‘Nostalgia Replay’ เมื่อคนยุคนี้ติดอยู่ในช่วงเวลา พาโลกแอนะล็อกกลับมาป๊อปอีกครั้ง

13 Dec 2024 - 5 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

เมื่อโลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็ทำให้ใครหลายคนตามไม่ทัน ไม่มีเวลาแม้จะได้ดื่มด่ำกับยุคสมัย ผู้คนในยุคดิจิทัล รู้สึก ‘โหยหาอดีต’ ตื่นเต้นกับวิถีชีวิตแบบแอนะล็อก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Nostalgia Replay คือ การพาโลกออฟไลน์ในอดีตกลับมา ไม่ว่าจะวงการเพลง แฟชั่น โฆษณา ฯลฯ ล้วนใส่ส่วนผสมของวันวานเข้าไปทั้งสิ้น ราวกับได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปยังคืนวันที่แสนสุข  

 

 

กวันนี้ใน TikTok ผู้คนพากันติดแฮชแท็ก #TBT (Throwback Thursday) และ #FBF (Flashback Friday) เพื่อแชร์โมเมนต์ในอดีตที่คิดถึง ทั้งภาพเก่า เพลงเก่า มิวสิกวิดีโอ ซีนหนังในตำนาน ที่ทำให้รู้สึกถึงกลิ่นอายในอดีต ยังเป็น challenge สนุก ๆ ที่ได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้ ในประเทศไทยเองก็มีแฮชแท็ก #โคตรจะติดอยู่ในช่วงเวลา และมีครีเอเตอร์มากมายใช้กล้องดิจิทัลรุ่นเก่ามาถ่ายคลิปจำลองสถานการณ์ในอดีต เช่น ตอนที่คาร์ฟูร์เปลี่ยนเป็นบิ๊กซี, เซเว่นฯ เปิดครั้งแรก, วันที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ยกเลิกคอนเสิร์ต, น้ำท่วมปี 54 เป็นต้น ภาพเบลอ ๆ คุณภาพต่ำจากกล้องเก่ายิ่งส่งให้เรื่องดูสมจริง และทำให้รู้สึกราวกับว่าได้ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาเหล่านั้นอีกครั้ง 

 

ทำไมคนยุคใหม่โหยหา ‘อดีต’   

 

ลองจินตนาการว่า เช้านี้เราตื่นมาดูการ์ตูนช่อง 9 ที่ฉายในทีวีจอนูน เสียงอู้อี้ ภาพเป็นคลื่น ด้านบนมีหนวดกุ้งรับสัญญาณโย้เย้ กิจกรรมวันหยุดคือปั่นจักรยานไปร้านเช่าหนังสือ เล่นเกมบอย โดดยางกับเพื่อนข้างบ้าน ไปร้านชำ ซื้อขนมสะสมการ์ด แม้จะเป็นโลกแอนะล็อกแต่ความสนุกสนานแสนเรียบง่ายนั้น พอได้หวนคิดถึงเมื่อใดก็ยิ่งอบอุ่นหัวใจ    

 

 

ผู้คนต่างโหยหาและหวนคิดถึงอดีต โดยเฉพาะ Gen Y และ Millennials ผู้ที่เติบโตมากับยุค 90s-2000s สาเหตุหลักที่ทำให้คนมีความคิดถึงวันเก่า ๆ เป็นเพราะ ‘ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย’ ในปัจจุบัน ทั้งความทุกข์หรือความรวดเร็วในโลกดิจิทัล การถวิลหาอดีตที่แสนเรียบง่าย สนุกสนาน และมีสีสัน ทำให้คนมีความสุขเป็นพิเศษ รู้สึกอบอุ่นหัวใจ ราวกับได้หยุดพักหายใจสักครู่ท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว  

 

ในขณะเดียวกัน Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1997 - 2009 แม้พวกเขาจะเติบโตในโลกดิจิทัล แต่พวกเขากลับชื่นชอบไลฟ์สไตล์ของคนยุคแอนะล็อก เพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับหน้าจอและอินเทอร์เน็ต การได้กลับไปเสพวิถีชีวิตแบบแอนะล็อกจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและสนุก อีกทั้งยังสวนกระแสโลก ได้สร้างตัวตนให้แตกต่างและโดดเด่นได้อีกด้วย 

 

เพลงที่ไม่เคย ‘เก่า’ 

 

ผลสำรวจเผยว่า Gen Z ร้อยละ 29 ชอบฟังเพลงยุค 90 และอีกร้อยละ 23 ชอบฟังเพลงยุค 2000 หากนับรวม ๆ แล้วจะเห็นได้ว่า Gen Z เกินครึ่งที่ฟังเพลงยุคเก่าที่บางคนก็อาจเกิดไม่ทัน  

 

 

หากย้อนกลับไปฟังเพลงไทยยุค 80 - 2000 ต้น ๆ อย่าง วงชาตรี, คริสติน่า อากีล่าร์, ทาทายัง, บาซู ฯลฯ จะสังเกตเห็นได้เลยว่าเนื้อเพลงเรียบง่าย สื่อสารชัดเจน บอกว่าเศร้าก็เศร้า บอกว่าสุขก็สุข ไม่มีอ้อมค้อมอย่างในปัจจุบัน ดนตรีก็ใช้เมโลดี้และบีตง่าย ๆ ไม่มีลูกเล่นแพรวพราวมากนัก นับเป็นสไตล์ที่โดดเด่นของยุคนั้นเลยก็ว่าได้ เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวกระโดด เราใส่ซาวด์แปลก ๆ ลงไปในเพลงได้มากมาย อาจทำให้ความเรียบง่ายในอดีตกลายเป็นคอมฟอร์ตโซน  

 

มีศิลปินยุคดิจิทัลมากมายที่นำแนวดนตรีจากยุคแอนะล็อกมาใช้ ผสมผสานความเก่าใหม่ได้อย่างลงตัว เช่น Polycat อัลบั้ม 80 kisses ที่ทำให้วงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง พวกเขากลับมาโดดเด่นอีกครั้งด้วยการพาไปสัมผัสดนตรียุค 80 เนื้อร้องเรียบ ๆ แต่คมคาย เคล้าด้วยเสียงซินธิไซเซอร์ที่ชวนให้นึกถึงไฟวูบไหวในงานบอลรูม 

NewJeans

 

ฝั่งวงการเพลงเกาหลี วงที่สร้างปรากฏการณ์ Nostalgia Replay ปลุกกระแส Y2K ที่สุดในยุคนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก NewJeans ทั้งแนวดนตรีที่ใช้บีตและซาวด์แบบ 90 เนื้อเพลงสั้น ๆ เรียบง่าย ท่าเต้นสไตล์ฮิปฮอป เน้น Footwork เท่ ๆ ชุดขึ้น สเตจก็มักจะมาด้วยลุค Y2K ทั้งยีนส์และฮู้ดดี้ตัวโคร่ง กางเกงเอวต่ำ เสื้อเบบี้ที ห้อยตุ้งติ้งน่ารักเยอะ ๆ พรีเซนท์ความเป็นยุคแอนะล็อกทุกอณู หนึ่งสิ่งที่ทำให้ NewJeans ครองใจมหาชนได้ขนาดนี้คงเป็นเพราะเข้าถึงคนทุก Gen ได้อย่างง่ายดาย สไตล์ของ NewJeans ไม่ได้ใหม่ แต่เป็นสไตล์เก่าที่แตกต่างเมื่อนำเสนอในยุคนี้ หากคุณเป็นคน Gen Y และ Millennials แนวเพลงของ NewJeans คงเป็นอะไรที่คุ้นเคย และสำหรับ Gen Z แล้ว การนำเอาแฟชั่นยุค 90 กลับมานั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่และแตกต่าง ทำให้ NewJeans ถือเป็นไอดอลให้กับ Gen Z เลยก็ว่าได้  

MV Taste -Sabrina Carpenter

 

ฝั่งตะวันตกยิ่งได้กลิ่นอายของอดีตอย่างอบอวล ล่าสุด Sabrina Carpenter นักร้องป๊อบแห่งยุคสมัยก็ได้นำเอาฉากจากหนังสยองขวัญเรื่องต่าง ๆ มาล้อใน MV เพลง Taste ทั้งเรื่อง Death Becomes Her (1992), Ginger Snaps (2000), Psycho' (1960), Kill Bill: Vol. 1' (2003) ฯลฯ แต่ละเรื่องล้วนเป็นหนังดังจากในอดีตและมีฉากสยดสยองอันน่าจดจำ  

 

ลิซ่า (Lisa) ก็ได้นำเพลง Kiss Me ของ Sixpence none the richer มาเรียบเรียงเป็นเวอร์ชั่นใหม่ โดยใช้ชื่อ Moonlit Floor โดยได้คงกลิ่นอายและเนื้อเพลงเดิมไว้บางส่วนให้พอหายคิดถึง ลิซ่าที่เธอให้เหตุผลว่าเป็นเพลงที่คุณพ่อของเธอมักจะเปิดให้ฟังในรถ เวลาเดินทาง ตอนเธออายุ 5 ขวบ ทำให้เป็นเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ก็นึกถึงคุณพ่อและนึกถึงวัยเด็ก และไม่ใช่แค่ลิซ่า แต่เชื่อว่าคนที่เกิดทันเพลงนี้หากได้ฟังแล้วก็คงจะคิดถึงวันวาน นอกจากเวอร์ชั่นใหม่แล้วก็อยากจะกลับไปฟังต้นฉบับให้หายคิดถึงอีกด้วย 

 

นอกจากปี 80 - 90 แล้ว ช่วงปี 2000 ต้น ๆ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากแอนะล็อกมาสู่ดิจิทัลก็เป็นช่วงที่มีสีสันและน่าจดจำมากเช่นกัน  ตอนนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก Kamikaze ค่ายเพลงป๊อปวัยรุ่นจากค่าย RS ที่มีศิลปินชื่อดังอย่าง โฟร์-มด, เฟย์ฟางแก้ว, K-otic, หวาย ฯลฯ เพลงในยุคนั้นมีเอกลักษณ์ เนื้อเพลงที่เล่นคำสนุกสนาน ล้อไปกับกระแสต่าง ๆ เป็นค่ายใหญ่เพียงค่ายเดียวในตอนนั้นที่ปลุกปั้นวัฒนธรรมเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ จนประสบความสำเร็จ 

Kamikaze 

 

พอได้รับความนิยมน้อยลงตามยุคสมัย Kamikaze ก็สลายไป จนกระทั่งไม่กี่ปีให้หลังมานี้ วงการ T-POP ไทยก็กลับมาอีกครั้งด้วยแนวเพลงที่มีกลิ่นอายของยุค Kamikaze เช่นเพลง รักติดไซเรน - Ice Paris Pearwah, วัดปะล่ะ - 4EVE, แค่น้องชาย (Brother zone) - BUS ฯลฯ อีกทั้งนักแต่งเพลงในยุคนั้นก็กลับเอาเนื้อเพลง ดนตรีสไตล์เดิมมาทำเพลงใหม่ ๆ และได้ผลตอบรับดี เรียกได้ว่าถ้าโตมากับ Kamikaze ก็น่าจะชอบเพลงเหล่านี้ได้ไม่ยาก เพราะรู้สึกอินกับเพลงได้อย่างง่ายดาย  

 

ไม่ใช่แค่นำเอาสไตลน์เพลงเก่ามาทำใหม่ แต่เพลงเก่าก็กลับมาฮิตอีกครั้งเช่นกัน อย่างแนวเพลง ซิตีป๊อป (City Pop) จากปี 80s - 90s ของญี่ปุ่นที่กลับมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เริ่มจากเพลง Plastic Love ของ มาริยะ ทาเคะอุจิ (Mariya Takeuchi) ที่เป็นไวรัล จนต้องมีการทำมิวสิกวิดีโอใหม่ หลังจากนั้นเพลงซิตีป๊อปเพลงอื่น ๆ ก็ถูกนำมาเปิดอีกครั้ง และฟังเมื่อไหร่ก็เหมือนได้หลุดไปยังช่วงเวลาที่แสนสดใสของวันวานในญี่ปุ่น  

 

 มาริยะ ทาเคะอุจิ  

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

ที่กลายมาเป็นของ ‘สะสม’ 

 

แม้ปัจจุบันเราสามารถฟังเพลงผ่านสตรีมมิงได้อย่างสะดวกสบาย แต่ความนิยมแผ่นเสียง (Vinyl) กลับเพิ่มขึ้น อยู่ดี ๆ ในปี 2007 ยอดขายแผ่นเสียงในอเมริกาก็ค่อย ๆ สูงขึ้น และในปี 2023 ที่ผ่านมาแผ่นเสียงกลับขายดีสร้างรายได้ 72 % จากแผ่นเพลงแอนะล็อกทั้งหมด แซงหน้าซีดีไปไกล ทำให้ในศิลปินยุคใหม่หลาย ๆ คน มักจะปล่อยอัลบั้มแผ่นเสียงควบคู่ไปกับอัลบั้มธรรมดาด้วย

แผ่นเสียงของ อิ๊ง - วรัญธร อัลบั้ม INK และ Bloom. 

 

การฟังแผ่นเสียงนั้นไม่สะดวกเท่าสตรีมมิงแม้แต่น้อย แผ่นก็ใหญ่ แถมยังต้องมีเครื่องเล่น เสียงที่ได้ฟังก็อาจจะสู้ระบบ Dolby Atmos ใน Apple Music ไม่ได้ แต่การฟังแผ่นเสียงกลับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ที่ทำให้เราได้ใช้เวลาไปกับการนำแผ่นมาวางบนเครื่อง ค่อย ๆ เปิดเล่น และนั่งฟังไปเรื่อย ๆ ปล่อยให้เพลงเล่นไปตามลำดับอย่างเชื่องช้า เป็นประสบการณ์ฟังเพลงจากยุคเก่า ที่หลายคนชื่นชอบ ท่ามกลางโลกที่แสนวุ่นวายนี้ จะว่าไปแล้ว แผ่นเสียงอาจถูกเปิดฟังมากกว่าแผ่นซีดีที่อยู่ในอัลบัมปกติเสียอีก 

แผ่นเสียง YOASOBI อัลบั้ม The Book 1,2,3 

 

สาเหตุที่ทำให้คนยังซื้ออัลบั้มของศิลปิน คือ การ์ดหรือโฟโต้บุ๊กที่อยู่ด้านใน หากเป็นแต่ก่อน เรายังมีโอกาสได้ฟังซีดีผ่านเครื่องเล่น Sony Walkman แต่ปัจจุบันซีดีเพลงกลายเป็นเพียงของแถมที่อยู่ในอัลบั้มเท่านั้น จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เครื่องเล่นซีดีพกพาแห่งปี 2024 กลับมาอีกครั้ง เมื่อ aespa เกิร์ลกรุ๊ปจากค่าย SM Entertainment ได้สร้างปรากฏการณ์ปล่อยอัลบั้ม ‘Armageddon’ ในรูปแบบ CD Player กล่าวง่าย ๆ คือซื้อซีดีแถมเครื่องเล่น ที่คล้ายกับ Sony Walkman สามารถเสียบหูฟังฟังและเชื่อมต่อบลูธูทได้ ทำให้ซีดีในอัลบั้มไม่ใช่แค่ของแถม แต่ได้ฟังจริง ตอบโจทย์กับคนในยุคนี้ที่กำลังมองหาการฟังเพลงแบบมีลูกเล่นมาก ๆ 

aespa The 1st Album Armageddon (CDP Ver.) 

 

คนยุคใหม่กำลังประสบปัญหา ‘Digital Burnout’ หรือ อาการหมดไฟดิจิทัล อาการนี้เกิดจากการต้องอยู่ติดหน้าจอตลอดเวลา ต้องคอยตอบแชท ตอบอีเมล และออนไลน์ตลอด จนทำให้หลายคนหวาดกลัวเสียงแจ้งเตือนและส่งผลกับสุขภาพจิตได้ ความเบื่อหน่ายโลกดิจิทัลนั้นเป็นอีกสาเหตุที่พาคนหวนสู่ชีวิตออฟไลน์ รู้สึกว่าโลกแอนะล็อกน่าหลงใหล และแน่นอนว่าเหตุผลหลักคือ ‘ความสบายใจ’ 

ภาพจาก IG : @hi_seulgi ซึลกิจาก Red Velvet ที่ใช้กล้องดิจิทัลถ่าย 

 

นอกจากกลับไปฟังแผ่นเสียง ฟังเพลงเก่า ใช้หูฟังมีสาย ยังลามไปถึงวงการ ‘กล้องดิจิทัล’ ที่ทำให้รุ่นเก่า ๆ กลับมาฮิตอีกครั้ง หากย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว ใคร ๆ ก็ต้องถ่ายกล้องฟิล์ม แต่ในยุคนี้ใคร ๆ ก็ต้องมีกล้องดิจิทัล ที่ถ่ายออกมาได้รูปคุณภาพปานกลาง ติดเบลอ ๆ ไม่มีความละเอียดมากนัก เช่น Nikon Coolpix L4, Canon IXY Digital 700, Sony Cybershot DSC-W220 เป็นต้น หลายคนไปรื้อตู้เก็บของหากล้องดิจิทัลเก่ามาใช้ กล้องเหล่านี้เกือบจะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว แต่กลับกลายเป็นไอเท็มหายากที่ถูกอัปราคาให้สูงลิ่วในปัจจุบัน 

 

Y2K Never Die  

 

หากไปเดินสยามช่วงนี้ เชื่อว่าคงจะได้ไวบ์ไม่ต่างกับปี 2000 เท่าใดนัก เพราะช่วงนี้แฟชั่น Y2K กำลังกลับมาฮิตในหมู่สายแฟอีกครั้ง 

Mean Girl (2004) 

 

1 มกราคม ค.ศ. 2000 นอกจากเหตุการณ์โกลาหลที่สะเทือนระบบปฏิบัติการทั้งโลกแล้ว ปีนั้นยังเป็นปีที่แฟชั่นโดดเด่น น่าจดจำ หากจะให้นิยามแฟชั่นของยุค Y2K ตัวอย่างที่ชัดเจนคงเป็นเสื้อผ้า หน้า ผมของตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls (2004) และ ชุดขึ้นสเตจของ Spice Girls เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติอังกฤษ สาว ๆ ยุคนั้นมักจะสวมยีนส์ขาม้าเอวต่ำ เข็มขัดสีขาวเส้นใหญ่  ถุงเท้าข้อยาว เบบี้ทีครอปท็อป กระโปรงยีนส์มินิสเกิร์ต ที่ขาดไม่ได้เลยคือกระเป๋าบาแกตต์ และเครื่องประดับที่วิ้งวับมีกลิตเตอร์ ทางฝั่งเอเชียต้องลองย้อนกลับไปดูชุดขึ้นสเตจของศิลปินเกาหลีใต้อย่าง Baby V.O.X และ S.E.S หรือถ้าเป็น Girl’s Generation และ TVXQ อัลบั้มแรก ๆ เราก็ยังจะพอเห็นแฟชั่นแบบ Y2K 

TVXQ อัลบั้ม HUG 

 

สำหรับประเทศไทยบ้านเรา ที่เห็นชัดเจนและมีสีสันที่สุดคงเป็นละครเรื่อง ‘เบญจาคีตาความรัก’ (ปี 2003) ที่ฉายทางช่อง 7 ตัวนางเอกแก้วเจ้าจอมที่มักจะใช้อายแชโดวส์ตาสีฟ้าสว่าง มาพร้อมกับเกาะอกสีสดใส และมินิสเกิร์ต ฝั่งตัวร้ายอย่างเฟียซก็ไม่ยอมกัน ลอนผมหยิกแบบก๋ากั่น พร้อมบูธยาวถึงเข่า 

Dua Lipa นอกจากจะเป็นไอคอนแห่ง Y2K แล้วเพลงของเธอยังใช้ซาวด์แบบยุค 90 ด้วย 

 

แฟชั่น Y2K ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ Gen Z และการหวนกลับมาอาจเป็นถูกปลุกกระแสจากแฟชั่นไอคอนคนดังอย่าง Dua Lipa, Bella Hadid , Olivia Rodrigo, NewJeans เป็นต้น และยิ่งแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วด้วยโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram และ TikTok ปัจจุบันร้านเสื้อผ้าแฟชั่นจะเน้นสไตล์ Y2K เป็นหลัก และยิ่งหลากหลายกว่าเมื่อก่อนที่ปัจจุบันมีหลายไซส์ ไม่ต้องเอว 24 ก็ใส่เบบี้ทีและมินิสเกิร์ตได้

 

ในญี่ปุ่นเองก็เผยให้วัฒนธรรมป๊อปที่เกือบจะล้มหายตายจาก แต่ปัจจุบันกลับกลายมาอยู่ในกระแสหลักได้ นั่นคือ เกียรุ (Gyaru) หรือ สาวแกล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุค Y2K สาวแกลจะมีผมบลอนด์ ผิวสีแทน แต่งตัวด้วยชุดนักเรียนสั้น ๆ สวมถุงเท้าข้อยาวย้วย และรองเท้าส้นตึก มือถือมีพู่ตุ๊กตาห้อยยาวเป็นพวง เป็นภาพจำของความอาโนเนะ ก๋ากั่น มีฉากหลังเป็นย่านฮาราจุกุ  

aespa ในลุคสาวแกล 

 

สาวแกลเป็นวัฒนธรรมย่อยเฉพาะกลุ่ม ที่อาจจะซบเซาลงไปช่วงหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าในรายการต่าง ๆ ของญี่ปุ่นไม่กี่ปีให้หลังมานี้ล้วนพูดถึงสาวแกล วง aespa และ NewJeans ก็ใช้แฟชั่นสาวแกลในชุดคอนเซ็ปต์อัลบั้มต่าง ๆ การแต่งตัวที่ดูเยอะในวันนั้นกลับกลายเป็นตำนานที่ไอคอนิก และเป็นสไตล์ที่คนนำกลับมาใช้อีกครั้งในปัจจุบัน  

 

Nostalgia Marketing 

 

ในยุคที่คนรู้สึกโหยหาอดีต จึงเกิดการตลาดแบบ Nostalgia Marketing ขึ้น แบรนด์ดัง ๆ ต่างก็ทำการตลาดแบบที่ชวนให้นึกถึง ‘อดีต’  

 

เมื่อมนุษย์เรานึกถึงอดีตจะทำให้รู้สึกอบอุ่นและรู้สึกดีเนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน โดพามีน (Dopamine) ออกมา ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข การตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคหวนคิดถึงความทรงจำเก่า ๆ ได้นั้นทรงพลัง ทำให้คนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมได้ง่าย เข้าถึงง่าย และทำให้รู้สึกดีต่อแบรนด์อีกด้วย  

 

วิธีการทำการตลาดมีหลายแบบ หากเป็นแบรนด์เก่าแก่ อาจมีการนำโปรดักเก่าที่คนคิดถึงกลับมาขายอีกครั้ง เช่น Pepsi ที่นำ Crystal Pepsi ที่เคยวางขายในปี 1992 กลับมาขายอีกครั้งในปี 2015 สินค้าตัวนี้นับว่าเคยประสบความสำเร็จสุด ๆ แต่ก็เป็นสินค้าที่แย่ที่สุดของแบรนด์เช่นกัน แม้จะไม่ได้ไปต่อในตอนนั้น แต่ถือว่า Crystal Pepsi ที่หน้าตามีเอกลักษณ์นั้นก็กลายเป็นตำนานของแบรนด์ และเป็นสินค้าที่เป็นสีสันให้กับปี 1992 และเมื่อนำกลับมาวางขายในบางโอกาสก็สร้างเสียงฮือฮาไม่น้อยในหมู่ผู้บริโภค 

 

หากกล่าวถึงโฆษณาไทย คงชวนให้คิดถึงโฆษณาของไทยประกันชีวิตที่มักจะใช้เพลงคลาสสิกหรือเพลงที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนมาประกอบ อย่างโฆษณาชุด Que Sera Sera ที่ใช้เพลง Whatever Will Be, Will Be (Que Sera, Sera) โดย Doris Day สุดคลาสสิกจากปี 1956 มาใช้ จากท่วงทำนองที่คุ้นหู และความหมายดี ๆ ถูกขับร้องใหม่โดยเด็ก ๆ ทำให้ทุกวันนี้เมื่อพูดถึง Que Sera Sera เชื่อว่าคนก็ยังจดจำว่าเป็นเพลงประกอบโฆษณาของไทยประกันชีวิต เชื่อว่าถ้าได้ฟังคงทำให้อารมณ์ในวันวานหวนกลับคืนมา ราวกับได้เปิดไทม์แคปซูล    

Nostalgia Replay คือปรากฏการณ์ที่อดีตถูกพาให้หวนกลับมาฉายซ้ำ ซ้อนทับกับยุคปัจจุบัน ลองสังเกตสิ่งรอบตัวในทุกวันนี้ เชื่อว่ายังมีกลิ่นอายของวันวานอบอวลอยู่มากมาย แล้วสำหรับคุณล่ะ เหตุการณ์ไหนบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น Nostalgia Replay ของคุณ 

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...