

ล้อมวงคุยกับครอบครัวและเพื่อนซี้ที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของ ‘บุญรอด อารีย์วงษ์’
Better Life / People
14 Jun 2023 - 10 mins read
Better Life / People
SHARE
14 Jun 2023 - 10 mins read
“ถ้าถามว่าชีวิตของบุญรอดใช้โชคหรือความพยายามมากกว่ากัน ต้องบอกว่าถ้าไม่มีโชคก็อาจจะมาไม่ถึงวันนี้ แต่บุญรอดใช้ความพยายามเป็นแกนหลักมากกว่า ตั้งแต่เกิด เรียน และทำงาน ดังนั้น ชีวิตที่เติบโตมาจนถึงวันนี้จึงเป็น 30 ปีที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”
บางท่อนบางตอนจากบทสนทนาที่ LIVE TO LIFE มีโอกาสได้พูดคุยกับ บุญรอด อารีย์วงษ์ Youtuber ชื่อดังแห่ง Poocao Channel เป็นเหมือนบทสรุปถึงเส้นทางชีวิตของเขาได้ดีที่สุด
หากใครเคยติดตามบทสัมภาษณ์ของบุญรอดตามสื่อต่าง ๆ คงรู้กันดีอยู่แล้วว่าชีวิตของนักสร้างเสียงหัวเราะให้ใบหน้าของผู้คนเปื้อนยิ้มคนนี้ ไม่เคยเจอเรื่องง่าย ชีวิตมอบบททดสอบสุดหินให้เขาตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ
บุญรอดคลอดก่อนกำหนดด้วยวัยเพียง 7 เดือน ใช้ชีวิตอยู่ในตู้อบนานกว่า 3 เดือน ไม่นานหลังจากนั้นก็ตรวจพบมะเร็งในตับ ทารกน้อยจึงต้องนอนนิ่ง ๆ เพื่อทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีกนานร่วมปี ส่งผลให้กล้ามเนื้อยึดทั้งร่างกาย บุญรอดจึงมีปัญหาด้านการเดิน การพูด และการเขียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้กายจะพร่อง แต่ใจของบุญรอดสมบูรณ์เกินร้อย จากการดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อ ฐิติศักดิ์ อารีย์วงษ์ และคุณแม่ ลัดดา อารีย์วงษ์ รวมถึงพี่ชายของบุญรอดเอง ที่ช่วยกันประคับประคองสมาชิกคนสุดท้องของบ้านให้สามารถดูแลตัวเองได้ดี และเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณสมบัติในการเทคแคร์หัวใจของคนรอบกายโดยไม่รู้ตัว
ภูเขา - พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ เพื่อนรักของบุญรอด ผู้ก่อตั้ง Poocao Channel คือหนึ่งเสียงที่ยืนยันได้ดีว่าเขาได้รับพลังดี ๆ จากบุญรอดตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ภูเขาเลือกที่จะชวนบุญรอดมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในการขับเคลื่อน Poocao Channel คอมมูนิตี้ที่นำเสนอความบันเทิงผ่านมิตรภาพในกลุ่มเพื่อนซี้ชาว LGBTQIA+ ที่ซัพพอร์ตกันและกันในทุกสถานการณ์
การทำความรู้จักเส้นทางชีวิตของนักสู้อารมณ์ดี ผู้มีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียงแทนผู้พิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านเรื่องเล่าจากครอบครัวและเพื่อนสนิทจึงเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ ประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ ที่ทำให้เรารู้จักตัวตนของ บุญรอด อารีย์วงษ์ ได้ดีที่สุด
โลกของเด็กชายบุญรอด
แม่ - “บุญรอดห่างกับพี่ชายสามปี แต่การดูแลเอาใจใส่เขาจะมากกว่าพี่ชายเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องกิน การแต่งตัว การเรียน”
บุญรอด - “กับพี่ชายก็สนิทกันมาก เพราะแม่ให้คอยดูแลบุญรอดมาตั้งแต่เด็ก ๆ”
พ่อ - “ตอนเด็ก ๆ เวลาไปส่งพวกเขาที่โรงเรียนต้องคอยบอกกิ๊ก (พี่ชายของบุญรอด) ว่า ลูกอย่าเพิ่งเข้าห้องเรียน อย่าเพิ่งไปเล่นกับเพื่อนนะ ดูแลน้องก่อน”
แม่ - “เมื่อก่อนแม่ต้องไปขายของ ตอนเช้าก็ไปหย่อนเขาไว้ที่โรงเรียน จึงเป็นหน้าที่ของพี่ชายที่ต้องรับผิดชอบน้อง เรียนพิเศษเสร็จก็ต้องพากันกลับบ้านด้วยกัน แต่พอช่วงตอนมัธยมต้น บุญรอดเขาเริ่มออกสาวแล้ว ตอนแรกพี่ชายเขารับไม่ได้ โกรธ บีบคอน้อง (หัวเราะ) ตอนหลังพอโตก็เริ่มเข้าใจ”
พ่อ - “เมื่อก่อนสังคมยังไม่เปิดเหมือนตอนนี้ ภาพที่เห็นยังเป็นขาวกับดำ สมัยนี้เต็มไปด้วยภาพสามมิติ รุ้งเจ็ดสี อีกฟากโลกเป็นยังไงเรารู้เราเห็นกันหมดแล้ว”
แม่ - “แม่บอกกับพี่เขาเสมอว่า ถ้าหนูจะมีแฟน หนูต้องบอกแฟนด้วยว่าหนูมีน้องไม่แข็งแรง ครอบครัวเธอต้องช่วยกันดูแลน้องด้วย เขาก็ไปบอกผู้หญิงที่เขากำลังจะแต่งงานด้วยแบบนั้น ตอนแรกฝ่ายหญิงก็นึกว่าน้องเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนผู้หญิงมาบอกกับแม่หลังจากที่แต่งงานกันไปแล้วว่า กิ๊กเขารักและเป็นห่วงรอดมาก เขามาบอกว่าน้องชายไม่แข็งแรงนะ เธอจะรับน้องฉันได้ไหม ที่ไหนได้ พอพามาเจอตัว น้องดูแลพี่ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เรื่องนี้แม่ยังไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน”
บุญรอด - “จริง บุญรอดก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย”
แม่ - “การเลี้ยงดูบุญรอดก็ยากแค่ตอนที่เขาป่วยตั้งแต่เด็ก ส่วนเรื่อง LGBT ไม่ยาก ในเมื่อเขาชัดเจนว่าตัวเองเป็นแบบนี้ ถ้าเราไปฝืนความรู้สึกหรือต่อต้านเขา เราก็จะไม่มีความสุขทั้งคู่ ก็ต้องปล่อยไปตามที่เขาต้องการที่จะเป็น บ้านเราเน้นหนักเรื่องการพูดคุยกันมากกว่า มีอะไรก็ปรึกษากัน คุยกันทุกเรื่อง แม่คิดว่าปัญหาครอบครัวที่เกิดในสังคมมาจากความไม่เข้าใจกัน ไม่พูดคุยกันจนก่อตัวสะสมไปเรื่อย ๆ”
บุญรอด - “บุญรอดกับแม่คุยกันทุกเรื่อง เรื่องเซ็กซ์ก็คุย เพราะถ้าไม่คุยกับแม่ก็ไม่รู้จะคุยกับใคร บ้านคือคอมฟอร์ทโซน เขารู้ว่าเราเป็นยังไง และที่บ้านค่อนข้างจะ Skinship กันหนักมาก กอดกัน หอมกันตลอด ไม่เขิน”
แม่ - “อะไรดีหรือไม่ดีก็บอกเขา ติเพื่อให้พิจารณา ถ้าไม่ชอบหรือไม่ดีก็ไม่ต้องทำตามที่แม่สอนก็ได้ เช่น บุญรอดชอบเอาผมมาปรกหน้า แม่ก็บอกว่าบางโอกาสได้ บางโอกาสไม่เหมาะ หรือโอกาสนี้หนูไม่ควรแต่งหญิงไป แต่งชายไปดีกว่า เราต้องดูกาลเทศะด้วย”
บุญรอด - “แม่จะลงดีเทลมาก” (ยิ้ม)
แม่ - “จริง ๆ แล้วเขาไม่ต้องการให้เราไปดูแลเขาถึงขนาดนั้น เขาอยากทำด้วยตัวเองมากกว่า แต่ด้วยความเป็นแม่ กลัวลูกทำไม่ได้ กลัวลูกเจ็บ จนถึงตอนนี้ที่เขาอายุสามสิบแล้วเราก็ยังเป็นห่วงเขาเหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิต เพราะเขาเป็น LGBT แม่ต้องคอยเตือนเขาว่าในสังคมมันไม่ได้สวยหรูแบบที่รอดคิดหรอกนะ บางทีเกิดความรุนแรงด้วยซ้ำไป ต้องมองมุมกลับด้วย”
โอกาสดี ๆ เริ่มต้นที่โรงเรียน
แม่ - “ตอนยังเล็ก บุญรอดเขาอยากไปโรงเรียน เพราะเห็นพี่ ๆ ไปโรงเรียนกันหมด แต่โรงเรียนสมัยก่อนยังไม่มีความพร้อมในการดูแลเด็กที่มีอุปสรรคด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งแม่ก็เข้าใจ และถึงแม้จะมีเพื่อนบ้านแนะนำให้พาบุญรอดไปเรียนในโรงเรียนเด็กพิเศษ แม่ก็มองมุมกลับ เราอยากให้ลูกเรียนในโรงเรียนเด็กปกติทั่วไป เพื่อให้พัฒนาการทันคนอื่น ซึ่งก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะทำให้บุญรอดทำทุกอย่างได้เหมือนคนอื่น แม้จะออกมาไม่ค่อยดี หรือมีอุปสรรค โดนล้อเลียนบ้าง แต่แม่มองระยะไกลว่าผลลัพธ์ต้องออกมาดีกว่าอยู่แล้ว”
บุญรอด - “และด้วยความที่บุญรอดไม่แข็งแรง พอเข้ามัธยมที่โรงเรียนทวีธาภิเศก เขามีสอนโขน เราก็อยากเรียน เพราะชอบนาฏศิลป์ ชอบดูโขนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ซึ่งอาจารย์กิติกร พนัส ครูผู้สอนโขนก็น่ารักมากที่เปิดโอกาสให้บุญรอดได้เรียนและฝึกฝนเหมือนเพื่อนทั่วไป จนเราเริ่มรำได้ ร้องได้ พากย์โขนได้ บุญรอดเรียนโขนทุกวันหลังเลิกเรียนตั้งแต่ ม.1 จนจบม.6 การเรียนโขนเป็นการบริหารร่างกายที่ทำให้บุญรอดแข็งแรงด้วย แม้ว่าหลังเรียนจบมัธยมบุญรอดจะห่างไปจากโขน แต่ถ้ามีโอกาสได้รำก็จะรำเสมอ”
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
พ่อ - “บุญรอดโชคดีอยู่อย่างนึงตรงที่เขาเติบโตมาในช่วงเปลี่ยนถ่ายมาสู่ยุคดิจิตอล ด้วยความที่นิ้วมือของบุญรอดอ่อนแรง เขียนหนังสือไม่ได้ ลายมือเหมือนแมวตะปบข้างฝา ทำให้แม่ต้องช่วยเขาทำการบ้านมาโดยตลอด คัดให้เป็นเล่ม ๆ อาจารย์หมอที่รักษาบุญรอดเลยแนะนำให้เสริมแรงนิ้วด้วยการฝึกพิมพ์ เขาเลยรู้จักตำแหน่งต่าง ๆ บนแป้นพิมพ์ พอเข้ามหาวิทยาลัยเลยพิมพ์ได้เร็ว”
แม่ - “ข้อสำคัญเราต้องให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ครอบครัวต้องยอมรับความจริงว่าลูกเรามีอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วไปคุยกับอาจารย์ ซึ่งเขาเปิดกว้างอยู่แล้ว บางคนพ่อแม่ไม่ยอมรับว่าลูกตัวเองบกพร่องหรือปิดบัง ทำให้ขาดโอกาสในการเรียน”
พ่อ - “กว่าจะมาถึงวันนี้ระหกระเหิน เรียกได้ว่า ความลำบากเป็นวิถีชีวิตของบ้านเรา บุญรอดเหมือนม้านอกสายตา ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะรอดหรือไม่รอดนะ เพราะตั้งแต่ตอนเกิดแล้วที่ดูยังไงก็ไม่รอด”
แม่ - “ขนาดหมอยังบอกว่าเปอร์เซ็นต์รอด 20 ตาย 80”
พ่อ - “ดังนั้น จิ๊กซอว์ต่อไปจะเป็นยังไง ถ้ารอดมาได้แล้วจะยังไงต่อ ผลสุดท้ายด้วยคำว่าไม่ทอดทิ้ง ทำให้เราส่งเสริมให้เขาเรียนรู้มาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
แม่ - “เราเลยทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้ และไม่เคยคาดหวังอะไรจากบุญรอด แทบจะไม่ได้ส่งเสริมให้เขาเรียนมัธยมปลายด้วยซ้ำ แม่บอกให้เขาเรียนพาณิชย์จะได้มีวิชาชีพติดตัวสำหรับทำงาน แต่เขายืนยันจะเรียนสายสามัญ จนในที่สุดก็สอบเข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ และเรียนต่อจนจบปริญญาโท สุดท้ายเขาก็สร้างความภูมิใจให้ครอบครัว”
เบาะกันกระแทกที่เรียกว่าเพื่อนรัก
บุญรอด - “ชีวิตตอนได้เข้ามหาวิทยาลัยเหมือนเจอโลกใบใหม่ สังคมเปลี่ยน เพื่อนเปลี่ยน ทุกคนพร้อมซัพพอร์ตเราทุกเวลาทุกเรื่องจริง ๆ ปกติบุญรอดเป็นคนร่าเริง ชอบสร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบตัวยิ้มและหัวเราะอยู่แล้ว แต่ตอนเด็ก ๆ อาจจะไม่มีลูกคู่ในการมาเล่นมุกกัน พอเข้าวารสารฯ ได้เจอ Energy ของเพื่อน ๆ ที่ตรงกัน พูดอะไรก็ตลกไปหมด แล้วบุญรอดชอบเป็นพิธีกร อาจารย์ก็น่ารัก ยอมให้โอกาสเสมอ ทั้ง ๆ ที่เราพูดไม่ชัด เลยเป็นพิธีกรในงานกิจกรรมของคณะอยู่บ่อย ๆ โดยมีล่ามประจำตัว คือ ภูเขา ซึ่งเป็นรุ่นน้องบุญรอดหนึ่งปี”
ภูเขา - “ตอนเข้าปี 1 ภูเขาไม่กล้าเข้าไปคุยกับใครเลย แม้แต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน แล้วยิ่งเป็นพี่บุญรอดที่ดูเป็น Someone ของคณะอีก เพราะเรารู้สึกว่า She เป็นคนดัง แล้วบุญรอดเองก็พูดไม่ค่อยชัด กลัวว่าถ้าเราฟังไม่ออก She จะนอยด์รึเปล่า แต่พอเริ่มทำกิจกรรมในคณะเยอะขึ้น ได้เจอกันบ่อยขึ้น แชร์ไลฟ์สไตล์กันมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเคมีของเราสองคนเข้ากันได้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเราทั้งคู่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่คล้ายกันมาก พ่อแม่ของพวกเราไม่เคยเอาไม้บรรทัดของสังคมมาตีกรอบชีวิตลูก ครอบครัวของพวกเรามองเห็นเราทั้งคู่เป็นสิ่งมีค่า เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ฉะนั้นเลยทำให้ภูเขากับบุญรอดรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามาตั้งแต่ที่บ้านแล้ว เวลาสื่อสารกันเลยเกิดความอบอุ่นไปด้วย ความสัมพันธ์ของเราสองคนไม่ใช่เพื่อนหรือรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่ใช้ชีวิตเหมือนคนในครอบครัว”
ภูเขากับบุญรอด
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
บุญรอด - “ตอนเรียนธรรมศาสตร์ บุญรอดแทบจะไม่รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมเลย ด้วยความที่สังคมคนธรรมศาสตร์มองทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาพิการเยอะด้วย เลยไม่ต้องเจอเรื่องไม่ดีในรั้วมหาวิทยาลัย แต่พอเรียนจบออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย เราโดนค่อนข้างเยอะ ทั้งสายตาและคำพูดของคนอื่น ซึ่งก็ต้องมีบ้าง”
ภูเขา - “พื้นฐานของเพื่อน ๆ รอบตัวพวกเราเป็นคนเห็นคุณค่าในตัวเอง และซัพพอร์ตในสิ่งที่คนรอบตัวรัก เลยเป็นจุดที่ทำให้พวกเรา Connect ซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าเราจะดูแปลกในสายตาคนส่วนใหญ่หรือถูกคนปกติในสังคมผลักออกมาเป็นคนชายขอบขนาดไหน แต่เรายังมีเบาะกันกระแทกใบนี้ที่เรียกว่าเพื่อนรอบตัวคอยซัพพอร์ต และไม่เคยด้อยค่าในสิ่งที่เราเป็น ภูเขาใช้ชีวิตในทุกวันนี้ด้วยความสบายใจมาก ไม่ว่าจะแต่งตัวแปลกประหลาดหรือเป็นตัวของตัวเองในแบบที่คนอื่นจ้องจับผิดแค่ไหน แต่ภูเขาไม่เคยต้องเอาตัวเองออกไปแขวนให้สังคมตัดสิน แค่เรามีความสุขในสังคมที่ตัวเองอยู่ก็ไม่ต้องแคร์สังคมภายนอกอีกต่อไปแล้วว่าฉันต้องสวยเท่านี้หรือต้องรวยแค่ไหนถึงจะมีความสุข”
เพื่อน ๆ ทีม Poocao Channel
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
Poocao Channel คอมมูนิตี้แห่งการเกื้อหนุน
ภูเขา - “จุดเริ่มต้นที่ทำ Poocao Channel ขึ้นมา ก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีคนรอบตัวที่น่ารักมาก คอยซัพพอร์ตเราในทุกมิติ ทุกคนล้วนมีความ Weird ความ Unique และเป็นจิ๊กซอว์ที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ เพราะฉะนั้น Poocao Channel จึงวนเวียนชวนเพื่อน ๆ มากินข้าว มาทำอะไรด้วยกันไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร และด้วยความที่เลือกบุญรอดมาอยู่ในรายการเป็นคนแรก ซึ่งบังเอิญผลตอบรับที่ได้ดีเกินเป้าหมายที่คาดไว้ คนเลยเริ่มมีภาพจำเป็นภาพของภูเขากับบุญรอด เลยคุยกันว่า เธอไหวไหม อยากลุยไปด้วยกันไหม ก็เลยเริ่มที่จะทำแบบจริงจัง และไม่ใช่ว่ามีบุญรอดแล้วเพื่อน ๆ คนอื่นจะไม่มีความหมายต่อเรานะ สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นคอนเซ็ปต์คล้าย ๆ เดิม โดยมีบุญรอดเป็น Co-host”
เพื่อน ๆ ทีม Poocao Channel
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
บุญรอด - “เวลามีงานของลูกค้า ส่วนใหญ่เราจะเสนอเพื่อน ๆ ด้วย เป็นห้าคนบ้าง เจ็ดคนบ้าง เราอยากซัพพอร์ตกัน ได้สนุกและใช้เวลาด้วยกัน ซึ่งคนดูก็ชอบ บางทีก็มีคอมเมนต์ว่าอยากมีเพื่อนแบบพี่บ้างจังเลยค่ะ นั่นหมายความว่าในชีวิตจริงเขาเจออะไรมาบ้างเราก็ไม่รู้”
ภูเขา - “จากที่เราเคยรู้สึกว่าสังคมมันดาร์กอยู่แล้ว พอทำช่องของตัวเองยิ่งทำให้ได้รู้จักมุมมองของผู้คนมากขึ้น พวกเราอาจจะอยู่ในจุดที่เปิดเผยความเป็นตัวตนได้แล้ว และภูเขาเองก็ Advocate (สนับสนุน) เรื่องความหลากหลายเปิดเผยตัวตนมาตั้งนานแล้วเลยคิดว่าทุกคนได้รับแมสเสจนี้ คิดว่าการยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจแล้ว แต่ใน DM ของภูเขาเกือบทุกวันก็ยังมีแมสเสจจากน้อง ๆ LGBT รุ่น Young Generation ที่เห็นพวกเราและอยากเป็นแบบพวกเรา แต่เขาไม่สามารถทำได้ในสังคมของเขา เพราะจะถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากสิ่งที่เราพูด ๆ กันมันไปถึงแค่คนที่สามารถเข้าถึงสื่อได้ แต่ยังมีอีกหลายสังคมที่ตกหล่นไปจากแมสเสจเหล่านี้ สิ่งที่เราพูดอาจจะดังพอ แต่ก็ดังในระดับนึงที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้น แต่ถามว่าเราจะเลิกทำไหม เราไม่เลิกทำแน่นอน”
เพื่อน ๆ ทีม Poocao Channel
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
บุญรอด - “การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้ไปในหลาย ๆ ที่ ทำให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับหรือซัพพอร์ต LGBT เท่าที่ควร มีแค่สังคมส่วนน้อยที่เขาเปิดรับ ในขณะที่ยังมีสายตาที่ไม่น่ารัก คำพูดที่ไม่น่ารักออกมาเรื่อย ๆ หรือแม้แต่คนพิการเองก็โดนเอาเปรียบเยอะ เช่น เงินสวัสดิการ ทางเดินเท้า ล่าสุดบุญรอดไปเป็นวิทยากรในงาน ๆ หนึ่งซึ่งมีคนพิการมาเข้าร่วมด้วย เขาก็มาปรึกษากับบุญรอดว่าที่ยโสธรมีฟุตพาทที่ถูกสร้างมาอย่างดีเพื่อให้คนพิการสามารถเดินได้ แต่ชาวบ้านกลับเอากระถางต้นไม้มาตั้งกีดขวางบนทางเท้า เขาควรทำยังไงดี บุญรอดก็แนะนำว่า ควรติดต่อภาครัฐไหม เขาบอกว่า ฟุตพาทที่หน้าอำเภอก็ตั้งกระถางต้นไม้เหมือนกัน (หัวเราะ) คือปัญหามันมีเยอะมาก แล้วคนก็มาถามบุญรอดกันเยอะ เพราะคิดว่าน่าจะมีทางออกที่ช่วยกันได้ ซึ่งตอนนี้บุญรอดมีเสียงที่ดังขึ้น มีโอกาสพูดก็จะพูดให้เขาได้รู้ว่ามันเป็นยังไง โดยเราไม่ได้พูดเกินเลย พูดแต่เรื่องจริง”
ภูเขา - “บุญรอดเคยทำคลิปชี้ให้เห็นปัญหาของกรุงเทพฯ อย่างฟุตพาทที่ไม่ซัพพอร์ตการใช้ชีวิตของคนเดินเท้า แต่กลายเป็นว่ามีคนมาคอมเมนต์บุลลี่ร่างกายบุญรอด ทั้ง ๆ ที่บุญรอดออกมาพูดปัญหานี้เพื่อทุกคน สมมติว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คนที่มานั่งด่าบุญรอดเองก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ทำไมเขาถึงเลือกที่จะใช้บทบาทของการเป็นคนปกติมากดทับคนอื่น”
ภูเขากับบุญรอด
ภาพ : บุญรอด อารีย์วงษ์
บุญรอด - “เวลามีคนมาบุลลี่หรือด่าแบบล้ำเส้น บุญรอดก็จะตอบกลับไปบ้างว่า แบบนี้ไม่น่ารัก อย่าทำอย่างนี้กับเรา แต่ข้อดีคือ บุญรอดมักไม่เก็บมาคิด เพราะมันไม่มีประโยชน์ เวลาโดนคนด่าหรือบุลลี่มักจะปล่อยผ่าน เพราะเข้าใจว่าต่างคนก็ต่างที่มา ปล่อยผ่านไปดีกว่า”
ภูเขา - “ทุกคนมีข้อด้อยของตัวเอง เพียงแค่ของบุญรอดเป็นทางกาย ภูเขาเองก็มีจุดอ่อน เพื่อน ๆ ในกลุ่มอย่างแชมเปญ พี่แยม ป็อป หรือใครก็ตามต่างก็มีจุดอ่อนกันทั้งนั้น ไม่ได้จำกัด Category ว่านี่คือคนปกติ นี่คือคนพิการ แต่มันคือสเปกตรัมของมนุษย์ เป็นแท่งพลังว่าคนนี้สตรองด้านไหน บังเอิญแค่บุญรอดมีสเปกตรัมด้านร่างกายที่น้อย แต่ทางใจเยอะ เราควรมองกันที่เรื่องของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องของความพิการหรือเพศ”
เราต่างเป็นลมใต้ปีกให้กันและกัน
บุญรอด - “ถ้าถามว่าชีวิตของบุญรอดใช้โชคหรือความพยายามมากกว่ากัน ต้องบอกว่าถ้าไม่มีโชคก็อาจจะมาไม่ถึงวันนี้ แต่บุญรอดใช้ความพยายามเป็นแกนหลักมากกว่า ตั้งแต่เกิด เรียน และทำงาน ดังนั้น ชีวิตที่เติบโตมาจนถึงวันนี้จึงเป็น 30 ปีที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ท้อไหมก็มี แต่มันก็ต้องสู้ เพราะเราเกิดมาแล้วและทุกคนรอบตัวก็ซัพพอร์ตอยู่ จะไม่สู้ได้ไง”
แม่ - “บุญรอดเขาก็ซัพพอร์ตคนรอบตัวเหมือนกัน กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เราต้องขอพลังจากเขา”
พ่อ - “เรามีความสุขเวลาอยู่ใกล้เขา เมื่อก่อนเราเคยเป็นตัวแม่เหล็กที่ให้เขาดูดพลัง ผลสุดท้ายเขาเป็นแม่เหล็กให้เราดูดพลังจากเขาบ้าง”
ภูเขา - “ยัยรอดเป็นคนแข็งแกร่งมาก แม้ร่างกาย She จะมีปัญหา ในขณะที่ภูเขามีร่างกายที่คนในสังคมเรียกว่าปกติ แต่ Mental Health ของเราอ่อนแอ ไม่ว่าจะเจอแรงกระแทกอะไรก็ตาม ภูเขาจะรับไม่ค่อยไหว ก็จะได้บุญรอดคอยดึงขึ้นมาจากความดิ่งความดาวน์ทุก ๆ อย่าง ทั้งที่บุญรอดดูน่าจะเป็นคนที่อ่อนแอกว่าด้วยซ้ำ ส่วนในแง่ Physical ของการใช้ชีวิต ภูเขาและเพื่อน ๆ จะเป็นคนซัพพอร์ตบุญรอด เช่น จูงมือข้ามถนน เดินขึ้นบันได ถือถ้วยน้ำซุป ถือแก้วน้ำ เขียนหนังสือ ฯลฯ”
บุญรอด - “บุญรอดเจอสังคมที่พร้อมซัพพอร์ตด้วยแหละ ถ้าคนรอบตัวไม่ซัพพอร์ต ลำพังด้วยตัวคนเดียวคงเดินมาถึงวันนี้ไม่ได้”
พ่อ - “ที่เห็นยิ้มหัวเราะกันในทุกวันนี้กว่าจะผ่านมาได้ ร้องไห้ก็มี ผ่านมาหมด ระยะเวลามันยาวไกลเหลือเกิน สิ่งที่สวยงามที่สุด คือเราไม่ทอดทิ้งกัน”