หัวใจเต้นแรง หน้าแดงทุกที ทำไมร่างกายเราถึงเปลี่ยนไปเมื่อมีความรัก

05 Feb 2024 - 3 mins read

Health / Body

Share

หัวใจเต้นตึกตักจนจะทะลุออกจากอก เลือดสูบฉีดจนทำให้หน้าแดงเป็นลูกเชอร์รี เหงื่อไหลผุดพราย มือเย็นเป็นน้ำแข็ง เป็นความตื่นเต้นที่ทำให้รู้สึกดี คืออาการของคนที่กำลังตกหลุมรักหรือได้เห็นหน้าคนที่ชอบ 

 

เคยสังเกตไหมว่า คนมีความรักมักจะไม่เป็นตัวของตัวเอง อะไรที่ไม่เคยเป็นก็จะได้เป็น นอนไม่หลับเพราะคิดถึงคนที่แอบชอบ เพลงรักเชย ๆ กลับหวานจับใจ จากคนไม่คิดอะไร รู้ตัวอีกทีในหัวใจก็มีแต่เธอคนนั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าความรักไม่ใช่แค่เรื่องของหัวใจ แต่ผู้บัญชาการใหญ่คือ ‘สมอง’ ของเรานั่นเอง 

 

 

ช่วงเวลาแห่งความคลั่งรัก 

 

ระยะเวลาของความรักมีหลายช่วง ช่วงที่คนเราไม่เป็นตัวเองและหัวใจว้าวุ่นสุด ๆ คือ 3 เดือนแรกแห่งการตกหลุมรัก 

 

คนที่เราชอบผู้เข้ามาทำให้ใจเต้นแรงนั้นมีสถานะคล้ายกับ ‘ภัยคุกคาม’ อย่างหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้ ระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic) ทำงาน ซึ่งระบบประสาทนี้จะทำงานตอนที่เราเจอกับภัยอันตรายที่เข้ามาคุกคามร่างกายและจิตใจโดยอัตโนมัติ จากนั้นร่างกายก็จะเปิดโหมดพร้อม สู้หรือหนี (Fight or Flight) โดยการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเผชิญกับภัยตรงหน้า อันได้แก่  

 

อะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงจนสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย หลอดเลือดขยายทำให้หน้าแดง ระบบย่อยอาหารทำงานน้อยลง รูม่านตากว้างขึ้น หายใจหอบถี่ พร้อมสำหรับการวิ่งหนีหรือสู้กลับต่อภัยตรงหน้า  

 

คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เปิดโหมดพร้อมสู้ ลดการทำงานของระบบที่ไม่จำเป็นในเวลาคับขัน 

 

เมื่อร่างกายเข้าสู่โหมดสู้หรือหนี โลกทั้งใบราวกับจะหยุดหมุน เราจะหน้าแดงเป็นเชอร์รี่ หัวใจเต้นแรง รู้สึกไม่ค่อยอยากกินอาหารและตื่นเต้นเป็นพิเศษ บางคนก็เป็นสายสู้ลุยเข้าไปจีบก่อน เข้าไปอยู่ใกล้ ส่วนบางคนก็เลือกที่จะวิ่งหนี หลบหน้า เพราะเขินอาย 

 

ช่วงต่อมาคืออาการของคน ‘คลั่งรัก’ ความตื่นเต้นแบบอัตโนมัติแปรเปลี่ยนเป็นความรักที่ซึมลึกเข้าไปในหัวใจที่เปลี่ยนโลกทั้งใบให้เป็นสีชมพู ระบบการให้รางวัลของสมอง (The Brain Reward System) เริ่มทำงานและหลั่งฮอร์โมน โดปามีน (Dopamine) ออกมา ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุขและพึงพอใจเมื่อได้อยู่ใกล้คนที่ชอบ กระปรี้กระเปร่าเหมือนได้ดื่มยาชูกำลัง จนอาจทำให้รู้สึกเสพติดความรู้สึกดีแบบนี้ไปเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ช่วงแรก ๆ ผู้คนจึงตกอยู่ในสถานะคนคลั่งรัก คิดถึงกันทั้งยามนอนและยามตื่น อยากจะอยู่ใกล้ตลอดเวลา ความสัมพันธ์นั้นจะเต็มไปด้วยความหลงใหล

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลไกประสาทที่ทำหน้าที่ประเมินสิ่งต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณก็จะปิดตัวลงไปด้วย ทำให้เราตกอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘ความรักทำให้ตาบอด’ 

  

ระดับฮอร์โมน เซโรโทนิน (Serotonin) จะลดน้อยลง ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนแห่งความสงบสุขที่จะช่วยปรับสมดุลให้อารมณ์ของเราเป็นปกติ ทำให้กินและนอนหลับอย่างปกติสุข เมื่อเซโรโทนินในคนคลั่งรักลดน้อยลงจะทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่าย ส่งผลทำให้ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ลดลง อาจทำให้เกิดอาการหลงรักจนหน้ามืดตามัวจนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองไม่เห็น Red Flag หรือ สัญญาณอันตรายที่เตือนว่าต้องอยู่ให้ห่างจากคนคนนั้น อาจไปหลงรักคนนิสัยไม่ดีจนทำให้ใจเจ็บได้ 

 

ในช่วงเวลาแห่งความไม่ปกตินี้ บางฮอร์โมนหลั่งเยอะขึ้น บางฮอร์โมนหลั่งลดลง ยังเป็นช่วงที่ทำให้คนคลั่งรักเกิดพลังพิเศษที่จะอยากจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากมายเพื่อสื่อรักและระบายความในใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเขียนกวี แต่งเพลง วาดรูป สรรหาคำพูดหวาน ๆ มาบอกรักกัน ฯลฯ

 

นักจิตวิทยาเผยว่าเราจะเป็นคนคลั่งรักกันอยู่แบบนี้ประมาณ 3 เดือนแรก หลังจากนั้นร่างกายก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติ ทำให้คู่รักหลายคนเริ่มหมดรักกันในช่วงนี้ บางคู่หมดช่วงโปรโมชั่นที่จะเอาอกเอาใจ บางคู่เริ่มตัดสินใจอยากจบความสัมพันธ์ ส่วนบางคู่กลับรู้สึกผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น 

 

 

จากความหลงใหลเปลี่ยนเป็น ‘ความรัก’ 

 

หลังจากช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น ความหลงใหลในตอนแรกก็เริ่มเปลี่ยนเป็นความผูกพัน เป็นรักที่ลึกซึ้งขึ้น  

 

เมื่อเราได้อยู่ใกล้ชิด สนิทสนม หรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก สมองจะหลั่งฮอร์โมน ออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของคุณแม่ลูกอ่อนออกมา ซึ่งทำให้รู้สึกปลอดภัยและสงบเมื่อได้อยู่ใกล้อีกฝ่าย อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยความเป็นห่วงเป็นใยและหวงแหนคนรักของเรามากขึ้น ฮอร์โมนอีกชนิดที่เกิดขึ้นคือ วาโซเพรสซิน (Vasopressin) ฮอร์โมนแห่งสัญชาตญาณรักเดียวใจเดียว ที่ทำให้เราอยากใช้ชีวิตกับคนคนนั้นตลอดไป  

 

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คู่รักหลายคู่ที่คบกันไปนาน ๆ ความเร่าร้อน ตื่นเต้นในช่วงแรกจะหายไป ในขณะเดียวกันกลับรักมากขึ้น แต่รักนั้นเป็นรักแบบมิตรภาพที่เป็นห่วงเป็นใยกันแทน นอกจากคู่รักแล้ว ฮอร์โมนเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิท ครอบครัว ในทุกความสัมพันธ์ที่มีมิตรภาพเป็นส่วนผสมอีกด้วย  

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจนถึงบั้นปลายของชีวิต ความสัมพันธ์ของทุกคู่จะราบเรียบ ไม่ตื่นเต้นหวือหวาได้อีกเลยเสมอไป เพราะในปี 2011 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stony Brook ในนิวยอร์ก ศึกษาประเด็นนี้โดยการสแกน MRI ส่องดูการทำงานในสมองของคู่รักที่แต่งงานมาเป็นเวลานานเฉลี่ย 21 ปี พบว่าสมองของพวกเขายังหลั่งโดปามีน ซึ่งทำให้มีความสุขและตื่นเต้นอยู่เสมอ  

 

นั่นจึงสรุปได้ว่าไม่ว่าคู่รักจะคบกันมานานแค่ไหน แต่ถ้าหมั่นเติมความหวานให้ความสัมพันธ์บ่อย ๆ ก็ยังใจเต้นตึกตัก รู้สึกคลั่งรักได้เหมือนวันแรก  

 

ส่วนจะทำอย่างไรนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วล่ะ  

 

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...