‘อ่อนไหวง่าย’ เป็นเรื่องธรรมดา ทำความเข้าใจคนอ่อนไหวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

20 Mar 2023 - 5 mins read

Health / Mind

Share

เรื่องแค่นี้เอง ทำไมต้องร้องไห้  

 

มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า คนที่อ่อนไหวง่ายคือคนที่อ่อนแอและเปราะบางตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะมีช่วงเวลาอ่อนไหว เสียน้ำตาง่าย ซึ่งอาจทำให้ผู้ชายหลายคนไม่เข้าใจอยู่บ่อย ๆ 

 

ไม่จริงเสียทีเดียว เพราะแม้จะอ่อนไหว แต่บุคลิกภาพนี้ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ เพียงแต่ต้องรู้วิธีอยู่กับความอ่อนไหวและเปลี่ยนให้เป็นข้อดี ที่สำคัญคนรอบข้างสามารถทำความเข้าใจธรรมชาติของคนอ่อนไหว เพื่อความสัมพันธ์ที่เป็นสุขได้

ทำไมบางคนถึง ‘อ่อนไหวง่าย’ 

 

คนอ่อนไหวง่าย (Highly Sensitive Person) เป็นคนที่มีความไวของระบบประสาทส่วนกลางสูงเมื่อเจอสิ่งเร้ามากระตุ้นไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ เป็นบุคลิกภาพอย่างหนึ่งที่พบได้ในประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีการจำกัดความอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1996 โดย อีเลน อารอน (Elaine Aron) และ อาร์เธอร์ อารอน (Arthur Aron) นักจิตวิทยาและนักเขียนด้านการวิจัยทางคลินิกชาวอเมริกัน 

 

ทั้งสองคนได้ทำการศึกษาลักษณะของคนอ่อนไหวและตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Highly Sensitive Person อีกทั้งยังมีแบบทดสอบบุคลิกภาพ Aron’s Sensitive Persons Scale (HSPS) เพื่อบ่งชี้ความอ่อนไหวในบุคคล โดยลักษณะเด่น ๆ ของคนอ่อนไหวง่ายที่เห็นได้ชัด เช่น  

 

1. ไม่ชอบเสพสื่อที่มีความรุนแรง เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

2.  เสียสมาธิจากเสียงดัง แสงไฟ ได้ง่าย แต่ยังคงจดจ่อได้แม้จะยากเย็น

3.  หลงใหลศิลปะที่ลึกซึ้ง เข้าใจธรรมชาติ จิตวิญญาณของมนุษย์

4.  มีความคิดที่ลึกล้ำ ซับซ้อน คิดหลายตลบ ใช้เวลาตัดสินใจนาน

5.  เมื่ออยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย ต้องการเวลาส่วนตัวชาร์จพลังคนเดียวเงียบ ๆ

ฯลฯ

โดยสาเหตุที่ทำให้บางคนอ่อนไหวมากเป็นพิเศษนั้นมาจากปัจจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่ คือ

 

วิวัฒนาการ : ความอ่อนไหวเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ที่ต้องคอยระวังภัยเพื่อหาทางหนีทีไล่ มนุษย์เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าเป็นปกติกันทุกคน จึงไม่แปลกที่บางครั้งคนเราจะอ่อนไหว แต่สำหรับคนที่อ่อนไหวง่ายมักจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วกว่าคนทั่วไป

 

การเติบโต : เด็ก ๆ ที่ขาดความรัก ความอบอุ่น หรือมีบาดแผลทางใจ เคยพบเจอเรื่องสะเทือนใจมาก่อนอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนไหวง่ายได้

 

พันธุกรรม :  ความอ่อนไหวส่งต่อกันในระดับพันธุกรรมได้ ยีนความอ่อนไหวนี้จะทำให้สมองหลั่งโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความพึงพอใจ กระตือรือร้น สามารถรับความรู้สึกเร้าต่าง ๆ ได้ไวกว่าคนทั่วไป

 

อ่อนไหวง่ายไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ  

 

อ่อนไหวง่ายไม่ใช่สิ่งที่ต้องหนักใจ หากแต่ต้องทำความเข้าใจและนำลักษณะของความอ่อนไหวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คนอ่อนไหวสามารถเข้าอกเข้าใจคนอื่น รับรู้อารมณ์ของคนอื่นจึงทำให้เป็นที่ปรึกษาที่ดีได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยช่วยบรรเทาความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังไวต่อความเปลี่ยนแปลง สามารถรับมือและเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีเสมอ 

 

ที่สำคัญ คนอ่อนไหวง่ายสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนรอบข้างได้อย่างรวดเร็ว และเป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ การมีเพื่อนหรือคนรักที่อ่อนไหวนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ หากอีกฝ่ายเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับคนอ่อนไหวง่าย เช่น

 

รักษาระยะห่าง : อาจมีบางครั้งที่คนอ่อนไหวง่ายจะขอเวลาอยู่คนเดียวเงียบ ๆ เพราะพวกเขาเหน็ดเหนื่อยกับการเผชิญผู้คน เสียงดังมาตลอดทั้งวัน การปล่อยให้อีกฝ่ายได้อยู่คนเดียว การมีระยะห่างที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจหลักในการอยู่ร่วมกัน

 

ไม่เร่งเร้า : อาจมีบางครั้งที่คนอ่อนไหวง่ายจะตัดสินใจช้า เพราะคิดเยอะเป็นพิเศษ จงปล่อยให้พวกเขาได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่เร่งเร้าหรือกดดันมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ลนลานและช้ากว่าเดิมได้

จับสัญญาณต่างๆ ให้ได้ : ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ท่ามกลางความแออัดหรือกดดัน คอยจับสัญญาณดูว่าคนข้าง ๆ ยังไหวไหม คอยถามไถ่เผื่อว่าอีกฝ่ายต้องการความช่วยเหลือ เพราะพวกเขาอาจคิดคนเดียวอยู่ในใจและไม่ได้พูดออกมา 

 

สื่อสารด้วยความเข้าใจ : คนอ่อนไหวง่ายมักมีเรื่องราวในใจมากมาย การรับฟังอย่างใจเย็นในบรรยากาศสงบ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดในสิ่งที่คิดโดยไม่เร่งรัดหรือตัดสินนั้นดีที่สุด นอกจากสื่อสารด้วยคำพูดแล้ว ภาษากาย ไม่ว่าจะกอด จับมือ สบตาให้กำลังใจ ก็มีความหมาย ช่วยคลายเครียดจากความวุ่นวายรอบตัวได้เช่นกัน

 

คนอ่อนไหวง่ายนั้นไม่ใช่คนที่อ่อนแอเสมอไป หากแต่มีข้อดีมากมาย หากคนรอบข้างเข้าใจก็จะทำให้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอ่อนไหวอย่างมีความสุขได้ 

 

อ้างอิง 

Elizabeth Scott. What Is a Highly Sensitive Person (HSP)?. https://bit.ly/3Ln0RcD

Hannah Rose. The Secret to a Happy Relationship with a Highly Sensitive Partner. https://bit.ly/3F6u5bL

 

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...