

ต่างวัยแต่ใจใกล้กัน คุยกับ ‘รุงรังDiary’ เมื่อหลาน ๆ ชวนย่ากระต่ายมาสนุกจนเป็นดาว TikTok
Better Life / People
29 Aug 2024 - 7 mins read
Better Life / People
SHARE
29 Aug 2024 - 7 mins read
“บ้านเป็นเซฟโซนที่เราอยากกลับมาเรื่อย ๆ
และทุกครั้งที่ได้กลับมา จะรู้สึกเหมือนเดิม
ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุข ความอบอุ่น”
นี่คือสิ่งที่ นะโม - ชลิพา ดุลยากร พี่สาวคนโตวัย 29 ปี รู้สึกทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน และทุกครั้งที่กลับมาถึงบ้าน เธอและน้อง ๆ อีกสองคน นะมามิ - ชะตา น้องสาวคนกลางวัย 27 ปี และ สาธุ ดุลยากร น้องชายคนเล็กวัย 25 ปี จะได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจาก คุณย่ากระต่าย - วิมล ดุลยากร วัย 85 ปี
ก่อนหน้านี้ สามคนรวมตัวกันทำคอนเทนต์สนุก ๆ ฉบับพี่น้องลงในช่อง TikTok ที่ชื่อว่า ‘รุงรังDiary’ แต่หลังจากที่เริ่มถ่ายโมเมนต์น่ารัก ๆ ของคุณย่ากระต่ายมาลงในช่องด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ช่องนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สามพี่น้องคอยชวนคุณย่ามาทำกิจกรรมสนุก ๆ ด้วยกัน ทั้งทายศัพท์วัยรุ่น เล่นเกมลับสมอง ล้วงความลับคุณย่า แต่งตัวสลับวัย ให้คุณย่าได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เป็นมุมที่ไม่มีใครเคยเห็น LIVE TO LIFE เชื่อว่าถ้าใครได้ดูแล้ว คงอมยิ้มและรู้สึกอบอุ่นหัวใจตามไปด้วย
ความต่างวัยจึงไม่ใช่อุปสรรค หากคนแต่ละวัยหันมาปรับหัวใจให้เข้าหากันด้วยความรักและความหวังดี เหมือนคุณย่าและหลานจอมป่วนใน ‘รุงรังDiary’ เช่นเดียวกับเรื่องราวในบทสัมภาษณ์นี้ที่ทุกคนพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณย่ากับหลาน ๆ กันอย่างออกรส เคล้าเสียงหัวเราะและความสุขที่ได้มีกันและกัน เป็นภาพครอบครัวที่ชวนให้คิดถึงผู้ใหญ่ทางบ้าน จนอยากรีบกลับไปหาและสวมกอดคุณปู่คุณย่าเหมือนกันบ้าง
คุณย่ากับหลาน ๆ ใกล้ชิดกันขนาดไหน
คุณย่ากระต่าย : “ก่อนหน้านี้ หลาน ๆ ยังเรียนกันอยู่ เลยไม่ค่อยได้เจอบ่อยนัก ต้องรอวันหยุดถึงได้กลับบ้าน ไม่เหมือนช่วงที่หลานทุกคนเรียนจบแล้ว มีเวลามาหาบ่อยขึ้นมาก ได้ทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน มีกิจกรรมหลากหลายแล้วแต่หลาน ๆ จะคิดให้ย่าทำ”
นะมามิ : “ช่วงที่ยังเรียนกันอยู่ มิกับธุเรียนที่กรุงเทพฯ ส่วนพี่โมเรียนที่เชียงใหม่ แต่ตอนนี้มิทำงานที่ลพบุรีอยู่กับคุณย่า ส่วนพี่โมกับธุอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางมาหาคุณย่าที่ลพบุรีแทน”
ในสายตาของคุณย่า มองเห็นหลานทั้ง 3 คนเป็นอย่างไรบ้าง
คุณย่ากระต่าย : “หลาน ๆ เป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง ชอบช่วยเหลือ เวลาเห็นย่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็เข้ามาถามเข้ามาช่วย เป็นความน่ารักของหลาน ๆ ย่าไม่เคยเห็นใครมีอารมณ์โกรธหรือโมโหหรือพูดจาขัดใจ ไม่เคยเลย ทุกคนเรียบร้อยดี”
นะมามิ : “แล้วหลานแต่ละคนแตกต่างกันไหม”
คุณย่ากระต่าย : “คล้าย ๆ กัน ไม่ค่อยแตกต่าง”
นะมามิ : “ใครรุงรังที่สุด”
คุณย่ากระต่าย : “พอ ๆ กัน”
นะมามิ : “ใครเรียบร้อยที่สุด”
คุณย่ากระต่าย : “ยังไม่มีที่สุด ถ้าจะให้เรียบร้อยเหมือนย่าคงจะยาก”
ทุกคน : (หัวเราะพร้อมกัน)
แล้วในสายตาของหลาน ๆ มองเห็นคุณย่าเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
นะโม : “คุณย่าเป็นคนเรียบร้อยที่สุดในโลก”
คุณย่ากระต่าย : “เพราะว่าเวลาเห็นทุกอย่างมีระเบียบเรียบร้อยแล้วมีความสุข”
นะโม : “แต่ก็มีความรุงรัง”
หลานจอมป่วนทั้งสาม : นะมามิ, นะโม และ สาธุ
ความรุงรังของคุณย่าที่ว่าเป็นแบบไหน
นะโม : “เพราะว่าบ้านกับโรงเรียนอยู่ใกล้กัน ดึก ๆ ย่าชอบเดินกลับไปทำงานที่โรงเรียน (โรงเรียนบรรจงรัตน์ จ.ลพบุรี) คนเดียว หลาน ๆ เป็นห่วง”
คุณย่ากระต่าย : “ก็กลางคืนมันเงียบ มีสมาธิมากกว่า เราก็ค่อย ๆ ทำทีละนิดละหน่อย ไม่ได้ทำมาก ถ้าหลานรู้จะรีบมาตาม เลยถือโอกาสใช้งานไปด้วย เสร็จแล้วค่อยเดินกลับบ้านพร้อมกัน สบายใจ”
นะมามิ : “คุณย่าเป็นทั้งครูและผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ งานที่คุณย่าทำคือดูแลความเรียบร้อย ดูแลภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน อายุตั้ง 85 แต่ยังทำงานทุกวัน”
คุณย่ากระต่าย : “เพิ่งจะ 58 เอง (พูดสลับตัวเลขอายุเพื่อเล่นมุกตลกหยอกล้อกับหลาน ๆ) ย่ายังมีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำ เราอยากดูแลทุกอย่างให้เรียบร้อยทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ค่อย ๆ ทำไป ไม่ได้เหนื่อย จัดวางของให้เรียบร้อย เมื่อหยิบไปใช้แล้วก็นำกลับมาวางไว้ที่เดิม เข้าตำรา…”
ทุกคน : “...หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา”
คนต่างวัยย่อมต่างความคิด มีบ้างไหมที่ย่ากับหลานคิดต่างกัน
คุณย่ากระต่าย : “แน่นอนต้องมี ก็พยายามปรับตัว คนวัยหลานเขาคิดอย่างนี้ คนวัยย่าคิดอีกแบบ แต่ไม่มีปัญหา อย่างเรื่องการแต่งตัว ย่าไม่อยากให้แต่งเปิดไหล่ นุ่งสั้นกว่าหัวเข่า รู้นะว่าหลานชอบ ย่าไม่ขัดใจ แต่จะขอขยับลงมาให้ยาวคลุมเข่าอีกหน่อย”
นะมามิ : “ตอนแรกมิไม่ได้ใส่ชุดนี้ ก็เลยต้องไปเปลี่ยนชุดใหม่”
คุณย่ากระต่าย : “เยี่ยมเลย ดูสุภาพเรียบร้อย”
นะโม : “ไหนบอกว่าจะพยายามปรับเข้าหากัน”
ทุกคน : (หัวเราะพร้อมกัน)
คุณย่ากระต่าย : “ไม่ได้บังคับใจกันว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ค่อย ๆ ปรับกันไป ที่พูดเพราะปรารถนาดี เราต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นจะดูไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป ย่าไม่ขัดใจหลาน”
นะมามิ : “ไม่เล้ย ไม่ขัดใจเล้ย”
คุณย่ากระต่าย : “บอกแล้วหลานก็ไปเปลี่ยน นิสัยอย่างนี้จะติดตัวไปตลอด น่ารักน่าเอ็นดู ชนะใจคนแก่”
แล้วในมุมของหลาน ๆ มีเรื่องไหนของคุณย่าที่ยังไม่เข้าใจ
สาธุ : “เรื่องแอบไปทำงานตอนดึก ๆ นี่แหละ ชอบไปคนเดียว ไม่บอกหลาน”
นะโม : “ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแต่งตัวค่ะ เรามองว่าไม่ได้สั้นขนาดนั้น แต่ก็ยอมย่า”
นะมามิ : “ไม่ขัดใจย่า เพราะว่าหลานยอมอย่างไม่มีทางเลือก (หัวเราะ) เรื่องแต่งกายคุณย่าสอนตั้งแต่เด็กเลย ตอนไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็อยากจะแต่งตัวตามใจตัวเอง แต่เหมือนคำของย่าฝังหัวอยู่ ทำให้เราติดเป็นคนแต่งตัวเรียบร้อย”
นะโม : “เรื่องทรงผมด้วย ย่าไม่ชอบให้ไว้หน้าม้า ธุจะโดนย่าบ่นบ่อย อย่างตอนที่ย้อมสีผม ย่าก็จะบอกว่าไม่หล่อ แต่ย่าไม่ได้โกรธหรือไม่คุยด้วย แค่บอกเฉย ๆ ก็แล้วแต่หลานว่าจะทำยังไงต่อ”
สาธุ : “ก็ไว้เหมือนเดิม”
ทุกคน : (หัวเราะพร้อมกัน)
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘รุงรังDiary’ ให้ฟังหน่อยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นะโม : “เป็นช่องส่วนตัวของนะโมมาก่อน แล้วเปลี่ยนมาลงคลิปสามพี่น้องแทน แต่คลิปแรกที่มีคุณย่าคือ คลิปที่เราไปนั่งกินข้าวกัน แล้วย่าบ่นสาธุเรื่องผมหน้าม้า เรามองว่ามีย่าอยู่ในคลิปด้วยก็สนุกดีนี่หน่า เลยเริ่มถ่ายคลิปกับย่ามาตั้งแต่ตอนนั้น ถึงตอนนี้ก็สี่ห้าปีได้”
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า ‘รุงรังDiary’
นะโม : “เพราะทุกคนมีความรุงรังในตัว ย่าก็รุงรังในแบบของย่า หลาน ๆ ก็รุงรังในแบบของหลาน ๆ แล้วคำนี้ก็ไม่ได้แปลว่า รกรุงรัง แต่เป็นภาษาเหนือที่หมายถึงความป่วน หรือแกล้งกัน”
ตอนเริ่มทำคอนเทนต์ คุณย่ารู้สึกอย่างไรบ้าง
คุณย่ากระต่าย : “สนุกดี ไม่เหงา หลานให้ทำอะไร ย่าก็ทำตาม ได้ทำอะไรเยอะแยะที่ไม่เคยทำมาก่อน”
หลาน ๆ ให้คุณย่าทำอะไรบ้าง
นะโม : “ชวนย่าเล่นเกม เป็นเกมที่ต้องใช้สมอง ฝึกความจำ ฝึกความแม่นยำ แล้วย่าชอบเอาชนะ”
คุณย่ากระต่าย : “ย่าชอบเกมที่ต้องใช้สมอง ได้ฝึกสมาธิ ฝึกสายตา ฉะนั้น โรคอัลไซเมอร์ไม่ถามหาย่าแน่นอน (หัวเราะ)”
นะโม : “กับอีกแบบเป็นแนวชีวิตประจำวัน ถ้ามีอะไรตลก ๆ ก็จะหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย เช่น ตามถ่ายย่าเดินไปห้องทำงาน เราไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าจะถ่ายอะไรบ้าง เพราะเป็นชีวิตประจำวันของพวกเรานี่แหละที่หากิจกรรมทำร่วมกัน ถ้ามีโมเมนต์ดี ๆ สนุก ๆ ค่อยถ่าย แล้วก็มีคอนเทนต์แนวล้วงความลับด้วย ให้ย่าเล่าความหลัง เล่าความรักครั้งแรกว่าเป็นยังไง มีคนมาจีบเยอะไหม”
จริงๆ คุณย่า ชื่อว่า ‘แอ๋ว’ แต่ทำไมทุกคนถึงเรียกว่า ‘คุณย่ากระต่าย’
คุณย่ากระต่าย : “เพราะว่าย่าเกิดปีเถาะ คุณแม่ของย่าหรือคุณย่าทวดก็เกิดปีเถาะ สัญลักษณ์โรงเรียนก็เป็นกระต่าย ในโรงเรียนก็เต็มไปด้วยตุ๊กตากระต่าย เคยถามคนที่ติดตามว่า สวนในโรงเรียนบรรจงรัตน์มีกระต่ายกี่ตัว เชื่อไหม มีแฟนคลับตอบถูกด้วย ต้องส่งตุ๊กตากระต่ายเป็นของรางวัลไปให้”
เวลาออกไปไหนมาไหนข้างนอก แล้วมีแฟนคลับมาขอถ่ายรูปด้วย คุณย่ารู้สึกอย่างไร
คุณย่ากระต่าย : “ย่ายินดี อยากถ่ายรูปกับทุกคน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน พอเจอก็วิ่งมาหาขอถ่ายรูป บอกว่าหนูเป็นแฟนคลับย่ากระต่าย เห็นทุกคนหน้าตายิ้มแย้มดูแจ่มใส ย่าก็ดีใจที่ทำให้ทุกคนมีความสุข”
อยากรู้ความในใจที่คุณย่าอยากบอกหลานทุกคน
คุณย่ากระต่าย : “อยากให้หลานทำงานกันอย่างมีความสุข มีเวลาว่างก็มาเจอทั้งคุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ครอบครัวใหญ่ ๆ ในบ้านหลังน้อย ๆ ของเรา เป็นสิ่งที่ย่าปรารถนาและทำให้ย่าชื่นใจตลอด ถ้าหายไปเลยเป็นเดือนเป็นปี คนอยู่ทางบ้านก็เหี่ยวเฉา ทุกคนทางบ้านจะคิดถึงและเป็นห่วง มาให้ชื่นใจสักครึ่งวันก็ยังดี ไม่ต้องอยู่ทั้งวันก็ได้ การได้เจอหน้าคนที่รัก เป็นยาบำรุงหัวใจขนานเอก หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ สิ่งนี้สำคัญ เพราะทำให้สดชื่นอายุยืนยาว”
นะโม : “ย่าพูดซึ้งเลย”
คุณย่ากระต่าย : “พูดออกมาจากใจจริง มีความสุขกับการทำงาน ชีวิตเจริญก้าวหน้าแค่ไหน แต่ลืมคนทางบ้านที่รักและเป็นห่วง คนแก่มีแต่เฉาลงทุกวัน สักวันท่านก็จะจากพวกเราไป ช่วงที่ยังมีโอกาส ไปหาให้ท่านชื่นใจ”
แล้วฝั่งหลาน ๆ ล่ะ อยากบอกอะไรคุณย่า
คุณย่ากระต่าย : “จะตรงกับที่ย่าพูดไหม มาหาสักเสี้ยววินาทีก็ชื่นใจแล้ว”
นะโม : “ต่อให้มีเวลาสักเสี้ยววินาทีก็จะมาหาย่า อย่างเมื่อวานเพิ่งมาหา วันนี้ก็ต้องกลับไปทำงานต่อแล้ว”
คุณย่ากระต่าย : “บางครั้งอยากจะไปเที่ยวกับหลาน ก็ไปไม่ไหว สังขารไม่ให้แล้ว รอหลาน ๆ มาหานี่แหละ เป็นยาบำรุงหัวใจ ย่าหวังให้ทุก ๆ ครอบครัวเป็นแบบนี้ มาหาด้วยใจ เป็นความอบอุ่นของย่ากับหลาน”
นะโม : “หลาน ๆ อยากขอบคุณย่าที่เป็นความสุขให้กับหลาน ๆ ขอบคุณที่ยอมเล่นอะไรสนุก ๆ กับหลาน”
คุณย่ากระต่าย : “ขึ้นอยู่กับย่าแต่ละท่านด้วยนะ คุณย่าบางท่านอาจจะไม่ชอบ (หัวเราะ) แต่ย่ากระต่ายชอบ แม้ว่าหูจะไม่ค่อยได้ยิน ตาก็ค่อย ๆ เลือนไปตามสังขาร ตอนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง เพราะอยากได้ยินเสียงของหลานชัด ๆ”
เรื่องของหลาน ๆ ที่ทำให้คุณย่ารู้สึกประทับใจมากที่สุด คือ เรื่องอะไร
คุณย่ากระต่าย : “เรื่องแรกเขาเป็นพี่น้องที่ดูแลกันและกัน รักใคร่สามัคคี เป็นความอบอุ่นน่ารัก ย่าดีใจที่หลาน ๆ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เรื่องที่สองคือเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เห็นทุกคนมีความตั้งใจ ก็ชื่นใจกับความสำเร็จของหลาน ๆ อย่างอื่นก็ไม่น่าจะมีอะไร เรื่องการทำงานก็แล้วแต่หลานเลยว่าอยากจะทำอะไรกัน แต่ถ้าอยากดูแลโรงเรียน สืบทอดเจตนารมณ์ของย่าก็ดี เพราะย่าเปิดโรงเรียนบรรจงรัตน์มาแล้ว 60 ปี”
ทำไมคุณย่าถึงตัดสินใจเปิดโรงเรียน
คุณย่ากระต่าย : “พอได้เป็นครูอนุบาล สอนเด็กเล็ก ก็อยากจะดูแลลูกหลานในหมู่บ้านไม่ให้ต้องเดินทางไปเรียนไกล ๆ เลยตัดสินใจเปิดโรงเรียนนี้ขึ้น เริ่มต้นจากโรงเรียนเล็ก ๆ แต่ตอนนี้ไม่เล็กแล้ว (หัวเราะ) มีนักเรียนอนุบาลและประถมรวมกันประมาณ 2,000 คน คุณครูอีกร้อยกว่าคน หลาน ๆ นะโม นะมามิ สาธุ ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ทุกคน”
แล้วความประทับใจของหลาน ๆ ที่มีต่อคุณย่า คือ เรื่องอะไร
นะโม : “ย่าเป็นตัวอย่างของคนที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ยังเปิดใจรับสิ่งใหม่ กล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำ แล้วย่าก็เรียนรู้ได้ดีด้วย จากที่ส่งไลน์ไม่เป็นก็ส่งเป็น ใช้ AI ทำภาพสวัสดีวันจันทร์เป็นด้วย ย่าไม่เคยหยุดเรียนรู้ เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองเหมือนกันว่า ในวันที่เราอายุเท่านี้ เราก็อยากเป็นแบบคุณย่า”
นะมามิ : “คุณย่าเปิดใจและพร้อมที่จะเล่นสนุกไปกับหลาน ๆ รู้สึกว่าดีจัง การเปิดใจทำอะไรสักอย่าง ทำให้เราได้เปิดโลกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ อีกหลายอย่าง”
สาธุ : “อย่างที่พี่ทั้งสองคนพูดเลยครับ”
ทุกคน : (หัวเราะพร้อมกัน)
อยากรู้ว่าความสุขในวันนี้ของคุณย่าและหลาน ๆ คือ อะไร
คุณย่ากระต่าย : “ความสุขของย่าคือได้เห็นหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้คุยสนุก เพราะแต่ละคนจะมีเรื่องมาเล่าให้ย่าฟัง อย่างวันนี้เป็นการสนทนาโต๊ะกลมในบรรยากาศตอนเช้า ย่ามีความสุขมาก ๆ เพราะปกติหลาน ๆ ไม่ค่อยทานมื้อเช้า ย่าเผยความลับ (หัวเราะ)”
นะโม : “เหมือนกับย่าเลย การได้กลับมาอยู่กับย่ากับครอบครัวแล้วได้ใช้เวลาร่วมกัน จะทำอะไรก็ได้ ก็มีความสุขแล้ว”
อยากฝากอะไรถึงคนที่ติดตาม ‘รุงรังDiary’
นะโม : “อยากให้กลับไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในการทำช่องรุงรังDiary อยากให้ทุกคนแบ่งเวลาให้ครอบครัว กลับไปหาคนที่บ้าน เป็นความสุขในชีวิตที่ทำให้เราอุ่นใจ ไม่รู้สึกเหงา”
คุณย่ากระต่าย : “ในสภาพปัจจุบัน เท่าที่สังเกตดูแม้กระทั่งในครอบครัวของย่า ทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่การงาน ต้องพยายามเพื่อตัวเองจนไม่ค่อยมีเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว ย่าอยากฝากว่า ให้ทุกคนนึกถึงความอบอุ่นของครอบครัวเอาไว้ ในช่วงที่ยังมีเวลาให้กันได้ ถึงมีเวลาน้อยแค่ไหนก็ต้องหาเวลาให้ครอบครัวเพื่อความสุขของทุก ๆ คน เพราะอีกไม่นานก็อาจจะไม่มีโอกาสให้เวลากันแล้ว หากท่านล่วงลับจากไป พวกเราก็จะต้องอยู่กันตามลำพัง ทำได้แค่หวนคิดถึงวันเก่า ๆ ที่คุณย่า หรือคุณพ่อคุณแม่มอบให้”
“ฉะนั้น มีเวลาไปเยี่ยมคนที่บ้านสักน้อยนิดก็ยังดี ไปให้เขาได้ชื่นใจ อย่างน้อยมาเจอหน้าให้ได้ถามว่าทานข้าวหรือยัง ก็เป็นความสุขที่สุดของชีวิต เป็นความรู้สึกที่หาซื้อไม่ได้”
นะมามิ : “อยากฝากติดตามชมความน่ารักของคุณย่าและหลาน ๆ ว่า จะมีเกมและกิจกรรมอะไรสนุก ๆ ให้คุณย่าได้ลองทำอีก”
สาธุ : “เหมือนพี่ทั้งสองคนเลยครับ”
หลาน ๆ รู้สึกอย่างไร ที่การกลับมาบ้านของหลานมีความหมายต่อคุณย่ามาก ๆ
นะโม : “รู้สึกว่าย่าเป็นพื้นที่พักใจ ไม่ว่าเราจะทำงานเหนื่อยแค่ไหน หรือว่าจะยากลำบากขนาดไหน ก็จะคิดถึงย่า คิดถึงครอบครัว คิดถึงช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข ทำให้เราอยากกลับมาบ่อย ๆ เพราะบ้านเป็นเซฟโซนที่เราอยากกลับมาเรื่อย ๆ แล้วทุกครั้งที่ได้กลับมา จะรู้สึกเหมือนเดิมว่าที่นี่เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุข ความอบอุ่น และสร้างความหมายให้กับชีวิตเราได้จริง ๆ”
นะมามิ : “รู้สึกว่าในชีวิตของเรา คงมีคนสำคัญไม่กี่คนที่จะอยู่ในชีวิตเราไปได้เรื่อย ๆ เราต้องหาวิธีดูแลและเก็บรักษาความสุขนั้นเอาไว้ ง่ายที่สุดคือใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด จะได้อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ”
สาธุ : “ย่าเหมือนหลุมหลบภัย ถ้าหากเครียด หรือว่าต้องการที่พักพิง ก็จะกลับบ้านมาหาย่า มาหาครอบครัว”
คุณย่ากระต่าย : “เหงาก็กลับบ้านเรา”