

จากองค์เทพสู่ ‘อาร์ตทอย’ มากกว่าของเล่นคือ ‘ศรัทธา’ ที่มาพร้อมกับความน่ารัก
Art & Culture / Living Culture
15 Oct 2024 - 7 mins read
Art & Culture / Living Culture
SHARE
15 Oct 2024 - 7 mins read
กระแสทั้ง ‘อาร์ตทอย’ และ ‘มูเตลู’ ต่างได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนทำให้วันนี้เรามี ‘อาร์ตทอยองค์เทพ’ ให้ได้สะสมและบูชา
หน้าตาของหิ้งบูชาในบ้านค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อปัจจุบันมีพระพุทธรูปและองค์เทพดีไซน์ใหม่ ๆ มากมายที่ลดทอนความขึงขังออกไป และทำให้การกราบไหว้บูชาเต็มไปด้วยความน่ารัก ใครว่าคนรุ่นใหม่ห่างไกลศาสนา หากพิจารณาปรากฏการณ์ ‘อาร์ตทอยองค์เทพ’ ก็จะพบว่าผู้คนยังคงเปี่ยมด้วยศรัทธาและรู้สึกใกล้ชิดกับศาสนาในรูปแบบใหม่และร่วมสมัยมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก W.K. Studio
เมื่อเทพเจ้ากลายมาเป็น ‘อาร์ตทอย’
อาร์ตทอย (Art Toy) คืองานประติมากรรมที่ออกแบบโดยโดยศิลปิน มีหลากหลายคาแรกเตอร์ มักจะผลิตเป็นคอลเลกชันให้ได้สะสม อาร์ตทอยจะแตกต่างจากโมเดลตรงที่ไม่ได้มีเนื้อเรื่องเบื้องหลัง หรือสร้างมาจากคาแรกเตอร์ในเรื่องราวไหน ความโดดเด่นของอาร์ตทอยคือเป็นชิ้นงานที่ศิลปินใส่ตัวตนลงไปได้เต็มที่ นักสะสมอาร์ตทอยจึงไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นแค่ของเล่น แต่ยังเป็นงานศิลปะอันมีค่า ทำให้บางตัวเป็นแรร์ไอเทมที่มีมูลค่าสูงลิ่ว
เมื่อกระแสอาร์ตทอยเริ่มมาแรงในประเทศไทย ก็เริ่มปรากฏให้เห็น ‘อาร์ตทอยองค์เทพ’ หลากหลายดีไซน์ ที่ศิลปินแต่ละคนได้นำเทพเจ้ามาตีความใหม่และพัฒนาออกมาในรูปแบบอาร์ตทอยสุดน่ารัก นอกจากเพื่อก็บสะสมแล้ว ยังนำไปบูชาได้อีกด้วย
‘ศิลปะ’ ในศาสนา
ความสุนทรีย์ที่ทำให้ความศรัทธายังคงอยู่ทุกยุคสมัย
ศาสนาสร้างรูปปั้นศาสดาและองค์เทพขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางให้คนได้กราบไหว้บูชา และทำให้ ‘ความศรัทธา’ ของผู้คนถูกมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
รูปปั้นและวัตถุมงคลล้วนแล้วแต่ผ่านการตีความและออกแบบโดยศิลปินในยุคสมัยนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่า ‘ศิลปะ’ และ ‘ศาสนา’ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อเราศรัทธาในบางสิ่งอย่างล้นหัวใจ มนุษย์มักจะสื่อสารออกมาเป็นงานศิลปะ นอกจากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเลื่อมใสในศาสนาแล้ว ศิลปะยังเป็น ‘สื่อกลาง’ ที่คนเราใช้ในการเผยแผ่ศาสนาไปยังคนหมู่มาก ผู้คนสามารถเข้าใจความงาม เกิดความสุนทรีย์กับศิลปะได้อย่างสากล ไม่ว่าจะเป็น บทเพลงสรรเสริญ รูปภาพบนผนังวัด รูปปั้นอันวิจิตรงดงาม ล้วนเป็นงานศิลปะที่ทำให้ผู้คนรู้สึกมีส่วนร่วมกับศาสนาได้ทั้งสิ้น
Lion-Man (Löwenmensch) ขอบคุณภาพจาก Ulmer Museum
งานประติมากรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ Lion-Man (Löwenmensch) มีลักษณะเป็นคนที่มีหัวเป็นสิงโต สลักบนงาช้างแมมมอธ มีอายุราว 40,000 ปี ถูกพบในส่วนที่มืดมิดที่สุดของถ้ำโฮห์เลนชไตน์ ชตาเดล (Hohlenstein Stadel) ประเทศเยอรมนี ศิลปินในยุคนั้นใช้เวลาแกะสลักงานชิ้นนี้นานกว่า 400 ชั่วโมง โดยใช้ขากรรไกรส่วนล่างของบีเวอร์เป็นเครื่องมือ ความงามในยุคนั้นไม่ซับซ้อนมาก เน้นการสื่อสารและใช้งานในพิธีการเป็นหลัก
The Last Supper - Leonardo da Vinci (1495)
ต่อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 มาถึงปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้ว่าจ้างให้ศิลปินระดับโลกสร้างรูปปั้นอันวิจิตร ประดับในคริสตจักร อีกทั้งภาพวาดของศิลปินระดับโลกมากมายล้วนเชื่อมโยงเข้ากับศาสนา ผลงานที่โดดเด่น เช่น The Last Supper โดย เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ศิลปินผู้เป็นอัจฉริยะแห่งยุคเรเนซองส์, รูปปั้น David โดย ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามและความหนุ่มสาว เป็นต้น
David - Michelangelo (1501 - 1504)
และในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นิยามความงดงามของงานศิลปะก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย รูปปั้นองค์เทพในปัจจุบันก็มีการออกแบบต่างจากในอดีต อาจกล่าวได้ว่าองค์เทพที่มาในรูปแบบอาร์ตทอยนั้นคือ งานศิลปะเชิงศาสนาชิ้นหนึ่งที่เล่าเรื่อง Pop Culture ได้เป็นอย่างดี
พระพิฆเนศ Golden Cloud Tiny ขอบคุณภาพจาก W.K.Studio
W.K.Studio ได้นำพระพิฆเนศมาตีความและออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น พระพิฆเนศคอลเลกชัน Golden Cloud Tiny ทำจากเซรามิกและทองเหลือง องค์พระพิฆเนศมีลักษณะมินิมอล รูปทรงกลมมน นั่งอยู่บนก้อนเมฆปุกปุยสีทอง แลดูน่ารัก มาพร้อมกับหนูบริวารและดอกไม้ วางรวมกันแล้ว เลเวลความคิวท์เกินต้าน เชื่อว่าถึงไม่ใช่สายมูฯ ยังอยากสะสมและนำมาบูชาที่บ้าน
แมงสี่หูห้าตา ขอบคุณภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์
อาร์ตทอยอีกชิ้นที่น่ารักไม่แพ้กันคือ ‘แมงสี่หูห้าตา’ ที่ออกแบบโดย Nokhook Design จากเชียงใหม่ เดิมทีสัตว์ประหลาดชนิดนี้ปรากฏตัวในตำนานของชาวล้านนา มีหูสองคู่ ตาห้าดวง ลักษณะเหมือนหมีผสมลิง กินถ่านไฟร้อน ๆ เป็นอาหารและขับถ่ายออกมาเป็นทองคำ ผู้คนนิยมกราบไหว้ เพราะขึ้นชื่อเรื่องโชคลาภ เงิน ทอง
อาร์ตทอยแมงสี่หูห้าตา ขอบคุณภาพจาก Nokhook Design
รูปปั้นแมงสี่หูห้าตาตามวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมีหน้าตาขึงขัง น่ากลัว และเชื่อว่าคงเคยเป็นฝันร้ายของเด็กหลาย ๆ คน ศิลปินผู้เติบโตมากับความน่ากลัวนี้จึงได้นำแมงสี่หูห้าตามาตีความใหม่ จนกลายมาเป็นน้อง ‘พรศักดิ์’ และ ‘บุญชิด’ อาร์ตทอยอ้วนกลม พุงพลุ้ย แก้มยุ้ย น่ากอด ลบภาพน่าสะพรึงกลัวในความทรงจำออกไป เชื่อว่าเด็ก ๆ ที่ได้เห็นแมงสี่หูห้าตาในเวอร์ชันนี้คงจะรู้สึกรักสัตว์ประหลาดตัวนี้ขึ้นมาอย่างแน่นอน
มากกว่าของเล่นคือบูชาได้จริง
นอกจากอาร์ตทอยองค์เทพที่ออกแบบโดยศิลปินชาวไทยแล้ว ในประเทศอื่น ๆ ก็มีการทำอาร์ตทอยเกี่ยวกับศาสนามากมาย เช่น พระพุทธเจ้าชินจัง เทพเจ้าจีนตัวกลม แมวกวักนักกล้าม ฯลฯ
แน่นอนว่ามีสีสันมากขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยคำถามว่า เมื่อองค์เทพมาเป็นอาร์ตทอย ที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิมแล้วนั้น จะยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม แล้วบูชาได้จริง หรือเป็นแค่ของสะสมเท่านั้น
อาร์ตทอยเทพเจ้าจีน คอลเลกชัน Root of Wisdom จาก FUFUTIETIE
ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิฤทธิ์ขององค์เทพนั้นขึ้นอยู่กับ ‘พิธีปลุกเสก’ ตามขั้นตอนของแต่ละศาสนา ไม่ว่าจะพระพุทธรูป พระเครื่อง รูปปั้นองค์เทพ ก่อนหน้าที่จะปลุกเสก ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงวัตถุธรรมดา เป็นแค่หินอ่อน ทองคำ เซรามิก พลาสติก ที่ไม่ได้มีเรื่องของจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนกับแล็ปท็อปเครื่องเปล่า ๆ ที่ยังไม่ได้ลงวินโดวส์ และยังใช้งานไม่ได้จริง ตามความเชื่อของแต่ละศาสนาพิธีปลุกเสกจะเป็นการอัญเชิญพลังแห่งเทพองค์นั้น ๆ เข้ามาสถิตอยู่กับรูปปั้น อาร์ตทอยก็เช่นกัน หากได้รับการปลุกเสก ตามหลักการแล้วก็สามารถนำไปกราบไหว้บูชาได้เช่นกัน
ศิลปะ ≠ ลบหลู่
มุมหนึ่งของปรากฏการณ์อาร์ตทอยองค์เทพนับเป็นสีสันแห่งวงการมูเตลู แต่ในอีกมุมหนึ่ง เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้ท้าทายรูปแบบการบูชาแบบดั้งเดิม และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจะเป็นการลบหลู่หรือไม่ ?
อาร์ตทอยพระพิฆเนศ Diva-Deva : Bappa-G : Mangala จาก Kaiju Smuggler
หากลองสังเกตในประเทศไทย อาร์ตทอยองค์เทพที่ได้รับความนิยมนั้นมักจะเป็นเทพเจ้าฮินดู เทพเจ้าจีน ยักษ์ และสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ แต่เราแทบจะไม่เห็นพระพุทธรูปที่ถูกนำมาดัดแปลงและตีความใหม่โดยศิลปินเลย การออกแบบยังคงเป็นไปตามตำรับตำราตั้งแต่อดีตทุกประการ นั่นเป็นเพราะยังคงเกิดข้อถกเถียงมากมายว่าอาจ ‘ไม่เหมาะสม’ ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนองค์เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอยู่ในรูปแบบของอาร์ตทอยนั้นยังคงมีกรอบบาง ๆ ที่ล้อมรอบไว้อยู่
ก่อนหน้านี้มีนักศึกษาชาวไทยวาดภาพพระพุทธรูปอุลตราแมน โดยมีคอนเซปต์ว่าอุลตราแมนกับพระพุทธเจ้านั้นมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เป็นเหมือนฮีโร่ที่ต่อสู้กับมารผจญได้ หลังจากที่ผลงานชิ้นนี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ก็ทำให้เกิดการถกเถียงมากมายถึงเรื่องความเหมาะสมของภาพวาดดังกล่าว
ตามหลักศาสนาพุทธนั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ของการออกแบบพระพุทธรูปไว้เป็นพิเศษ แต่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ 32ประการ’ ซึ่งเป็นเพียงตำนานแต่ไม่ได้ระบุในหลักศาสนาแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ความเหมาะสมคืออะไร แล้วการใช้ศิลปะตีความศาสนาใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยนั้นนับเป็นการลบหลู่จริงหรือ ?
หากสังเกตเห็นในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นประเทศแห่งของเล่นและอาร์ตทอย ได้นำเทพต่าง ๆ รวมถึงพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธไปออกแบบเป็นของเล่นและของที่ระลึกมากมาย ทั้งกาชาปอง อาร์ตทอย ไอศกรีม อาหาร แถมยังมีมังงะ Saint Young Men ที่มีตัวเอกเป็นเยซูและสิตธัตถะ ที่มาใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความศรัทธาของคนญี่ปุ่นในศาสนาน้อยลง วัดและศาลเจ้ายังคงเป็นแลนด์มาร์กของทุกจังหวัดที่ต้องไปเยือน เครื่องรางเป็นสินค้าขายดี พิธีกรรมต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปและเข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น
เราอาจต้องพิจารณากันที่ ‘เจตนา’ ของศิลปินผู้ออกแบบ ว่าเจตนาเป็นอย่างไร และสื่อสารออกไปอย่างไร หากพิจารณาจาก ‘อาร์ตทอยองค์เทพ’ ที่ล้วนแล้วแต่หน้าตาน่ารัก เราคงเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่การลบหลู่หรือลดทอนความศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด แต่กลับทำให้คนยุคใหม่ได้ใกล้ชิดกับศาสนามากขึ้น
บ้านของคนยุคใหม่อาจไม่มีหิ้งพระ แต่ที่แน่ ๆ พวกเขามีอาร์ตทอย สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างง่ายดาย แม้นักสะสมที่ไม่ได้นับถือเทพองค์ใด อาจรู้สึกสนใจบูชาเมื่อองค์เทพมาในรูปแบบอาร์ตทอย การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งดั้งเดิมยังคงมีลมหายใจได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยที่พลัง ‘ความศรัทธา‘ ยังคงแรงกล้าเช่นเดิม
อ้างอิง
- BBC. ศาสนา : พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ศิลปะกะเทาะเปลือกชาวพุทธ?. https://bit.ly/3XFGhZu
- Jill Cook. The Lion Man: an Ice Age masterpiece. https://bit.ly/3ZFHC56
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ‘เทวรูป’ กับ ‘อาร์ตทอย’ ในพรมแดนที่พร่าเลือน. https://bit.ly/4egLP3B