เข้าใจความแตกต่างด้วย ‘คำพูดแทนใจ’ ที่บอกว่าเรายอมรับตัวตนของอีกฝ่ายจากใจจริง

12 Jun 2024 - 3 mins read

Health / Mind

Share

เพียง ‘คำสั้น ๆ’ ไม่กี่คำที่พูดออกมาจากใจ กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ใครบางคนไปได้ตลอดชีวิต

 

เพราะ ‘คำพูด’ บางคำที่ฟังดูเหมือนจะธรรมดา กลับแฝงไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด โดยเฉพาะคำพูดที่กลั่นมาจากความปรารถนาดี เป็นความตั้งใจให้สื่อถึงการยอมรับตัวตนของคนใกล้ชิดหรือใครสักคนที่แตกต่างและหลากหลาย

 

เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนสร้างพลังบวกให้กันและกัน พร้อมยอมรับตัวตนของอีกฝ่ายจากใจจริง ในบทความนี้ LIVE TO LIFE ได้รวบรวมวิธีและเคล็ดลับการใช้คำพูดแทนใจไว้เป็นแนวทางให้ทุกคนแล้ว

 

 

คำพูดไม่กี่คำ

เปลี่ยนชีวิตคนฟังไปตลอดกาล

เคยเป็นไหม ? รู้สึกมีพลังขึ้นมาทันทีเมื่อได้รับคำพูดดี ๆ จากคนที่รักและเข้าใจเรา หรือในบางครั้ง หากได้รับคำพูดแย่ ๆ จากคนที่ไม่หวังดีกับเรา คำพูดเหล่านั้นจะติดค้างอยู่ในใจเป็นเวลานานกว่าจะปล่อยวางไปได้

 

ด้วยเหตุนี้เอง คนโบราณจึงเปรียบ ‘คำพูด’ เหมือนกับ ‘ดาบสองคม’ เพื่อเตือนใจทุกคนให้ระมัดระวังคำพูดของตนว่า คำพูดที่ดีจะทำหน้าที่เป็นอาวุธที่สร้างขวัญกำลังใจและเป็นพลังให้คนที่ได้รับลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับทุกปัญหาอย่างมีความหวัง ในทางตรงกันข้าม คำพูดที่ไม่ดีจะกลายเป็นดาบคอยทิ่มแทงใจให้เจ็บช้ำและทำลายชีวิตคนอื่นลงได้ ไม่ว่าผู้พูดจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

คำพูดจึงมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้พูดว่าจะตั้งใจเลือกใช้คำพูดเพื่อประโยชน์ในแง่มุมไหน เพราะคำพูดจะสะท้อนกลับไปถึงความคิด ความเชื่อ และนิสัยใจคอของคนผู้นั้น หากเป็นคนเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลาย ย่อมมีความเป็นไปได้สูงว่า จะเลือกใช้คำพูดที่รักษาน้ำใจ ให้กำลังใจ เพื่อสื่อถึงการยอมรับและเคารพทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนต้องเริ่มต้นด้วยการปรับมุมมองและความคิดต่อสังคมที่เปิดรับทุกความหลากหลาย คือ ฝึกขัดเกลาจิตใจให้มี Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะคงไม่มีใครสักคนจะรู้สึกดีหากได้รับคำพูดแย่ ๆ จากตัวเรา ขณะเดียวกันตัวเราเองก็คงไม่อยากให้ใครมาพูดไม่ดีใส่ นี่จึงเป็นการปลดล็อกหรือไขกุญแจในใจที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้คำพูดแทนใจได้อย่างจริงใจ

 

 

คำนี้ดี

พูดกับใคร ใครก็รู้สึกดี

ความรู้จิตวิทยาสังคมเชื่อว่า คนเรากลัวความโดดเดี่ยวและกลัวการอยู่คนเดียว เพราะธรรมชาติออกแบบให้คนเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการเป็นที่ยอมรับ เพราะการอยู่รวมกันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะช่วยสร้างความอุ่นใจได้มากกว่าอยู่ตามลำพัง แล้ววิธียอมรับตัวตนของใครสักคนที่ชัดเจนที่สุด คือการพูดออกไปตามตรง

 

สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าควรพูดอย่างไร สามารถเลือกใช้คำและวลีที่แสดงถึงการยอมรับและสร้างความรู้สึกดีและไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้ฟังได้ดังต่อไปนี้

 

  • เราเชื่อในตัวเธอเสมอ
  • เราดีใจที่มีเธออยู่เคียงข้างกัน
  • เธอทำได้อยู่แล้ว ฉันเป็นกำลังใจให้เสมอ
  • ไม่ว่าเธอจะเลือกและตัดสินใจว่าอะไร ฉันพร้อมสนับสนุนเต็มที่
  • ฉันอยู่ตรงนี้แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล
  • สิ่งที่ผ่านไปแล้วคืออดีต เราจดจำไว้เป็นบทเรียนก็พอ เรามาเริ่มต้นกันใหม่ดีกว่า

 

ทั้งนี้ แนะนำให้แต่ละคนอาจปรับคำบางคำใหม่ให้เข้ากับวิธีการพูดของตัวเอง เพื่อให้เข้าปากและคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ ไม่อย่างนั้นอาจดูฝืนหรือขัดกับธรรมชาติที่ตัวเองเป็น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนพูดกับคนฟังให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า แก่นแท้ของความหมายที่แฝงอยู่ในคำพูดเหล่านี้ คือ ความตั้งใจหวังดีต่อกัน และความเห็นอกเห็นใจ จึงควรเน้นใช้คำพูดที่สื่อความหมายบวกเพื่อการยอมรับตัวตนโดยไม่ตัดสินและปราศจากอคติกีดกันใด ๆ

 

 

คำต้องห้าม

ก่อนพูดออกไป ต้องคิดให้ถี่ถ้วน

คำต้องห้ามในที่นี้ คือ คำและวลีที่ทำให้เกิดการแปลความหมายคลาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไป มีความเป็นไปได้สูงว่า หากพูดออกไปแล้ว แม้คนพูดจะมีเจตนาที่ดี แต่คนฟังอาจแปลความหมายในทางตรงข้าม ทำให้เกิดปัญหาเป็นความขุ่นข้องหมองใจตามมาได้

 

คำและวลีเหล่านี้ จึงถือเป็นคำพูดละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังก่อนใช้ทั้งหมด ซึ่งบางคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ใช้พูดเลยก็มี เพื่อตัดปัญหาไม่ให้เข้าใจผิด ยกเว้นคนที่สนิทกันมาก ๆ จนรู้นิสัยใจคอกันดี อาจใช้ได้ไม่มีปัญหาอะไร

 

  • สู้ ๆ นะ
  • อย่าคิดมาก
  • อย่าท้อ
  • แค่นี้เอง
  • พยายามอีกนิด
  • เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง

 

สาเหตุที่ทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดีเมื่อได้รับคำพูดลักษณะนี้ เพราะในแง่มุมหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ได้เอาใจใส่กันมากพอ เหมือนเป็นการด่วนตัดสินว่าความยุ่งยากหรือปัญหาที่อีกฝ่ายพบเจอมาไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือน่ากังวลสำหรับตัวเอง หากยิ่งพูดจะยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกแย่ เพราะจะทำให้คนพูดดูไม่ได้มีความพยายามเข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายด้วยซ้ำ

 

แล้วการที่ใครสักคนจะเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าได้รับการยอมรับจากคนอื่นจากใจจริง ไม่ได้เกิดจากคำพูดเจตนาดีเพียงอย่างเดียว เพราะต้องแสดงออกพร้อมกับภาษากายที่มีท่าทีเปิดรับและเปิดกว้าง ‘คำพูด’ กับ ‘การกระทำ’ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กับเสมอ

 

และขณะที่พูดควรเลือกน้ำเสียงที่แสดงถึงความจริงใจและห่วงใย ร่วมกับภาษากายที่สื่อถึงความอ่อนโยนและไม่ถือตัว เช่น จับมือ แตะหลังมือ สัมผัสบริเวณบ่าอย่างเบามือ และโอบกอด ซึ่งควรเลือกใช้ภาษากายให้เหมาะสมกับระดับความสัมพันธ์และความสนิมสนม จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกอุ่นใจและรับรู้ได้ถึงการยอมรับของอีกฝ่าย

 

ท้ายที่สุดแล้ว ในสังคมที่โอบรับความหลากหลาย ทุกคนไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการยอมรับถึงตัวตนที่แตกต่าง ซึ่งการใช้คำพูดแทนใจ เป็นหนทางหนึ่งที่บอกว่า เรายอมรับตัวตนของอีกฝ่ายจากใจจริง

 

 

อ้างอิง

  • Burns, D. (2008). Feeling Good Together: The Secret of Making Troubled Relationships Work. New York: Crown Publishing Group.
  • Shawn Chang. Emotional Intelligence 101: Empathetic responses. https://bit.ly/3wKvhAx

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...