

อย่าปล่อยให้ลิ้นเปลี่ยนไป!
Health / Body
22 Apr 2022 - 5 mins read
Health / Body
SHARE
22 Apr 2022 - 5 mins read
ใครจะคิดว่าลิ้น เจ้าอวัยวะชิ้นเล็ก ๆ ที่ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ดูลึกลับเหมือนไม่ค่อยมีคนสนใจ จะมีความสำคัญกว่าที่คิด นอกจากจะใช้พูด ชิม ลิ้มรส สัมผัส ลิ้นยังเป็นศูนย์รวมเส้นประสาทมากมาย ที่สำคัญกว่านั้นยังเป็นสัญญาณแรก ๆ ของความผิดปรกติที่ร่างกายส่งซิกมาบอกเรา ปกติแล้ว “ลิ้นที่มีสุขภาพดี” ต้องมีสีชมพู ไม่ว่าจะโทนเข้มหรืออ่อน มีความชุ่มชื้นพอสมควร ไม่มีติ่งงอกหรือรอยแตกใด ๆ แต่ถ้าวันนี้ลิ้นมีสีแปลกออกไปอาจแปลว่าร่างกายมีความผิดปกติ ลองเช็กแล้วนัดหมอตรวจสุขภาพดีที่สุด
ลิ้นมีฝ้าสีขาว
เป็นปื้นหรือรอยบนลิ้นเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่รู้สาเหตุ อาจบ่งบอกสุขภาพลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร อาจมาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน
- เชื้อราในช่องปาก เป็นผลมาจากเชื้อรา Candida Albicans ซึ่งจะสร้างฝ้าสีขาวบนลิ้นและกระพุ้งแก้ม พบมากในทารกและเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนเป็นเบาหวาน คนใส่ฟันปลอม ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์สูดดมสำหรับโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก (Oral Lichen Planus) เกิดจากการใช้ยาบางชนิด การแพ้โลหะอุดฟัน หรือติดเชื้อตับอักเสบไวรัสซี
- โรคฝ้าขาว (Leukoplakia) เป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปร่วมกับการสูบบุหรี่ ถึงแม้จะไม่อันตราย แต่ในบางกรณีอาจกลายเป็นโรคมะเร็งในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้ชัดเจน
ส่วนถ้าแลบลิ้นแล้วเห็นลิ้นมีสีแดงสด หรือสีแดงแบบสตรอว์เบอร์รี ลองมาหาสาเหตุหลัก ๆ กันหน่อย
- ลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue) เป็นภาวะที่ลิ้นเกิดการอักเสบ ปุ่มบนลิ้นจะหายไป และมีปื้นคล้ายแผนที่เกิดขึ้นที่ด้านบนหรือด้านข้างลิ้น เป็นแล้วจะรู้สึกไม่สบายลิ้นและไวต่อการรับรสเผ็ดหรืออาหารร้อน ๆ ภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายสามารถหายได้เอง
- ขาดวิตามินบี ลิ้นสีแดงอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการขาดวิตามินบี โดยเฉพาะกรดโฟลิก (วิตามินบี 9) และโคบาลามิน (วิตามินบี 12) เมื่อได้รับวิตามินบีอย่างเหมาะสม สุขภาพลิ้นจะกลับมาปกติ
- โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวหนัง หลอดเลือด และต่อมน้ำเหลือง พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้จะทำให้เกิดไข้สูง ผื่นแดง และลิ้นสีแดงอย่างชัดเจน ถ้าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบกุมารแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อสเตรปโตคอกคัส ชนิดเอ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี แต่ปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง เพราะมีการให้ยาปฏิชีวนะป้องกันตั้งแต่เด็กแล้ว
ถ้าลิ้นมีขนและสีดำ
อย่าเพิ่งตกใจ ต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นผลพวงจากการทานยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือเซลล์ผิวตายและสะสมอยู่บนลิ้นเรื่อย ๆ เกิดจากเราไม่แปรงฟันและแปรงลิ้น หรือบางทีบ้วนปากบ่อยครั้งเกินไป กับอีกสาเหตุเกิดจากการผลิตน้ำลายในช่องปากต่ำ จึงไม่มีของเหลวนำพาเซลล์ที่ตายแล้วออกไป แต่กลับเกาะอยู่บนลิ้นของเราแทน จากสาเหตุทั้งหมดทำให้ปุ่มลิ้นรูปด้าย (Filiform Papilae) บนผิวหน้าของลิ้นขยายตัวมากเกินไป จนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมดำ ลิ้นที่มีขนและสีดำเป็นสภาวะทางช่องปากที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่มีความเจ็บปวด ในกรณีของการทานยาแล้วมีผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวสามารถขอคำปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนสุขอนามัยช่องปากไม่ดีแก้ด้วยการแปรงลิ้น พบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษา และดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ เพิ่มความชุ่มชื้นและกำจัดเซลล์ที่ตายออกไป
ลิ้นสีเหลือง
เป็นสีลิ้นที่อันตรายน้อยที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียเติบโตมากเกินไป ซึ่งเป็นผลจากสุขอนามัยทางช่องปากที่ไม่ดี หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ การกินวิตามินบางชนิด หรือโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรักษาหายได้ด้วยตัวเอง ยกเว้นเกิดจากโรคดีซ่านและตับเกิดความเสียหาย จะทำให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นมีไข้ อาเจียน ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา ผิวหรือตาสีเหลือง เจ็บลิ้น และถ้าสีเหลืองไม่หายไปหลังจากสองสัปดาห์ผ่านไป ควรปรึกษาและพบแพทย์ทันที
เคล็ดลับการดูแลรักษาลิ้น
1. แปรงลิ้นของคุณอย่างน้อยวัน 2 ครั้ง ด้วยการใช้ที่ขูดลิ้นเพื่อขจัดสิ่งตกค้างออกจากพื้นผิวลิ้นของคุณเพราะลิ้นเก็บสะสมแบคทีเรียได้ ถ้าไม่ทำความสะอาดจะเป็นบ่อเกิดของกลิ่นปาก การสูญเสียรสชาติ และสีของลิ้นเปลี่ยนไปได้
2. อย่าลืมรักษาความชุ่มชื้น: ถ้าเราดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะหยุดผลิตน้ำลาย ส่งผลให้ระบบกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายออกจากปากทำงานไม่สมบูรณ์ จึงเป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปากและสีของลิ้น ควรพยายามดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวัน
3. บำรุงลิ้นไม่ต่างจากกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ: ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของลิ้น เช่น อาหารที่มีคุณสมบัติต้านจุลชีพ อย่างหัวหอม กระเทียม ขิง และมะพร้าว เพื่อส่งเสริมให้การกำจัดแบคทีเรียอันตรายบนลิ้นทำงานได้ดีเยี่ยม หรืออาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม เนื้อแดง อาหารทะเล และสัตว์ปีก เพื่อสุขภาพลิ้นที่แข็งแรงยิ่งขึ้น