อ้วน ผอม ดูแค่น้ำหนักตัวไม่พอ ชวนวัดรอบเอว คำนวณดัชนีมวลกลม วิธีใหม่ใช้ตรวจสุขภาพแทน BMI

06 Jan 2025 - 5 mins read

Health / Body

Share

ส่วนสูงเท่านี้ ต้องมีน้ำหนักตัวเท่าไร ถึงจะได้ชื่อว่ามีรูปร่างสมส่วนกำลังดี ?

 

หลาย ๆ คนที่สนใจดูแลสุขภาพอยู่แล้วคงตอบได้ไม่ยากว่า ก็ใช้สูตรคำนวณค่า BMI ดูสิ ง่ายนิดเดียว

 

ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ถือเป็นมาตรวัดในการประเมินสมดุลระหว่างน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อประมวลผลรูปร่างตามเกณฑ์ที่มีตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป นำไปสู่การประเมินสถานะสุขภาพ และการดูแลป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความอ้วนหรือผอมของแต่ละบุคคล

 

แต่รู้หรือไม่ว่า ในอนาคตอันใกล้ การประเมินสถานะสุขภาพด้วย BMI อาจจะเก่าเกินไปแล้ว

 

เพราะตอนนี้ในวงการแพทย์กำลังตื่นตัวกับการประเมินสถานะสุขภาพแบบใหม่อย่าง BRI หรือ Body Roundness Index ที่ยังไม่มีคำจำกัดความในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ โดย หมอผิง - พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและแพทย์วุฒิบัตร Anti-Aging Medicine (สหรัฐอเมริกา) ในฐานะคุณหมอคนแรก ๆ ที่กำลังสนใจเรื่องนี้อยู่ ได้ตั้งชื่อเล่นไว้เรียก BRI ว่า ‘ดัชนีมวลกลม’

 

เหตุผลแห่งการเกิดขึ้นของดัชนีมวลกลมนั้นเป็นเพราะดัชนีมวลกายมีปัญหาแอบแฝงอยู่นั่นเอง

 

กล่าวคือ สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง นั่นแปลว่า ดัชนีมวลกายใช้น้ำหนักกับส่วนสูงมาเป็นตัวชี้วัดสุขภาพเท่านั้น ในขณะที่น้ำหนักของคนเราจริง ๆ มาจากทั้งกล้ามเนื้อและไขมัน 

 

ดังนั้นจึงพบว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น นักกีฬา นักเพาะกายที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง ร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ จึงมีน้ำหนักตัวมากเป็นธรรมดา เมื่อนำไปคำนวณค่า BMI จึงอาจเข้าเกณฑ์ท้วมหรืออ้วน

 

ในขณะที่คนที่มีรูปร่าง ‘ผอมแต่อ้วน’ หมายถึง คนที่ดูจากภายนอกมีรูปร่างบอบบาง แขนขาเล็กได้สัดส่วน แต่ช่วงกลางของลำตัวอุดมไปด้วยไขมัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผอมแต่มีพุง หากวัดดัชนีมวลกาย บุคคลเหล่านี้ย่อมเข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีสุขภาพดี ที่อาจส่งผลให้คนที่มีรูปร่างผอม (แบบมีพุง) มีความสุขกับการกินโดยไม่ได้คำนึงถึงโภชนาการเท่าที่ควร เพราะกินเท่าไรก็ไม่อ้วน แค่มีพุงนิดหน่อยเท่านั้นเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วไขมันในช่องท้องหรือไขมันรอบเอวนั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพยิ่งกว่าไขมันที่ไปสะสมในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเสียอีก

 

เนื่องจากไขมันในช่องท้อง หรือ Visceral Fat จะหลั่งกรดไขมันและสารที่ก่อการอักเสบ เพิ่มการสะสมของไขมันในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ฯลฯ จึงเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไปจนถึงภาวะอัลไซเมอร์ได้ ในขณะที่ไขมันในต้นขาหรือต้นแขน ซึ่งจัดเป็นไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย 

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ป่วยโรคตับ โรคไตที่มีภาวะบวมน้ำ อาจมีค่า BMI สูงได้โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนก็ได้ หรือผู้สูงอายุที่มีกล้ามเนื้อน้อยแต่ไขมันมาก อาจมีค่า BMI ต่ำ แต่อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่นกัน

 

ดังนั้น ในการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยให้ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น แพทย์จึงมักใช้ค่า BMI ร่วมกับเส้นรอบเอว (Waist Circumference - WC) และอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก (Waist to Hip Ratio - WHR) เป็นค่าที่นิยมใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการพิจารณาจากเกณฑ์ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

 

·      เมื่อมีเส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และเกิน 80 เซนติเมตรในผู้หญิง

·      ความดันโลหิตปกติ มากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือกำลังได้รับยาโรคความดันโลหิตสูง

·      ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือกกำลังได้รับยารักษาโรคไขมันในเลือดสูง

·      ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

·      มีระดับ HDL หรือไขมันดี น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และ น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง

 

จะเห็นได้ว่าความยาวเส้นรอบเอวส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด Diana M. Thomas อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์จาก United States Military Academy West Point จึงคิดค้นสูตรคำนวณ BRI ขึ้น โดยใช้เส้นรอบเอวและสะโพกมาคำนวณร่วมด้วย จึงช่วยให้เห็นภาพไขมันที่กระจายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น และเป็นการวัดสุขภาพที่เจาะจงรายบุคคลมากกว่าเดิม

 

การหาค่า BRI เริ่มจากการ วัดส่วนสูง โดยยืนหลังพิงผนังโดยไม่สวมรองเท้า ใช้สายวัดวัดจากพื้นถึงกลางศีรษะ, วัดเส้นรอบเอว หาจุดที่แคบที่สุดของเอว ซึ่งปกติจะอยู่เหนือสะดือเล็กน้อย และ วัดเส้นรอบสะโพก เพื่อหาส่วนที่กว้างที่สุดของสะโพก

 

จากนั้นกรอกส่วนสูง เส้นรอบเอว เส้นรอบสะโพก และน้ำหนักตัวในลิงค์นี้ https://webfce.com/bri-calculator/ ได้เลย

 

ค่า BRI จะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 16 โดยตีค่าได้ดังนี้

 

  • ค่า BRI ต่ำ (ใกล้เคียงกับ 1) บ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันน้อย และมีสัดส่วนร่างกายที่มีสุขภาพดี แต่ในขณะเดียวกัน ค่า BRI ต่ำก็อาจหมายถึงว่า คุณน้ำหนักน้อยเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน
  • ค่า BRI ปานกลาง บ่งชี้ว่าสัดส่วนร่างกายโดยรวมสมดุลดี มีไขมันปานกลาง มักเป็นค่าที่บ่งบอกถึงการมีสุขภาพดีที่สุด
  • ค่า BRI สูง (ใกล้เคียงกับ 16) บ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันสูง โดยเฉพาะมีภาวะไขมันช่องท้องอยู่มาก สุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโรคอ้วน

 

ทั้งนี้ งานวิจัยตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2024 ในนิตยสาร Nutrition Obesity and Exercise รายงานถึงผลการคำนวณค่า BRI ในผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนเกือบ 33,000 คน พบว่า ค่า BRI สูงมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) หรือภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ อาจเกิดหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ มักพบในคนที่มีไขมันช่องท้องสูง

 

ดังนั้น ผู้ที่มีค่า BRI เกินเกณฑ์มาตรฐานจึงควรมุ่งเน้นไปที่การลดเส้นรอบเอวเป็นสำคัญ ด้วยการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้นทั้งในเรื่องของอาหารการกินและการออกกำลังกาย โดยสามารถปฏิบัติตาม 7 กฎ ‘ลดและเพิ่ม’ ดังต่อไปนี้

 

1. ลดการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและแป้งขัดขาว เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยวเส้นขาว ขนมปังขาว

 

2. ลดการบริโภคแอลกอฮอล์

 

3. ลดการบริโภคอาหารแปรรูป (Processed Food) เช่น ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอศกรีม เยลลี ชานม ฯลฯ

 

4. เพิ่มการบริโภคอาหารที่อุดมด้วยไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้ เพื่อเสริมประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ให้แข็งแรงขึ้น ช่วยให้การเผาผลาญดีขึ้น

 

5. เพิ่มโปรตีนดีในมื้ออาหาร เช่น ปลา ไก่ ไข่ขาว เต้าหู้ ถั่ว ฯลฯ ซึ่งโปรตีนเหล่านี้กินแล้วอยู่ท้อง จึงทำให้ไม่รู้สึกโหยอาหาร

 

6. เพิ่มการออกกำลังกายแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นแอโรบิก คาร์ดิโอ และ Weight Training เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เสริมด้วยการออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) ที่ใช้หลักการกายบริหารแบบหนักสลับเบา เพื่อเน้นให้ร่างกายทะลุขีดจำกัด ช่วยในเรื่องการเผาผลาญระดับสูงมากกว่าปกติและลดน้ำหนักได้อย่างเห็นผล

 

7. เพิ่มชั่วโมงในการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะการพักผ่อนไม่พอส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้นส่งผลให้การสะสมของไขมันบริเวณรอบเอวมากขึ้นตามไปด้วย

 

ไม่ว่าดัชนีชี้วัดสุขภาพจะเปลี่ยนจาก BMI เป็น BRI หรือไม่ก็ตาม การปฏิบัติตามทั้ง 7 วิธีดังกล่าวเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้อย่างเป็นธรรมชาติในสมดุลที่พอเหมาะพอดี นำไปสู่สุขภาพกายและใจที่แข็งแรงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งดัชนีใด ๆ

 

อ้างอิง

  • Kate Schweitzer.Could the Body Roundness Index One Day Replace the BMI?. https://bit.ly/4iU80iE
  • Gigen Mammoser.Is Body Roundness Index the New BMI? What It Says About Your Health. https://bit.ly/40d7MuL
  • Singing Being PODCAST.BRI ดัชนีมวลกลม ตัวชี้วัดสุขภาพใหม่มาแรง!. https://bit.ly/4fuq9Rb
  • Sritala Supapong.BRI ดัชนีความกลม ตัวชี้วัดสุขภาพแบบใหม่ที่ว่ากันว่าแม่นกว่า BMI. https://bit.ly/3PaCyPC

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...