รู้จัก ‘ไบโคเกิร์ต’ โยเกิร์ตที่แปรรูปเนื้อมะพร้าวน้ำหอมหนาด้วยโพรไบโอติกส์ที่ดีต่อร่างกาย

29 Sep 2023 - 7 mins read

Health / Body

Share

 

เชื่อว่าในปัจจุบัน น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ‘โพรไบโอติกส์’ (Probiotics) จุลินทรีย์มีประโยชน์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารหมักดองหลายชนิด เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ มิโสะ ฯลฯ 

 

เหตุผลที่กินโพรไบโอติกส์แล้วดีต่อร่างกาย เพราะจุลินทรีย์มีชีวิตเหล่านี้จะเข้าไปจับอยู่บริเวณเยื่อบุลำไส้ เพื่อผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ จึงช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ ดูแลระบบทางเดินอาหารให้เป็นปกติ เพื่อดูดซึมวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายได้อย่างประสิทธิภาพ รักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

ดังนั้น ลำไส้ที่มีโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้ปัจจุบันมีโพรไบโอติกส์ให้เลือกบริโภคหลายรูปแบบ ทั้งแบบผงแป้ง แคปซูล ยาเม็ดเคี้ยว สารละลาย ฯลฯ โดยมีการเลือกใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ต่างชนิดกันออกไป

 

โพรไบโอติกส์ในแต่ละรูปแบบที่ยกตัวอย่างมาเปรียบเหมือนเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้หลับ กว่าจะเริ่มทำงานก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่หลังจากเดินทางไปถึงลำไส้แล้ว ซึ่งไม่กระฉับกระเฉงเท่าโพรไบโอติกส์มีชีวิตในอาหารอย่างโยเกิร์ต โดยเฉพาะโยเกิร์ตที่ทำจากเนื้อมะพร้าวออร์แกนิกอย่าง ไบโคเกิร์ต (Bicogurt) ที่เลือกใช้แบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ที่มีอัตราการเติบโตแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ในแต่ละปี 

 

ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการกินไบโคเกิร์ต คือ เชื้อโพรไบโอติกส์จะเข้าไปบำรุงและซ่อมแซมสนับสนุนการทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดู 

 

“ไบโคเกิร์ตต่างจากโพรไบโอติกส์เชื้อแห้งแบบซองซึ่งมีอาหารเลี้ยงเชื้อข้างในปริมาณนึง แต่ก็เป็นเชื้อที่ถูกทำให้หลับ ส่วนจุลินทรีย์ที่ใช้ในไบโคเกิร์ตเป็นเชื้อมีชีวิตที่เจริญในเนื้อมะพร้าว ซึ่งเป็นของโปรดของจุลินทรีย์ โพรไบโอติกส์ในไบโคเกิร์ตจึงแอ็กทีฟ ตื่นอยู่ตลอด เปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับว่าจุลินทรีย์ในไบโคเกิร์ตสะพายเป้เสบียงติดตัวเข้าไปในร่างกายพร้อมสรรพ พอไปถึงลำไส้ก็พร้อมที่จะก่อร่างสร้างเมือง ด้วยการยึดเกาะผนังลำไส้ และเริ่มต้นทำงานได้ทันที” 

 

ภาวิดา กฤตศรัณย์ ผู้ที่สมัครใจเรียกตัวเองว่า “ป้าวีด้า” นักวิ่งมาราธอนที่ต้องเผชิญกับอาการป่วยจากภูมิแพ้อาหารแฝง จนต้องหาทางเอาชนะอาการแพ้เหล่านั้นด้วยการปรับวิธีการกิน อยู่ ใช้ชีวิต จนได้ผลลัพธ์เป็นการคิดค้นโยเกิร์ตสูตรพิเศษจากเนื้อมะพร้าวที่ชาวสวนไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ เล่าถึงการทำงานของโพรไบโอติกส์ใน ‘ไบโคเกิร์ต’ ที่เธอผลิตเองกับมือ ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น 

ป้าวีด้า - ภาวิดา กฤตศรัณย์ 

เจ้าของแบรนด์วัตถุดิบนิยม ผู้ผลิตไบโคเกิร์ต

 

“โพรไบโอติกส์ในไบโคเกิร์ตทำหน้าที่สร้างกรดอะมิโนจำเป็นที่มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ขึ้นบริเวณพื้นที่อวัยวะลำไส้กับกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการเข้ายึดพื้นที่ด้วยการสร้างสภาวะที่ไม่เป็นมิตรให้กับศัตรูของร่างกาย ทำให้จุลินทรีย์ตัวร้ายไม่สามารถอาศัยอยู่ได้และค่อย ๆ หายไป ดังนั้น เมื่อจุลินทรีย์ดีเติบโตและแข็งแรงก็จะทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานของระบบสารสื่อประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน”

 

ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำถึงขั้นพิชิตการแข่งวิ่งมาราธอนมาแล้วหลายรายการ แต่กลับต้องมาเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนานกว่า 15 ปี โดยเมื่อผ่านการทดสอบอย่างละเอียด เธอพบว่าตนเองแพ้ Dairy Product ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนม เนย ไข่ขาว ไอศกรีม รวมถึงอาหารหมักดอง เพราะแพ้ยีสต์บางตัว ภาวิดาจึงหันกลับมาสำรวจพฤติกรรมตัวเอง นักออกกำลังกายตัวยงจึงพบว่าเธอมีจุดที่พลาดมหันต์อันเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรัง

 

“พฤติกรรมของตัวเองที่แย่ คือ กินอาหารข้างทางเป็นประจำ จึงไม่เคยรู้ที่มาของอาหารว่าเขาใช้น้ำมันอะไรผัดกับข้าว เขาล้างพริกกับกระเทียมบ้างรึเปล่า รวมถึงการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เข้านอนตอนตี 2-3 เป็นประจำ ทำให้ Growth Hormone ไม่ได้ทำหน้าที่ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และไม่มีการขับถ่ายสารพิษออกมาเลย ร่างกายจึงประท้วงด้วยการปะทุออกมาเป็นผื่นคันทั่วตัว”

 

แน่นอนว่าขั้นตอนแรก ๆ ของการรักษาคือ การพบแพทย์ เธอผ่านการรักษาจากแพทย์มาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย รวมถึงแพทย์แผนจีน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนใดก็ตาม เมื่อได้รับยาอาการแพ้ก็จะทุเลา แต่เมื่อยาหมดก็กลับมาเป็นอีก ดังนั้น ภาวิดาจึงหันมาปรับพฤติกรรมด้านการกินแทน โดยให้ความสำคัญกับการรู้ที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของไบโคเกิร์ต อย่าง ‘รู้มากขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น’ 

 

“ด้วยความที่เราเป็นนักวิ่ง ปกติจะดื่มน้ำเกลือแร่ที่มีขายทั่วไป ซึ่งคุณหมอสั่งห้ามกิน เพราะมีสารปรุงแต่งทั้งสี สารเคมีต่าง ๆ และมียีสต์ในกระบวนการผลิต คุณหมอแนะนำให้ดื่มน้ำมะพร้าวน้ำหอมแทน แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ทำให้ต้องเสาะหาเกษตรกรสวนมะพร้าวที่ทำงานแบบออร์แกนิกจริง ๆ จากนั้นก็ผูกปิ่นโตซื้อน้ำมะพร้าวน้ำหอมดื่มเป็นประจำ” 

 

น้ำมะพร้าวน้ำหอมจากสวนออร์แกนิกในจังหวัดราชบุรีให้รสชาติที่หวานบ้าง ไม่หวานบ้าง วันหนึ่ง ภาวิดาจึงหาโอกาสไปเยี่ยมชมสวนมะพร้าวเพื่อสำรวจวิถีอินทรีย์ด้วยตาตัวเอง แล้วเธอก็ได้พบกับความจริงว่า การจะได้มาซึ่งน้ำมะพร้าวที่หอมหวานถูกใจเธอ เกษตรกรต้องรอให้มะพร้าวแก่ได้ที่เพื่อได้มาซึ่งน้ำมะพร้าวรสชาติหอมหวานถูกใจผู้บริโภค ส่วนเนื้อที่ทั้งหนาและแข็งถูกทิ้งให้คาอยู่ในลูกมะพร้าว โดยวางกองพะเนินรอถูกขนไปทิ้งสถานเดียว

ภาวิดากับกองมะพร้าวเหลือทิ้ง

ภาพ: ภาวิดา กฤตศรัณย์

 

“ภาพที่เห็นทำให้ตัวเองรู้สึกผิดบาปมาก การอยากกินน้ำมะพร้าวรสหวานเป็นการกดดันให้เกษตรกรต้องผลิตให้ตรงใจผู้บริโภค แต่เราไม่เคยรู้เบื้องหลังเลยว่าจะทำให้มีผลผลิตบางส่วนถูกทิ้งเยอะขนาดนี้” ด้วยความเสียดายเนื้อมะพร้าวอินทรีย์คุณภาพดีที่อุดมไปด้วยประโยชน์ยิ่งกว่าน้ำมะพร้าว เธอจึงนำกลับมาคิดเป็นการบ้านว่าจะสามารถนำเนื้อมะพร้าวเหล่านี้มาแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ที่ไม่เพิ่มภาระให้เกษตรกร แถมยังสร้างคุณค่าให้เนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งกลับมามีคุณค่าอย่างที่ควรจะเป็น

เกษตรกรคว้านเนื้อมะพร้าวก่อนส่งต่อให้ภาวิดานำมาหมักเป็นไบโคเกิร์ต

ภาพ: ภาวิดา กฤตศรัณย์

 

“เราเลยนึกถึงโยเกิร์ตขึ้นมา จึงไปปรึกษาคุณหมอว่าอยากทำโยเกิร์ตจากมะพร้าวกินเองได้ไหม หมอสนับสนุนให้ทำได้เลย เราเลยขอชื่อเชื้อแบคทีเรียหลาย ๆ ชื่อจากคุณหมอเพื่อมาทดลองทำ จนสุดท้ายมาสรุปที่จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ 6 สายพันธุ์ ซึ่งกระบวนการผลิตก็เป็นแบบโฮมเมดง่าย ๆ ใช้แค่เวลา อากาศ และอุณหภูมิเป็นตัวทำให้เชื้อเดิน โยเกิร์ตเป็นอาหารที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนเลย เพียงแค่ต้องได้วัตถุดิบที่ดี สะอาด ปลอดภัย และความสามารถในการควบคุมเชื้อได้ดีระดับนึง” 

 

ผลลัพธ์ของการทดลองกินโยเกิร์ตมะพร้าวผลิตด้วยมือตัวเองอย่างต่อเนื่องนาน 8 เดือน บวกกับการมีวินัยในการเลือกรับประทานอาหารที่สะอาดและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้ภาวิดาค่อย ๆ รู้สึกว่าร่างกายสะอาด เบากาย และมีกำลังมากขึ้น 

 

“เรารู้สึกได้ว่าร่างกายสดชื่นขึ้นเร็วมาก แป๊บเดียวก็ซ่อมแซมได้เอง เลยอยากฝากถึงคนที่มีอาการเจ็บป่วยว่าอย่าเพิ่งท้อแท้ ลองปรับปรุงตัวด้วยการให้อาหารดี ๆ กับตัวเอง ร่างกายก็จะฟื้นฟูและดีขึ้นในที่สุด”

 

และเพราะอยากแจกจ่ายเคล็ดลับสุขภาพดีสู่ผู้คน ภาวิดาจึงผลิตไบโคเกิร์ตขายตามวาระที่เหมาะสม โดยใช้วิธีผลิตตามยอดพรีออเดอร์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีขยะเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด ซึ่งหลังจากเกษตรกรคว้านเนื้อมะพร้าวเพื่อแปรรูปให้ไบโคเกิร์ตแล้ว จะนำส่วนที่เป็นลูกเขียวไปถมดิน อีกส่วนที่เป็นกะลานำไปเผาถ่าน นำขี้เถ้ามาปรับปรุงหน้าดิน หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาต้มน้ำตาลมะพร้าว โดยไม่ต้องใช้ถ่านฟืนจากต้นไม้ การเกิดขึ้นของไบโคเกิร์ตจึงเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้และนำไปต่อยอดได้

 

ทั้งนี้ ไบโคเกิร์ตมีให้เลือก 2 สูตร คือ ‘หนักแน่น’ เน้นเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ‘หลักแหลม’ ช่วยลดเครียด ลดอาการซึมเศร้า และเสริมความจำ ซึ่งภาวิดายังคงเน้นย้ำว่า นอกจากการเติมโพรไบโอติกส์เพื่อเสริมจุลินทรีย์ดีเข้าไปสนับสนุนการทำงานของร่างกาย สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะได้ผลลัพธ์เป็นสุขภาพที่แข็งแรง

 

“ทุกองค์ประกอบต้องทำควบคู่กัน ถ้าเราเลือกกินแต่อาหารดี ๆ แต่ลำไส้ไม่สะอาด ไม่แข็งแรง การดูดซึมสารอาหารก็ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่ไบโคเกิร์ตทำเป็นการเติมเชื้อจุลินทรีย์ตัวดีเข้าไปในร่างกาย โดยจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วขึ้นสำหรับคนที่ไม่สบาย ส่วนคนที่แข็งแรงอยู่แล้ว จุลินทรีย์ที่ดีจะช่วยยืดอายุอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำให้การทำงานลื่นไหล เหมือนหัวเทียนของรถยนต์ ถ้าหัวเทียนสะอาด ทำงานได้ดีไม่มีติดขัด เครื่องยนต์ก็ไม่กระชากจึงช่วยยืดอายุรถให้ใช้งานได้ยาวนาน เช่นเดียวกับร่างกายที่มีสุขภาพดี โพรไบโอติกส์ทำงานสมบูรณ์ อวัยวะต่าง ๆ ก็ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะมีจุลินทรีย์ธรรมชาติช่วยทำงาน” 

 

และนอกจากไบโคเกิร์ตแล้ว แบรนด์วัตถุดิบนิยมยังนำเนื้อมะพร้าวมาแปรรูปเป็นอีกหนึ่งอาหารทานอร่อยที่ดีต่อสุขภาพอย่าง แหนมมะพร้าว ที่ภาวิดาให้ชื่อว่า แหนมมะ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า FerCo (Fermentation Coconut) โดยโปรเจกต์นี้เป็นความร่วมมือกับ เชฟโน้ต - อธิป สโมสร และ Gardener House สวนมะพร้าวอินทรีย์ที่ดำเนินการนำเนื้อมะพร้าวอีกส่วนที่ไม่สามารถนำไปทำไบโคเกิร์ตได้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแหนมมะพร้าวนั้นเกษตรกรสามารถลงมือทำได้เอง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของภาวิดาในการสนับสนุนเกษตรกรไทย ลดการปล่อยขยะสู่สิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นที่เคยถูกมองข้ามให้เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

ทำความรู้จักไบโคเกิร์ตเพิ่มเติมได้ที่ FB : วัตถุดิบนิยม

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...