

ยิ่งกว่าหมดไฟคือ ‘หมดใจทำงาน’ เช็กลิสต์อาการ Brownout ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้
Health / Mind
15 May 2023 - 3 mins read
Health / Mind
SHARE
15 May 2023 - 3 mins read
ยิ่งกว่าหมดไฟ คือการ ‘หมดใจทำงาน’
มนุษย์เงินเดือนหลายคนกำลังประสบอยู่ในภาวะ Brownout หรือ ภาวะที่กำลังหมดใจกับการทำงาน เมื่อความเครียดก่อตัวขึ้นช้า ๆ อย่างเงียบเชียบ แม้ไม่ได้แสดงออกมากนัก แต่เมื่อวันไหนที่ฟางเส้นสุดท้ายขาด รู้ตัวอีกทีก็ไม่เหลือเหตุผลที่ต้องทนทำงานอีกต่อไปแล้ว
เหตุผลของคนหมดใจ
เราอาจได้ยินคำว่า ‘หมดไฟ (Burnout)’ กันบ่อย ๆ คำนี้คือภาวะที่คนทำงานเกิดอาการหมดไฟ ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน เป็นปรากฏการณ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุไว้ในปี 2019 ว่าเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดสะสมในที่ทำงานที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนักเกินไป เหนื่อยล้าเกินไป มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ซึ่ง Brownout ก็เกิดจากสาเหตุเหล่านี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คนหมดไฟยังมีโอกาสที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง หลังจากได้ไปเยียวยาหัวใจ หยุดพักผ่อนและเติมไฟให้ตัวเอง แต่ภาวะ Brownout ร้ายแรงกว่านั้น เพราะเป็นภาวะที่ไฟมอดสนิท และถึงมีไฟ ก็ไม่มีใจจะทำงานนั้นต่อไปแล้ว ภาวะนี้จึงแตกต่างจาก Burnout และ Bored-out (ภาวะเบื่องาน) ที่ว่า คนทำงานจะมองไม่เห็น ‘ความหมาย’ และ ‘คุณค่า’ ในงานที่ทำอีกต่อไป และไม่รู้จะทำงานต่อไปเพื่ออะไร
Brownout เป็นเหมือนน้ำเชี่ยวกรากใต้มหาสมุทร ที่แทบจะไม่แสดงสัญญาณใด ๆ ความรู้สึกไร้ค่า ไร้ความหมายต่องานค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นช้า ๆ กัดกินหัวใจคนทำงานไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็หมดใจไปเสียแล้ว
ภายนอกสดใส ในใจห่อเหี่ยว
ดร. ทราวิส แบรดเบอร์รี (Dr. Travis Bradberry) ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์ เผยว่าพนักงานที่อยู่ในภาวะ Brownout หลายคนยังดูสบายดี แม้ข้างในจะห่อเหี่ยวก็ตาม
หลายคนยังตั้งใจทำงานขยันขันแข็ง แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขากำลังหมดใจจากงานอย่างเงียบ ๆ และท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดการ ลาออกแบบเงียบ ๆ (Quite Quitting) ซึ่งในสายตาคนอื่นอาจมองว่ากะทันหัน แต่สำหรับคนลาออกแล้ว นั่นเป็นวันที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น เป็นวันที่หมดใจกับการทำงานแล้ว
นายจ้างอาจไม่เคยสังเกตว่าพนักงานกำลังตกอยู่ในภาวะนี้ แม้แต่พนักงานเองก็อาจไม่รู้ตัวเองเช่นกัน LIVE TO LIFE จึงขอชวนมาสำรวจตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ ที่ช่วยบ่งชี้ว่า ‘คุณกำลังหมดใจจากการทำงาน’ เช่น
- ลางานบ่อย : คุณใช้วันลาพักร้อนและลาป่วยบ่อย ๆ เพื่อไม่ต้องเผชิญหน้ากับงาน
- ทำงานเยอะ แต่ไร้ความหมาย : คุณทำงานเยอะมาก แต่ไม่ได้เอาใจใส่งานที่ทำแม้แต่น้อย รู้สึกเหมือนงานไม่มีวันเสร็จ มีอะไรต้องทำตลอดเวลา มักจะเช็กอีเมลตอนเพิ่งลืมตาตื่นและก่อนเข้านอน ติดแหงกกับสมาร์ทโฟนแม้ในวันหยุด
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ : คุณรู้สึกว่าการมีอยู่ของตัวเองไม่มีประโยชน์กับงานและทีม และไม่รู้ว่าบทบาทที่ทำอยู่จะเติบโตไปอย่างไร
- มองไม่เห็นความหมายของงานที่ทำ : คุณไม่รู้ว่าจะทำงานไปเพื่ออะไร จึงไม่รู้สึกอยากพัฒนาตัวเอง ไม่ฟังคำแนะนำใหม่ ๆ และมักจะปัดตกไอเดียที่น่าสนใจในที่ประชุม
- อารมณ์แปรปรวน : คุณหัวเราะน้อยลง และร้องไห้ง่ายขึ้น บางครั้งเกรี้ยวกราดไร้สาเหตุ
- มีปัญหาสุขภาพ : ความเครียดและซึมเศร้าจากการงานทำให้จิตใจไม่สบาย และแสดงออกผ่านร่างกายด้วย เช่น หมดพลัง นอนไม่หลับ มีปัญหากับการกิน
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีปัญหา : คุณไม่อยากเจอเพื่อน ๆ ปลีกตัวจากครอบครัว
เราจะดูแลใจตัวเองได้อย่างไร ?
ทุกบริษัทล้วนอยากจะรักษาพนักงานเก่ง ๆ เอาไว้ นอกจากกระทบกับใจคนทำงานแล้ว ภาวะ Brownout ยังส่งผลต่อบริษัททั่วโลกมากมาย แนวทางที่เราจะหยุดวงจรของการหมดใจนี้ได้ต้องเป็นการร่วมมือกันทั้งนายจ้างและพนักงาน
คนที่กำลังประสบภาวะ Brownout หรือคาดว่าจะประสบภาวะนี้ สามารถเริ่มต้นดูแลใจตัวเองได้เลยทันที ตอนนี้อาจยังแก้ที่งานไม่ได้ แต่ถ้าร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม จะทำให้สามารถรับมือกับงานได้ดีขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เช่น
- ปรับเวลาชีวิตให้สมดุล : กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา วางงานยุ่ง ๆ เอาไว้ก่อน และปรับเวลาชีวิตให้สมดุล
- กำหนดเวลาทำงาน : ปิดแจ้งเตือนในวันหยุดและกำหนดเวลาเช็กอีเมลของตัวเอง ไม่ให้งานเข้ามาก้าวก่ายเวลาชีวิตส่วนตัวและวันพักผ่อน ทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนดไว้
- ออกกำลังกาย และกินอาหารดี ๆ : ออกกำลังกายแบบที่ชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน แค่ออกไปปั่นจักรยานก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ดร.ปีเตอร์ มิลส์ (Dr. Peter Mills) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า คนที่สุขภาพดีมีแนวโน้มว่าจะมีส่วนร่วมกับสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนอื่น ๆ ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ด้วย
- ทำกิจกรรมสร้างสมาธิ : หายใจลึก ๆ นั่งสมาธิ เล่นโยคะ ไปนวด หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายและมีสมาธิ
ท้ายที่สุดแล้ว การลาออก เป็นอีกทางออกที่ไม่ได้แย่เสมอไป หากปัญหาเกิดจากงานก็ควรแก้ที่ต้นเหตุ ความรู้สึก Brownout อาจเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกตัวเล็กลง บทบาทไม่สำคัญ การได้เปลี่ยนที่ทำงาน มองหาอะไรใหม่ ๆ ไปอยู่ในบริษัทที่เล็กลง หรือในที่ที่คุณมีความสำคัญกับบริษัทมากขึ้น จะทำให้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่าได้อีกครั้ง
ในส่วนของนายจ้างหรือองค์กรก็ต้องเข้าหาพนักงานในความดูแลให้มากขึ้นด้วยการสร้างบทสนทนาในทีมให้มากขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานดี จะช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ได้มาก
การสร้างแรงจูงใจในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ให้รางวัลเมื่อพนักงานทำงานได้เป็นอย่างดี ยินดีกับความสำเร็จของพวกเขา แสดงความเป็นห่วงเป็นใย ไม่ใช่แค่ในฐานะหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนความฝันของคนทำงาน สอบถามว่าพวกเขามีเป้าหมายอะไร และคอยช่วยสนับสนุนให้เขาไปยังเป้าหมายนั้น
ภาวะ Brownout เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตการทำงาน แม้จะมองไม่เห็นความหมายของงานที่ทำอยู่ตอนนี้ แต่เชื่อว่าจะมีงานที่ใช่และทำให้หัวใจพองโตรอเราอยู่เสมอ
อ้างอิง
- Shannon A. What is Employee Brownout?. https://bit.ly/3KVkDtw
- Rhymer Rigby. 10 Signs You're Suffering from Brownout. https://bit.ly/41pgHbN
- Bryan Robinson. Why ‘Brownouts’ Undermine Career Success and How To Outsmart Them. https://bit.ly/3KJFYGg
- Alessandra Pintore. Burn-Out, Bore-Out and Brown-Out – Demystifying Modern Work Afflictions. https://bit.ly/3osWza4
- Anne-Claire Dalmont. Brown-Out: When You Lose Motivation at Work. https://bit.ly/3MU5qfb