

‘ปณิธานปีใหม่’ สำเร็จได้ด้วยหลักจิตวิทยา รับรองว่าปีนี้เราจะเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม
Health / Mind
24 Jan 2024 - 3 mins read
Health / Mind
SHARE
24 Jan 2024 - 3 mins read
ปีใหม่เหมาะแก่การเริ่มต้นใหม่ เชื่อว่าหลายคนอยากจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม ด้วยการตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year’s Resolutions) เพื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะใช้เวลาตลอดเวลา 12 เดือนนับจากนี้ทำปณิธานนั้นให้สำเร็จ และทำให้แต่ละปีผ่านไปอย่างมีคุณค่า
ถึงอย่างนั้น ความจริงแล้วคนที่ทำตามปณิธานปีใหม่สำเร็จนั้นกลับมีไม่ถึง 10% ถือเป็นจำนวนที่น้อยมากจนชวนให้สงสัยว่า ‘ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไปไม่ถึงฝัน แล้วอะไรกันที่ทำให้ทำปณิธานเหล่านั้นไม่สำเร็จ ?’
ความจริงแล้วตัวการที่ทำให้เรามักทำปณิธานของเราไม่สำเร็จก็คือ ‘สมอง’ ของเราที่จดจำวิถีชีวิตเดิม ๆ ได้อย่างแม่นยำ ถ้านอนดึกเป็นประจำสมองก็จะง่วงเวลาเดิม ถ้าชอบกินของหวานสมองก็จะเรียกร้องหาแต่ของหวาน บางพฤติกรรมเราทำกันมาเป็นสิบ ๆ ปี คงไม่ง่ายเลยที่จะทิ้งนิสัยเดิม ๆ และเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้เลย เพราะมนุษย์นั้นมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา เพียงแต่ต้องตั้งใจ สม่ำเสมอ และทุ่มเทเพื่อการเปลี่ยนแปลง หากใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร LIVE TO LIFE ขอชวนไปสำรวจวิธีเอาชนะตัวเองให้อยู่หมัดและทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้สำเร็จไปพร้อม ๆ กัน
ตั้งเป้าหมายให้ ‘ชัดเจน’
ปณิธานปีใหม่จะสำเร็จหรือไม่นั้นเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย (Goal) ซึ่งเป้าหมายที่เราตั้งนั้นจะต้องทำได้จริง ชัดเจน ไม่คลุมเครือ และอาจเริ่มต้นจากเป้าหมายระยะสั้นที่ตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวก่อน เช่น เป้าหมายระยะยาวในปีนี้คือการลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม ในช่วงเริ่มต้นควรตั้งเป้าหมายระยะสั้นที่ทำได้จริงก่อน โดยการเปลี่ยนจาก ‘ฉันจะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม’ เป็น ‘ฉันจะสควอท 15 ครั้ง 3 เซ็ต สัปดาห์ละ 2 วัน’ การตั้งเป้าหมายแบบนี้จะทำให้เราเห็นภาพของการออกกำลังกายที่ทำได้จริงมากกว่า
นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังแนะนำว่าเราควรโฟกัสเพียงเป้าหมายเดียวแล้วทุ่มเทให้กับสิ่งนั้น จะทำให้สามารถทำได้สำเร็จมากกว่าการตั้งเป้าหมายมากมาย ซึ่งอาจทำให้ทุ่มเททำได้ไม่หมด หลังจากตั้งเป้าหมายได้แล้วให้เล่าหรือเขียนให้ตัวเองอ่านอีกครั้งเพื่อให้ใจของเราจดจำ
วางแผนอย่างดี พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง
เป้าหมายดำเนินได้ด้วยแผนการ เมื่อล็อกเป้าหมายได้แล้ว ถึงเวลาวางแผนเพื่อเป็นทางเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งการวางแผนควรวางอย่างละเอียด ต้องจดให้ครบว่าต้องทำอะไร อย่างไร ตอนไหน เช่น หากอยากปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น ให้ลองเขียนว่า
21.30 น. : จะวางสมาร์ทโฟนลง และเตรียมตัวนอน
22.00 น. : นอนหลับสนิทอย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ ยังต้องจินตนาการถึงอุปสรรคหรือเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ด้วยเพื่อวางแผนสำรอง เช่น หากวันไหนมีธุระต้องกลับดึก วันไหนมีปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อน ซึ่งทำให้นอนตามเวลาที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร เช่น รีบอาบน้ำให้ไวกว่าปกติ ลดขั้นตอนของการทาสกินแคร์ เพื่อให้เข้านอนได้เร็วขึ้น
การวางแผนสำรองจะช่วยเพิ่มวิธีที่เรายังสามารถทำตามเป้าหมายได้เหมือนเดิม ถึงแม้จะพบกับอุปสรรคก็จะผ่านมันไปได้
ใช้เทคนิค Action Trigger
ให้สมองจดจำนิสัยใหม่จนกลายเป็นกิจวัตร
ใครที่ยังไม่รู้ว่าเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร นักจิตวิทยาแนะนำว่าเทคนิค Action Trigger จะช่วยให้เราสร้างนิสัยใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก
Action Trigger คือ การจับคู่พฤติกรรมใหม่ ๆ กับกิจวัตรประจำวันของเรา เช่น หากอยากออกกำลังกายทุกวัน (พฤติกรรมใหม่) ให้ทำทันทีหลังแปรงฟันตอนเช้า (กิจวัตรประจำวัน) จะทำให้เราสร้างนิสัยใหม่ได้ง่ายขึ้น เพราะทำควบคู่ไปกับกิจวัตรประจำวัน
เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ
หากเป้าหมายของคุณคือการลดน้ำหนัก รางวัลที่ยั่งยืนของการลดได้ตามเป้า ไม่ใช่ชีทเดย์ที่อนุญาตให้ตัวเองได้กินไม่อั้น แต่หมายถึงกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นและน้ำหนักที่ลดลงไป อันเป็นผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่าเข้าใกล้เป้าหมายไปอีกก้าว
การเริ่มต้นทำตามปณิธานควรเริ่มจากกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ถ้าตั้งเป้าว่าปีนี้จะกินอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้ทุกมื้อ คุณไม่จำเป็นต้องหักดิบในมื้อเดียวเลยทันที แต่ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณผัก-อาหารสุขภาพเข้าไปในมื้อปกติทีละนิด และลดอาหารขยะลงทีละหน่อย เริ่มแรกอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขับถ่ายดีขึ้น สบายท้องมากขึ้น ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยจากก้าวเล็ก ๆ นี้จะทำให้เราเปลี่ยนตัวเองได้ง่ายขึ้น จนทำให้กลายมาเป็นชีวิตประจำวัน และสร้างกำลังใจให้เราทำต่อไปได้ในระยะยาว
เมื่อ ‘ท้อแท้’ แค่กลับไปมองจุดเริ่มต้น
ด่านต่อมาที่หลาย ๆ คนมักตกม้าตายคือ สุดท้ายแล้วทำตามแผนได้แค่ช่วงแรก ๆ ในตอนที่เรายังตื่นเต้นกับการทำตามเป้าหมายใหม่ แต่สุดท้ายแรงนั้นก็แผ่วลงจนพ่ายแพ้ให้กับวิถีชีวิตเดิมในที่สุด
หากตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ ต้องตั้งสติและกลับไปมองเส้นทางที่ผ่านมาอีกครั้งว่าเราดีขึ้นแล้วอย่างไรบ้าง และให้กลับไปมองจุดเริ่มต้นของการตั้งปณิธานว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนั้น มันจะส่งผลดีกับเราอย่างไรบ้างเพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจให้เหมือนวันแรก หากคิดทบทวนแล้วไม่ได้ผล ลองจดบันทึกเป็นก็จะช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้น
หากล้มเหลวให้เปลี่ยนกลยุทธ์
จดจำไว้เสมอว่าเราอาจล้มเลิกและล้มเหลวได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้น อย่าโทษตัวเองแล้วลองเริ่มต้นใหม่ด้วยวิธีใหม่ ๆ บางครั้งวิธีการนั้น แผนนั้นอาจไม่เหมาะสมกับเรา ลองปรับเปลี่ยนแผนให้ยืดหยุ่นเข้ากับไลฟ์สไตล์หรือเปลี่ยนวิธีการ เช่น หากเคยตั้งเป้าว่าจะวิ่งบนลู่วิ่งแล้วเบื่อจนไม่อยากทำอีกต่อไป ก็ให้ลบเป้าหมายนั้นทิ้งไปแล้วเริ่มต้นใหม่กับการวิ่งในสวนสาธารณะดูก็ได้
หาสายซัพฯ ช่วยเพิ่มกำลังใจ
หนึ่งในวิธีที่ทรงพลังที่สุดในการทำปณิธานของเราให้สำเร็จคือการบอกเล่าถึงความตั้งใจของเราให้ใครสักคนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท คนรัก คนในครอบครัว หรืออาจเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแชร์ความสำเร็จ ความเหนื่อยล้า หากมีปัญหาก็จะได้ฟังวิธีแก้ไขหลายมุมมอง อีกทั้งยังได้รับกำลังใจมหาศาลที่ผลักดันให้เดินหน้าต่ออีกด้วย
หลายคนอาจถือเคล็ดว่าถ้ายังทำไม่สำเร็จอย่าเพิ่งบอกใคร เพราะสิ่งที่ทำมันอาจไม่สำเร็จ แต่ถ้าลองเปิดใจคุยกับคนอื่น ๆ ดูเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ อาจทำให้เปลี่ยนความคิดไปเลยก็ได้
ในเดือนแห่งการเริ่มต้นนี้ เราขอชวนทุกคนมาตั้งปณิธานของตัวเองและนำวิธีการข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะกับเป้าหมายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน LIVE TO LIFE เชื่อว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของพวกเรา และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้เป็นหนึ่งใน 10% ผู้ทำตามปณิธานปีใหม่ได้สำเร็จตามที่ใจหวัง
อ้างอิง
- Kendra Cherry. 10 Great Tips to Keep Your New Year's Resolutions. https://bit.ly/48nI3lP
- Carlos Alós-Ferrer. The Psychology Behind New Year’s Resolutions That Work. https://bit.ly/3HaPh0B
- Ben Johnson. Psychotherapy: Understanding group therapy. https://bit.ly/48Nd9n1