การอ่านช่วยชุมชนได้อย่างไร ถอดบทเรียน ‘คลับเที่ยวอ่าน’ กิจกรรมเดินเที่ยวร้านหนังสือย่านพระนคร
Art & Culture / Living Culture
21 Nov 2024 - 5 mins read
Art & Culture / Living Culture
SHARE
21 Nov 2024 - 5 mins read
“อะไรคือย่านพระนคร ?”
คำถามนี้ผุดขึ้นในหัวของ เวฟ - สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ ทันที หลังจากที่ เกียว – นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ หนึ่งในทีมงานร้านหนังสือสวนเงินมีมา ชวนเวฟ - ผู้เป็นเจ้าของเพจ Just Read เพจหนังสือที่มีเป้าหมายพัฒนาวงการหนังสือไทยและวัฒนธรรมการอ่านให้กลายเป็น “กิจวัตร” ที่ยั่งยืน ให้มาทำความรู้จักกับย่านพระนคร ย่านที่เต็มไปด้วยร้านหนังสืออิสระกระจายตัวอยู่เกินสิบร้าน
ถึงแม้จะเป็นหนอนหนังสือตัวยงผู้ผ่านการจัดกิจกรรม Book Club เป็นประจำทุกเดือน และเป็นผู้จัดงานใหญ่อย่างงานอ่านหนังสือในสวน แต่ในฐานะคนซื้อหนังสือ สหัสวรรษก็ยังแวะเวียนอยู่แต่ในร้านหนังสือแบบ Chain Store ตามห้างสรรพสินค้า โดยไม่เคยรู้จักร้านหนังสืออิสระมาก่อน
เวฟ - สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจ Just Read
“ผมเคยไปสำเพ็ง แต่ไม่เคยรู้ว่าสำเพ็งอยู่ในย่านพระนคร ไม่เคยมีใครบอกว่าตรงนี้คือย่านเดียวกัน” เขาเล่ายิ้ม ๆ
“ช่วงแรกที่มาทำความรู้จักย่านพระนคร เริ่มจากพี่ ๆ ที่ร้านหนังสือสวนเงินมีมาพาเดินแนะนำว่าย่านนี้มีอะไรบ้าง เช่น เดินไปเสาชิงช้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ หลังจากนั้นผมก็มาสำรวจเองเรื่อย ๆ ว่าจริง ๆ แล้วบนเส้นทางนี้มีอะไรซ่อนอยู่”
ผลลัพธ์ของการเดินทางจากย่านบางเขนมาสำรวจถิ่นพระนครเป็นประจำ ทำให้สหัสวรรษค่อย ๆ ทำความรู้จักร้านหนังสืออิสระในย่านนี้ที่มีมากถึง 13 ร้าน เกือบทุกร้านเป็นกิจการเก่าแก่ที่เปิดให้บริการคู่ย่านพระนครมาตั้งแต่ครั้งที่วัฒนธรรมการอ่านการพิมพ์รุ่งเรือง จนกระทั่งถึงตอนนี้ที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจนทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ค่อย ๆ สูญสลายหายไปจากความนิยมของคนในยุคนี้ ทว่าร้านหนังสือเหล่านี้ก็ยังคงเปิดให้บริการอย่างแข็งขันเหมือนวันวาน
จากเสน่ห์ของร้านหนังสือในย่านเก่า สหัสวรรษแตกยอดความคิดแล้วประดิษฐ์ออกมาเป็นการจัดกิจกรรม ‘คลับเที่ยวอ่าน’ ชวนผู้คนที่สนใจมาเดินตระเวนทำความรู้จักร้านหนังสือย่านพระนคร ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยมีหนึ่งในจุดมุ่งหมายคือการหาคำตอบว่า อะไรทำให้ร้านหนังสือเก่าแก่ย่านพระนครยังคงยืนหยัดมาได้จากรุ่นสู่รุ่น
ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา คลับเที่ยวอ่านเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีผู้คนสนใจมาร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอทุกครั้ง แม้จะมีการเปลี่ยนมือผู้จัด โดยร้านสวนเงินมีมาร่วมกับกรุงเทพมหานคร ก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดกิจกรรมหลักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และสหัสวรรษเปลี่ยนบทบาทไปเป็น Guest ผู้นำทางตามรอยร้านหนังสือแทน แต่หัวใจของคลับเที่ยวอ่านก็ยังคงเหมือนเดิม คือ การพาคนรักหนังสือไปทำความรู้จักและอุดหนุนร้านหนังสืออิสระที่ยืนหยัดต่อสู้สวนกระแสโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว และทิ้งให้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่กำลังจะหมดลมหายใจ
อนาคตของร้านหนังสืออิสระจะเป็นอย่างไร การอ่านหนังสือถือเป็นการช่วยเหลือชุมชนได้ในแง่ไหนบ้าง หาคำตอบจากสหัสวรรษที่ใช้ประสบการณ์ตรงมาเล่าสู่กันฟัง
Just Read
หลงเสน่ห์ร้านหนังสืออิสระ
“จุดกำเนิดของคลับเที่ยวอ่านเกิดขึ้นหลังจากที่ผมจัดงานหนังสือในสวนไปแล้วสองครั้ง ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานเยอะมาก จนคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถจัดงานใหญ่ ๆ แบบนั้นได้อีกแล้ว ผมเลยอยากลองจัดงานเล็ก ๆ ดูบ้าง พี่เกียว (นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ ทีมงานร้านหนังสือสวนเงินมีมา) เลยบอกว่า ถ้าอยากจัดกิจกรรมเล็ก ๆ ลองมาเที่ยวร้านหนังสือแถวย่านพระนครดูสิ”
“ครั้งแรก ๆ ที่ผมได้มาเดินสำรวจย่านพระนคร และเจอกับร้านหนังสืออิสระแต่ละร้าน ผมรู้สึกตกใจมากที่มีพื้นที่แบบนี้ในกรุงเทพฯ เพราะผมเคยเข้าแต่ร้านหนังสือแบบ Chain Store ในห้าง ซึ่งต่างจากร้านหนังสืออิสระที่มีตัวเลือกของหนังสือที่ไม่ได้มีวางขายตามร้านทั่วไปเยอะเหมือนกัน”
“หลังจากที่ผมมาเดินสำรวจย่านพระนครบ่อยเข้า เลยเกิดไอเดียในการจัดกิจกรรมพาคนมาเดินเที่ยวย่านนี้ จนเกิดเป็นทริปเดินเที่ยวตามร้านหนังสือ ครั้งแรกที่จัดงานมีคนมาร่วม 30 คน ถือว่าเยอะมาก หลังจากนั้นผมก็จัดกิจกรรมคลับเที่ยวอ่านอย่างต่อเนื่องเดือนละ 2 ครั้ง และมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเต็มทุกรอบ”
ภาพ : facebook.com/suanspirit
“ด้วยความที่แถวนี้เป็นย่านเก่าทำให้ผมเองก็สนุกกับการได้เดินศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนไปในตัว ประกอบกับมีหนังสือภาพหลายเล่มที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับย่านเก่าในกรุงเทพฯ ผมจึงต่อยอดกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรม ‘เดินตามหนังสือ’ โดยพาผู้ร่วมกิจกรรมเดินไปตามเส้นทางสถานที่ที่ปรากฏในหนังสือ เช่น พาไปสำรวจตึกเก่าบนฝั่งพระนคร ตามหนังสือ Bangkok Shophouses by Louis Sketcher หรือชิมของอร่อยในย่านพระนครพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์คร่าว ๆ ของชุมชนบนเส้นทางสามยอด สนามไชย เสาชิงช้า และสามแพร่ง ตามหนังสือ Bangkok เพราะคิดถึง จึงอยากบันทึกไว้ ของศศิ วีระเศรษฐกุล ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกับคลับเที่ยวอ่าน”
Just Walk
ออกเดินสำรวจร้านหนังสือในย่านเก่า
“ผมไม่ได้ทำคลับเที่ยวอ่านแบบ Full Guide ที่มีการแนะนำหรือพูดคุยกับเจ้าของร้านหนังสือแต่ละร้านเป็นพิเศษ เพราะผมมี Mindset ในการจัดกิจกรรมว่า เราเองเป็นเหมือนลูกค้าคนนึงที่แค่อยากเข้าไปเลือกซื้อหนังสือ โดยพยายามไม่รบกวนร้านให้ได้มากที่สุด ผมจะให้เวลาผู้ร่วมกิจกรรมอยู่ในร้านหนังสือแต่ละร้านราว 20 นาที ใครสนใจเล่มไหนหรืออยากซื้ออะไรก็ซื้อเลย ผมชอบกระบวนการแบบนี้ เพราะไม่อยากทำให้เขารู้สึกเป็นวีไอพี ทุกคนเป็นลูกค้าและเราก็ไม่ควรรบกวนลูกค้าคนอื่นด้วย”
ภาพ : facebook.com/suanspirit
“ผมอยากให้เวลากับการเดินดูร้านหนังสือมากกว่าพูดคุยกับเจ้าของร้าน เพราะเท่าที่สังเกตคนที่มาร่วมกิจกรรมก็อยากเสพบรรยากาศการเดินดูหนังสือมากกว่าจะมายืนคุยกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วการได้พูดคุยกับเจ้าของพื้นที่เป็นเรื่องดีที่ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ชอบเข้าร้านหนังสือล้วนอยากได้ประสบการณ์ของการเดินเลือกหนังสือไปเรื่อย ๆ แบบไม่เร่งรีบ ถ้าเกิดเขาถูกใจร้านไหนเป็นพิเศษและอยากกลับมาอีกก็เป็นเรื่องน่ายินดี”
ภาพ : facebook.com/suanspirit
“คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมคลับเที่ยวอ่านคล้ายกับผมในตอนแรก คือ ไม่เคยรู้จักร้านหนังสือเหล่านี้มาก่อน หรือมีบ้างที่เคยผ่านไปผ่านมาแถวนี้ แต่ไม่รู้ว่าร้านเหล่านี้คือร้านอะไร หลายคนที่เคยมาคลับเที่ยวอ่านแล้วก็กลับมาร่วมกิจกรรมอีก เพราะเขาชอบบรรยากาศของการได้เดินชอปด้วยกัน ชอปคนเดียวอาจจะรู้สึกเหงา ๆ ไม่บันเทิง มีเพื่อนเดินเที่ยวร้านหนังสือด้วยกันสนุกกว่า โดยเส้นทางที่เดินจะเริ่มจากร้านบูรพาสาส์น ต่อด้วยร้านรวมสาส์น, ร้านโอเดียนสโตร์, ร้านคลังวิทยา, ร้าน WORLD AT THE CORNER, ร้านเปียบุ๊ค, ร้านหนังสือเดินทาง, ร้านศึกษิตสยาม และมาจบที่ร้านสวนเงินมีมา”
ภาพ : facebook.com/suanspirit
“หลังจากที่ผมจัดกิจกรรมคลับเที่ยวอ่านได้ประมาณหนึ่งปี ผมเริ่มรู้สึกว่ากิจกรรมนี้ควรถูกถ่ายโอนไปให้คนที่อยู่ในย่านเป็นคนจัดเอง เพราะผมถือเป็นคนนอกมาก ๆ บ้านอยู่แถวเกษตร ไม่ใช่คนในพื้นที่ด้วยซ้ำ จึงเป็นโอกาสดีที่ปีนี้ทางกรุงเทพมหานครเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมนี้ผ่านโครงการ ย่านสร้างสรรค์ เดินย่านร้านหนังสือพระนคร โดยทางร้านสวนเงินมีมา เป็นผู้ดูแลและจัดกิจกรรมเองโดยตรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งร้านหนังสือและคนที่อยู่ในย่านนี้ได้เป็นเจ้าของกิจกรรมนี้จริง ๆ โดยผมยังคงรับหน้าที่เป็น Guest พาเดินเที่ยวไปตามเส้นทางเหมือนเดิม แต่อาจจะมีรายละเอียดของวิธีคิดและกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน เช่น มี Session ที่พูดคุยกับเจ้าของร้านหนังสือแต่ละร้าน หรือจบกิจกรรมด้วยการล้อมวงเสวนาเล็ก ๆ ที่ร้านสวนเงินมีมา โดยมีแขกรับเชิญมาร่วมพูดคุยไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้ง”
ภาพ : facebook.com/suanspirit
Just Move On
อย่าหยุดที่จะอุดหนุนชุมชน
“ถ้าอยากสนับสนุนกัน มีอยู่ทางเดียวคือ ลองมาเยือนร้านหนังสืออิสระแต่ละร้านดู แล้วจะรู้ว่ารสชาติที่ได้จากแต่ละร้านคืออะไร” หนุ่ม - อำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง หนึ่งในร้านหนังสืออิสระชื่อดังที่ยืนหยัดให้บริการมาเกิน 20 ปี เคยกล่าวถึงหนทางในการอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระไว้ในวิดีโอบันทึกการเดินทางของย่านสร้างสรรค์ฯ
แล้วในฐานะของผู้ไปสังเกตการณ์มานานกว่าสองปี สหัสวรรษคิดเห็นเช่นไรถึงการอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระในย่านพระนคร รวมถึงลมหายใจของบรรดาร้านค้าเล็ก ๆ ตามชุมชมละแวกย่านเก่า
“ถ้าถามผมว่าร้านหนังสืออยู่ได้ไหม ? ผมคิดว่าอยู่กันได้น้อยลง แล้วสถานการณ์จะดีขึ้นไหม ? ส่วนใหญ่เลวร้ายลง ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยน การเข้ามาของออนไลน์ ทำให้ทุกอย่างเร่งรีบขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหน้าร้านก็สามารถซื้อของได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรม New Normal ตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา”
“ร้านหนังสือที่ปรับตัวได้คือ ร้านที่เลือกจะลดความเป็นร้านหนังสือลง เช่น เพิ่มสเปซของคาเฟ่ หรือขายสินค้าอื่นเสริมเข้าไป เพื่อให้มีรายได้มาค้ำจุนหลายทาง เช่น ร้าน House of Commons ในย่านตลาดน้อย ที่เรียกตัวเองว่า Book Cafe and Space เพราะพื้นที่ 60% ของร้านเป็นคาเฟ่ ส่วนอีก 40% เป็นร้านหนังสือ แบบนี้ร้านถึงอยู่ได้ เพราะมีลูกค้าเวียนเข้ามาซื้ออาหารและเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน ส่วนร้านที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะค่อย ๆ สูญหายไป เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขัน สงครามราคาในวงการหนังสือก็เดือดขึ้นเรื่อย ๆ ร้านหนังสือใหญ่ ๆ ล้วนมีโปรโมชันล่อตาล่อใจ ในขณะที่ร้านหนังสืออิสระนั้นมีโอกาสยากมากที่จะลดราคาสู้กับเขา”
“ผมคิดว่าต่อให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือตอนนี้คงไม่ทัน เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีการป้องกันหรือแก้ไขมาตั้งแต่แรก ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่ ร้านหนังสืออิสระทุกวันนี้จึงรอวันที่จะหายไปจากสังคมเสียมากกว่า ร้านที่อยู่ได้ต้องมีใจรักที่จะทำร้านหนังสือสุด ๆ รักที่จะเปิดทำการต่อ แม้จะไม่ได้กำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต้องแบก”
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การมีกิจกรรมอย่าง ‘คลับเที่ยวอ่าน’ ต่อเนื่องมาสู่ ‘เดินร้านหนังสือย่านพระนคร’ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานครก็สร้างความคึกคัก และจุดประกายให้ผู้คนเริ่มหันมามองและทำความรู้จักย่านชุมชนเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดแค่การอุดหนุนร้านหนังสืออิสระ แต่ยังรวมไปถึงการกระจายรายได้ไปสู่ผู้คนในชุมชนอย่างทั่วถึง จากการใช้สองเท้าเดินสำรวจไปตามตรอกเล็กซอยน้อยของย่านชุมชนเก่าที่ยังมีลมหายใจ
“การเดินในกิจกรรมร้านหนังสือย่านพระนคร เราไม่ได้ไปแค่ร้านหนังสืออย่างเดียว เราเดินไปเจอร้านอาหาร ร้านขายของต่าง ๆ และเราได้เข้าหาชุมชน ดังนั้น สิ่งที่จะได้ก็คือ การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน” หนึ่งในเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินร้านหนังสือย่านพระนคร ที่ตอกย้ำถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ โดยมีกิจกรรมเดินทัวร์ร้านหนังสือเป็นเหมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้คนที่สนใจในเรื่องสังคมและวัฒนธรรมได้ใกล้ชิดชุนชนเก่าใจกลางมหานครได้ดียิ่งขึ้น
“เราเชื่อว่าการอ่านหนังสือให้พอเหมาะพอควรกับการเสพสื่อผ่านช่องทางอื่น ๆ จะทำให้คนในสังคมตระหนักรู้ผิดชอบชั่วดี เข้าใจชีวิต ดูแลตัวเองได้ ดูแลผู้อื่นเป็น และอยู่ร่วมกันในสังคมได้ จึงอยากสนับสนุนให้ร้านหนังสือเหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ความรู้แก่ผู้คนร่วมสมัยต่อไป” ทีมงานผู้จัดทำกิจกรรมเดินร้านหนังสือย่านพระนคร ตอกย้ำในเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาสังคมโดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง
อ้างอิง
- ร้านสวนเงินมีมา. ร้านหนังสือย่านพระนคร #ย่านสร้างสรรค์. https://bit.ly/48NDnGU