Barnum Effect ดูดวงแล้วสบายใจ เพราะ ‘หมอดู’ แม่น หรือแค่พูดในสิ่งที่เราอยากฟัง ?

24 Oct 2023 - 5 mins read

Health / Mind

Share

ในวันที่ไม่สบายใจ หลาย ๆ คนเลือกที่จะไปหา ‘หมอดู’  

 

บางคนชอบเสี่ยงเซียมซี บางคนอ่านดวงชะตาออนไลน์ แม้ลึก ๆ เราเองจะเกิดคำถาม ดวงชะตาของมนุษย์โลกกว่า 8 พันล้านคนไม่อาจจัดอยู่ในคำทำนายดวงแค่ 12 เดือนได้ แต่ถึงอย่างนั้น ‘การดูดวง’ ก็ยังหวานหอม เพราะช่วยให้เราได้พบกับคำตอบที่มีเพียงจักรวาลเท่านั้นที่ล่วงรู้  

 

เขาจะรักเราไหม ? เราจะได้งานนี้หรือเปล่า ? โชคใหญ่จะมาหรือยัง ? สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบที่จักรวาลเก็บเป็นความลับ แต่ในเวลาที่ใครบางคนกำลังอับจนหนทาง พวกเขาจึงเลือกไปหา  ‘หมอดู’ เพื่อให้ผ่านความว้าวุ่นนี้ไปได้ 

 

หลายคน ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่หมอดูพูด และเชื่อว่าหมอดูคนนั้นมีตาทิพย์จริง ๆ แต่อีกหนึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Barnum Effect’ ก็เป็นได้

 

Barnum Effect หรือ Forer Effect เป็นหนึ่งใน Cognitive Bias ซึ่งหมายถึงการประเมินหลักฐาน ข้อมูล และสถานการณ์ต่างๆ อย่างบิดเบือน ไม่สมเหตุสมผล เพราะแต่ละคนจะสร้าง ความจริงแบบอัตวิสัย (Subjective Reality) หรือ ‘ความจริงในแบบของตนเอง’ ขึ้นมา 

 

ปรากฏการณ์นี้ถูกค้นพบในปี 1948 โดย เบอร์แทรม อาร์. ฟอเรอร์ (Bertram R. Forer) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แต่ภายหลังถูกเรียกตามชื่อของ บี.ที บาร์นัม (B.T Barnum) ซึ่งเป็นเจ้าของคณะละครสัตว์ผู้มีศิลปะในการพูดที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาตร์ เพราะบาร์นัมเคยกล่าวไว้ว่าที่เขาประสบความสำเร็จได้นั้นก็เพราะโชว์ของเขามี ‘สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับทุกคน’ สิ่งเล็กน้อยที่ว่านั้นหมายถึงการทำให้ผู้คนมาดูการแสดงรู้สึกว่าโชว์นี้สร้างขึ้นมาเพื่อพวกเขาแต่ละคนโดยเฉพาะ

 

สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่บุคคลคนจะเชื่อว่าคำอธิบายหนึ่งเป็นเรื่องของตนเองโดยเฉพาะ และจะเชื่อสิ่งนั้น ทั้ง ๆ ที่คำอธิบายนั้นอาจเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะเจาะจงและกว้างขวางมากก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ใช้อธิบาย ปรากฏการณ์เมื่อคนไปดูดวง แล้วเชื่อหมอดู แม้ว่าคำพูดที่เขาทำนาย จะเป็นการพูดแบบรวม ๆ ไม่ได้เจาะจงอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งมันบังเอิญตรงกับสิ่งที่คนนั้นเป็นเท่านั้น  

 

และไม่ใช่แค่เรื่องของการดูดวง แต่แบบทดสอบบุคลิกภาพต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตที่เราเคยเห็นผ่าน ๆ ตากัน ที่ท้ายที่สุดแสดงผลลัพธ์ออกมาแล้วเรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราเป็นจริง ๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วผลลัพธ์นี้ก็ตรงกับคนอื่น ๆ ที่ได้ผลลัพธ์ต่างออกไปเช่นเดียวกัน แต่การที่ผลลัพธ์ระบุออกมาว่า ‘นี่คือตัวคุณ’ เราจึงปักใจเชื่อแบบทดสอบนั้นได้อย่างง่ายดาย  

 

หากมองในมุมของการทำนายโชคชะตา เมื่อหมอดูบอกว่า 

“คุณเป็นคนใจเย็น ไม่ค่อยโกรธใคร แต่ถ้าโกรธขึ้นมาล่ะกลายเป็นคนอารมณ์ร้ายทันที”  

เมื่อลองพิจารณาประโยคข้างต้นจะเห็นว่าเป็นคำอธิบายแบบกว้าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน หลายๆ คนถ้าได้โกรธขึ้นมาแล้วก็อารมณ์ร้ายได้ไม่ต่างกัน  

 

หรือ  “คุณจะได้รับโชคใหญ่เร็วๆ นี้”  

สังเกตได้ว่าคำทำนายนี้ก็เป็นคำทำนายแบบกว้าง ๆ เนื่องจากไม่ได้ระบุเวลา สถานที่ ไม่ได้บอกว่าจะได้รับโชคอะไร จากที่ไหน เป็นเงินจำนวนกี่บาท

 

แม้จะเป็นคำอธิบายที่กว้างขวางมาก แต่คนกลับเชื่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย นั่นเป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมเติมแต่งให้คำทำนายหมอดู หรือคำอธิบายบุคลิกภาพนั้นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่

 

ความน่าเชื่อถือของผู้ส่งสาร : ถ้าเป็นหมอดูชื่อดังหรือเว็บไซต์การทดสอบบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ  ก็จะส่งผลให้คำพูดเหล่านั้นน่าเชื่อถือตามไปด้วย
 

เนื้อหาบ่งบอกว่า ‘เป็นของเราโดยเฉพาะ’ : ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายที่กว้างขวางแค่ไหน แต่หากผู้พูดมีศิลปะในการพูด หรือระบุสิ่งที่ย้ำว่าคำทำนายนั้น คำอธิบายนั้นเป็นของเราโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการย้ำด้วยวัน เดือน ปี เกิด ที่ต้องเป็นเราเท่านั้น ก็จะทำให้คำทำนายนั้นน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที
 

เนื้อหาเป็นบวกมากเกินไป : หากคำทำนายเหล่านั้นเป็นไปในแง่บวกมาก ๆ มีแนวโน้มว่าคนฟังจะเชื่อมากกว่าคำทำนายในแง่ลบ เพราะใคร ๆ ต่างก็อยากเชื่อว่าอนาคตของเราสดใส
 

บุคลิกภาพของผู้รับสาร : การจะเชื่อหรือไม่เชื่อ โอนอ่อน เอนเอียงตามคำโน้มน้าวได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้รับสารด้วยเช่นกัน หากเป็นบุคคลที่มักจะฟังเสียงคนรอบข้างตลอดเวลาก่อนจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มจะเชื่อคำทำนายมากกว่า หรือหากเป็นคนที่เชื่อเรื่องโชคชะตา เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็จะเชื่อคำทำนายได้อย่างง่ายดาย ดร.เอ็ดเวิร์ด ราทุช (Dr. Edward Ratush) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาเผยว่า หากคนเรากำลังกดดันและมีความทุกข์มากจะทำให้ไวต่อ Barnum Effect ตามไปด้วย 

 

จากปัจจัยข้างต้นทำให้เราเห็นได้ว่า ‘การดูดวง’ ซึ่งทำให้เกิด Barnum Effect นั้นมีทั้งมุมที่ดีและด้านมืด 

 

หากหลงเชื่อจนขาดสติ เราอาจตกเป็นเหยื่อของหมอดูไม่จริงใจได้ แม้ว่าคำทำนายจะเป็นแง่บวก แต่นั่นก็เป็นช่องโหว่ เพราะเป็นด่านแรกที่เปิดโอกาสให้หมอดูใจร้ายใช้คำทำนายสร้างความเชื่อมั่นกับเรา และวกกลับมาควบคุมและหลอกลวงได้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว รู้อีกทีหลายคนต้องเสียเงิน เสียเวลา สูญเสียทุกสิ่งไปหมดสิ้น ซึ่งตัวอย่างของเหตุการณ์เหล่านี้มีให้เห็นได้ทุกวันในข่าวโทรทัศน์ 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.เอ็ดเวิร์ด เผยว่าสมองของมนุษย์เราก็ประหลาดแบบนี้ ทุกคนไวต่อการถูกหลอกลวงด้วย Barnum Effect ได้อย่างง่ายดาย และเขาก็แนะนำว่าการมีสติและตระหนักรู้ต่อคำพูดและคำทำนายเหล่านั้น และหมั่นดูแลจิตใจ ผ่อนคลายจากความเครียดต่างหาก ที่จะช่วยไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ๆ  

 

ในขณะเดียวกัน โลกนี้ไม่ได้มีแค่หมอดูใจร้ายเท่านั้น เพราะบ่อยครั้งที่หมอดูกับลูกดวงก็ได้สร้างบทสนทนาดี ๆ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และคำทำนายของหมอดูก็มีส่วนช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นได้ และเสริมสร้างพลังบวกให้อยู่เสมอ  

 

ในมุมมองของนักจิตวิทยาแล้ว วิธีที่เราจะนำเอาคำทำนายดี ๆ ของหมอดูไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตและไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ คือ หมั่นฟังหู ไว้หู สังเกตว่าทำนายเหล่านั้นเข้าข่าย Barnum Effect มากเกินไปหรือไม่  

 

และตระหนักไว้เสมอว่า ท้ายที่สุดแล้วคำทำนายของหมอดูจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ตัวเรา’ ด้วยเช่นกัน    

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...