ก่อนจะหยุด เคยสุดมาก่อน ชวนคุยกับ ‘ชาคริต แย้มนาม’ ในวันที่ชีวิตดีเพราะมีสติและนั่งสมาธิ

28 Oct 2024 - 7 mins read

Better Life / People

Share

เพราะใช้ชีวิตแบบ ‘สุด ๆ’ มาตั้งแต่อายุสิบกว่า ‘ความสงบ’ จึงกลายเป็นสิ่งที่ ‘ชาคริต แย้มนาม’ ในวัย 46 ปีปรารถนา 

 

เบื้องหลังจอทีวีและข่าวซุบซิบดารา น้อยคนนักจะรู้ว่าชาคริตมีอีกมุมที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็น ใครจะรู้ว่าระหว่างจิบกาแฟ เขากำลังกำหนดจิต ยกหนอ…ดื่มหนอ…วางหนอ… ใครจะรู้ว่าวันถ่ายละคร เขาใช้เวลาช่วงสั้น ๆ ระหว่างพักกองเพื่อทำสมาธิ ใครกันจะรู้ว่าก่อนนอนทุกคืนเขาต้องเปิดบทสวดพระธรรมจักรฟังจนผลอยหลับไป และน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ‘สมาธิ’ นั้นช่วยชีวิตของชายที่ชื่อชาคริตเอาไว้หลายครั้ง 

 

ในบ้านหลังใหม่ของเขาเผยให้เห็น ‘ความศรัทธา’ ของเจ้าของบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกมุม ด้านหน้าสวนมีองค์พระเศรษฐีนวโกฏิ 9 พระพักตร์ตั้งตระหง่านเป็นเทวดาประจำบ้าน พ้นธรณีประตูเข้ามาในบ้านที่อบอุ่นด้วยไม้เก่า พบภาพวาดพระพิฆเนศอันวิจิตรแขวนเอาไว้ ระหว่างทางขึ้นชั้นสองมีรูปปั้นพระแม่สุรัสวดีงานหินอ่อนผสมเรซิ่นจากอินเดียตั้งอยู่ และสุดปลายบันไดด้านบนมีรูปปั้นพระพิฆเนศให้สักการะ ก่อนจะผ่านทางเดินทอดยาวที่เผยให้เห็นห้องพระด้านขวามือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขานั่งสมาธิเป็นประจำ 

 

ชาคริตคนที่กำลังนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่ตรงหน้านี้ ที่เราจะมาทำความรู้จักกับเขาอีกครั้ง เขาค่อย ๆ เล่าเรื่องและพาเราย้อนไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนให้เขามีชีวิตที่เปี่ยมด้วยสติและความสงบเช่นทุกวันนี้ 

 

ผมเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่อนุบาล ซึ่งในโรงเรียนมีหลายชาติ ศาสนา อยู่รวมกัน ซึ่งผมเป็นคนสายกลาง ไหว้พระได้ เข้าโบสถ์ได้ มีเพื่อนเป็นมุสลิมด้วย เราเชื่อว่าทุกอย่างคือคำสอนเพื่อให้มีการดำเนินชีวิตที่ดี แต่เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ เราไม่อินเรื่องศาสนาเลย จะเป็นพวก Atheist คือไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่ ที่บ้านชอบทำบุญแต่ไม่เคยปลูกฝังให้ต้องเข้าวัดตลอดเวลา” เขาเริ่มเล่าให้เราฟังเมื่อถามถึงเรื่องความศรัทธาในวัยเด็ก

 

“ตอนเด็ก ๆ เคยมีคนทักว่ามีองค์พระพิฆเนศอยู่ด้วย เราก็นึกในใจว่ามีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ ยังไม่เก็ทเท่าไหร่ จนกระทั่งไปที่ไหนใครก็ทัก ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ได้เข้าวงการบันเทิง เขาไม่ได้ทักเพราะเราเป็นนักแสดงแน่ๆ เราเคยไปวัดแขกกับคุณแม่ ไปทีไรก็จะมีคนมาพูดภาษาแปลก ๆ ใส่ตลอด คนเขาบอกว่าท่านมาโปรด คอยคุ้มครอง พอตอนวัยรุ่นเราอยากเจ้าชู้ ของขลังแรกที่รู้จักคือขุนแผน น้าชายสะสมพระเยอะ เราเลยขอขุนแผนไว้ไปจีบสาว สุดท้ายน้าหลอกเรา ให้พระพิฆเนศมาแทน (หัวเราะ)” 

 

“ตั้งแต่เด็ก เวลาไปไหนคนก็ให้พระพิฆเนศ อย่างที่เห็นในห้องพระก็จะมีเยอะพอสมควร ซึ่งเราเป็นคนไม่เช่าพระ ที่เห็นทั้งหมดคือได้มาเอง ได้มาจากทำบุญ งานกฐิน สร้างวัด สร้างโบสถ์ แต่ส่วนใหญ่จะมีคนให้มา ตัวเราดูพระไม่เป็น แต่เราก็เชื่อเรื่องของการคิดดี ทำดี เรื่องการปฏิบัติ”

 

เริ่มสนใจ ‘ศาสนา’ จริงจังตั้งแต่ตอนไหน

“ตอนไปเรียนเมืองนอกก็ห่างจากศาสนาพุทธ ซึ่งคือศาสนาของบ้านเรา เริ่มรู้สึกว่าเราก็หัวดำ เราก็เป็นคนไทยนี่หว่า พอกลับไทย เริ่มทำงานได้สักพัก เลยเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับเจ้าชายสิทธัตถะก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้า เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนนั้นคิโนะคุนิยะเพิ่งเปิดที่เอ็มโพเรียม วัน ๆ เราก็ขลุกอยู่แต่ในนั้น ทั้งศาสนาพุทธ ตะวันตก เซน ปรัชญา ผมอ่านได้หมด ในขณะเดียวกันถ้ามีที่ไหนมาให้ร่วมบุญ ไม่ว่าจะเป็นสร้างวัด ทำบุญโลงศพ ช่วยเด็กกำพร้า ทำบุญโรงพยาบาล เราก็ช่วยมาตลอด ตอนนั้นยังสวดมนต์ไม่เป็นนะ ก็แค่ นะโม ตัสสะ ภะ คะวะโต ไม่ได้สวดเป็นเรื่องเป็นราว เรียกได้ว่าอ่านภาษาไทยยังไม่ได้เลย การสวดมนต์คือหมดสิทธิ์”

 

จากคนสวดมนต์ไม่เป็นมาสู่การปฏิบัติจริงจังได้อย่างไร 

“ได้เจอกับพี่ กิ๊ก - มยุริญ เขาเป็นคนแรก ๆ เลยที่ชวนเราไปนั่งสมาธิ เพราะเขาเห็นว่าเราเองก็เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่สนุกกับชีวิต ใช้ชีวิตคุ้มมาก ใช้ชีวิตมุทะลุ ปาร์ตี้ ไปไนต์คลับ ทั้งบุหรี่ ทั้งเหล้า อยากไปต่างประเทศก็ไป อยากทำอะไรผาดโผนก็ทำ ผมเริ่มทุกอย่างเร็ว สมัยก่อนบ้านเราก็ไม่ได้ตรวจบัตรอะไรมาก (หัวเราะ) เราก็เที่ยวตั้งแต่เด็ก อายุ 10 กว่า ๆ แล้วพอถึงวัยที่คนอื่นเค้าเริ่มเที่ยวกัน สัก 21-22 เราหยุดแล้ว

 

“วันหนึ่งได้มาคุยกับกลุ่มเป็นต่อ พี่กิ๊กก็นั่งฟังเรื่องของเรา เขาคงรู้ว่าเราอ่านหนังสือพวกนั้น พี่กิ๊กก็เลยเอาหนังสือเกี่ยวกับสมาธิที่แปลเป็นภาษาอังกฤษของพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ มาให้เราอ่าน และชวนเราไปนั่งวิปัสนาในคอร์ส เป็นจุดเริ่มต้นของการนั่งสมาธิ”

 

ครั้งแรกที่ได้นั่งสมาธิรู้สึกอย่างไร 

“รู้สึกว่าไม่ต่างจากแอกติ้งคลาสเลย ทุกอย่างคือการรู้จักบริกรรมของตัวเอง รู้จักอินเนอร์เซลฟ์ แค่ตัดความเชื่อทั้งหมดไป ค่อนข้างเป็นอะไรที่เราเข้าถึงง่าย และง่ายกว่าเดิมเพราะเราไม่ต้องสร้างความเชื่อใดขึ้นมา อย่างเวิร์กชอปการแสดงให้เดินเป็นวงกลม บอกว่าเดินบนกองไฟ ผมก็ต้องรู้สึกร้อน แต่ถ้าผมเดินจงกลมอยู่กลางแดดแล้วร้อน ก็แค่กำหนดว่ารู้หนอ มันตัดสิ่งปรุงแต่งความคิดตรงนั้นออกไป แล้วมันทำให้ผมรีแลกซ์ สบาย อาจเพราะอยู่กับคนหมู่มากมาตั้งแต่วัยรุ่น ต้องทำงานกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่เกี่ยวข้องกันด้วยงาน บางทีอยู่กับคนเยอะแล้วเราเหงา (หัวเราะ) การได้ปลีกวิเวกมันเป็นเซฟโซน พอได้มีเวลาให้ตัวเองบ้างก็สงบดี เลยทำให้การเข้าสู่สมาธิค่อนข้างเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา” 

 

บางคนบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะหยุดคิด สำหรับคุณแล้ว เรื่องนี้ยากไหม 

“ไม่เลย ถ้ามันวกไปไหน ก็ต้องกลับมาอยู่กับลมหายใจให้เร็วที่สุด กลับมาอยู่กับยุบหนอ… พองหนอ… ถ้าคิดก็กำหนดว่าคิดหนอ… แล้วกลับมา ไม่ได้รู้สึกว่ายาก สวดมนต์สิยากกว่า บทสวดที่เราจำได้คือพระมหาจักรพรรดิ มงกุฎพระพุทธเจ้า และบทแผ่เมตตาที่เราสวดมาตลอด ทุกวันนี้บทชินบัญชรยังต้องอ่านอยู่เลย”

 

สวดมนต์และนั่งสมาธิมีฟังก์ชันต่างกันอย่างไร 

“ตอนบวชอยู่กับครูบาเจ้าเทือง ครูบาท่านก็บอกว่ามันเหมือนปาท่องโก๋ที่ต้องจิ้มกับนม มันควรไปคู่กัน ถ้าเกิดมีเวลาก็ให้ตั้งใจกราบพระ สวดมนต์สักบท จบด้วยสมาธิ การสวดมนต์ก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง การเปล่งเสียงสวดมนต์ออกไปก็เป็นมงคล ถ้ามีโอกาสก็จะสวดยาว ๆ อยู่เหมือนกัน ก็มีหลายบทที่ผมเรียงของผมเอง เรียงถูกบ้าง ผิดบ้าง ส่วนตัวผมจะสวดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก่อน ตามด้วยเทพ และจบด้วยแผ่เมตตา”

 

บางคนเวลาไหว้พระมักจะขอพร สำหรับคุณแล้ว คุณมักจะขออะไร

“ผมก็ขอเป็นปกติอยู่แล้ว ขอให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ขอให้การงานสำเร็จ ผมก็ยึดคติทำดีได้ดี เราอาจจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการรวดเร็วอย่างที่ตั้งใจหรือดีดนิ้วสั่งได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ท้อ ตราบใดที่ยังหายใจแล้วเดินหน้าต่อไปด้วยเจตนาที่ดีต่อทุก ๆ สิ่ง ก็น่าจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วผมก็เชื่อว่าความสำเร็จมันจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราลงมือทำ ผมก็ไม่เคยขออะไรที่ผมไม่ได้ทำหรือว่าไม่ได้เจอ อาจจะต้องมีมูลก่อนว่าเรากำลังทำงานอะไรอยู่ เจรจาอะไรอยู่แล้วค่อยขอให้ทำสำเร็จ”

 

ตอนนั่งสมาธิเคยคิดไหมว่าเรานั่งเพื่อจุดประสงค์ใด

“นั่งเพื่อให้สงบและมีสติ รู้แค่นี้ ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปเที่ยวไหน ไม่ได้นั่งเพื่ออิทธิฤทธิ์ บางคนเขานั่งเพื่อจับกสิณ ต้องเห็นแสงเขียว แสงขาว ส่วนเราก็แค่เห็น แต่เห็นแล้วก็กลับมา ไม่ได้หวังว่านั่งเพื่อได้เป็นยอดมนุษย์ (หัวเราะ) พอเข้าสมาธิแล้ว เราทำให้สมาธิอยู่ในชีวิตตลอดเวลาเพื่อความสงบ เพื่อให้ชีวิตมีสติเท่านั้นเอง”

 

ที่ว่าเคยเห็นนิมิตต่าง ๆ อยากให้เล่าว่าเคยนั่งแล้วเห็นอะไรบ้าง 

“ตอนผมบวช เราได้ไปสถานที่ที่เราไม่เคยไป ได้รู้อะไรที่เราไม่เคยรู้ เขาพาไปเห็นเพื่อบอกว่าสิ่งนี้มีจริง ป่าหิมพานต์ หน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนั่งสมาธิก็ได้ไป เห็นสัตว์นานาชนิด เห็นองค์พระพุทธเจ้า เราไม่อาจเอื้อมว่าใช่จริง ๆ แต่พอพระพี่เลี้ยงเปิดหนังสือให้ดูคือใช่ ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยอ่านหรือเคยเห็นมาก่อน แปลกดี”

 

“อีกครั้งที่ตกใจคือครั้งที่พี่กิ๊กพาไปเข้าคอร์สที่วัด 8 วัน 7 คืน ก่อนจะลาศีลกลับบ้าน เป็นครั้งแรกที่เรานั่งยุบหนอ พองหนอ อยู่ดี ๆ ก็ตัวสั่น เป็นเหน็บทั้งตัว เราก็อดทนหนอ… พากเพียรหนอ… สุดท้ายคุยกับความเจ็บปวดว่าเดี๋ยวมาดูกันว่าเธอกับฉันใครจะอยู่นานกว่ากัน สุดท้ายเราก็ชนะและนั่งไปร่วมชั่วโมงได้ พอหลุดจากความรู้สึกนั้น ทีนี้ตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอวกาศ แล้วเย็นสบาย อยู่ดี ๆ ก็เห็นฐานกลีบสีชมพูสวยงาม เพิ่งรู้ว่าเป็นดอกบัว เราเห็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่บนดอกบัวแล้วลอยอยู่ เราก็ตกใจ ในหัวก็คิดว่าเห็นหนอ… เห็นหนอ… ขนลุกไปหมด พอถึงเวลาออกจากสมาธิเลยคลานเข้าไปหาหลวงพ่อแล้วถามว่าภาพที่เห็นคืออะไร ปรากฏว่าตรงตักหลวงพ่อมีหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ แล้วรูปบนปกเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงบัวสีสันสวยงาม ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อกี้ผมเห็นสิ่งนี้ หลวงพ่อบอกว่าพรหมเขามาให้รู้ว่ามีจริง แล้วภาพนั้นก็ได้มาจากสิ่งที่คนนั่งสมาธิทั่วโลกเขาเห็นตรงกัน”

 

“เรานั่งสมาธิตั้งแต่ขั้นที่เห็นดอกไม้เป็นดอกไม้ จนอีกวันเริ่มกลายเป็นเพชรพลอย จนครั้งสุดท้ายก่อนจะสึกทุกอย่างเป็นคริสตัลหมดเลย พระอาจารย์บอกว่านั่นคือชั้นต่าง ๆ นั่นน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเห็น ทุกอย่างเป็นคริสตัลสีขาวหมดเลย และเห็นด้านบนฟ้าเป็นทไวไลท์มีสีม่วง สีแดง เหมือนได้ไปเยือนอวกาศ แต่หลังจากนั้นก็ปิดวาจา 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งวันนั่งแล้วไม่เห็นอะไรอีกเลย ทุกอย่างมืดแล้วเห็นดวงจิตของเราตุบ ตุบ ตุบ อยู่ตรงหน้าแค่นั้นเอง นั่นคือสงบที่สุดที่เคยนั่ง ช่วงหลังเราก็จะไม่ไปไหนแล้ว”

 

“เราได้เห็นแบบนี้ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่นั่งสมาธิ แต่ก็ไม่ได้จะขึ้นไปเจอพระพุทธเจ้าแล้วขอหวยจากท่าน คือเราได้เห็นแล้วได้ก็ปฏิบัติต่อไป สุดท้ายแล้วสิ่งที่ยากที่สุดคือการปฏิบัติไปด้วยใช้ชีวิตไปด้วย”

 

นำ ‘สมาธิ’ มาใช้ในทุก ๆ วันของชีวิตอย่างไรบ้าง

“สมาธิมาอยู่ในชีวิตประจำวันเยอะมาก เราเป็นปุถุชนที่ต้องออกไปเห็นนู่น เห็นนี่ ทุกอย่างล้วนเกิดความคิด ความรู้สึก ช่วงเดียวที่ไม่ควรทำสมาธิคือช่วงขับรถ แต่ช่วงเวลาล้า ๆ ของวัน บางทีผมก็จะนั่งนิ่ง ๆ หลับตาสักพักหนึ่ง อย่างเมื่อวานตื่นตีสี่ ไปถึงกองหกโมงเย็น เลิกสี่ทุ่ม จะมีช่วงโพล้เพล้ที่หนังตาเริ่มหย่อน เราก็หลับตาทำสมาธิสักพักก็กลับมาเฟรชใหม่ ผมตื่นมาตอนเช้า ก้าวเดินก็กำหนดขวา… ซ้าย… ขวา… ผมจะทำสมาธิในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นห้วงสั้น ๆ บางทีกินข้าว เราก็กำหนด หยิบ จับ มา เห็น ยก ดมกลิ่น มันจะมีบริกรรมให้เราทำตลอด”

 

“เคยถึงขั้นเคยกำหนดตอนกินเหล้าด้วยนะ กินเข้าไป เห็นหนอ… รู้หนอ… เชื่อไหม กินเท่าไหร่ก็ไม่เมา เคยแกล้งตัวเองเล่น ๆ อยากทดสอบเลยกินพริกขี้หนู แล้วกำหนดว่ารู้หนอ… รสหนอ… กินแล้วไม่มีเอฟเฟ็กต์อะไรเลย อย่างเวลานั่งสมาธิเรานั่งแบบขัดเพชร ทรมานตัวเองนิดหน่อย บางทีนั่งไปจนเห็นนิวรณ์ เห็นความเจ็บปวด บางทีเราคิดว่าถ้านั่งแล้วมันอัมพาตไปเลยจะทำไงดีวะ (หัวเราะ) แต่มันคือความคิดที่เวอร์ไปเองทั้งนั้น เราก็ต้องกำหนด คิดหนอ… อดทนหนอ… พากเพียรหนอ… ” 

 

“ทุกวันนี้ผมไม่นุ่งขาว ห่มขาว ยังกินเหล้า สูบบุหรี่ของผมตามปกติ แต่ก็มีโมเมนต์ที่นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทุกวันนี้ก็เปิดธรรมจักรฟังก่อนนอน หลับปุ๋ยไปพร้อมกันสามพ่อ แม่ ลูก ต่อให้ดื่ม มึนมาขนาดไหนแต่ตอนนอนก็ต้องเปิด คนคงไม่ค่อยเห็นมุมนี้ (หัวเราะ)”

 

เรียกได้ว่ายังยึดทางสายกลาง

“ผมค่อนข้างบาลานซ์ได้ เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อาจจะไม่ต้องกินเจทุกปี อาจจะไม่ต้องงดเหล้าเข้าพรรษา แต่เราก็ยังปฏิบัติของเรา ผมเลือกทำแบบสบาย ๆ สายกลางดีกว่า สำหรับผมค่อนข้างเวิร์กนะ เห็นเพื่อน ๆ งดเหล้าเข้าพรรษากัน แต่พอวันออก กูถามหน่อยเหอะ มึงเข้าไปทำไมเนี่ย (หัวเราะ) อาจเพราะไลฟ์สไตล์ของเราด้วย เราทำงานหนักทุกวัน บางทีเคร่งมาก จะเป็นลมเอาได้ เอาที่พอดี ๆ ดีกว่า” 

 

ตั้งแต่รู้จัก ‘สมาธิ’ ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปไหม 

“ช่วยให้มีสติมากขึ้น ทำให้หายล้า หายเหนื่อยด้วย มีช่วงหนึ่ง คุณแม่ผมเสียไปตอนธันวาคม 2019 พอกุมภาพันธ์ 2020 โควิดก็เข้ามา คราวนี้ความสตรองทั้งหมดมันพังลง ความรู้สึกของการสูญเสียที่ไม่มีโอกาสได้ระบายมันปะทุออกมารวมกันหมด ตอนนั้นผมยังทำงานอยู่ แล้วโพธิ์ (ลูกชาย) เพิ่งอายุสองขวบกว่า เราไม่รู้ว่าเราจะเอาโรคมาให้ลูก ให้เมียหรือเปล่า จากความเครียดและความกลัวมันทำให้ผมกลายเป็นแพนิกแอทแทก เราอาจเคยมีคนรัก แต่เราไม่เคยมีลูก จากมนุษย์ที่ไม่เคยกลัวอะไรเพราะสันโดษ พอมีลูกแล้วเป็นอีกแบบเพราะลูกคือทั้งชีวิตของเรา จากคนที่ไม่กลัวตายก็กลับกลัวไปหมด”

 

“แพนิกแอทแทกอันตรายถึงชีวิตได้เลย ซึ่งผมเป็นหนักมาก ครั้งแรกเกิดขึ้นตอนนั่งรถกลับจากจันทบุรี เป็นช่วงโควิดและไปเจอคนมาเยอะ พอขึ้นรถเราเริ่มรู้สึกมึน ๆ อึน ๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คราวนี้อากาศในรถมันน้อย อยู่ดี ๆ ผมก็หายใจไม่ทันต้องเลี้ยวรถเข้าโรงพยาบาล ไปนอนหายใจอยู่นานมาก อีกครั้งที่หนักคือตอนถ่ายขุนช้างอยู่ที่เมืองโบราณ ใส่ทั้งวิก ทั้งบอดี้สูท อึดอัดไปหมด อากาศก็ร้อน นั่งอยู่ดี ๆ มันก็ฮิตเข้ามา ไม่รู้ว่าตัวเองจะเดินไปทางไหน จนคนก็เริ่มมอง เลยตั้งสติแล้วยืนนิ่ง ๆ ท่องพุทโธ… พุทโธ… แล้วหายใจเข้าออกลึก ๆ สัก 3-4 รอบ ถึงคอนโทรลได้”

 

“แพนิกครั้งนั้นทำให้ผมซัฟเฟอร์มา 3 ปีกว่า ตื่นเช้ามาต้องถามตัวเองว่ากูยังหายใจอยู่ไหมวะ บางทีนั่งรถอยู่ก็ตัวหงิก ต้องคอนโทรลลมหายใจ พอเราเป็นแพนิกไปแล้ว เคมีในสมองมันก็ไม่บาลานซ์แล้ว กลายเป็นคนที่ต้องฝึกหายใจใหม่ กลับมาซ่อมแซมตัวเราเอง สมาธิช่วยผมอยู่หลายครั้ง มันช่วยให้ผมปลดล็อกจากตรงนั้นได้เรื่อย ๆ จนตอนนี้โอเคขึ้นมาก”

 

เห็นได้ว่าพุทธศาสนาและสมาธิช่วยประคับประคองชีวิตคุณได้มาก ได้ส่งต่อแนวคิดเหล่านี้ให้กับคนรอบข้างด้วยไหม 

“มี ทุกวันนี้โพธิ์เขาก็กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณแม่เขาก็สอนด้วย เราก็พยายามให้เขานั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก เขาจะมานั่งบนตักเราบ้าง มีนั่งข้าง ๆ บ้าง บางทีตื่นเช้าจะเดินลงมา เขาก็จะบอก ‘พ่อ ! ธุจ้าพระหรือยัง’ เขาจะพาเราไปกราบพระ แต่ความที่เขาเป็นเด็กเอเนอร์จีเยอะก็จะยังไม่นิ่งมาก เขาจะนั่งแค่แป๊บเดียว แต่อย่างน้อยเราได้เห็นว่าเขามีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สัก 3-4 นาที แต่ผมก็มองว่าโอเคแล้วสำหรับเด็ก 6 ขวบ ถ้าเด็กอย่างโพธิ์นั่งสมาธินิ่งได้ประมาณนี้ ผมก็แฮปปี้แล้ว”

 

“เขาเคยเห็นเณรแล้วบอกว่าอยากบวชด้วยนะ โห แอน (ภรรยา) น้ำตาไหลเลย เพราะเขาพูดขึ้นมาเอง ซึ่งตัวผมเองชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะได้บวชด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ได้รู้สึกใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาขนาดนั้น แต่พอโตมาเริ่มทำงาน อยู่ดี ๆ มันก็วกไปทางนั้นเอง” 

 

ทำไมตอนนั้นคุณถึงอยากบวช

“วันหนึ่ง ฝันถึงองค์พระพุทธรูป มีเศียรเป็นผมมวยสีน้ำเงินเข้ม ปนทอง ๆ พอตื่นมาตอนเช้าเราก็รู้สึกว่าอยากบวชเลย วันนั้นไปถ่ายเป็นต่อ เราบอกกับผู้จัดการกองที่ชื่อ หยัน ซึ่งเป็นน้องที่สนิทกันว่า หยันไปบอกพระอาจารย์หน่อยว่าตอนนี้บวชให้ได้ไหม จะมีพระอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งพี่ บอย - ถกลเกียรติ นับถือและเป็นพระที่บวชให้พี่บอยด้วย เราบอกหยันไปแค่นี้ แล้วหยันมันก็ขนลุกและบอกเราว่า พี่บ้าหรือเปล่า พระอาจารย์เพิ่งโทรหาหนูเมื่อวันสองวันเนี่ย ว่าให้บอกชาคริตด้วยว่าถึงเวลาที่ต้องบวชแล้วนะ”

 

“ตอนนั้นตั้งใจจะบวชให้คุณแม่ ในคืนวันขอขมาลาบวชทุกคนปลื้มปีติมาก แต่เช้าวันต่อมาแม่ผมเป็น Stroke และเป็นวันที่ผมจะต้องบินขึ้นเหนือไปถ่ายละครให้ โดนัท - มนัสนันท์ ซึ่งถ้าผมไม่ไป เขาก็จะปิดกล้องไม่ได้ และถ้าถ่ายไม่เสร็จ ผมก็จะไม่ได้คิวบวชแล้ว และตอนนั้นคุณหมอบอกว่าเป็น 5 วันอันตรายที่ไม่รู้ว่าจะยื้อชีวิตแม่ไว้ได้ไหม ผมต้องตัดสินใจในขณะที่แม่ผมเข้าโรงพยาบาลว่าจะบวชหรือไม่บวชดี สุดท้ายก็ตัดสินใจบวช วัดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลยว่าถ้าผมบวช ขอยื้อชีวิตแม่ผมไว้ให้หน่อย”

 

“สุดท้ายคุณแม่ก็รอด เราก็กราบลาแม่ไปบวชช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตอนบวช 15 วัน ไม่ได้จับมือถือ ขาดการติดต่อจากคุณแม่ไป แต่ก็นั่งสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้คุณแม่อยู่ตลอด แม่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยวัยด้วย เราก็ยื้อเขากลับมาอยู่กับเราได้ 3-4 ปี จนสุดท้ายเขาก็ไปอย่างสงบ”

ชาคริตในพิธีอุปสมบถเมื่อกุมภาพันธ์ 2559

(ขอบคุณภาพจาก : Tum Krisda Puttanakul)

 

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้

“สติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องทำงาน ต้องมีเวลาไปเยี่ยมแม่ มันก็ต้องใช้สติในการดำเนินชีวิตเยอะ แม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเรา มีกันสองคนมาตลอด ถ้าเกิดเขาไม่สบาย เจ็บป่วย แล้วตัวเราดิ่ง ไม่สตรองมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ช่วง 3-4 เดือนแรกที่คุณแม่ป่วย แทบไม่มีเวลาได้หายใจ ไม่มีเวลามาเสียใจ มีแต่ทำงาน อยู่ ๆ ก็เข่าอ่อน ทรุดลงไป แต่เราก็ฮึบ มีสติและลุกขึ้นมาทำงานต่อได้ ผมมองว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นกลางและใกล้กับการดำรงชีวิตมากที่สุด

 

มากกว่านำสมาธิมาใช้ในชีวิตเคยอยากบรรลุทางธรรมด้วยไหม 

“สุดท้ายอยู่ที่ว่าเราพร้อมปล่อยวางทุกอย่างไหม บอกเลยว่าตอนนี้ผมทำไม่ได้ ผมสามารถเข้าใจและนำบางอย่างมาปฏิบัติได้ แต่ผมไม่สามารถละทิ้งทางโลกได้ เพราะผมยังมีลูก มีภรรยา ยังมีค่าเล่าเรียนที่ต้องหา ถ้าเราเห็นลูกโต บรรลุนิติภาวะแล้ว เราอาจปล่อยวางได้ แต่ ณ ตอนนี้เรามีหน้าที่เป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัว ยังไงสิ่งนี้ก็ต้องมาก่อน เรายังอยากชมนก ชมไม้ อยากไปเที่ยวเมืองนอก อยากซื้อรถ อยากมีนาฬิกา อยากสนุกกับเพื่อน ยังมีกิเลสอยู่ ไว้อีกสัก 20 ปีแล้วค่อยมาถามกันอีกที (หัวเราะ)”

 

“ถ้าถามว่าอยากนิพพานไหม เราไม่กล้าพูด เพราะในความเป็นจริง เราคงไปไม่ถึงขนาดนั้น สุดท้ายแล้วต้องสละทุกอย่างซึ่งยังไม่พร้อม แต่เราสามารถใช้ชีวิตแบบมีธรรมะ มีสมาธิ มีสติอยู่ตลอดเวลาได้ ซึ่งผมว่าชีวิตแบบนี้มันบาลานซ์ดี”

 

ติดตาม ‘ชาคริต แย้มยาม’ ได้ที่

Facebook : บักโพธิ์ แย้มนาม

Instagram : shahkrit

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...