หม่าม้า ออมม่า หม่ามี้ สำรวจเรื่องราวของคำว่า ‘แม่’ แม้ต่างภาษาแต่ที่มาเดียวกัน

08 Aug 2023 - 5 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

คำว่า ‘แม่’ เป็นคำที่ลูกทุกคนน่าจะออกเสียงได้เป็นคำแรก ๆ ในชีวิต บางบ้านเรียกแม่ว่าหม่าม้า บางคนเรียกแม่ว่าหม่ามี้ ลูกชาวเกาหลีอ้อนคุณแม่ว่าออมม่า ~  

แต่ไม่ว่าคุณจะเรียกแม่แบบไหน คำนี้ก็เป็นคำเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ นอกจากจะยิ่งใหญ่ในแง่ของความหมายที่มีต่อลูกแต่ละคนแล้ว ยังเป็นคำที่มีประวัติศาสตร์มากมายแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของคำว่าแม่ที่น่าสนใจ 

 

คำว่า ‘แม่’ จากเทพีผู้เป็นแม่ 

 

หากเราเริ่มขุดคุ้ยที่มาของคำว่าแม่ในแต่ละภาษา จะพบว่าคำนี้มักจะมีที่มาจากเทพเจ้าตามแต่ละความเชื่อที่ผู้คนนับถือ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ยกให้เป็นมารดาแห่งทุกสรรพสิ่ง 

 

เริ่มกันที่ Mother คำว่าแม่ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่นั้น มาจากคำว่า ‘Modor’ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษโบราณที่มีวิวัฒนาการมาจากคำว่า Mater ในภาษาละตินอีกที ในประวัติศาสตร์ของละตินนั้น คำนี้มาจากชื่อของเทพี Magna Mater ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวละตินใช้เรียกไซเบล (Cybele) มารดาแห่งทวยเทพทั้งปวง 

 

หากขุดลึกให้เข้าไปถึงราก ถึงแก่น สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของคำนี้คือภาษากรีก คำว่าแม่ในภาษากรีกถูกหยิบยืมมาจากชื่อของเทพี ดิมีเทอร์ (Demeter) ซึ่งเป็นเทพแห่งการเก็บเกี่ยว ผู้ดูแลความอุดมสมบูรณ์ของผืนปฐพี ที่ชาวกรีกยกให้เป็นเทพีแห่งมารดา คล้ายกับพระแม่ธรณีในบ้านเรา Mitéra (μητέρα) ซึ่งหมายถึงแม่ในภาษากรีกจึงมาจากชื่อเทพเจ้าองค์นี้นั่นเอง และเราจะเห็นคำว่า Mater- ปรากฏอยู่ในคำศัพท์ภาษาอังกฤษหลาย ๆ คำ ที่หมายถึงแม่หรือความเป็นแม่ เช่น Maternity และ Maternal  

 

นอกจากนี้ในภาษากรีกยังมีอีกคำ คือ Metra ซึ่งหมายถึงครรภ์หรือมดลูกของผู้หญิง คำนี้มาจากจากเทพเจ้าไกอา (Gia) มารดาของโลกผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งจากครรภ์ของนาง คำนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Matter (สสาร) ซึ่งสื่อถึงการก่อกำเนิดสรรพสิ่งต่าง ๆ และ Mat- ก็กลายมาเป็นคำเติมด้านหน้า (Prefix) ที่ทำให้คำนั้น ๆ มีความหมายเกี่ยวกับสสาร หรือหมายความถึงผู้หญิง และแม่ ในภาษาอังกฤษ เช่น  

 

Material (n.) วัตถุ กายภาพ จับต้องได้ 

Matrix (n.) แถวอันดับของจำนวนเลข  

Matron (n.) ผู้หญิงที่มีสามีแล้ว ผู้คุมหญิง 

Matriarch (n.) หัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หญิง หรือ หัวหน้าเผ่าที่เป็นผู้หญิง 

 

เช่นเดียวกันกับคำว่าแม่ในภาษารัสเซีย มาต์ (Мать : Maht) นั้นก็มีที่มาจากเทพี Mati-syra-zemla ที่ชาวรัสเซียยกให้เป็นผู้สร้างความอุดมสมบูรณ์ ให้ผืนดินชุ่มชื้นคล้าย ๆ กับเทพีดิมีเทอร์ของชาวกรีกโบราณนั่นเอง  

 

ทางฝั่งประเทศจีนนั้นก็มีคำที่ใช้เรียกแม่หลายคำ ไม่ว่าจะเป็น มา (Mah) มามา (Mama) และ อามา (Amah) ซึ่งเป็นคำที่มีที่มาจากภาษาโปรตุเกสที่ออกเสียงว่า มามา (Mama) เหมือนกัน และก็ปรากฏให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าอยู่เช่นเดียวกันกับประเทศฝั่งตะวันตก 

 

ยกตัวอย่างคำว่า อามา (Amah) ที่ลูกหลานชาวจีนใช้เรียกคุณย่า คุณยาย ในปัจจุบัน และเป็นคำที่หลาย ๆ ครอบครัวใช้เรียกแม่ ย้อนไปนานกว่านั้นในสมัยราชวงศ์ถัง คำนี้ยังหมายถึง แม่นม หรือ พี่เลี้ยงเด็กที่คอยช่วยดูแลเด็ก ๆ และทำความสะอาดบ้าน และเผยว่าชื่อนี้ยังเป็นชื่อเรียกของเทพี ซีหวังหมู่ (Xiwangmu) หรือ พระแม่ตะวันตก (Queen Mother of the West) เป็นเทพีผู้ทำให้อายุยืนยืนยาว อยู่เย็นเป็นสุขในความเชื่อของชาวจีนอีกด้วย 

 

‘แม่’ ที่มีความหมายมากกว่าแม่ ในภาษาไทย 

 

ข้ามน้ำ ข้ามทะเลมายังประเทศในฝั่งคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น จะสังเกตได้ว่าแต่ละประเทศเรียก ‘แม่’ คล้ายกันมาก ๆ เนื่องจากมีการผสมผสานด้านวัฒนธรรมภาษามาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต  

 

แม่ - ภาษาไทย 

อีแม - ภาษาลาว  

แม๊ - ภาษาเวียดนาม 

อะ เม - ภาษาเมียนมาร์ 

 

นอกจากนี้ภาษาไทยกลางยังได้รับอิทธิพลจากภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาผสมด้วย สังเกตเห็นได้ว่าคำว่า ‘มารดา’ ในภาษาไทยนั้นคล้ายคลึงกับคำว่า ‘มาตา’ ในภาษาบาลี  

 

คำว่าแม่ในบ้านเราอาจไม่ได้ระบุถึงอิทธิพลจากเทพเจ้าเช่นเดียวกันฝั่งตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามความหมายของคำว่าแม่ทั้งในประเทศไทยและอีกซีกโลกนั้นไม่ได้ต่างกันเลย เพราะนอกจากคำว่า ‘แม่’ จะหมายถึงมารดาผู้ให้กำเนิดแล้ว แม่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรเดียวกันนั้น ยังหมายถึงผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งในโลก หมายถึงประธาน ผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนิด เป็นแม่แบบของสิ่งต่าง ๆ ด้วย  สังเกตเห็นได้ว่าคำว่า ‘แม่’ ไปนำหน้าอยู่ในหลายคำ แม้ว่าคำนั้นจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้หญิงก็ตาม เช่น  แม่น้ำ แม่สี แม่ซื้อ แม่ทัพ ฯลฯ 

 

ออมม่า หม่าม้า มาเธอร์ 

ทำไมคำว่า ‘แม่’ มักจะมี ม.ม้า 

 

แม้ว่าทุกชาติต่างก็มีคำว่าแม่ของตัวเอง และมีประวัติศาสตร์เบื้องหลังที่แตกต่างกัน แต่สงสัยไหมว่าแม้จะอยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่ทำไมคำว่า ‘แม่’ ส่วนใหญ่ถึงขึ้นต้นด้วย ม.ม้า หรือตัว M  กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น หม่าม้า หม่ามี้ ออมม่า มาเธอร์ หรือ แม่  

 

ในปี 1971 โรมัน จาคอปสัน (Roman Jacopson) นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซียได้ไขข้อสงสัยนี้ โดยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Studies on Child Language and Aphasia ซึ่งเขาได้ศึกษาเรื่องการหัดพูดของเด็กเล็ก จนได้คำตอบว่าทำไมคำว่าแม่ในแทบทุกภาษาถึงออกเสียงคล้ายกัน  

 

เขาระบุว่า คำว่าแม่ในภาษาต่าง ๆ นั้นมาจากเด็กเล็กวัยหัดพูดที่ส่งเสียงอ้อแอ้ พยายามจะพูดอย่างสุดความสามารถแต่สุดท้ายก็ออกเสียงได้แค่ไม่กี่เสียง นอกจากร้องไห้แล้ว พวกเด็ก ๆ จะเริ่มฝึกออกเสียงง่าย ๆ ด้วยสระปิดปาก เช่น บอ (b), ปอ (p) และ มอ (m) ซึ่งเราเรียกเสียงเหล่านี้ว่า เสียงริมฝีปาก (Labial Sounds) ที่จะออกเสียงได้ต้องเกิดจากการที่ริมฝีปากกระทบกัน (ทุกคนลองออกเสียง ม.ม้า ดูสิ ถ้าปากไม่กระทบกันก็จะพูดม. ม้า ไม่ได้ใช่ไหมล่ะ~) 

 

พอเสียงริมฝีปากมารวมกับการร้องไห้ที่เด็ก ๆ ถนัดที่สุด ซึ่งออกเสียงเป็นสระ ‘อา’ เป็นสระเปิดปากก็ทำให้เกิดคำว่า “บาบา” “ปาปา” และ “มามา” เป็นคำแรก ๆ ที่เด็กเล็กออกเสียงได้ และนั่นก็เป็นที่มาของคำว่าแม่ - มามา และ พ่อ - ปาปา ในแต่ละภาษานั่นเอง  

 

 

แล้วทำไมเด็กถึงเรียกแม่ว่า “มามา” แทนที่จะเป็น “ปาปา”  ?  

 

นักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาจนพบคำตอบที่ทำให้พวกเราหายสงสัย ว่าแม้พ่อแม่จะไม่ได้สอนให้ลูกให้เรียกแม่ว่าหม่าม้า เรียกพ่อว่าปะป๊า แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กก็เรียนรู้ที่จะเรียกแม่ว่า “มามา” ได้อยู่ดี  

 

และสาเหตุที่เด็ก ๆ เรียกแม่ว่า “มามา” นั้น พัฒนามาจากตอนที่พวกเขาดื่มนมจากเต้านั่นเอง  

 

ตอนทารกดื่มนมแม่ พวกเขาจะอิ่มท้องและรู้สึกพึงพอใจเป็นพิเศษ จึงออกเสียง ‘อืม’ (Mmm…) เพื่อแสดงความชื่นชอบตามสัญชาตญาณของมนุษย์ ซึ่งเสียงแห่งความพึงพอใจนี้เป็นหนึ่งในสระปิดปากที่ขึ้นต้นด้วยตัว M นั่นเอง  

 

ดังนั้นที่เด็ก ๆ เรียกแม่ว่า “มามา” ก็พัฒนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาจะมองคุณแม่เป็นคนป้อนอาหารที่เรียกเมื่อไหร่ก็ได้อิ่มท้อง และจดจำคำเรียกนั้นโดยธรรมชาติ นั่นล่ะที่มาของคำว่า ‘แม่’ ที่แท้จริง 

 

เห็นไหมว่าแค่คำว่า ‘แม่’ เพียงสั้น ๆ นั้นมีเรื่องราวมากมายและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจใน แม้จะเรียกแม่ต่างกันไป แต่ไม่ว่าอย่างไรคำว่า ‘แม่’ ก็มีความหมายยิ่งใหญ่กับมนุษย์ลูกเช่นเดียวกัน 

  

แล้วคุณล่ะ เรียกแม่ว่าอะไรกันบ้าง ?  

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...