Windwear เสื้อฮาวายแบรนด์ไทยที่จุดประกายการท่องเที่ยวผ่านลายผีตาโขน หนังตะลุง และทุเรียน

05 Apr 2024 - 5 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

นึกถึงเสื้อฮาวาย คุณนึกถึงลวดลายแบบไหน

 

ต้นมะพร้าว ดอกชบา สับปะรด คลื่นทะเล ฮูล่าเกิร์ล อูคูเลเล่ ฯลฯ 

 

ลวดลายคุ้นตาเหล่านี้ล้วนเป็นภาพจำของเสื้อฮาวาย เพราะเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวบนเกาะฮาวายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดเสื้อเชิ้ตผ้าเรยอนเนื้อเบาสบาย พิมพ์ลายสดใส ซึ่งเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา

 

หรือหากเป็นลายเสือ มังกร นกยูง ซากุระ ภูเขาไฟ ฯลฯ ก็เป็นเอกลักษณ์ของเสื้อฮาวายจากฝั่งญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากเสื้อฮาวายแบบอเมริกันทั้งโทนสีและลวดลาย

 

เสื้อฮาวายของทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นมากกว่าเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ เพราะด้วยราคาและคุณค่าในเรื่องราวเบื้องหลังลวดลาย ทำให้เสื้อฮาวายมีสถานะเป็นของสะสมไปโดยปริยาย กลุ่มคนที่ชื่นชอบเสื้อฮาวายในเมืองไทยจึงต้องจับจองซื้อหาเสื้อฮาวายจากประเทศต้นกำเนิดในราคาสูงถึงหลักหมื่น และหลายครั้งต้องแย่งกันประมูลกว่าจะได้มาครอง

 

“ช่วงหลัง ๆ ผมเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้ของที่ต้องการและไม่อยากแย่งกับคนอื่น ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้ามีใครผลิตเสื้อฮาวายลายสวย คุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”

 

ก้อง -  สรภัค บุษราคัมวดี หนึ่งในชายหนุ่มที่ชอบสวมใส่และสะสมเสื้อฮาวายเป็นชีวิตจิตใจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนสถานะตัวเองจากลูกค้ามาเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อฮาวายสัญชาติไทยอย่าง Windwear (วินด์แวร์) 

ก้อง -  สรภัค บุษราคัมวดี 

ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Windwear

 

“ผมอยากทำเสื้อฮาวายที่ใส่สบายเหมือนใส่ลม” สรภัคเล่าถึงที่มาของชื่อแบรนด์ที่เขาไม่เพียงตั้งใจผลิตเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายเท่านั้น แต่ยังตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยไว้ในลวดลายของเสื้อฮาวาย Windwear ทุกตัว

 

จุดกำเนิดเสื้อฮาวายแบบไทย ๆ

 

“เสื้อฮาวายที่ได้รับความนิยมมักเป็นแบรนด์ของอเมริกากับญี่ปุ่น เช่น แบรนด์ Sun Surf ที่กระบวนการผลิตเป็นแบบแฮนด์เมดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การย้อมผ้า การสกรีนลาย ฯลฯ ซึ่งคนที่ชื่นชอบเสื้อฮาวายในไทยก็จะตามล่าหาซื้อตามเว็บประมูลออนไลน์ หรือตามร้านที่นำเข้ามาขาย แต่ราคาค่อนข้างสูง ขั้นต่ำตัวละ 5-7 พันบาท เราเลยไม่สามารถซื้อเสื้อตัวที่ชอบได้เสมอไป พอผมไม่ได้เป็นเจ้าของเสื้อตัวที่ต้องการ เลยมาคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าบ้านเราจะมีของสวย ๆ คุณภาพดี ราคาจับต้องได้เพื่อให้การเข้าถึงเสื้อฮาวายไม่ใช้เรื่องยากจนเกินไป”

 

คิดได้ดังนั้น สรภัคจึงชักชวน ซีน - นิธิกร ปรีดาเกียรติ มาร่วมสร้างสรรค์แบรนด์เสื้อฮาวาย Windwear ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดยเขารับหน้าที่ดูแลด้านการตลาด และนิธิกรคือดีไซเนอร์ผู้ออกแบบลวดลาย ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนไอเดียของทั้งคู่บนพื้นฐานของการนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดเป็นลายเสื้อ

 

“Windwear ไม่ได้เป็นเสื้อฮาวายไทยแบรนด์เดียว แต่แบรนด์อื่นยังคงออกแบบลวดลายโดยอ้างอิงความเป็นญี่ปุ่นอยู่ ในขณะที่ Windwear เน้นเรื่องเมืองไทยเท่านั้น เราอยากชูให้คนรู้จักเอกลักษณ์อื่น ๆ ของไทยที่ไม่ได้มีแค่ลายไทยหรือกางเกงช้าง” สรภัคย้ำในจุดยืนของแบรนด์

 

เรื่องเล่าในลวดลาย

 

ไก่ชน (Fighting Cock) คือตัวแทนประเทศไทยลายแรกบนเสื้อฮาวายคอลเลกชันแรกของ Windwear โดยสรภัคและนิธิกรนำแรงบันดาลใจจากกีฬาไก่ชน ที่ไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย แต่ด้วยลักษณะของไก่ชนที่งามสง่ายังสื่อถึงการเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงอีกด้วย 

 

จากไก่ชนตามติดมาด้วยคอลเลกชัน แมวไทย (Siamese Cat) สัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่บ้านคนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเชื่อว่าแมวลักษณะดีจะนำมงคลมาสู่ผู้เลี้ยง ลวดลายในเสื้อแมวไทยของ Windwear ประกอบด้วยแมวมงคล 3 ชนิดที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ วิเชียรมาศ ขาวมณี และมาเลส (แมวโคราช) คอลเลกชันนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจนมีการผลิตซ้ำตามมา

คอลเลกชัน Meaw Khoo’ แมวขู่

 

บอกเล่าเรื่องราวของแมวไทยอย่างต่อเนื่องในคอลเลกชัน Meaw Khoo’ แมวขู่ : Special Edition 2023 ที่ถ่ายทอดผ่าน ‘แมวดำโกนจา’ แมวมงคลสีดำสนิทที่กำลังพองขนขู่ฟ่อ สื่อถึงการป้องกันอันตราย ปัดเป่าความโชคร้าย พร้อมให้โชคลาภ ถูกจัดวางลงบนเสื้อโดยใช้เทคนิคการไล่เฉดสีลงมาจนสุดชายเสื้อ

สรภัคสวมเสื้อคอลเลกชัน Discovery Thailand 

 

Discovery Thailand เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างการนำแรงบันดาลใจในการเที่ยวเมืองไทยมาถ่ายทอดบนลายเสื้อแบบครบครัน โดยด้านหน้าของเสื้อมีทั้งการละเล่นสาดน้ำ ชายทะเล พญานาค ช้างไทย กล้วยไข่ เรือหางยาว ฯลฯ ส่วนด้านหลังเป็นแผนที่ประเทศไทยที่สะกิดชวนให้ทั้งผู้ที่สวมใส่หรือคนที่ได้เห็นเป็นต้องรู้สึกอยากออกเดินทางไปทำความรู้จักเมืองไทยให้ดียิ่งขึ้น

ลายผีตาโขนในคอลเลกชัน Rocket บุญบั้งไฟ

 

Ghost Festival หรือผีตาโขน เป็นอีกหนึ่งคอลเลกชันขายดี เพราะความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ของหน้ากากผีตาโขนที่เสื้อรุ่นแรกบอกเล่าเรื่องราวบนเสื้อสีดำและสีเบจ เพื่อเป็นตัวแทนของตอนเช้าและยามค่ำคืน ก่อนจะพัฒนาเสื้อผีตาโขนในรุ่นต่อ ๆ มาที่มีสีสันและลวดลายสนุกยิ่งขึ้น รวมถึงการเฉิดฉายอีกครั้งของผีตาโขนบนเสื้อรุ่น Rocket หรือบุญบั้งไฟ ประเพณีอีสานที่เต็มไปด้วยความสนุกรื่นเริงจากเครื่องดนตรีอย่างแคน และการจุดพลุฉลองยามค่ำคืน

คอลเลกชัน Dead of Night

 

นอกจากนี้ Windwear ยังได้พัฒนารูปแบบที่เรียกว่า ‘Thai Pattern’ ขึ้น โดยแบ่งผ้าเป็นจตุรัสเพื่อให้แต่ละส่วนมีความต่อเนื่องของเรื่องราว เช่น คอลเลกชัน Dead of Night ที่รวมจักรวาลด้านมืดของ Windwear มารวมไว้ในเสื้อที่วางขายในเทศกาลฮัลโลวีนปี 2023 เรื่องราวของนางรำจะถูกโยงไปสู่งานวัด รถตุ๊กตุ๊ก  และปิดท้ายด้วยนักประดาน้ำกระโดดร่ม ถือเป็นอีกหนึ่งดีไซน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของแบรนด์

 

สำหรับคอลเลกชันล่าสุดประจำฤดูร้อนปี พ.ศ. 2567 นี้ คือ Sense of South ที่พาล่องใต้ผ่านลวดลายของหนังตะลุงที่มีฉากหลังเป็นทิวมะพร้าวและพระจันทร์เต็มดวงยามค่ำคืน เป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่แตกต่างของสีสันและลวดลายบนเสื้อฮาวาย

ลวดลายหนังตะลุงใน Sense of South

ภาพ : Windwear

 

“ดีไซน์ส่วนใหญ่ของเราจะเป็นการเล่นกับวัฒนธรรม ประเพณี และ Emotional ของคน รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ทั้งปลากัด แมว เสือ ไปจนถึงผลไม้อย่างทุเรียน เมื่อนำมาวาง Story อยู่บนเสื้อให้เชื่อมโยงกับความชอบของผู้คน ทำให้ Collector ทั้งหลายมาตามเก็บสะสมเสื้อฮาวาย Windwear

คอลเลกชัน ‘ทุเรียน’ 

ภาพ : Windwear

 

“และด้วยความที่ทุกคอลเลกชันคือ Limited Edition มีเพียง 60 – 100 ตัวเท่านั้น ทำให้เสื้อฮาวาย Windwear เป็นของสะสมที่มีคุณค่า ลูกค้าครึ่งนึงของเราเป็น Collector ที่ซื้อสะสมทุกคอลเลกชัน เราจึงไม่ทิ้งคอนเซปต์ในการคงไว้ซึ่งการบอกเล่าคุณค่าของความเป็นไทย” 

 

นอกจากเสื้อฮาวายในราคาจับต้องได้ (ราคา 2,490 - 3,290 บาท) Windwear ยังมีเสื้อยืด เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อเชิ้ตสีพื้น และกางเกง ที่ผ่านกระบวนการออกแบบและผลิตอย่างพิถีพิถันไม่แพ้สินค้าขายดีของแบรนด์อย่างเสื้อฮาวาย

กางเกงขาสั้นที่ใส่รายละเอียดของศิลปะรูปข้าวไทยลงบนสายรัด

 

ครบครันด้วยองค์ประกอบของเสื้อฮาวายขนานแท้

 

ไม่เฉพาะการออกแบบลวดลายที่มีเรื่องเล่าเท่านั้นที่ Windwear ให้ความสำคัญ แบรนด์ยังใส่ใจทุกรายละเอียดของการเป็นเสื้อฮาวายที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ผ้าเรยอนธรรมชาติ 100% ซึ่งผลิตจากเยื่อไม้ จึงระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าเบา ทิ้งน้ำหนัก สวมใส่สบายเหมาะกับอากาศร้อนของประเทศไทย ทั้งยังเป็นเนื้อผ้าที่เมื่อพิมพ์ลวดลายออกมาแล้วให้สีที่สดสวย นอกจากนี้ในบางคอลเลกชันยังเลือกใช้ผ้าเรยอนเครป ที่ให้ผิวสัมผัสนุ่ม และผ้าคอตตอน-ซาติน ที่ถือเป็นผ้าสำหรับเสื้อฮาวายในอุดมคติก็ว่าได้

 

นอกจากนี้ Windwear ยังเลือกใช้กระดุมที่ทำจากวัสดุหลากหลาย มีทั้งกระดุมกะลา กระดุมไม้แท้ กระดุมตาแมว และกระดุมพลาสติกมุก ซึ่งกระดุมแต่ละแบบจะช่วยเสริมมิติที่แตกต่างของเสื้อฮาวายแต่ละลวดลายให้มีความพิเศษเฉพาะตัว รวมถึงเสื้อฮาวายในบางรุ่นจะใช้เทคนิคการตัดเย็บแบบต่อกลางและต่อกระเป๋า เพื่อให้ตัวเสื้อสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านลวดลายได้อย่างต่อเนื่อง 

 

สำหรับการพิมพ์ลวดลายบนเนื้อผ้า Windwear เลือกเทคนิค Reactive (Reactive Printing) โดยเป็นการพิมพ์ที่อาศัยความร้อนมาช่วยในการทำลวดลายบนผ้า โดยใช้สี Reactive ซึ่งเป็นสีเฉพาะที่ใช้กับการพิมพ์แบบนี้ โดยเมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว สีจะอยู่บนผิวของผ้า ยังไม่ถูกฝังลงไปในเส้นใย ต้องนำผ้าไปอบไอน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 120 องศา เพื่อให้สีเข้าไปในเส้นใย แล้วนำผ้าไปซักเพื่อนำสีส่วนเกินออกจากผ้า จากนั้นลวดลายบนผ้าจะคมชัด สีสด และมีระยะเวลาใช้งานยาวนาน สามารถซักได้ 200-300 ครั้ง โดยสีไม่ซีดจาง 

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ทุกความประณีตพิถีพิถันในวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกส่งต่อมายังช่างตัดเย็บฝีมือดีประจำ Windwear ที่มีเพียง 3 คนเท่านั้น ทุกขั้นตอนในการผลิตเสื้อฮาวายไทยแบรนด์นี้จึงเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน ดังนั้น จึงผลิตได้วันละ 7 ตัว ถือเป็นความใส่ใจในมาตรฐานตามแบบฉบับ Thailand Craftmanship อย่างแท้จริง

 

“เรามีบริการ Free Repair For Life การันตีซ่อมเสื้อผ้าฟรีตลอดระยะการใช้งาน เช่น เย็บกระเป๋าเสื้อ คอปก กระดุม ฯลฯ เราจะซ่อมให้จนกว่าคุณจะไม่อยากใส่เสื้อตัวนั้นอีกต่อไป” สรภัคคนรักเสื้อฮาวายเล่าถึงอีกหนึ่งจุดเด่นของแบรนด์เสื้อฮาวายที่เขาปั้นมากับมือ

 

“ก้าวต่อไปของ Windwear คือ การพัฒนาเนื้อผ้าให้ยับยาก เพราะ Pain Point ของเสื้อฮาวาย คือเป็นเสื้อเชิ้ตที่ยับง่ายทำให้ต้องเสียเวลารีด ผมเลยปรึกษากับโรงงานผ้าและร่วมกันทดลองนำคอลลาเจนจากก้างปลาไปปั่นผสมในใยผ้า เพื่อให้เกิดเป็นเนื้อผ้าที่ยับยากและรีดง่ายขึ้น ตอนนี้พิมพ์ลายเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนทดลองตัดเย็บแล้วนำมาทดสอบคุณภาพ โดยคาดว่าลายต่อไปที่จะอยู่บนเสื้อฮาวาย Windwear คือ โมบายปลาตะเพียนแบบไทย ๆ” สรภัคปิดท้ายถึงการเดินทางของเสื้อฮาวายแบรนด์ไทยที่เติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง 

 

“ผมอยากให้ผู้คนได้ใส่เสื้อคุณภาพดี หน้าร้อนก็ใส่ได้ หน้าฝนก็ใส่ดี และอยากให้นึกถึง Windwear ในฐานะ No.1 Hawaiian Shirt in Thailand เสื้อฮาวายสไตล์ไทยที่ใส่ได้ทุกโอกาส”

 

ทำความรู้จักและเป็นเจ้าของเสื้อฮาวายสัญชาติไทย Windwear ได้ที่

Website : www.wind-wear.com

Facebook : Windwear

Instagram : windwear.official/

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...