‘Kong GreenGreen’ นักเล่าเรื่องสายรักษ์โลกที่ชีวิตเปลี่ยนไปเมื่อได้เห็น ‘ภูเขาขยะ’

22 Sep 2023 - 10 mins read

Better Life / People

Share

‘ขยะ’ ทิ้งแล้วไปไหน ? 

 

เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะตอบไม่ได้ เพราะหลังจากที่มัดถุง โยนลงถังขยะเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันว่าขาดกันกับขยะถุงนั้นไปตลอดกาล  

 

ทิ้งแล้วไปไหน ? คำตอบ คือ ขยะมหาศาลจะไปกองเป็นภูเขากว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศไทย และที่เราเชื่อว่าเราจะตัดขาดจากขยะถุงนั้น เห็นทีจะไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะขยะถุงนั้นจะกลับมาในรูปแบบมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ  กลับมาในรูปแบบไมโครพลาสติกในอาหาร และกลับมาในรูปแบบก๊าซเรือนกระจกที่ยิ่งทำให้โลกร้อนขึ้นไปทุกวัน

 

ก้อง - ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เป็นคนหนึ่งที่เคยเทขยะรวมลงถุง ทิ้งลงถัง แล้วก็จบกัน เขาเคยเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าขยะถุงนั้นจะไปจบที่ไหน แต่เมื่อวันหนึ่งได้ไปเยือนบ่อขยะที่ทับถมกันจนกลายเป็นภูเขา และได้รู้จักกับกลุ่มคนที่ตื่นรู้แล้วว่านี่คือหายนะ ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล  

 

ก้องเรียนจบด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาเคยเป็นทั้งดีไซน์เนอร์, ผู้ดำเนินรายการ, ครีเอทีฟ, โปรดิวเซอร์ และปัจจุบันมีโปรดักชั่นเฮาส์ A Yellow Train Studio เป็นของตัวเอง และบทบาทที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำที่สุดคือ ‘กบก้อง’ จากรายการสารคดี ‘กบนอกกะลา’  

 

ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้เขายังคงไม่หยุดเล่าเรื่อง และวันนี้เขาจะชวนทุกคนมาฟังเรื่องเล่าของ ‘ขยะ’ 

 

อีกหนึ่งบทบาทใหม่ของก้อง คือ Kong GreenGreen (ก้อง กรีนกรีน) คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่บอกเล่าวิธีรักษ์โลกแบบสนุกสนานและเข้าใจง่ายลงใน TikTok และ Instagram ซึ่งก้องหวังว่าใครก็ตามที่ได้ดูคลิปของเขา จะได้ลองหันมาแยกขยะ พกถุงผ้า เปลี่ยนวิถีชีวิตมากรีนแบบก้อง และทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา

 

จุดเริ่มต้นของ Kong GreenGreen  

“มีงานหนึ่งที่เราทำให้กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชื่อรายการ The Green Diary เราเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ เป็นทั้งพิธีกร รายการนั้นทำให้เราไปเจอคนที่มีทัศนคติที่ดี ๆ ต่อโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเอเจนซีใจกลางเมืองที่แยกขยะในออฟฟิศ ให้ทุกคนพกภาชนะออกไปซื้ออาหาร ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่ไม่แจกถุงให้ลูกค้า แต่เอาแพ็กเกจต่าง ๆ มาใช้ซ้ำ”   

 

“เราเจอทั้งธุรกิจ คน และครอบครัว นี่แหละคือแรงบันดาลใจ หลายคนบอกว่าพี่ก้องทำให้เขารู้สึกว่าการรักโลกไม่ได้ยากอย่างที่คิด คงเป็นเพราะเราได้เห็นตัวอย่างเหล่านั้นมาเหมือนกัน”    

 

“ตอนแรกตั้งชื่อว่า ‘วิธีรักษ์โลก’ คอนเซ็ปต์ของมันคือ ‘เรื่องขยะ จังหวะสนุก’ ตอนแรกเราเน้นเรื่องขยะ เราไม่อยากให้เรื่องขยะดูน่ารังเกียจหรือสกปรก แต่มันคือชีวิตประจำวัน”

 

 

การได้เห็นคนอื่นทำเพื่อโลกสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรกับคุณบ้าง 

“พอเห็นตัวอย่าง เราก็เริ่มศึกษาว่าทำไมต้องรักโลก ทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ เลยหาคำตอบว่า เราแยกขยะ ล้างขยะ เอาปิ่นโตไปใส่อาหาร เราทำไปเพื่ออะไร พอยิ่งศึกษาก็ยิ่งเจอปัญหา เลยเห็นว่าสถานการณ์มันแย่ทั้งในประเทศและระดับโลก ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไร ผลกระทบอาจเกิดขึ้นที่ป่าแอมะซอน ที่ขั้วโลกเหนือ หรือใต้มหาสมุทร เลยคิดว่าเราต้องเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง ก็เลยทำคลิปเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นทำบ้าง” 

 

“เราเคยเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการต้องพกแก้ว พกปิ่นโตไปซื้อข้าวทุกวันมันเป็นไปไม่ได้ แต่พอลองทำแบบเอาจริงเอาจังแล้วมันก็เป็นไปได้ จนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว บ้านผมแทบไม่มีขยะที่ไปกับรถขยะเลย มีแค่ทิชชูที่ย่อยสลายได้ นอกนั้นคัดแยกและส่งไปรีไซเคิลไปเป็นพลังงานหมดเลย” 

 

“พอเราเห็นว่าเป็นไปได้ อะไรที่คนอื่นคิดว่าเป็นปัญหาเดี๋ยวเราจะคิดทางแก้ให้ เช่น ถ้าแยกขยะในบ้านแล้วบ้านรก ลองมาดูบ้านเราสิ ใช้พื้นที่แค่ 1x1 เมตร แต่แยกขยะได้เป็นสิบ ๆ ชนิดเลย เราก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนเห็นว่าเราสามารถแยกขยะในขณะที่บ้านยังมินิมอลอยู่ได้ แค่ใช้พื้นที่ในลิ้นชักให้เป็นประโยชน์ก็แยกได้เป็นสิบชนิดแล้ว เราก็เริ่มต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็น How to”

 

เมื่อก้องเริ่มกรีน สิ่งแรก ๆ ที่คุณทำเพื่อโลกคืออะไร 

“นับขยะทุกชิ้นที่ตัวเองสร้าง ลองดูว่าใน 1 วันเราสร้างขยะกี่ชิ้น เริ่มสังเกตข้าวเช้าที่ไปซื้อจากปากซอย ว่าทำไมข้าวมันไก่หนึ่งชุดต้องมีทั้งกระดาษห่อ หนังยาง ถุงน้ำจิ้ม ถุงน้ำซุป ถุงหิ้ว รวมกัน 8-9 ชิ้นเลย ลองคิดดูถ้าเรากินพร้อมกัน 10 คน มีขยะคนละ 8 ชิ้น มื้อนั้นเราสร้างขยะไปแล้ว 80 ชิ้น” 

 

“ตอนนั้นเราถ่ายรูปลงสตอรี่ แล้วเขียนว่าวันนี้สร้างขยะกี่ชิ้น วันรุ่งขึ้นก็ถ่ายรูปลงอีก วันต่อมาเราเลยเอาปิ่นโตไปใส่ จากขยะ 8 ชิ้นก็เหลือ 3 อีกวันเราเอาถ้วยไปใส่น้ำจิ้มด้วย จาก 8 ชิ้นก็เหลือ 0 พอเราสังเกต เราก็จะเห็นว่าอะไรที่ทดแทนได้และอะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้”

 

ช่วงแรกมีความยุ่งยากไหม แล้วทำอย่างไรจนกลายเป็นชีวิตประจำวัน 

“มันคือความไม่ชินมากกว่า มันอาจจะยุ่งยากในครั้งแรก แต่เมื่อทำเป็นกิจวัตรก็จะง่ายขึ้น มันเหมือนการใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า ทำไมเราต้องข้ามถนนบนทางม้าลาย ทำไมเราต้องขึ้นสะพานลอย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเราเดินไปไหนมาไหนก็ได้ มันคือการพัฒนาของมนุษย์ เมื่อเราตระหนักได้ว่าเราทำเพื่ออะไร ความยุ่งยากก็จะหายไปเอง” 

 

“เหตุผลของการทำสิ่งนั้นคือ ไม่ว่าขยะกี่ชิ้นก็มีผลต่อโลก คอตตอนบัด 1 ชิ้นก็มีผลต่อโลก ทำให้สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งตายได้ คุณไม่สามารถ tracking ได้ว่าคอตตอนบัดของคุณไปไหน ถุงพลาสติกของคุณอาจไหลลงท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมก็ได้ ทุกการกระทำของเรามีผลต่อโลกใบใหญ่” 

 

แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้ว่าเหตุผลที่ต้องทำเพื่อโลกใบนี้คืออะไร 

“ตอนแรกเซอร์ไพรส์มากเลยที่มีคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน เคยคุยกับเพื่อนแล้วเพื่อนบอกว่าเป็นข่าวที่กุขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ เราไม่ได้มองว่าเขาผิดนะ แต่ต้องไปหาวิจัยอ่านว่าเรากำลังถูกหลอกจริงไหม แต่มองจากสิ่งที่เห็นมันก็ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ธารน้ำแข็งที่ละลายก็เป็นของจริง หน้าร้อนที่ผ่านมาเรารู้สึกร้อนราวกับ 50 องศา รังสีความร้อนในยุโรปรุนแรง หลักฐานมันชัดมาก” 

 

“คนอาจคิดว่าอีกแป๊บเดียวฉันก็ตายแล้ว แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีความศิวิไลซ์ ไม่ต้องมีบ้านเมืองที่สะอาด อยากโยนอะไรทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง เพราะเดี๋ยวฉันก็คงตายก่อนแม่น้ำจะเน่า (หัวเราะ) แต่เชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันอาจผุดขึ้นมาบ้าง เพราะอาจไม่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง พื้นฐานของมนุษย์เราก็คงอยากเห็นบ้าน เห็นสังคมที่ดีขึ้น” 

 

Kong GreenGreen กำลังบอกอะไรกับผู้คน  

“อยากบอกว่า เราเป็นประชาชน แม้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เท่าคนออกกฎ หรือนายทุนที่เขาแค่ขยับนิดเดียวก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่…ในประเทศไทย เรารออะไรได้บ้าง เราคาดหวังกับระบบมากี่ปี เราจะคาดหวังให้นายทุนรายใหญ่มาสนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าธุรกิจเขาได้จริงไหม เราจะนั่งรออย่างเดียวแล้วปล่อยให้มันเละไม่ได้ เพราะโลกไม่รอเรา เราเลยมาดูว่าทำอะไรได้ ถ้าทุกบ้านช่วยกันทำ ขยะก็ลด เป็นเหมือนพลังมด ถ้าเรารออย่างเดียว ภาครัฐอาจบอกว่าประชาชนไม่ทำ ส่วนประชาชนอาจบอกว่ารัฐก็ไม่แยกขยะให้หรอก ที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้” 

 

“ก้อง กรีนกรีนเลยอยากเป็นคนกลางที่บอกให้เราทุกคนทำ และบอกรัฐบาลด้วยว่าภาคเอกชน ภาคธุรกิจก็ทำแล้ว ประชาชนก็ทำแล้ว ฝั่งภาครัฐทำอะไรหรือยัง ไม่ใช่ว่าเราสำคัญ แต่เราพยายามใช้สื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง” 

 

ในมุมมองของคุณ ในประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมใดที่ต้องรีบแก้อย่างเร่งด่วน 

“ถ้าถามนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเขาอาจมองว่าเรื่องทะเลหรือป่าไม้ แต่ในมุมของผมคงเป็นเรื่องขยะ เรื่องขยะควรจะแก้อย่างเร่งด่วน เพราะทุกคนสร้างขยะตลอดทุกชั่วโมง ขยะที่เราสร้างเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ยังอยู่ ขยะที่เราสร้างในวันนี้ก็ยังกองอยู่ตรงนั้นไปเป็นร้อยปี ประเทศไทยจัดการขยะได้ไม่ดีเลย เรามีหลุมฝังกลบที่กลายเป็นภูเขาขยะ 2,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ และเกือบ 90% ของทั้งหมดนั้นจัดการอย่างไม่ถูกต้อง” 

 

“นโยบายงดใช้ถุงพลาสติกที่เคยรณรงค์ห้ามร้านสะดวกซื้อมีถุงพลาสติก ทุกวันนี้ก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม นอกจากกลับมาแจกแล้ว ยังเสนอด้วยว่ารับถุงไหม พอเราบอกว่าไม่เป็นไร เตรียมถุงผ้ามา ก็บอกว่าฟรีนะ คะยั้นคะยอด้วย (หัวเราะ) ถุงพลาสติกกลายเป็นสิทธิ์ที่ลูกค้าทุกคนต้องได้ เมื่อใดก็ตามที่คนคิดว่าพลาสติกหรือขยะเป็นสิ่งที่เขาต้องได้ เมื่อนั้นแหละคือความหายนะ เลยคิดว่าต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องขยะมาก ๆ”

ภาพจาก Kong GreenGreen 

 

เรื่องขยะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง  

“เราอยากมีคลองที่ดี เราอยากมีถนนที่สะอาด เราไม่อยากมีภูเขาขยะอยู่ข้างบ้านเรา มันเป็นเรื่องของความสะอาดและเรื่องสุขภาพ ซึ่งสำคัญสุด ๆ ต่างจังหวัดเขายังเผาขยะกันเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีใครเข้ามาเก็บขยะให้เขา ทำให้เกิด PM 2.5 ขยะไหลลงน้ำกลายเป็นไมโครพลาสติกที่กลับมาอยู่ในอาหารทะเลที่เรากินเข้าไป” 

 

“และเรื่องขยะเกี่ยวข้องกับโลกร้อนด้วย เพราะถ้าเราไม่แยกขยะ มันก็ไม่ถูกรีไซเคิล แทนที่จะเอาทรัพยากรเก่า ๆ ไปหมุนเวียน แต่เรากลับต้องผลิตใหม่ ใช้พลาสติก น้ำมัน ตัดต้นไม้มาทำกระดาษ และกองขยะที่ว่าก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ทำให้โลกร้อน สำหรับผมเรื่องขยะก็เหมือนเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

ภาพจาก Kong GreenGreen 

 

ทำไมประเทศไทยถึงจัดการขยะไม่ได้สักที 

“ระบบการจัดการขยะและปลายทางของขยะยังไม่ชัดเจน ควรจะทำให้ทุกขั้นตอนโปร่งใส ตอนนี้ขยะของแต่ละพื้นที่ยังมีเจ้าของ มีคนสัมปทานที่เขาจะมีรายได้จากการเก็บขยะในพื้นที่นั้น เขาจึงเลือกวิธีกำจัดที่ประหยัดต้นทุนที่สุดโดยการเอาไปกองไว้เฉย ๆ เมื่อปลายทางเป็นแบบนี้ คนเก็บซึ่งอยู่ตรงกลางก็ไม่รู้จะแยกไปทำไม เพราะคนที่สั่งให้เก็บเขาไม่ได้บอกว่าต้องแยก คนต้นทางอย่างเรา ๆ ก็เลยไม่มีกฎระเบียบอะไร” 

 

เลยอาจทำให้บางคนคิดว่า  ‘แยกไปทำไม สุดท้ายก็เทรวม’ 

“อาจไม่มีกฎว่าประชาชนต้องแยกขยะอย่างไร แต่จริง ๆ แล้วพนักงานก็แยกที่ท้ายรถอยู่ดี เพราะเขาจะแวะโรงงานรีไซเคิล โรงงานขายของเก่า เพื่อส่งขยะพลาสติก อะลูมิเนียม โลหะ ไปยังที่เหล่านั้นอยู่ดี เพราะขยะมีมูลค่า ดังนั้นไม่ถูกเสียทีเดียวที่บอกว่าเขาเทรวม และอย่างน้อย ๆ ถ้าเราช่วยเขาแยก ก็จะทำให้เขาทำงานไวขึ้น ขยะมีโอกาสถูกส่งไปรีไซเคิลง่ายขึ้น เพราะบางอย่างก็ยากเกินกว่าที่จะไปคุ้ยออกมาแยกเอง”

ภาพจาก Kong GreenGreen 

 

ความเปลี่ยนแปลงที่คุณเห็นว่าเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย  

“มีทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีทั้งสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนแปลงแต่ต้องเร็วกว่านี้ ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นคือ ตั้งแต่เกิดมาจนอายุเท่านี้ ไม่เคยเห็นคนแยกขยะและตื่นตัวเรื่องขยะเยอะเท่านี้มาก่อน ลองไปดูห้างสรรพสินค้าแถวนี้ก็ได้ จะเห็นว่าห้างต้องอุทิศช่องจอดรถ 4 ช่อง ทำเป็นสเตชั่นให้คนเอาขยะรีไซเคิลมาดรอป ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระดาษ ขยะอันตราย อะลูมิเนียม จะเห็นว่าตอนนี้ขยะล้น เพราะคนเอามาดรอปเยอะมาก วันที่มีกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร ก็จะมีคนแยกขยะ ล้างอย่างดี ซ้อนแก้วกาแฟที่เก็บไว้ทั้งเดือนมาบริจาค แบบนี้ที่ต่างประเทศไม่มีนะ เพราะระบบจัดการขยะของเขาเรียบร้อยดีอยู่แล้ว ทิ้งให้ถูกก็พอ แต่ประเทศไทยเราแยกกันเอง หาที่ส่งเอง ภาคเอกชนก็เปิดรับขยะมากขึ้น”

 

ในมุมมองของคุณคิดว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม  

“ต้องแก้ที่รัฐบาล ระบบ และการทำสัญญา ให้รัฐเลือกคนที่จะมาจัดการปลายทางของขยะให้ถูกต้อง ตอนนี้ประชาชนยังไม่เชื่อใจในระบบจัดการขยะหลักของกรุงเทพฯ เขาเลยต้องแยกแล้วไปส่งเองที่ห้าง เพราะเขามั่นใจได้ว่าพลาสติกทุกชิ้นที่เขาล้าง ทำความสะอาด ถูกนำไปรีไซเคิลจริง ๆ” 

 

อนาคตของขยะไทยเป็นอย่างไรในมุมมองของคุณ 

“ผมเป็นคนโลกสวยอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่ทำคอนเทนต์มาจนวันนี้ บางครั้งเจอคอมเมนต์ว่า “ใครจะมานั่งแยกขยะ เสียเวลา” “ดัดจริต” แต่ผมไม่แคร์ เพราะกูโลกสวย (หัวเราะ) ถ้าลองมาอยู่ในสังคมที่ผมยืนจะเห็นว่ามันมีพลัง มันเปลี่ยนได้ เพื่อนผมที่ไม่ได้คุยกันนานอยู่ดี ๆ ก็ทักมาบอกว่ากูแยกขยะแล้วนะ เพราะดูคลิปมึงเนี่ย” 

 

“พ่อผมยังแยกเลย (หัวเราะ) คนแก่เปลี่ยนยากนะ แต่เขาก็เปลี่ยนได้ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้บังคับเขา แต่เพื่อนเขามาเห็นคลิปที่ผมทำ ก็เลยดูดจาก TikTok แล้วไปแชร์ต่อกันในกลุ่มครอบครัว ศิษย์เก่า แล้วคลิปมันวนมาหาเขา อยู่ ๆ วันหนึ่ง เขาก็ยกขยะพลาสติกมาให้แล้วบอกว่า “ป๊าแยกไว้ให้” ตอนนี้ป๊าทำปุ๋ยหมักเศษอาหารเป็นแล้วด้วย” 

 

“คนที่เขาเปลี่ยนยาก ๆ เขาก็เปลี่ยนแล้ว ยิ่งวันนี้เราเป็นคนทำคอนเทนท์ ทุกแบรนด์ติดต่อมาหาให้เราช่วยพูดว่าเขาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แล้ว มีพื้นที่รับขยะรีไซเคิลแล้ว เราเห็นสัญญาณที่ดีทุกวัน ทั้งฝั่งผู้ผลิต ฝั่งรัฐบาล ฝั่งประชาชน จึงไม่ผิดที่เราจะโลกสวย เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จริง ๆ เพียงแต่เราอยากจะ short cut ไปให้ถึงแสงนั้นไว ๆ (หัวเราะ)”

 

โลกในอนาคตที่คุณอยากให้เป็น  

“เรียบง่ายมาก คือ อย่าพยายามผลิตในสิ่งที่ไม่จำเป็น ใช้ทุกอย่างที่มีให้คุ้มค่า จะผลิตอะไรก็ต้องคิดว่ามันยั่งยืนไหม มันส่งผลกับอะไรบ้าง”  

 

“ทุกวันนี้เรามีฟาสต์แฟชั่น กระตุ้นให้เราต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ ตามเทรนด์ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ให้เราตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมี ทำไมเราต้องใช้ ทำไมเราต้องผลิตในสิ่งที่เรามีมากเกินไป ในเมื่อเสื้อผ้ามันไม่ย่อยสลาย แต่ไปกองเป็นภูเขาอยู่ที่ชิลี ทำไมเราต้องผลิตอาหารมากมาย ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี ใช้พื้นที่ป่า ทำให้เกิดมีเทน เกิดโลกร้อน ทุกอย่างมันถูกผลิตและบริโภคอย่างเกินพอดี เราเกินคำว่าพอดีไปมากแล้ว” 

 

ในฐานะผู้บริโภค เราทำอะไรได้บ้าง  

“อยากให้กลับมาทำอะไรแบบพอดี ไม่อุดหนุน ไม่ซื้อ ไม่ใช้ในสิ่งที่เกินความต้องการ เราอย่าเพิ่งหลงไปกับโปรโมชัน 9.9 ว่าต้องรีบกด (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายแล้วของที่ได้มาอาจจะใช้แค่แป๊บเดียวแล้วกองอยู่แบบนั้น และยิ่งไปสนับสนุนคนต้นทางให้รีบผลิตมาเยอะ ๆ เราในฐานะผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน เราต้องชัดเจน และอย่าตกเป็นเครื่องมือของคนที่ทำธุรกิจแบบเดิม ๆ”  

 

“ผมว่าเสียงของผู้บริโภคดังขึ้นเรื่อย ๆ ไม่อย่างนั้นแบรนด์ต่าง ๆ คงไม่ทำแคมเปญรักษ์โลกหรอก เขารู้ว่าผู้บริโภคไม่ได้ไร้เดียงสาอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายแพงขึ้นสำหรับความยั่งยืนที่มากขึ้น”

 

ในมุมมองของคุณ คิดว่าอุตสาหกรรมไหนผลิตของไม่จำเป็นเยอะที่สุด 

“อาจไม่มีอันไหนเป็นที่สุด แต่มีหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารก็เป็นปัญหาขยะใหญ่ ๆ เลย เพราะในการผลิตทั้งระบบเต็มไปด้วยการทำลายโลกและเราผลิตออกมาเกินความต้องการมาก ๆ 30% ของอาหารในโลกนี้ยังสามารถกินได้ แต่มันกลายเป็นขยะไปเสียแล้ว ทั้งกินไม่หมด ขายไม่ออก ใกล้หมดอายุ ทั้ง ๆ ที่มันยังกินได้ และยังมีกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหารอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งจำนวนที่เราทิ้งไปมันสามารถเลี้ยงคนเหล่านั้นได้เพียงพอด้วยซ้ำ แต่มันก็กระจายไปไม่ถึง” 

 

“และเรื่องบรรจุภัณฑ์ เรายังมีความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับ ‘พลาสติกรักษ์โลก’ พลาสติกย่อยสลายได้ ซึ่งความจริงคำว่าพลาสติกย่อยสลายได้มันต้องย่อยสลายในโรงงานเท่านั้น แต่ในประเทศไทยมันย่อยไม่ได้เพราะสุดท้ายก็ไปกองอยู่ที่ภูเขาขยะ แก้วที่คุณจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อหวังว่าจะรับผิดชอบโลก ที่จริงแล้วคุณอาจกำลังโดน Greenwashing อยู่ก็เป็นได้ ถ้าถุงพลาสติกย่อยสลายได้มีจริง ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าราคาของมันจะแพงกว่า 5 เท่า ส่วนที่วางขายอยู่ให้เราหาซื้อกันได้ง่าย ๆ มันอาจจะย่อยนะ แต่ย่อยเป็นไมโครพลาสติก มันไม่ได้หายไป”

 

เวลาคุณเล่าเรื่อง คุณมีวิธีเล่าอย่างไร ให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

“ก่อนหน้านี้ ผมเป็นมนุษย์ที่ไม่กรีน แต่ก็ไม่ถึงกับขี่มอเตอร์ไซค์เอาถุงพลาสติกไปโยนลงคลอง (หัวเราะ) แต่ก่อนเราก็เททุกอย่างลงในถุงขยะ มัด แล้ววางไว้ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่ผมก็โดนเปลี่ยน ถึงจะยุ่งมากแต่พอแยกขยะได้ ก็รู้สึกว่าเราทำได้นี่หว่า แม้จะหนักขึ้นนิดหน่อย แต่ก็เปลี่ยนได้จากการ ‘ได้รับความรู้’ พอมีความรู้เราถึงเปลี่ยน” 

 

“ก้องกรีนกรีนจะพยายามให้ความรู้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน และจะไม่ได้บอกแค่ปัญหาอย่างเดียว แต่เราบอกด้วยว่าคุณจะแก้อย่างไรได้บ้าง ผมว่าคนเราเปลี่ยนได้ด้วยความรู้”

 

สำหรับบางบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายคน เราจะมีวิธีพูดให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างไร 

“ยาก ผมโคตรเข้าใจถึงขนาดทำคลิปออกมาเลย มันเป็น pain point จริง ๆ การบีบบังคับไม่ช่วยอะไร การชวนทะเลาะจะทำให้ทุกอย่างแย่ แต่เทคนิคของผมคือ 

 

1 ให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจเขาแบบเฟรนด์ลี่ที่สุด ส่งคลิปผมให้เขาดูทุกวัน แอบแชร์ไปในกรุ๊ปไลน์ทุกวันก็ได้ เพราะพ่อของผมก็เปลี่ยนด้วยวิธีนี้เหมือนกัน  

 

2 ทำให้ทุกอย่างในบ้านให้ง่าย เราทำช่องใส่ขยะและจัดระบบให้เขา  

 

3 ต้องดูสะอาด ดูน่าร่วมมือ ไม่ใช่ว่าเก็บขยะอะไรรก ๆ ไว้ในบ้าน แบบนั้นแม่เก็บทิ้งแน่นอน  

 

4 ทำให้เขาเห็นว่าขยะทุกชิ้นมันมีมูลค่า ลองบอกเขาว่า ‘แม่ เก็บฝาขวดไว้ให้หน่อยนะ เดี๋ยวหนูเอาไปขาย’ พอเขาได้ยินคำว่าขายเขาจะโอเค (หัวเราะ) หรือบอกว่า ‘เดี๋ยวหนูเอาไปทำบุญ ขวดนี้เอาไปตัดชุด PPE ให้คุณหมอช่วยผู้ป่วยได้ กล่องนมเอาไปสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ได้นะ’ เราอย่าเพิ่งเอาโลกเป็นตัวตั้งเพื่อชี้นำ แต่ทำให้เขาเห็นว่าเขาได้ร่วมทำบุญ เขาจะได้เห็นประโยชน์ของขยะ”

 

ถ้าอ่านบทความนี้จบสิ่งแรกที่คุณจะชวนให้ทุกคนทำ คือ … 

“สังเกตขยะที่สร้างในทุก ๆ วัน แล้วตั้งคำถามว่าพรุ่งนี้เราลดอะไรได้บ้าง คนอ่านอาจมีแก้วกาแฟที่ซื้อจากตลาดนัด หิ้วถุงพลาสติกมา มีฝา มีหลอด เราลองมองดูสิว่า ขยะ 5 ชิ้นนี้ ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีได้ไหม ด้วยวิธีไหน ทำอย่างไร” 

 

ติดตามก้อง Kong GreenGreen และดูวิธีรักษ์โลกง่าย ๆ ได้ที่ 

TikTok : Kong GreenGreen 

Instagram : kongto 

YouTube : KongGreenGreen 

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...