‘บ้านไร่ ไออรุณ’ ของเบส วิโรจน์ ฉิมมี ฟาร์มสเตย์แห่งความสุขและความฝันของคนรักบ้านเกิด
Better Life / People
27 Nov 2024 - 10 mins read
Better Life / People
SHARE
27 Nov 2024 - 10 mins read
แทบไม่น่าเชื่อว่า ฟาร์มสเตย์ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ ในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ที่ดูสวยงามน่าอยู่อย่างที่ทุกคนเห็นในวันนี้ ในอดีตเคยเป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นทั่ว ใครเห็นก็คงมองผ่านไปราวกับเป็นที่รกร้าง
เว้นแต่ ‘เบส’ วิโรจน์ ฉิมมี เด็กต่างจังหวัดผู้มีความฝันยิ่งใหญ่ที่มองเห็นโอกาสพลิกฟื้นที่ดินของพ่อแม่ ด้วยความหวังว่าจะสร้างบ้านที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยความแน่วแน่ในเป้าหมายที่อยากพัฒนาท้องถิ่นให้ทุกคนลืมตาอ้าปากและยืนได้ด้วยลำแข้งอย่างมั่นคงยั่งยืน จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะละทิ้งชีวิตที่กรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้านมาทำความฝันให้สำเร็จ
จากวันนั้นที่ไม่มีใครเห็นด้วย เบสพิสูจน์ตัวเองด้วยการลงมือทำอย่างไม่ลดละ ไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้ในที่ดินแห้งแล้ง เขารดน้ำพรวนดินจนต้นไม้ผลิดอกออกผลเป็นบ้านไร่ ไออรุณตามความตั้งใจ ซึ่ง LIVE TO LIFE ได้มาเยือนเพื่อพูดคุยกับเบสถึงเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงอนาคตในวันข้างหน้า
บทสัมภาษณ์นี้จึงทำหน้าที่เป็นบทบันทึกที่บอกเล่าความฝันของคนรักบ้านเกิดสุดหัวใจว่า พื้นที่แห่งรักแห่งนี้เป็นมากกว่าบ้าน เพราะมีทั้งชีวิต ความสุข ความหวัง และแรงบันดาลใจ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริง
คนต่างจังหวัดมักจะเลือกทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานและมีหนทางสร้างเนื้อสร้างตัวได้มากกว่าอยู่ต่างจังหวัด แต่คุณเบสทำตรงข้ามกัน อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดระนอง
“ค่านิยมของคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ คือหวังให้ลูกหลานหาทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ได้หลังเรียนจบ แม้แต่พ่อแม่ของผมก็คิดแบบนั้น เขาพูดตลอดว่าไม่อยากให้ลูกต้องทนทำงานตากแดดตากฝน และมีชีวิตยากจนในชนบทเหมือนเขา ไม่อย่างนั้นคงไม่ส่งไปเรียนสูง ๆ ตัวผมถูกปลูกฝังค่านิยมนี้มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยต้องทำตามความคาดหวังที่พ่อแม่อยากให้เป็น คือไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทันทีหลังเรียนจบ แต่ลึก ๆ ในใจ ผมมีความฝันว่าอยากกลับมาทำบ้านสวย ๆ ที่บ้านเกิดไว้อยู่กับพ่อแม่”
“แล้วสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ คือ ตอนที่แม่เริ่มไม่สบาย ผมอยากกลับมาอยู่ดูแลแม่ที่บ้านเกิด เพราะพ่อก็อายุเยอะเหมือนกัน ผมกลับมาพร้อมกับความฝันที่อยากทำมานาน คือ สร้างบ้านหลังนั้น และหาทางทำธุรกิจเล็ก ๆ ในที่ดินของครอบครัว เพื่อให้มีรายได้เอาไว้ดูแลทุกคน”
ทำไมคุณเบสถึงมีความฝันว่าอยากสร้างบ้านที่บ้านเกิด
“ผมคุยกับพ่อตลอดถึงสิ่งที่อยากทำ แต่กับแม่ผมต้องอ้างไปก่อนว่าจะกลับมาทำงานเป็นสถาปนิกในตัวเมืองระนอง เพราะแม่เป็นแม่ค้าในตลาด ถ้าเพื่อนที่เป็นแม่ค้าด้วยกันรู้เข้า ทุกคนจะแห่ถามแม่ว่า ลูกไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เหรอ แล้วกลับมาทำอะไรที่บ้าน ผมไม่อยากให้แม่ต้องกังวลกับคำถามเหล่านี้ ก็เลยบอกแม่ไปแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วผมตั้งใจกลับมาสร้างบ้าน”
“ส่วนเหตุผลที่บ้านคือความฝันที่ผมอยากทำให้เป็นจริง เพราะบ้านที่ผมอยู่มาตั้งแต่เกิดไม่เคยสร้างเสร็จสักที จนวันหนึ่งผมถามแม่ตรง ๆ ว่าทำไมบ้านของเราสร้างไม่เคยเสร็จ คำตอบจากแม่ทำให้ผมหายสงสัยและไม่ถามเรื่องนี้อีก”
“แม่ตอบว่า ฐานะบ้านเราไม่ดี ต้องเอาเงินทุกบาทที่หามาได้จากการทำเกษตร ส่งให้ลูกเรียนจบปริญญาตรีก่อน หลังจากนั้นค่อยเอาเงินไปทำบ้าน พี่สาวพี่ชายของผมก็ไม่ได้เรียนต่อ ทุกคนออกมาทำสวนกรีดยาง ช่วยกันส่งให้ผมเรียนจบจะได้เป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว เพราะว่าในตอนนั้น เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทั้งหมู่บ้านยังไม่เคยมีใครเรียนจบปริญญาตรี ผมกลายเป็นความหวังของครอบครัวและคนในหมู่บ้านว่าจะเป็นคนแรกที่เรียนจบ และมีงานดี ๆ ทำที่กรุงเทพฯ”
ชีวิตคุณเบสตอนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง
“ผมทำงานเป็นสถาปนิก ได้เงินเดือน 15,000 บาท แต่ต้องแบ่งจ่ายเป็นค่าที่พักกับค่าผ่อนรถยนต์ ทำให้ไม่เคยมีเงินเหลือส่งกลับมาให้ครอบครัว บางเดือนเงินไม่พอใช้ พ่อแม่ต้องส่งเงินไปให้ผมเพิ่มด้วยซ้ำ”
“พอกลับมาอยู่บ้าน ผมต้องพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเข้าใจใหม่ว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดอย่างที่ทุกคนคิด ผมเห็นพ่อแม่ปลูกผักขายอยู่แล้ว เลยทำทุกอย่างให้เป็นสัดเป็นส่วน ปลูกผักอื่น ๆ เพิ่ม ปรับปรุงแผงขายผักที่ตลาดด้วย เพื่อให้มีรายได้หลักจากการเกษตร ผมจำได้แม่นว่าขายผักวันแรกได้เงิน 873 บาท ผมให้แม่ทั้งหมด จากนั้นก็เริ่มเอาผักไปขายที่อื่น ๆ เพิ่ม จากที่เคยขายได้ 800 บาท ก็กลายเป็น 8,000 บาท เหนื่อยมาก ๆ กว่าจะทำได้เท่านี้ แต่เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งว่า นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลับมาอยู่บ้าน เพราะเราพิสูจน์ได้ว่า อยู่บ้านเกิดก็หาเงินเลี้ยงชีพเองได้มากกว่าอยู่กรุงเทพฯ ตั้งใจว่าจะเก็บเงินตรงนี้ไปสร้างบ้านตามภาพที่เราคิดไว้”
แล้วจุดเริ่มต้นของ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
“ทุกอย่างเริ่มจากภาพในหัวก่อน ผมเห็นทรัพย์ในดิน เห็นความสวยงามและความน่าอยู่ของที่ดินที่บ้านเกิด น่าทำโฮมสเตย์ให้คนมาเที่ยว แต่บอกให้ใครฟัง ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้หรอก มีแต่พ่อคนเดียวที่ไม่คัดค้าน จุดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้ผมยิ่งอยากพิสูจน์ตัวเอง และทำให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ผมคิดไว้ทำให้เป็นจริงได้ โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาพื้นที่เดิมให้เกิดประโยชน์มากกว่าทำการเกษตร”
“ผมพาพ่อไปธนาคารทำเรื่องกู้ แต่ไม่ผ่าน ธนาคารให้เหตุผลว่าพื้นที่กลางหุบเขาไม่สามารถทำโฮมสเตย์หรือรีสอร์ตได้ เพราะไม่มีถนนลาดยาง ไฟฟ้าและน้ำประปายังเข้าไม่ถึง ระนองในตอนนั้น เป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด ด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวก็อยู่อันดับท้าย ไม่มีใครอยากมาเที่ยวระนอง”
“ผมกลับมาทบทวนใหม่ ดูว่าในที่ดิน 27 ไร่ มีอะไรที่หยิบจับมาสร้างสรรค์ต่อยอดแล้วสร้างเงินได้บ้าง ผมทำหมด พื้นที่ส่วนใหญ่รกร้าง พ่อแม่แบ่งมาทำการเกษตร ปลูกผักไม่กี่ไร่ ผมกับพ่อตัดสินใจโค่นไม้ยางในที่ดินตัวเองได้เงินมาประมาณ 3 แสนบาท นั่นคือเงินทุนก้อนแรกให้ตั้งต้นทำตามความฝัน ใช้เงินเท่าที่เราหาได้เองแทนดีกว่า ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนบ้านที่พ่อแม่เคยสร้าง”
“หลังทำบ้านเสร็จ ผมส่งบ้านไปประกวดกับนิตยสาร My Home เป็นโครงการ Show Me Your Home 2014 ปรากฏว่าชนะที่หนึ่ง มากกว่ารางวัลที่ได้ คือชื่อเสียงและโอกาส เพราะมีรายการต่าง ๆ ติดต่อมาขอถ่ายทำ ผมถือโอกาสพูดชื่ออำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนองให้ได้มากที่สุด อยากให้คนรู้จักบ้านเกิดของผม ขณะเดียวกัน ผม พ่อ และลุง ๆ น้า ๆ ในหมู่บ้านที่เป็นช่าง ก็ช่วยกันสร้างบ้านพักเพิ่มอีก 2 หลัง ถึงได้เปิดเป็นฟาร์มสเตย์เล็ก ๆ ตั้งชื่อว่า ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ มีพ่อแม่และผมช่วยกันดูแลแขกที่มาพัก”
ชื่อฟาร์มสเตย์ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ มีที่มาจากไหน
“มาจากภาพที่ชัดเจนอยู่ในหัวตั้งแต่วันแรกที่ผมตัดสินใจกลับบ้าน คำว่า ‘บ้าน’ คือ บ้านที่มีพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้า คำว่า ‘ไร่’ คือ ไร่สวนสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ คำว่า ‘ไอ’ คือ ไอฝนละอองหมอก เป็นความสบายที่ได้มาพักผ่อน คำว่า ‘อรุณ’ คือ แสงแรกในตอนเช้า เป็นจุดเริ่มต้นของวันที่สดใส”
“ผมเอา 4 คำนี้มารวมไว้ด้วยกัน ฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าเป็นที่ที่ทำให้อบอุ่นใจ จนตอนนี้ไปไกลกว่าบ้านที่มีพ่อแม่ลูก เป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้น มีทั้งญาติพี่น้อง คนในชุมชน คนในระนอง คนจากท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย เลยรู้สึกว่าบ้านไร่ ไออรุณเป็นมากกว่าบ้านบนพื้นที่แห่งรักที่เราสร้างขึ้นมา”
จากวันแรกถึงวันนี้ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ ไม่ได้มีแค่บ้านพัก 2 หลังอีกต่อไปแล้ว
“ใช่ครับ ตั้งแต่วันแรกที่เปิด ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ ผมไม่เคยหยุดคิด นำรายได้มาต่อยอดเรื่อย ๆ เพราะอยากให้เป็นที่สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น จนเริ่มมีเพื่อนคุณแม่ในตลาดชื่นชม เริ่มมีชาวบ้านมาสมัครทำงาน เริ่มมีคนในโลกออนไลน์พูดถึง เริ่มมีคนขอมาศึกษาดูงาน แล้วของทุกอย่างในบ้านไร่ ไออรุณ ทั้งวัสดุ วัตถุดิบ พืชผัก งานจักสาน เฟอร์นิเจอร์หวาย งานไม้ ล้วนเป็นผลงานจากฝีมือของช่างและชาวบ้านในชุมชน ทั้งในจังหวัดระนอง และจังหวัดอื่น ๆ”
“ตอนนี้มีสาขาที่กรุงเทพฯ ชื่อว่า ‘Baanrai Studio’ ผมเคยคิดเอาไว้ว่าถ้าเราทำบ้านตัวเองให้สวยได้แล้ว จะกลับไปทำงานเป็นสถาปนิกอีกครั้ง ก็เลยเช่าที่เปิดเป็นบริษัทรับออกแบบ ใช้ความรู้วิชาชีพพัฒนาชุมชนในแต่ละท้องที่ให้กับลูกค้าที่มาว่าจ้างเรา เพราะผมอยากสร้างโมเดลเล็ก ๆ ให้คนที่คิดและตั้งใจทำเหมือนเรา ตอนนี้มีบ้านนอกคอกนาที่เขาใหญ่ นาฮักนาแพงที่บุรีรัมย์ บ้านนาก๋างโต้งที่น่าน บ้านพราวพร้าวที่นครศรีธรรมราช เป็นเหมือนเครือข่ายมิตรภาพที่เราสามารถแบ่งปันความรู้และให้คำแนะนำปรึกษาได้ทุกอย่าง เช่น ถ้าต้องการเก้าอี้ไม้ โคมไฟหวาย งานจักสาน งานคราฟต์ต่าง ๆ ไปตกแต่ง ผมรู้จักผลิตภัณฑ์จากชุมชนนี้ ผมช่วยประสานงานให้ได้ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนนั้นต่อไป นอกจากส่วนที่เป็นออฟฟิศ ผมทำร้านอาหารและคาเฟ่เพิ่มด้วย จะได้มีรายได้ไว้จ่ายค่าเช่าที่”
“ล่าสุด ผมเพิ่งเปิดเพิ่มอีกสาขาที่จังหวัดภูเก็ตได้ประมาณ 6 เดือน ชื่อว่า ‘บ้านไร่ ไอทะเล’ ทำเป็นร้านอาหารและคาเฟ่ที่รับลมทะเล ส่วนตอนนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่ม ดูความเป็นไปได้ว่าจะทำได้ไหม เพราะผมไม่ได้กู้เงิน แต่อยากใช้ทุนตัวเองอย่างเดียว ต้องรอคอยเวลาที่เหมาะสม ค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ผมตั้งใจขยับขยายบ้านไร่ ไออรุณไปอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้ครบทุกภาค ตอนนี้กำลังตั้งใจเก็บเงิน เพราะอยากทำให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต”
เป็นการทำทุกอย่างไปตามกำลังที่มี
“เพราะ 11 ปีที่ผ่านมาของการทำบ้านไร่ ไออรุณ เริ่มต้นจากตัวเอง กู้ไม่ผ่านใช่ไหม หันมาต่อยอดจากสิ่งที่มีในพื้นที่ตรงนี้ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาปลูกผัก เอาผักไปขาย ได้เงินมาต่อยอดทำบ้านพัก รายได้จากบ้านพัก เอาไปจ้างคนเพิ่ม ทำบ้านพักเพิ่ม ขยายไปที่อื่น ๆ จนตอนนี้ธนาคารให้กู้ได้แล้ว แต่ผมยังเลือกไม่ใช้สินเชื่อมาสร้างอะไรเพิ่ม เพราะเราต่อยอดจากจุดเล็ก ๆ มาตั้งแต่แรกเริ่ม เลือกทำทุกอย่างตามกำลังที่เรามีจะดีกว่า สบายใจกว่า”
การพลิกฟื้นหรือลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดทำ คงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก ๆ อยากรู้ว่าคุณเบสรู้สึกอย่างไรที่เป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้บ้านเกิด อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง จากที่เคยเงียบเหงา กลับมาคึกคัก มีคนมาเที่ยว จนชุมชนเติบโตและแข็งแรง
“ดีใจทุกครั้งเวลาได้ยินใครก็ตามพูดถึงระนอง จากวันแรกที่กลับมาบ้านเกิด ไม่มีอะไรเลย ไม่นึกว่าจะทำได้มากขนาดนี้ พอทำได้แล้ว ก็อยากทำให้ได้มากกว่านี้อีก ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมาเที่ยวระนอง เพราะเท่ากับเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพเป็นวงกว้างให้ชุมชน แต่ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากตัวผมคนเดียว เราเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในชุมชน เพราะทุกคนช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกัน เลยต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ได้ เวลาผมไปเที่ยวจังหวัดอื่น ผมชอบแวะไปในชุมชนของจังหวัดนั้น ไปคุยกับชาวบ้าน หาทางส่งเสริมกัน เป็นพลังเล็ก ๆ ที่ผมเชื่อว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเป็นอยู่ได้จริง ๆ”
“แต่กระแสหรือชื่อเสียงเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ต้องคิดต่อว่าจะทำยังไงให้ชุมชนมีรายได้ร่วมกันไปกับเราอย่างยั่งยืน คำตอบคือต้องสร้างคน ให้ความรู้ ให้แรงบันดาลใจ ให้ความเชื่อมั่น ให้คำแนะนำ ให้โอกาส ให้ในสิ่งที่ผมเคยต้องการตอนที่กลับมาอยู่บ้านช่วงแรก ๆ แต่ไม่มีใครให้ได้ แล้วคนเหล่านี้จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนต่อไปได้ เราทุกคนต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน จะได้เติบโตไปพร้อมกัน”
หมายความว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาสานต่อ
“ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมอยากชวนทุกคนกลับบ้าน อยากให้ทุกคนกลับไปมองดูว่าบ้านเกิดมีความงามอะไรที่อยากพัฒนาให้ทุกคนได้เห็น ถ้ามีคนกลับบ้านมาพัฒนาชุมชนในแบบของตัวเอง ชุมชนนั้นก็จะเติบโตขึ้น ส่งผลต่อเนื่องเป็นทอด ๆ ทำให้ชีวิตดี ชุมชนดี สังคมดี จังหวัดดี และประเทศดี เกิดเป็นความยั่งยืน”
คนในชุมชนเอง น่าจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ เติบโตอย่างยั่งยืน
“ผมผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้ ทั้งปัญหา การพิสูจน์ตัวเอง ความเหน็ดเหนื่อย การสูญเสีย เพราะผมได้รับการโอบกอดจากชาวบ้าน ได้รับกำลังใจจากลูกค้า ทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาตลอดมีค่ามีความหมายมากกว่าที่คิด อยากทำสิ่งนี้ให้ได้ดีมากกว่าเดิม”
“ตอนนี้มีพนักงานมากกว่า 100 คน ที่ผมต้องรับผิดชอบดูแล ถ้าคิดในมุมธุรกิจ เป็นหน้าที่ที่หนักมาก ๆ เพราะต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนให้ทุกคน ถามว่าเครียดหรือกังวลไหม มีอยู่แล้ว แต่เราตอบตัวเองได้หมดเลยว่าทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรเพื่อใคร”
“ผมอยากช่วยเหลือและตอบแทนคนที่เข้ามาโอบกอดเรา อยากทำอะไรเพิ่มเพื่อให้เขามีอาชีพ คนเหล่านี้ก็คือคนที่อยู่ในหมู่บ้าน รวมถึงญาติของเราเอง ไม่ได้คิดถึงว่าเราต้องจัดการคนยังไง ไม่เคยเอาหลักการหรือทฤษฎีอะไรมาบริหาร ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ดี จากการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น”
“แล้วผมก็อยากตอบแทนผู้ใหญ่ที่เคยใจดีกับเรา เพราะผมเป็นเด็กที่ยากจนมาก่อน จำได้ว่าคุณน้า คุณอา คุณตา คุณยายคนไหนบ้างเคยให้ค่าขนม ในวันที่ผมมีกำลัง อยากตอบแทนให้เขามีงานทำมีชีวิตที่ดี ผมก็ชวนเขามาทำงาน มาทำโคมไฟ มาประดิษฐ์เก้าอี้หวาย เอาไว้ตกแต่งและวางขายที่บ้านไร่ ไออรุณ เพราะถ้าทุกคนมีช่องทางทำกิน มีรายได้มากขึ้น ผมเชื่อว่าลูกหลานของเขาจะอยากกลับมาช่วยทำงานหรือสานต่อ ผมอยากให้เด็กที่ไปเรียนไปหาความรู้จากที่อื่น กลับมาพัฒนาชุมชนตัวเอง”
“บ้านไร่ ไออรุณในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่การสร้างบ้านสร้างสถานที่ แต่เป็นการสร้างสังคมที่ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี จากความฝันของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่กลับมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในที่ทางบ้านเกิด ตั้งใจพลิกชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างผลในทางที่ดีให้เราและทุกคน”
อะไรคือบทเรียนชีวิตที่คุณเบสได้เรียนรู้จากการกลับบ้านเกิด
“ถ้าวันนั้นไม่ตัดสินใจกลับบ้าน ชีวิตคงไม่มีวันนี้ ผมอยากให้ทุกคนภูมิใจในตัวเอง ในวิถีชีวิตของตัวเอง ในชุมชนของตัวเอง ในจังหวัดของตัวเอง ผมเกิดและเติบโตในที่ตรงนี้ รู้ตัวมาตลอดว่าเป็นเด็กที่ขาดโอกาส ทำให้เป็นคนพยายามไขว่คว้าหาโอกาสตลอดเวลา ไม่มีใช่ไหม งั้นก็สร้างขึ้นมาเอง”
“ทำไมคนกรุงเทพฯ คนเชียงใหม่ คนภูเก็ตมีแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีรายได้ดี ทำไมเขามีโอกาสมากกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่ระนองก็สวย มีทั้งน้ำตก ภูเขา ทุ่งหญ้า ทะเล ทำไมถึงไม่มีใครกลับมาพัฒนา ทำไมไม่มีใครหาทางโปรโมตให้มีชื่อเสียง”
“คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผมมองเห็นความงามรอบตัว ผมเดินผ่านไร่สวนที่บ้านทุกวันตอนไปกลับโรงเรียน ความสวยงามเกิดขึ้นจากตัวเรานี่แหละ มองเห็นว่าต้นปาล์ม ต้นยาง ต้นมะพร้าว ต้นไผ่ที่ขึ้นรก มีความสวยงามซ่อนอยู่ วันหนึ่งเราจะทำที่ตรงนี้ให้มีรายได้ ในวันที่เราตัดสินใจกลับมา ต่อให้เจอปัญหา ต่อให้ใครบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เราจะยังมีกำลังใจและมีพลังทำต่อไป เพราะมองเห็นความงามนั้นอยู่ทุกวัน จึงอยากให้ทุกคนเห็นภาพนั้นเหมือนกับที่เราเห็น”
ความสุขที่คุณเบสได้รับหลังจากกลับบ้านมาทำ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ คือ อะไร
“ความสุขของผมคือได้ทำตามความฝัน ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ใช้ความคิดความสร้างสรรค์ แล้วต่อยอดความฝันนั้นไปถึงคนอื่น ๆ ไม่ได้ให้แค่พ่อแม่พี่น้องครอบครัว แต่ทำให้คนในชุมชนคนในจังหวัดเติบโต”
“ผมอยากให้ทุกคนสำรวจรอบตัว ที่ที่เกิด ที่ที่ใช้ชีวิต หาความงามในพื้นที่ของตัวเองที่ต่อยอดพัฒนาเป็นสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้ เพราะคุณจะมีความสุขที่ได้กลับมาทำสิ่งนั้นพร้อมกับได้ดูแลครอบครัว พัฒนาชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับบ้านเกิด มันยิ่งกว่าความสำเร็จ มันคือความรู้สึกอยากตื่นเช้าขึ้นมาทุกวันเพื่อทำสิ่งนั้นต่อไป ทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีวันที่จะหยุดทำ”
เชื่อว่าคุณเบสเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนมีความคิดอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สิ่งสำคัญที่คุณอยากแนะนำคืออะไร
“ต้องรู้จักตัวเอง ฟังเสียงของตัวเอง รู้เป้าหมายและความสุขของตัวเองว่าคืออะไร และอยู่ตรงไหน แล้วต้องลงมือทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง คนอื่นจะมองยังไงไม่สำคัญเท่ากับความสุขของเราที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จะทำได้หรือไม่ นั่นคืออีกเรื่อง ถ้ามีเป้าหมายชัดเจนและมีความสุขอยู่ด้วย สุดท้ายเราจะพยายามทำจนสำเร็จ แน่นอนว่าไม่ง่ายและเหนื่อย ระหว่างทางมีปัญหามากมายรออยู่”
“แต่ผมเชื่อว่าไม่ได้มีแค่ผมที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ยังมีใครอีกหลายคนที่กลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด กำลังทุ่มเททำบางสิ่งบางอย่าง จากความตั้งใจอยากพัฒนาบ้านเกิดในชุมชนตัวเอง ผมถือว่าคนเหล่านั้นคือแบบอย่างที่น่ายกย่อง”
“บางคนอาจเถียงว่าผมโชคดี พ่อแม่มีที่ดินเยอะขนาดนี้ ต้องรวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็กลับมาอยู่บ้านได้สิ ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้ เพราะตอนที่ตัดสินใจกลับบ้านเมื่อ 15 ปีที่ก่อน ยังไม่มีกระแสกลับบ้านเกิด ทุกคนไม่คิดว่าผมจะทำได้หรอก แต่ผมทำสวนทางกับความคิดคนอื่น คนอื่นเข้าเมือง เรากลับต่างจังหวัด พอทำทุกอย่างได้ เท่ากับเราพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ ครอบครัว คนในชุมชนเห็นแล้วว่า ถ้าตั้งใจทำอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นจะสำเร็จ”
“ผมอยากชวนคนต่างจังหวัดกลับบ้านเกิด อาจเริ่มจากสำรวจต้นทุนในชีวิต ค้นหาความสุขและเป้าหมายของตัวเองให้เจอ”
ถึงวันนี้ ถ้ามีใครสักคน เดินมาถามหรือขอคำปรึกษาว่า ควรกลับบ้านเกิดดีไหม ? คุณจะตอบเขาอย่างไร
“ผมจะตอบจากมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวว่า ถ้าเหตุผลที่จะกลับมาอยู่บ้าน คือความสุขที่มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือใครก็ตามที่เป็นคนที่เรารักและอยากดูแลเขารวมอยู่ด้วย ให้กลับทันที เพราะว่าคนสำคัญเหล่านี้ไม่ได้อยู่รอเราไปได้ตลอดชีวิต อย่างตัวผมเองกลับมาปีแรกเสียคุณตา ปีที่สองเสียคุณยาย ปีที่สามเสียคุณย่า ปีที่สี่ผมรีบบวชให้พ่อแม่กลัวว่าจะไม่ได้ทดแทนคุณ ปีที่ห้าเสียคุณแม่ ปีที่หกคุณพ่อป่วยต้องผ่าตัดใหญ่”
“ถ้าคนเหล่านี้อยู่ในภาพวันที่เรารับปริญญา อยู่ในภาพที่เรานั่งกินข้าวด้วยกัน อยู่ในภาพของการตื่นเช้ามาเจอกัน ผมว่าต้องรีบทำทันที เหตุผลหรือทางเลือกอื่น ๆ ก็คงเป็นเรื่องเล็กไปหมดสำหรับลูกคนหนึ่งที่รักพ่อแม่มาก ๆ เพราะเราจะไม่รู้สึกเสียใจหากไม่มีโอกาสทำสิ่งนั้นได้ทัน”
“ถึงตอนนี้ คิดว่าตัวเองคิดถูกมาก ๆ ที่เลือกกลับบ้าน และไม่เคยรู้สึกเสียใจและเสียดายกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา แต่จะเสียใจมากกว่าถ้าไม่ได้กลับมา”