พบความสุขที่ใช่ ในโลกวุ่นวายและไม่มีอะไรแน่นอน ด้วย ‘สโตอิก’ ปรัชญาชีวิตของชาวกรีก

15 Dec 2023 - 5 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

ในโลกที่มีแต่ความวุ่นวายและความเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ มีวิธีใดบ้างที่พอจะเป็นตัวช่วยนำทางชีวิตให้ทุกคนผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคทั้งหมดไปได้ เพื่อพบกับ ‘ความสุข’ ที่ใคร ๆ ต่างก็ใฝ่หาและปรารถนามาตลอด

 

หากย้อนเวลากลับไปในอดีต ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน สามารถบอกให้คนรุ่นหลังรู้ได้ว่า ชาวกรีกโบราณเป็นคนรุ่นแรกที่เคยมุ่งมั่นพยายามไขคำถามข้อนี้ จนได้คำตอบที่ทำให้พวกเขามี ‘ชีวิตที่ดีและสุขสงบ’ ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นหลักปรัชญาการใช้ชีวิตที่เรียกว่า ‘สโตอิก’

 

ถึงแม้ว่าสโตอิกจะเคยเสื่อมความนิยมลงและถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะอารยธรรมกรีกและจักรวรรดิโรมันล่มสลาย แต่ด้วยจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของคนในยุคต่อ ๆ มาที่ยังคงแสวงหาชีวิตที่ดีและมีความสุข ทำให้สโตอิกกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

 

ในบทความนี้ LIVE TO LIFE จึงคัดสรรสาระสำคัญและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาสโตอิก สำหรับเป็นแนวทางให้ทุกคนได้ค้นพบความสุขที่ใช่ในโลกแสนวุ่นวายและไม่มีอะไรแน่นอน

 

 

พลิกมุมคิดชีวิตเปลี่ยน จากวิกฤตเป็นโอกาส

จุดเริ่มต้นของ ‘สโตอิก’ (Stoic) เกิดขึ้นในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ราว 301 ปีก่อนคริสตกาล เพราะอุบัติเหตุเรือขนส่งสมบัติและสินค้าล้ำค่าเกิดอับปางลงกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สิ่งเดียวที่ซีโนแห่งเมืองซิทิอุม (Zeno of Citium) พ่อค้าผู้เป็นเจ้าของเรือลำนี้ทำได้ในขณะนั้น คือ ทำใจยอมรับความจริงที่ว่า เขาจะกลายเป็นคนล้มเหลวที่ไม่เหลืออะไรอีกเลย จากชีวิตที่เคยมั่งคั่งเปลี่ยนเป็นสิ้นเนื้อประดาตัวในชั่วข้ามคืน

 

จนกระทั่งเขาได้พบกับเครติสแห่งเมืองธีบส์ (Crates of Thebes) นักปราชญ์ผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยไม่ต้องการครอบครองสิ่งใดและไม่พึ่งพาใคร ทั้งคู่มักจะแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อชีวิตของกันและกันใน Stoa Poikile ซึ่งเป็นอาคารสูงที่เปิดโล่ง มีเสาเรียงเป็นแนวตามความยาวตัวอาคาร กำแพงด้านในทาสีไว้เป็นภาพวาดสวยงามและประดับตกแต่งด้วยโล่และรูปปั้น ส่วนบริเวณที่เหลือเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างให้ผู้คนได้จับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งซีโนเองก็เลือกใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาชีวิตให้กับคนที่สนใจ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘Stoic’ เพราะตั้งตามชื่อสถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของสโตอิก

 

แม้ในตอนแรกซีโนจะรู้สึกทุกข์และเสียใจจากเหตุการณ์เรืออับปาง แต่เรื่องร้ายกลับกลายเป็นจุดพลิกผันที่นำพาให้ชีวิตเขาพบกับเรื่องราวดี ๆ โดยเฉพาะการตื่นรู้หลังพูดคุยกับเครติส จนเกิดเป็นปรัชญา Stoic หรือ Stoicism

 

หัวใจของสโตอิก คือ การรู้จักใช้ปัญญาและความกล้าหาญเพื่อพาตัวเองให้ก้าวข้ามปัญหาและความทุกข์ เน้นให้ความสำคัญกับการใช้เหตุผลคิดใคร่ครวญกับตัวเองว่า ควรตอบสนองและปรับตัวอย่างไรต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิต เพราะชีวิตไม่ได้ราบรื่นและไม่ได้เป็นไปตามที่ใจเราหวังเสมอ ทุกคนจึงควรปล่อยวางที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แล้วกลับมาสนใจเฉพาะ ‘สิ่งที่ตัวเองควบคุมได้และทำได้อย่างสุดความสามารถ’

 

ความไม่แน่นอนและความไม่ได้ดังใจของสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ย่อมเป็นสิ่งที่ชีวิตหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาและความทุกข์ แต่สิ่งนี้เป็นเพียงบททดสอบชั่วคราว หน้าที่ของเราก็คือสิ่งที่เราลงมือทำได้ คือ การคิดหาวิธีรับมือและแก้ไข เมื่อเราทำสำเร็จ สิ่งที่จะได้รับกลับคืนมา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งมีค่าที่ทำให้เราเติบโตเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการตื่นรู้ ประสบการณ์ และความแข็งแกร่ง

 

เหมือนกับซีโนที่ตัวเขาเองไม่อาจห้ามเรือไม่ให้อับปางลงได้ หมายความว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เขาควบคุมไม่ได้ เพราะถ้าควบคุมได้จริง เรือก็คงไม่จมลงทะเล ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เขาทำได้ คือ ‘การยอมรับความจริง แล้วพลิกมุมคิดเปลี่ยนมุมมอง’ เพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี เพื่อทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้และไม่จมอยู่กับความเศร้า ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่มีทางจะมีชีวิตที่ดีได้อีก

 

 

มีชีวิตที่ดีและพบกับความสุขที่ใช่ ด้วยสโตอิก

เป้าหมายสูงสุดของหลักปรัชญาสโตอิกของชาวกรีกโบราณ คือ Eudaimonia (อ่านว่า ยูไดโมเนีย) เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตัวเองให้ทำสิ่งที่ดีเพื่อมีชีวิตที่ดี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีครบทั้งองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

 

1. ทำชีวิตให้ดีงามและมีความสมบูรณ์แห่งตน : ในปรัชญาสโตอิกเลือกใช้คำว่า Areté (อ่านว่า อาเรเต้) หมายถึง ตัวตนที่ดีที่สุดที่เราต้องทุ่มเทตัวเองเพื่อดึงเอาความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ภายในออกมาให้ได้ ไม่หยุดพัฒนาตัวเองที่เป็นอยู่ตอนนี้ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด

 

2. สนใจสิ่งที่เราควบคุมได้ : ไม่มีประโยชน์ใด ๆ หากเรามัวแต่เป็นทุกข์และเศร้าเสียใจไปกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เพราะย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งนั้นไม่ได้ เราต้องสนใจสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เพราะเราสามารถใช้ปัญญาคิดหาทางได้ว่าจะเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างไรให้ดีที่สุด

 

3. รู้รับผิดชอบ : ไม่ว่าตอนนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร การทำให้ชีวิตดีและมีความสุข ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราเพียงผู้เดียว เราไม่อาจพึ่งพาใครหรือหวังให้สิ่งใดมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ เพราะชีวิตคือผลลัพธ์ของการกระทำที่เกิดจากตัวเราเอง

 

ท่ามกลางความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ปรัชญาสโตอิกกลับช่วยดึงสติให้ทุกคนกลับมาอยู่กับตัวเอง โดยไม่เอาใจไปผูกติดอยู่กับความวุ่นวายภายนอก ด้วยความเชื่อว่า ยิ่งฝึกตนให้อยู่กับสิ่งที่เราควบคุมได้ ทั้งความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ต่อทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดมากขึ้นเท่านั้น

 

นี่จึงเป็นเหตุผลให้ปรัชญาสโตอิกที่มีอายุมากกว่า 300 ปีก่อนคริสตกาล กลับมาเป็นที่สนใจของคนในยุคปัจจุบันอีกครั้ง จากปรัชญาที่ว่าด้วยหลักการจึงแปรเปลี่ยนมาสู่หลักปฏิบัติที่จับต้องได้จริงในชีวิตประจำวัน โดย LIVE TO LIFE รวบรวมมาให้ผู้อ่านเลือกนำไปปรับใช้ให้เข้ากับการใช้ชีวิตของแต่ละคน เพื่อสร้างมีชีวิตที่ดีและพบกับความสุขที่ใช่

 

1. อยู่กับปัจจุบันนั้นดีที่สุด : เพราะชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ปัจจุบันจึงสำคัญที่สุด มีความสุขกับปัจจุบันขณะ โดยไม่ฝังใจอยู่กับสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วในอดีต รวมถึงไม่ด่วนกังวลหรือตื่นตระหนกถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง มีสติจดจ่อกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่าห่วงหน้าพะวงหลัง

 

2. สุดมือสอยก็แค่ปล่อยไป : เรื่องบางเรื่องยิ่งยึดติด ยิ่งทำให้เราเจ็บปวด การเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ถึงเป็นทางออกที่ช่วยให้เราไม่ทุกข์อีกต่อไป เพราะอะไรที่อยู่เหนือการควบคุม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เราควรให้ความสนใจหรือพยายามฉุดรั้งเอาไว้

 

3. ของนอกกายไม่ใช่สิ่งสำคัญ : ไม่ยึดติดวัตถุนิยม เพราะวัตถุนิยมคือการให้ความสำคัญกับสิ่งของที่อยู่นอกตัว อาจทำให้ละเลยสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราไปได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของสโตอิกที่เน้นพัฒนาตัวเองให้ดีจากภายใน เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างเหมาะสม

 

4. ให้เวลาตัวเองได้ฝึกฝน : การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้เวลาเสมอ เพื่อจะเป็นตัวเองที่ดีกว่าคนเก่า จึงต้องทุ่มเทมุ่งมั่น และตั้งใจฝึกฝนสม่ำเสมอ เพราะวินัย จะทำให้เราควบคุมตัวเองได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง และสุขภาพจิตที่ดี

 

5. คิดแต่สิ่งดีและให้อภัยเป็น : การคิดถึงแต่สิ่งดีเหมือนเป็นการเพิ่มพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง เพราะความคิดทำให้เกิดการกระทำและการแสดงออก เมื่อเราคิดดีก็จะทำแต่สิ่งดี โดยไม่ลืมว่ามนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ เราทำผิดพลาดกันได้เสมอ หากทำพลาดพลั้งไปบ้าง ควรเรียนรู้ให้อภัยกันและกัน รวมถึงตัวเราเองด้วย เพื่อเป็นการเคลียร์ใจ จะได้ไม่รู้สึกไม่ดีต่อกัน 

 

 

อ้างอิง

  • Daily Stoic. What Is Stoicism?. https://bit.ly/49Ot8T2
  • โยนาส ซัลซ์เกเบอร์. (2556). The Little Book of Stoicism [สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน]. บีอิ้ง.
  • ไรอัน ฮอลิเดย์ และ สตีเวน แฮนเซลแมน. (2556). The Daily Stoic [สโตอิกรายวัน]. วีเลิร์น

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...