถ้าอยากช้อปปิ้งก็อยากให้เลือก Hangles เป็นตัวเลือกแรก ดูว่ามันมีเสื้อแบบที่เราตามหาไหม ถ้าเกิดไม่มีจริง ๆ และอยากได้ตัวนั้นจริง ๆ ค่อยไปซื้อใหม่ก็ได้”

 

Hangles 

ทางเลือกใหม่ของ ‘สายแฟ แคร์โลก’ 

 

Hangles เป็นแพลตฟอร์มที่ครบครันเรื่องซื้อ-ขายสินค้าแฟชั่นมือสองที่ใช้งานได้สะดวก สบาย นอกจากผู้ขายจะโพสต์ขายเองได้แล้ว สำหรับใครที่ไม่สะดวกจะส่งมาให้ Hangles ช่วยขายก็ได้ เพราะมีบริการเข้ารับพัสดุถึงหน้าบ้าน มีทีมงานนำเสื้อผ้ามาทำความสะอาด ถ่ายภาพสินค้า ช่วยตั้งราคาและนำไปขายให้ทั้งในช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน

 

เมื่อเสื้อผ้ามาถึงมือ Hangles แล้ว ผู้ขายมั่นใจได้แน่นอนว่าจะไม่มีชิ้นไหนที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ หากชิ้นไหนมีตำหนิ ขายต่อไม่ได้ ก็จะถูกส่งต่อให้กับ SC Grand บริษัทผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิล เพื่อนำไปเป็นวัสดุทำเสื้อผ้าตัวใหม่ต่อไป  

 

Hangles มีหน้าร้านตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ซอย 2 นอกจากจะได้ช้อป รื้อ ค้น เสื้อผ้ามือสองแล้ว ฝั่งขวาของร้านยังเต็มไปด้วยเสื้อผ้ารีไซเคิลจากแบรนด์ CIRCULAR ที่ SC Grand เป็นผู้ผลิต ซึ่งวัสดุส่วนหนึ่งในนั้นก็มาจากเสื้อผ้าเหลือทิ้งที่ลูกค้าส่งมาขายกับ Hangles นั่นเอง

 

ช่วงรีเสิร์ชข้อมูลก่อนทำ Hangles คิดว่าปัญหาใหญ่ ๆ ที่ทำให้วงการแฟชั่นไม่ยั่งยืนคืออะไร 

ลูกน้ำ : “เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงทำลาย มันไม่ใช่แค่ฝังกลบแล้วจบ แต่มันต้องใช้ทรัพยากรอีกเยอะมาก และปล่อยมลพิษลงสู่พื้นดิน ลงทะเล ส่งผลกระทบกับทั้งระบบนิเวศเลย” 

 

นุ่น : “กระบวนการผลิตที่มีทั้งการปั่นด้าย ฟอกสี ทำให้เกิดผลกระทบหมดกว่าจะออกมาเป็นเสื้อผ้า 1 ตัว แล้วถ้าค้างในสต็อกเราก็เอาไปทิ้ง กลายเป็นขยะอีก ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นนะ ยังมีเรื่องของปัญหาแรงงานด้วย” 

 

ดราฟต์แรกของ Hangles มีหน้าตาเป็นอย่างไร 

นุ่น : “เราไม่ได้เก่งเรื่องพัฒนาแอปฯ หรือ interface เลยลองไปดูว่าประเทศอื่น ๆ เขาทำแพลตฟอร์มอย่างไรกันบ้าง ไม่ใช่แค่วงการแฟชั่นนะ แต่ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอาหารหรืออะไร เราศึกษาว่าเขาทำอย่างไรให้มันเทรนดี้ เพราะเราอยากให้คนเปลี่ยนภาพเรื่องแฟชั่นมือสองให้ได้” 

 

ลูกน้ำ : “ตอนแรกเรามองว่าเสื้อผ้ามือสองในประเทศไทยจะมาเป็นกระสอบ คนอาจจะไม่เชื่อถือ เราเลยอยากให้มันดูสวยงาม แฟชั่น เข้าถึงง่าย”

 

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับ ‘เสื้อผ้ามือสอง’ ที่เจอมีอะไรบ้าง 

นุ่น : “ลูกค้าบางคนยังติดภาพเดิม ๆ อาจคิดว่าสกปรก บ้าง เป็นของคนที่เสียชีวิตไปแล้วบ้าง ยิ่งตอนแรก ๆ ลูกค้าบางคนไม่อยากเปิดเผยตัวตน เพราะเขากลัวคนมองว่าไม่มีเงินหรือเปล่า ถึงต้องมาขายเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องสนุก เราแค่อยากส่งต่อเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย” 

 

ลูกน้ำ : “แม้แต่คนซื้อเอง บางคนเขาก็ไม่อยากเปิดเผยตัวตนว่าซื้อเสื้อผ้ามือสอง เพราะมันดูไม่ดีกับภาพลักษณ์ เราเลยพยายามใช้อินฟลูเอนเซอร์มายกระดับสิ่งนี้ ให้คนเห็นว่ามันไม่ได้ดูแย่ คุณกำลังทำสิ่งดี ๆ อยู่”

 

อยากให้คนมอง ‘เสื้อผ้ามือสอง’ อย่างไร 

นุ่น : “เสื้อผ้ามือสองทำให้เราสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม และได้หมุนเวียนเสื้อผ้า ช่วยโลกได้ด้วย และทำให้เราสามารถหารายได้ด้วย สมมุติว่าเราซื้อเสื้อตัวหนึ่งมาใส่จนพอใจแล้ว คิดว่าคงไม่ได้ใส่ต่อแล้ว เราก็ขายต่อ เหมือนเราได้ใส่เสื้อตัวนั้นโดยไม่ต้องเสียเงินเลยด้วยซ้ำ” 

 

ลูกน้ำ : “เราได้ประหยัดด้วย รู้สึกภูมิใจมาก เพราะเพิ่งไปซื้อเสื้อตัวหนึ่งมาจากแพลตฟอร์มนี้มาในราคา 50% แล้วมันใหม่มาก เลยรู้สึกว่าที่เราทำกันมามันช่วยประหยัดเงินส่วนตัวของเราไปได้เยอะเหมือนกัน”

 

คิดว่าทำไมคนถึงต้องมาลงขายเสื้อผ้าใน Hangles  

ลูกน้ำ : “เราแบ่งหมวดหมู่และฟิลเตอร์ เพราะเสื้อผ้ามือสองมีแค่ชิ้นเดียว ไซส์เดียว แปลว่าเขาต้องฟิลเตอร์ได้ว่าจะเอาแค่ไซส์ S กับ M ซึ่งเป็นไซส์ของเขา หรือเลือกสีที่ชอบได้” 

 

นุ่น : “คนขายเสื้อผ้าในแอปฯ ของเราจะขายเสื้อผ้าตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เราเลยมีฟีเจอร์ที่คนขายสามารถใส่ไซส์ร่างกายของตัวเองลงไปได้ ให้รู้เลยว่าใส่ไซส์อะไร สูงเท่าไหร่ รอบอก เอว สะโพก น้ำหนักเท่าไหร่ คนซื้อก็จะรู้ว่าถ้าผู้ขายคนนี้ใส่ได้ เขาก็ใส่ได้เหมือนกัน”

 

ลูกน้ำ : “เราก็ไปดูว่าลูกค้าเสิร์ชหาของอย่างไร เสิร์ชแบรนด์ไหนเยอะ แล้วทำหมวดหมู่นั้นขึ้นมา ล่าสุดเพิ่งเพิ่ม category ใหม่ เป็นของที่ราคาต่ำกว่า 300 ก็มีคนเข้ามาดูเยอะมาก และก็มีหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น ของแบรนด์เนมราคาสูง แบรนด์ดังใน Instagram ที่บางคนเขาอยากซื้อแต่นึกชื่อไม่ออก ก็เข้ามาดูหมวดนี้ได้” 

 

นุ่น : “เราพัฒนาแอปพลิเคชันมาจากพฤติกรรมลูกค้า เราวิเคราะห์ลูกค้าออกมาได้ 2 ประเภท คือคนที่เข้ามาแล้วรู้ว่าอยากซื้ออะไร กับคนเข้ามาแล้วไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร ก็ต้องจัด category ไว้ให้” 

 

ลูกน้ำ : “อีกสิ่งหนึ่งที่เรามีในแอปฯ คือ Hangles Inspirer รวมอินฟลูเอนเซอร์ที่มาลงขายกับเรา” 

 

นุ่น : “เสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ เราก็จะมี verify ให้ผู้ขายแต่ละคน คือ Top Seller คนที่ขายได้เยอะ, Celebrity คนดังหรือคนมีชื่อเสียง, Official เป็นแบรนด์ต่าง ๆ และสุดท้ายคือ I’m Real คือผู้ขายที่อยากให้คนรู้ว่าฉันมีตัวตนจริง ๆ”

 

สำหรับหมวดหมู่ Official ทำไมแบรนด์ต่าง ๆ ถึงมาขายเสื้อผ้ากับ Hangles 

ลูกน้ำ : “เราค้นพบว่าสินค้า Dead Stock ของแบรนด์ถูกทิ้งกว่า 30,000 ล้านชิ้นในแต่ละปี ซึ่งนับเป็น 30% ของเสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมา เราคิดว่าควรต้องเอาเสื้อผ้าในส่วนนี้กลับมาหมุนเวียนใหม่ เพราะบางครั้งแบรนด์เองก็ไม่สะดวกเอามาโพสต์ขาย และมันก็กลายเป็นเงินจม” 

 

นุ่น : “จริง ๆ แล้วมันคือเสื้อผ้าใหม่เลย แรก ๆ เราเริ่มลองทำกับแบรนด์ประมาณ 10 แบรนด์ เลยเห็นว่าทุกคนชอบ (หัวเราะ) และเราก็ได้แก้ปัญหาให้เขาจริง ๆ เลยอยากขยายโมเดลนี้”  

 

ทั้งสองคนช้อปปิ้งใน Hangles บ่อยไหม  

นุ่น : “เยอะมาก นุ่นเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าถ้าซื้อมา ใส่แล้ว เราเอาไปขายต่อได้   

 

ลูกน้ำ : มี data บอกว่าลูกค้าคนไหนซื้อเยอะที่สุด เราติด Top 10 ทั้งคู่”

 

วิธีการเลือกเสื้อผ้าของทั้งสองคนเปลี่ยนไปไหม หลังจากที่ทำ Hangles  

ลูกน้ำ : “พยายามซื้อของน้อยลงและคิดเยอะขึ้น คิดก่อนว่าสิ่งนี้จะเหมาะกับเราไหม คิดว่าเดี๋ยวลูกน้ำใส่เสร็จ น้องนุ่นใส่เสร็จแล้ว เราก็ต้องเอาไปขายต่อ เราจะไม่ปล่อยมันไว้นาน ๆ เหมือนเมื่อก่อน” 

 

นุ่น : “ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่ซื้อเสื้อผ้ามือสองเลย แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปต่างประเทศเราก็จะเดินเข้าร้านมือสองก่อน แต่ตั้งแต่ทำสิ่งนี้ ภาพลักษณ์ของเสื้อผ้ามือสองสำหรับตัวเองก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน” 

 

ลูกน้ำ : “ตั้งแต่ทำมาก็แทบไม่ได้ซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งเลย ซื้อน้อยมากเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ” 

 

นุ่น : “อีกหนึ่งสิ่งที่นุ่นอยากแนะนำทุกคนคือ การจัดตู้เสื้อผ้าอย่างจริงจัง ต้องเรียงประเภทของเสื้อผ้าด้วย เพราะตอนที่นุ่นจัดตู้ นุ่นได้เห็นว่าฉันมีเสื้อผ้าเหมือนกันหลายตัวมาก ซึ่งคิดว่าจริง ๆ แล้วที่เราซื้อตัวใหม่อาจเป็นเพราะเราชอบตัวเก่า แต่เราหาไม่เจอ ถ้าเราจัดตู้ เราก็จะรู้ว่ามีตัวนี้เยอะแล้ว มีหลายสีด้วย เราต้องหยุดซื้อซ้ำ เหมือนลิปสติกที่เรามักจะมีสีเดิมหลายแท่ง (หัวเราะ)”

 

อยากเห็น Hangles สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร 

นุ่น : “เราไม่ได้อยากเป็นแค่ตัวกลางขายเสื้อผ้ามือสอง แต่เราอยากสร้าง Fashion Eco System ที่เชื่อมต่อกับหลาย ๆ แขนงของแฟชั่นที่จะช่วยให้ยั่งยืนมากขึ้น เราไม่ได้จะเข้าไป interrupt แฟชั่นมือหนึ่ง แต่อยากช่วยให้มันเดินไปด้วยกันได้ เช่น ถ้ามี Dead Stock ก็เอามาขายกับเราได้ อีกส่วนที่กำลังทำอยู่คือการ Upcycling สำหรับเสื้อผ้าบางตัวที่มีตำหนิเล็กน้อย แต่ยังใช้งานได้ เราก็จะส่งให้ดีไซน์เนอร์เพิ่มมูลค่าให้กับเสื้อผ้า” 

 

ลูกน้ำ : “ล่าสุดเราก็ร่วมกับ CIRCULAR Club เอาผ้าของเราไปทำเสื้อคอลเลกชันรักษ์โลก” 

 

นุ่น : “เราอยากให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเสื้อผ้าที่ส่งมาให้เราจะไม่เป็นขยะเลยสักชิ้นเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหาที่ลง ช่วยชุบชีวิตให้กับน้องค่ะ (หัวเราะ) ”

 

ก้าวต่อไปของ Hangles  

ลูกน้ำ : “เราอยากทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อม ๆ กัน อยากจะร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ และขยายช่องทางออฟไลน์ ความจริงยังมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่อยากช้อปปิ้งแบบจับของอยู่ แล้วมันจะยิ่งทำให้เขาเชื่อมั่นในเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น” 

 

นุ่น : “อยากให้ลูกค้าคิดถึงเราเป็นตัวเลือกแรก ๆ ถ้าอยากจะช้อปปิ้ง และอยากให้ลูกค้ารู้สึกแฮปปี้และพราวด์เวลาได้ใส่เสื้อผ้าจากเรา” 

 

อยากเห็นโลกแฟชั่นในอนาคตเป็นไปอย่างไร 

ลูกน้ำ : “อยากเห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนขึ้น ทุกวันนี้เราคุยกับหลาย ๆ แบรนด์ และรู้ว่าแบรนด์ต้องการโฟกัสเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น คิดว่าสุดท้ายแล้วทุกแบรนด์ก็จะปรับตัว แม้บางแบรนด์จะถูกมองว่าเป็นฟาสต์แฟชั่น แต่ความเป็นจริงเขาก็พยายามปรับอยู่เหมือนกัน” 

 

นุ่น : “เชื่อว่ามันจะวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ มีการพัฒนาการเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาช่วยให้แต่ละขั้นตอนยั่งยืนขึ้น ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการทิ้ง ซึ่งทุกวันนี้หลายแบรนด์ก็พยายามกันมาก ทุกคนพยายามคิดว่าฉันจะทำสิ่งที่ทำอยู่ให้รักโลกขึ้นอีกได้อย่างไร นุ่นคิดว่าวันหนึ่งทุกแบรนด์จะหันมาทำสิ่งนี้กันหมด” 

 

“และ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากวงการแฟชั่นอาจจะลดลงไปได้” 

 

ใครที่อยากส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง ดาวน์โหลดแอปฯ Hangles ได้ที่ 

IOS : Hangles 

Amdroid : Hangles 

  

ติดตาม Hangles และเรื่องราวสนุก ๆ ของ #สายแฟแคร์โลก ได้ที่ 

TilTok : hangles.co  

Instagram : hangles.co 

Facebook : Hangles 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...