ใจดีกับตัวเองบ้าง เปิดวิธีสร้าง Self-Empathy ให้จิตใจแข็งแรง

24 Dec 2022 - 9 mins read

Health / Mind

Share

มีคนไม่น้อยที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่ออะไรบางอย่างหรือเพื่อคนอื่นไป แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ นั่นก็เพราะความทุกข์ของชีวิตในโลกทุกวันนี้ มักเกิดการเปรียบเทียบ และไม่มีพื้นฐานของความเพียงพอ ทำให้ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จสักแค่ไหน จะคิดว่าชีวิตมักจะมีคนที่รวยกว่า ผอมกว่า ฉลาดกว่า เก่งกว่า ดีกว่า หรือมีอำนาจมากกว่า ที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าให้เปรียบเทียบอยู่เสมอ แม้กระทั่งความผิดพลาดล้มเหลวเล็ก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเราจะใช้ชีวิตให้เป็นสุขได้อย่างไร ลองมาเรียนรู้เคล็ดลับวิธีสร้าง “Self – Empathy” สร้างแรงบันดาลใจให้กลับมารัก และใจดีกับตัวเอง ด้วยทิปส์ และแบบฝึกหัดสั้น ๆ ที่ทำแล้วสุขภาพจิตใจแข็งแรงขึ้นกันเถอะ

1. พูดคุยกับตัวเองเหมือนที่คุยกับเพื่อนรัก

นึกออกใช่ไหมว่า เวลาเราพูดคุยกับเพื่อนฝูงคนสนิท แล้วเรามักจะเป็นห่วงความรู้สึกของเพื่อน กลัวว่าถ้าพูดอะไรไม่ดีจะทำให้เพื่อนเสียใจ ลองใช้วิธีเดียวกันนี้ ถ้าคุณเองไม่อยากพูดกับเพื่อนรักแบบไหน ก็อย่าพูดกับตัวเองแบบนั้น ครั้งต่อไปที่เราพบว่ากำลังคิดถึงตัวเองในแง่ลบ ให้ลองทำแบบฝึกหัดนี้ดู

 

ขั้นแรก หากระดาษหนึ่งแผ่น และปากกาหรือดินสอ แล้ววาดตารางที่มีสองแถว และห้าคอลัมน์ เขียนชื่อในแต่ละคอลัมน์ ดังนี้ 1) ความคิด 2) อารมณ์ 3) หลักฐาน 4) ความคิดใหม่ และ 5) อารมณ์ใหม่

ขั้นที่สอง ให้เขียนสิ่งที่คุณกำลังคิดหรือกังวลอยู่

ทดลองทำแบบฝึกหัดนี้ซ้ำทุกวันจนกว่าคุณจะพูดคุยในแง่บวกกับตัวเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ เคล็ดลับเหล่านี้เองจะทำให้คุณได้พูดคุยและเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

2. ฝึกสติรู้เท่าทันความคิดเพื่อป้องกันการตัดสินตัวเองในแง่ลบ

แน่นอนว่าการคิดถึงตัวเองในแง่ลบนั้นเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการมีสติรู้เท่าทันตัวเองจึงเป็นอีกเทคนิคสำคัญที่ควรเรียนรู้ ในระหว่างวันหัดลองสังเกตอารมณ์ ความคิด หรือความรู้สึกที่แวบเข้ามา จำไว้ว่าความคิด และความรู้สึกของเราเกิดขึ้น คงอยู่ แล้วจะผ่านไป แค่รับรู้ไว้ว่าเรากำลังคิด และรู้สึกอย่างไร และส่งผลต่อตัวเราอย่างไร หากฝึกทำเช่นนี้ได้บ่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันความคิดได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการป้องกันตัวเองจากความคิดลบ ๆ ได้เป็นอย่างดี

3. เรียนรู้การให้อภัยตัวเอง

การให้อภัยตัวเองไม่ได้หมายถึงการแก้ตัว หรือหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแกล้งทำเป็นว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่มันหมายถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเอง โดยเข้าใจว่าคนเราไม่ได้สมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่างหรอก คนเราทุกคนก็ทำพลาดได้เหมือนกันเพียงแต่เราต้องยอมรับ และให้อภัยตัวเองก่อน ทุกคนต่างเคยทำผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น และบางครั้งมันก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าเราสามารถจะเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ และปฏิบัติต่อคนอื่น รวมถึงตัวเองให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักน้อมรับ และแก้ไข เรียนรู้ปรับปรุงตัว จะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอยเดิมอีก

4. อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

ในขณะที่เราไถมือถือดูโซเชียลมีเดียเห็นใครแชร์ชีวิตที่สวยงามจนน่าอิจฉา จนเราไม่สามารถต้านทานความเศร้าอันเกิดจากการเผลอเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตของคนอื่นได้ ก็ขอให้เตือนตัวเองไว้เสมอว่า เราอาจเห็นเรื่องราวเพียงแค่ด้านเดียว และวิธีรับมือเพื่อสร้างสมดุลให้กับจิตใจ คือ เลิกติดตามคนที่มักโชว์ภาพชีวิตที่มากระตุ้นอารมณ์ที่สร้างความรู้สึกในแง่ลบให้กับตัวเอง หรือคุณอาจตั้งค่าให้ไม่เห็นโพสต์ของเขาเหล่านั้น หรือลดการใช้โซเชียลมีเดียลงก็ได้ วิธีง่าย ๆ คือหาว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกนั้น และหาวิธีเลี่ยงนั่นเอง

 

ขอเพียงให้เราเชื่อมั่น สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองว่าสามารถลุกขึ้นมาพัฒนาทักษะ ทำความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจ โอบกอด และใจดีกับตัวเอง เชื่อแน่ว่าในแต่ละวันที่ผ่านไปเราจะค่อย ๆ รู้วิธีคิดที่สร้างสมดุล ทำให้จิตใจแข็งแรงขึ้น และมีความสุขกันได้แน่นอน

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...