

คุยกับ ‘วรรณ-แวว’ คู่แฝดผู้กำกับ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ หนังรักโรแมนติกที่บอกเล่าชีวิตวัยรุ่นยุค Y2K
Better Life / People
24 Feb 2023 - 10 mins read
Better Life / People
SHARE
24 Feb 2023 - 10 mins read
โลกของฝาแฝดเป็นมิติที่น่าสนใจมากสำหรับผู้คนที่ลืมตาดูโลกเพียงลำพัง
เราจึงมีโอกาสได้เห็นหนัง ละคร ซีรีส์ ฯลฯ นำความสัมพันธ์ของฝาแฝดมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวหลากพล็อตหลายรสชาติ มีทั้งแฝดพลัดพรากที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีแฝด แฝดที่เกลียดกันปานจะกลืน แฝดที่สวมรอยเป็นอีกคน แฝดที่ต่างกันราวขาวกับดำ ฯลฯ
แต่แทบไม่มีสื่อใดเล่าถึงความสัมพันธ์ธรรมดา ๆ ตามประสาพี่น้องคู่หนึ่ง
วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ คู่แฝดนักเล่าเรื่องที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมานานร่วมสิบปี จึงอยากบอกเล่าความสัมพันธ์ของฝาแฝดจากอินเนอร์ส่วนตัว ผ่านการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตอย่าง เธอกับฉันกับฉัน (You & Me & Me) แห่งค่ายจีดีเอช
วรรณแวว (ซ้าย) และ แวววรรณ (ขวา) หงษ์วิวัฒน์
ผู้กำกับภาพยนตร์ เธอกับฉันกับฉัน
‘เธอกับฉันกับฉัน’ ไม่ได้เป็นงานชิ้นแรกที่วรรณและแววทำด้วยกัน เพราะสองชื่อนี้แยกกันไม่ออกมาตั้งแต่ผลงานแจ้งเกิดชิ้นแรกอย่างหนังสารคดี Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี (2555) แล้ว
ก่อนที่วรรณจะแยกไปฝึกปรือฝีมือในทีมเขียนบทซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ทั้ง 3 ซีซัน และซีรีส์ I HATE YOU I LOVE YOU ส่วนแววเคยร่วมเขียนบทซีรีส์ STAY ซากะ…ฉันจะคิดถึงเธอ ก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมกันเขียนบทและกำกับซีรีส์ Great Men Academy สุภาพบุรุษที่เลิฟ ด้วยกันเต็มตัวในปี 2562 พร้อม ๆ กับการผลิตรายการในช่อง YouTube ด้านอาหาร KRUA.co ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวหงษ์วิวัฒน์ ที่พวกเธอในฐานะทายาทรุ่นที่สองร่วมกับพี่ชาย รับหน้าที่ต่อยอดความสำเร็จครั้งใหม่ หลังจากที่นิตยสารครัวเคยบุกเบิกไว้ตั้งแต่ยุค Y2K
แม้จะแม่นยำในฝีมือการเป็นนักเล่าเรื่องผ่านผลงานหลากหลาย แต่สำหรับการเล่าเรื่องในรูปแบบภาพยนตร์ครั้งแรกย่อมไม่ง่าย ต่อให้หยิบเอาเรื่องราวที่ตัวเองรู้จักดีที่สุดอย่างเคมีของคู่แฝดมาเล่าโดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศย้อนยุคสมัย Y2K เหมือนที่ตัวเองเติบโตมา ก็ใช่ว่าวรรณ-แววจะกำกับทุกอย่างให้ได้ดั่งใจ
ทั้งคู่จึงต้องพึ่งมืออาชีพเป็นทีมงานหลายฝ่าย ที่ต่างก็เพิ่งมาสวมบทหัวโขนคุมทัพในแผนกของตนเป็นครั้งแรกเช่นกัน ไล่มาตั้งแต่โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพ ฝ่ายเสื้อผ้า โปรดักชั่นดีไซน์ ไปจนถึงสองนักแสดงนำ ที่ต่างก็ต้องเรียนรู้บทเรียนบทใหม่ในชีวิตไปด้วยกัน
การรีเซตประสบการณ์ทำงานทั้งชีวิตให้กลับมาสด ใหม่ ไร้อีโก้ ในการร่วมกันสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่อง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ จึงเป็นอีกหนึ่งการเติบโตแบบคู่ขนานเคียงไปกับเรื่องราว Coming of Age ทั้งในจอและนอกจอ ที่เปล่งประกายเสน่ห์บางอย่างให้อบอวลอยู่ในหนังรักเรื่องนี้ที่คนดูย่อมสัมผัสได้และรับพลังงานดีเหล่านั้นไปเต็ม ๆ
ครั้งแรกของการเล่าเรื่องธรรมดาในโลกของฝาแฝด
“เรารู้สึกว่าในสื่อ ไม่ว่าจะละครหรือหนัง ฝาแฝดมักมีภาพลักษณ์ที่ดูน่ากลัว อิจฉากัน คนนึงดีมาก คนนึงเลวมาก มีความโรคจิตหน่อย ๆ มีความไม่ใช่คนปกติ” แววเริ่มเล่าถึงที่มาของการเลือกทำหนังฝาแฝดในมุมที่ตัวเองอยากเล่า
“ที่ผ่านมายังไม่มีหนังที่พูดถึงฝาแฝดแบบธรรมดาเหมือนในชีวิตจริง เราเลยอยากให้หนังเรื่องนี้เล่าถึงโลกใบนั้น และด้วยความที่พีเรียดการทำหนังค่อนข้างยาว เราจะต้องอยู่กับมันนานจึงควรเลือกหัวข้อที่เราเอา Material ออกมาจากตัวเองได้ เลยมาลงตัวที่ความสัมพันธ์ของฝาแฝด”
เมื่อได้บทสรุปแล้วว่าอยากเล่าถึงเนื้อแท้ของความเป็นคู่แฝด วรรณและแววก็เริ่มร่ายมนตร์วางโครงเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นจึงนำมาเสนอค่ายจีดีเอช ที่พวกเธอเองคุ้นเคยดีอยู่แล้วจากการร่วมงานทั้งในฐานะคนเขียนบทภาพยนตร์และผู้กำกับซีรีส์มาก่อน
นอกจากจะขายบทได้ชนิดผ่านฉลุย พวกเธอยังได้ โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับร้อยล้านที่หนึ่งในผลงานเด่นก็คือ การกำกับภาพยนตร์เรื่อง “แฝด” (ภาคสยองของฝาแฝด) รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้อีกด้วย
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พี่โต้งลองมาจับงานโปรดิวซ์ หนังเรื่องนี้เลยเป็นครั้งแรกของหลาย ๆ คน เป็นหนังเรื่องแรกของวรรณกับแวว เรื่องแรกของนักแสดงนำทั้งสองคน และเรื่องแรกของทีมงานหลาย ๆ ฝ่าย เช่น ผู้กำกับภาพ ฝ่ายเสื้อผ้า ทีมโปรดักชั่นดีไซน์ ฯลฯ” แววเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“ตอนแรกก็มีความรู้สึกนอยด์ ๆ ตายแล้ว ครั้งแรกกันหมดเลย เราจะรอดกันไหมคะ” วรรณเผยความรู้สึกกลั้วเสียงหัวเราะ “แต่มันกลายเป็นเมจิกของครั้งแรกที่ทุกคนใส่เต็ม ทุกคนอยากจะเดบิวท์ด้วยหนังเรื่องนี้
“วรรณว่าข้อดีอย่างนึงของการที่หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มฉายบทเด่นครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ ก็คือ ปกติแล้วเวลาที่คนเราทำงานไปเรื่อย ๆ ตัวตนที่คิดว่าฉันประสบการณ์เยอะมักจะเกาะกุมใจเรา แต่สำหรับการทำงานในหนังเรื่องนี้ ทุกคนร่วมแรงร่วมใจโดยไม่มีอีโก้ใส่กัน ทีมเสื้อผ้าพร้อมจะคุยกับโปรดักชั่นดีไซน์ว่าเซตอัพเธอจะเป็นยังไง เสื้อผ้าฉันจะได้ลงไปอยู่ในเซตอัพของเธอ” วรรณยกตัวอย่างข้อดีของประสบการณ์ครั้งแรกที่ช่วยรีเซตตัวตนของทุกคนในทีมให้เท่ากัน
แต่ในบรรดาประสบการณ์ครั้งแรกของทีมงานทั้งหมด บทหนักที่สุดต้องยกให้ 2 นักแสดงนำหน้าใหม่อย่าง โทนี่ (อันโทนี่ บุยเซอเรท์) และ ใบปอ (ธิติยา จิระพรศิลป์) ฝ่ายชายต้องสวมวิญญาณลูกอีสานให้เนียนที่สุด ส่วนฝ่ายหญิงต้องรับบทฝาแฝดให้สมจริงสมจังราวกับแยกร่างได้
“จริง ๆ แล้วอยากได้นักแสดงที่มีฝาแฝด ถ้าได้แฝดชีวิตเราจะดีกว่านี้ เราจะไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ แต่เพราะใบปอคือคนที่ใช่ที่สุด ทุกคนเลยต้อง ฮึบ! โอเค เราจะทำงานใหญ่งานนี้ด้วยกัน จากงานที่ควรจะเป็นสเกลเล็กกลายเป็นว่างานงอกทุกแผนก ใบปอที่ไม่เคยแสดงอะไรมาก่อนต้องเล่นสองคาแรคเตอร์ ทีมเสื้อผ้าก็ต้องทำเสื้อผ้าเบิ้ลทั้งหมด ช่างภาพก็ต้องไปทำการบ้านว่าจะถ่ายยังไง ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของทุกคนว่าเราจะเล่นท่ายากนะ” แววแจกแจงรายละเอียด ก่อนจะเล่าต่อถึงเสน่ห์ในตัวใบปอที่ถูกตาต้องใจสองผู้กำกับ จนถึงกับต้องยอมเล่นท่ายากร่วมกันทั้งคณะขนาดนี้
ใบปอ (ธิติยา จิระพรศิลป์)
ภาพ: GDH
“พวกเรารู้สึกว่าใบปอมีความเป็นธรรมชาติบางอย่าง มีเสน่ห์ และมีสองคาแรคเตอร์ในตัวเอง เขามีมุมที่ห้าวมาก แบบจะเท่ไปไหน กับอีกมุมที่สดใสน่ารักมาก เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นไปได้นะที่ใบปอจะเล่นเป็นสองคนได้ แต่ใบปอต้องฝึกฝนจนชำนาญในการสลับคาแรคเตอร์ไป-มาให้ได้”
โทนี่ (อันโทนี่ บุยเซอเรท์)
ภาพ: GDH
เช่นเดียวกัน โทนี่เป็นอีกหนึ่งนักแสดงหน้าใหม่เจ้าเสน่ห์ที่มีความเป็นธรรมชาติในตัวเอง ที่ต้องฝึกฝนหลากหลายทักษะไม่แพ้ใบปอ โดยเฉพาะการเป็นลูกครึ่งที่ต้องรับบทหนุ่มอีสาน เขาจึงถูกส่งตัวไปอยู่นครพนม 3 วัน เพื่อทำความคุ้นเคยกับบรรยากาศของท้องไร่ท้องนา ฝึกพูดภาษาอีสาน ฝึกเล่นพิณ หัดขี่รถเครื่อง ลองพายเรือในคลอง หัดจับปลา และซึมซับแววตาของลูกอีสานมาไว้ในตัวให้ได้มากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ว่าเขาสอบผ่านหรือไม่ ผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมตัดสินได้เอง
ส่งความสุขจากยุค Y2K
ร่างแรก ๆ ของบทภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน ไม่ได้มีบรรยากาศย้อนวัยไปสู่ยุค Y2K แต่เพราะเสน่ห์แห่งความไม่รู้และการลองผิดลองถูกไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนผ่านของวัย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหนังแนว Coming of Age ดูจะเข้ากันกับบรรยากาศในยุคที่วรรณและแววเติบโตมาพอดิบพอดี พวกเธอจึงนำเอาทุกความไม่รู้ในยุคที่ผู้คนกลัวว่าโลกจะแตกเมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ มาเป็นฉากหลังของเรื่องราว
“ในปี 1999 พวกเราก็อายุเท่า ๆ กับตัวละครในเรื่อง ซึ่งหนึ่งในความทรงจำของเด็กยุคเราก็คือ ปีนั้นมีข่าวลือว่าโลกจะแตก แล้วตอนนั้นข้อมูลข่าวสารก็ไม่ได้มีให้เช็คอย่างทุกวันนี้ ก็มีความเอ๊ะ ยังไงนะ ยังไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่า Y2K คืออะไร นอสตราดามุสคืออะไร แต่เขาว่ากันแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่าพอหนังเรื่องนี้เป็นหนังเปลี่ยนผ่านของวัย เด็ก ๆ ต้องเติบโตเรียนรู้ผ่านความรักก็เลยรู้สึกว่าแบ็กกราวด์ ฉากหลังที่เป็นปีแห่งความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นดูจะซัพพอร์ตกับเนื้อเรื่องดี” วรรณเท้าความถึงที่มาของบรรยากาศในเรื่อง ที่เมื่อถึงคราวต้องลงมือทำงานก็ต้องเรียกค้นความทรงจำสีจางกลับคืนมาด้วยหลายวิธี
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน
ภาพ: GDH
“นอกจากจะจำได้แบบจาง ๆ แล้ว ภาพจำในยุคนั้นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก” แววหัวเราะเมื่อต้องระดมไอเดียด้วยการถามเพื่อน ๆ รอบตัวถึงรายละเอียดยิบย่อยของปี 1999
“อย่างคำว่าพีก ในสมัยนั้นไม่มีใครพูดคำนี้ แล้วเราก็นึกไม่ออกว่าต้องใช้คำว่าอะไร ต้องใช้วิธีเข้าไปถามในกรุ๊ปเพื่อนว่าเมื่อก่อนเราพูดว่าอะไรกัน หรือไม่ก็จะมีบางวันที่เราต้องไปค้นข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ ไปเปิดหนังสือพิมพ์ปี 2542 ดู เปิดไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอภาพมือถือในยุคโน้น หรือภาพสิ่งของ บรรยากาศบ้านเมืองต่าง ๆ ที่เราเอามาใส่ในหนังได้”
จากบรรยากาศป่วน ๆ ของความไม่รู้ว่าโลกจะแตกจริงไหม คู่แฝดนักเล่าเรื่องขมวดปมเพิ่มเข้าไปอีกด้วยการสร้างปมขัดแย้งในชีวิตของแฝดยูและมีในหนังให้แยกออกจากกันโดยมีรักเป็นเหตุ วรรณเริ่มเล่าก่อน
“เราสองคนตั้งโจทย์จากการอยากเล่าเรื่องฝาแฝดที่มีโลกใบเดียวกัน จนเมื่อต่างคนต่างเริ่มอยากมีตัวตนในแบบของตัวเอง เราจึงต้องมองหาทางแยกที่จะทำให้วงกลมสองวงนี้แยกออกจากกัน ก็เลยรู้สึกว่าในวัยหนุ่มสาวเรื่องความรัก ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น มักจะเป็นเรื่องอันดับแรก ๆ ที่เราแชร์กันไม่ได้ เลยเลือกความรักมาเป็น Conflict ของการเติบโต”
“การเป็นฝาแฝดน่ะ อยู่กับการถูกเปรียบเทียบมาตลอด” แววเสริมใจความ “พอคนนึงได้มีอีกประสบการณ์ที่เราเองยังไม่มี แล้วในวัยที่เรายังไม่มีความเป็นตัวของตัวเองมากนัก เราก็อาจจะเกิด Conflict ในใจว่าแล้วฉันจะเอายังไงต่อ เพราะฉะนั้น หนังเรื่องนี้เลยจะไม่ได้พูดถึงความรักในฐานะความรัก แต่พูดถึงความรักในฐานะ Conflict มากกว่า เราเอาแฝดเป็นตัวตั้งแล้วความรักเข้ามาเป็นปมขัดแย้ง”
“แต่ในขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ก็พูดถึงรักครั้งแรกในแบบที่ไม่ต้องเป็นแฝดก็ได้ เป็นรักครั้งแรกของคนทั่วไปที่พบกับบทเรียนแรกที่ทำให้แต่ละคนเติบโต” วรรณย้ำชัดว่าใครที่เคยมีความรักย่อมอินกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก
บทสนทนาของแฝดสามัคคี
“ฝาแฝดมีหลายแบบ”
แววจั่วหัวถึงความหลากหลายของมนุษย์ที่เกิดห่างกันหลักวินาที
“เท่าที่พวกเราไปรีเสิร์ชมาจากการสัมภาษณ์แฝดหลายคู่ มีทั้งแฝดแบบเด็กน้อยอายุ 15-18 ปี ที่ไม่ชอบเลยเวลาถูกเรียกว่าแฝด ชื่อก็มีทำไมต้องเรียกว่าแฝดด้วย หรือแฝดที่ตัวติดกันมาก ฉันโอเคกับการที่ใครจะเรียกฉันว่าแฝด หรือแม้กระทั่งใช้แฝดที่กระเป๋าตังค์เดียวกัน เติบโตมาด้วยกัน ทำงานที่เดียวกัน ก็มี”
“แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่แฝดทุกคู่ยินดีก็คือ เวลาที่มีคนแยกออกว่าใครเป็นใคร” วรรณยิ้มเมื่อเผยถึงความในใจของคู่แฝด “ถ้าใครแยกเราออกด้วยความรวดเร็ว เราจะรู้สึกว่า เฮ้ย คนนี้เจ๋งว่ะ เขาใส่ใจรายละเอียด เพราะส่วนใหญ่เราจะถูกมองเป็นหน่วยเดียวตลอด”
เมื่อถามว่าทั้งคู่เป็นฝาแฝดแบบไหน วรรณ-แววตอบอย่างพร้อมเพรียงว่า “แฝดสามัคคี” และเหล่านี้คือตัวอย่างบทสนทนาอย่างลื่นไหลของแฝดนักเล่าเรื่องที่มีความต่างปนอยู่ในความเหมือนแบบเนียน ๆ
ความสัมพันธ์ของแฝดต่างจากพี่น้องธรรมดายังไง
วรรณ - ต่าง แฝดจะมีความเท่ากันแบบเพื่อน แต่ก็มีความผูกพันกันแบบพี่น้อง วรรณเลยรู้สึกว่าเป็นมากกว่าเพื่อนและพี่น้อง อย่างพี่น้องก็จะมีความอาวุโสมากำกับเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนเพื่อนก็อยู่คนละบ้าน ไม่ได้ผูกพันกันมาตั้งแต่ในท้องแม่ เลยรู้สึกว่าการเป็นแฝดคงมีสายสัมพันธ์อะไรบางอย่างที่พิเศษอยู่
ทั้งคู่เรียกกันและกันว่าอะไร
แวว - พี่แววกับพี่วรรณ
วรรณ - เพราะไม่มีใครอยากเป็นน้อง คิดกันไปเองว่าถ้าเป็นน้องแล้วจะเสียเปรียบ เป็นพี่ดูมีพาวเวอร์กว่า
เวลาผู้กำกับสองคนมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน มีวิธีหาคำตอบร่วมกันอย่างไร
แวว - แทบไม่ต้องจูน เพราะเถียงกันมาตั้งแต่เด็ก เลยมีความชอบคล้าย ๆ กัน มีความคิดเห็นค่อนข้างไปในทางเดียวกัน มีขัดแย้งบ้าง แต่ก็เป็นความขัดแย้งที่เหมือนเถียงกับตัวเอง เถียงกันเพื่อหา Solutions ตรงกลาง ไม่ใช่เถียงเพื่อเอาชนะ ส่วนหน้าที่การกำกับร่วมกันจะไม่ได้แบ่งชัด ๆ ว่าเธอดูพาร์ทนั้น ฉันดูพาร์ทนี้ เพราะเราเหมือนทำงานกลุ่มในทุกงานมาตั้งแต่เด็กแล้ว เลยกลายเป็นว่าในเรื่องของครีเอทีฟเราจะคิดร่วมกัน เรื่องอื่น ๆ เราก็ตกลงร่วมกันแหละ แต่ถ้ามีงานเร่ง เหตุฉุกเฉิน เราก็จะมีโหมดแยกร่าง เช่น ไม่ทันแล้ว ต้องรีบถ่ายแล้ว พระอาทิตย์จะตกดิน เดี๋ยวพี่แววไปบรีฟนักแสดงนะ วรรณดูหน้าเซตไปเลย ซึ่งการแบ่งนี้เราก็จะเชื่อใจอีกฝ่ายอยู่แล้ว เพราะเราเห็นภาพเดียวกันมาตั้งแต่แรก หรือถ้ามีคอมเมนต์อะไรก็จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อยมาคุยกันอีกรอบ การทำงานเลยเป็น Flow แบบสัญชาตญาณประมาณนึง
วรรณ - บางทีก็รู้สึกว่าถ้าไม่มีสองคนอาจจะเหนื่อยกว่านี้
แวว - เคยคุยกันว่าถ้าให้กำกับคนเดียวก็ไม่ต้องทำก็ได้นะหนังน่ะ พวกเราติดกับการมีสองคนไปแล้ว นี่อาจจะเป็นข้อเสียของการเป็นแฝด เพราะเราทำงานคู่มาตลอด ถ้าจะให้กำกับคนเดียว เราอาจจะไม่ Self ขึ้นมาก็ได้
คิดว่าจะลองแยกร่างกันจริง ๆ ไหมในอนาคต
แวว - แววค่อนไปทางไม่ลอง แต่วรรณอาจจะลอง ใช่ไหม
วรรณ - ไม่รู้เหมือนกัน แล้วแต่ความสั้นความยาวของโปรเจคต์ด้วย
แวว – ถ้าเป็นโปรเจคต์ใหญ่ ๆ ก็อยากให้มีอีกคน แต่ถ้าเป็นเอ็มวีสั้น ๆ อาจเป็นไปได้ที่จะทำคนเดียว
อะไรคือความคาดหวังจากการกำกับหนังเรื่องแรกในชีวิต
วรรณ - ตอนนี้เราพึงพอใจกับมันแล้ว อย่างน้อยเราชอบหนังเรื่องนี้แล้ว อะไรที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ถือเป็นกำไรหมดเลย
แวว - ไม่มีขาดทุนเหรอ
วรรณ - ไม่มีขาดทุนค่ะ ถ้าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ถือเป็น Learning ทั้งหมด อยากรอดูว่าคนจะชอบหนังเรื่องนี้แบบที่เราชอบไหม อยากให้เกิดบทสนทนาขึ้น
แวว - แอบคิดเข้าข้างตัวเองว่า นี่เป็นรสชาติใหม่ ๆ ของวงการหนังไทย พล็อตเรื่องในแบบที่เราก็รู้สึกว่า Minimal แต่ก็มีความน่าสนใจในตัวเอง ก็หวังว่า…
วรรณ - ก็หวังว่าคนจะชอบ
แวว - ก็หวังว่าคนจะชอบสิ ทำหนังแล้วไม่อยากให้คนชอบเหรอ (หัวเราะ)
วรรณ - ขั้นต้นเราต้องชอบก่อนไง
แวว - เบื้องต้นเราถึงพอใจกับมันแล้ว ไม่มีจุดไหนที่อยากกลับไปแก้ รู้สึกว่า…
วรรณ - As Good As It Gets
แวว – ใช่ ๆ ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ