ความยั่งยืนที่สวมใส่ได้ เมื่อแบรนด์ ‘Sneaker’ พากันเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้แคร์โลก

04 Sep 2023 - 5 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

รู้หรือไม่? Sneaker นั้นถูกจัดอยู่ในหมวด Consumable Goods หรือกลุ่มสินค้าใช้แล้วหมดไป แต่คำว่าหมดไปในที่นี้หมายถึง การไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว

 

แน่นอนว่าเราไม่สามารถบริโภครองเท้าได้เหมือนกับอาหาร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นห่วงโซ่ ‘ซื้อ ใช้ และทิ้งไป’ แต่รองเท้าที่เสื่อมสภาพคู่นั้นไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ถูกรีไซเคิล และเอาเข้าจริงๆ แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำที่จะได้เข้าสู่กระบวนการหมุนเวียน

 

เนื่องจากรองเท้าใช้วัสดุหลายชนิดเกินกว่าจะแยกส่วนประกอบได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ แถมกาวที่ใช้ยังเป็นมลพิษ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ รองเท้ากลายเป็นหนึ่งในขยะฝังกลบจำนวนมหาศาลที่รอวันย่อยสลายนานนับศตวรรษ

 

อย่างไรก็ตาม หลายปีให้หลังนี้ นับว่าเป็นเรื่องดีที่เหล่าแบรนด์รองเท้าเริ่มตระหนักถึงวิกฤติรองเท้าย่อยยาก และริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งการพยายามนำขยะหรือวัสดุเหลือทิ้งมารีไซเคิลเป็นวัสดุทำรองเท้า และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์

 

การแข่งขันของแบรนด์ ‘Sneaker’ ในตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่ความสวยงาม ฟังก์ชันการใช้งาน หรือพรีเซนเตอร์คนดังในกระแสเท่านั้น แต่คือการพยายามออกแบบให้รองเท้าของตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุน้อยที่สุด เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และรักษ์โลกได้มากกว่า

 

 

1.

Move to Zero

เส้นทางสู่ปี 2025 ที่ปริมาณคาร์บอนและของเสียใกล้เป็นศูนย์

 

Move to Zero คือแนวทางและเส้นทางสู่การลดปริมาณคาร์บอนและของเสียให้เหลือน้อยใกล้เคียงศูนย์ที่สุด ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด เนื่องจากพลาสติก เส้นด้าย ผ้า และวัสดุอีกมากมายในกระบวนการผลิตแบบเดิมนั้นปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากถึง 70%

 

ด้วยเหตุนี้เอง การนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ซ้ำจึงเป็นหลักสำคัญในการช่วยลดมลพิษที่ถูกปล่อยออกมา โดยวัสดุหลักในกระบวนการผลิตรองเท้าที่ Nike ให้ความสำคัญ ได้แก่

 

‘Flyknit’ วัสดุนี้เป็นเทคโนโลยีผ้าน้ำหนักเบาที่ถูกประกอบขึ้นด้วยเกลียวเส้นด้ายอันแข็งแรง มีส่วนประกอบของขวดพลาสติก 6-7 ขวดต่อรองเท้า 1 คู่ วัสดุนี้ใช้ผลิตส่วนบนของรองเท้า (Upper) แบบชิ้นเดียว ส่งผลให้มีวัสดุเหลือทิ้งน้อยกว่าการผลิตแบบเดิมถึง 60%

 

‘Flyleather’ เป็นการนำเส้นใยหนังรีไซเคิลอย่างน้อย 50% ที่เคยเป็นของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตแบบเดิม ผสมเข้ากับเส้นใยสังเคราะห์ ก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการที่ใช้พลังงานน้ำ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการเกิดของเสีย ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และลดปริมาณขยะฝังกลบได้อีกด้วย ถึงแม้ Flyleather จะถูกเรียกว่า ‘หนังเทียม’ แต่ในภาพรวมทั้งหมดนั้นไม่ต่างอะไรจากหนังธรรมชาติ และมีน้ำหนักเบากว่าหนังดั้งเดิมถึง 40%

 

‘Air’ เป็นรุ่นที่รู้จักกันดี เพราะมีเทคโนโลยีทำให้นักกีฬาที่ได้ใส่รู้สึกเหมือนเหาะเหินเดินอากาศขณะกำลังกระโดด โดยเฉพาะรองเท้าบาสเกตบอล แต่รู้กันไหมว่า ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา Air Sole (พื้นรองเท้า) นั้นใช้วัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเป็นส่วนประกอบกว่า 50% ขณะเดียวกันวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตรองเท้า Air ยังถูกนำกลับมาใช้ซ้ำกว่า 90% และในปี 2020 ที่ผ่านมา โรงงาน AirMI (Air Manufacturing Innovation) ทุกแห่งในทวีปอเมริกาเหนือก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจากลมเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

 

และยังมีวัสดุอื่นๆที่ทาง Nike ใช้ เช่น Polyester เมื่อเทียบกับโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์แล้ว โพลีเอสเตอร์รีไซเคิลสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 30% และเปลี่ยนขวดพลาสติกกว่าพันล้านขวดที่กำลังจะกลายเป็นขยะฝังกลบ สู่การเป็นวัสดุรีไซเคิลที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาด ฉีกบด แปลงเป็นเม็ด ก่อนจะถูกนำไปปั่นเป็นด้ายที่มีคุณภาพสูง

 

Cotton แต่ละปี Nike รีไซเคิลผ้าฝ้ายกว่า 1.5 ล้านปอนด์ และตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ทุกไลน์สินค้าที่มีผ้าฝ้ายเป็นส่วนประกอบล้วนเป็นผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่เติบโตโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง พลังงานฟอซซิล รวมไปถึงปุ๋ยสังเคราะห์

 

Nylon เมื่อถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นด้ายชนิดใหม่แล้ว สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนถึง 50% เทียบกับไนลอนบริสุทธิ์ โดยส่วนใหญ่จะถูกแปรรูปมาจาก พรม และตาข่ายจับปลาใช้แล้ว

 

ทุกวัสดุทั้งหมดทั้งมวล เป็นหนึ่งในเป้าหมาย Move To Zero ของ Nike ที่ต้องการจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงกว่า 5 แสนตัน ใช้น้ำจืดต่อกิโลกรัมน้อยลง 25%  เพิ่มปริมาณการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 50% นำขยะฝังกลบมารีไซเคิลเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ 80% และนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้ถึง 100%

 

 

2.

Futurecraft

อนาคตแห่งการหมุนเวียน ที่ขยะจะถูกตัดออกจากสมการ

 

พูดได้ว่าแบรนด์ Adidas นั้นลองผิดลองถูกมาอย่างมากมายเพื่อ “สร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบ” ตั้งแต่การริเริ่ม Speed Factory หรือ การรวมความสามารถในการผลิตรองเท้าให้ครบจบภายในโรงงานเดียว เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการขนส่งแต่ละชิ้นส่วนไปผลิตตามโรงงานที่เชี่ยวชาญในวัสดุนั้น ๆ

 

เช่นเดียวกับ Adidas 3D ที่พยายามผลิตพื้นรองเท้าด้วยรูปแบบการพิมพ์ 3 มิติ แต่การผลิตกลับล่าช้า จนไม่อาจใช้งานได้จริง ก่อนจะถูกนำไปสานต่อในชื่อ Adidas Futurecraft 4D ผ่านเทคโนโลยี Digital Light Synthesis ที่ใช้แสงและออกซิเจนทำให้พื้นรองเท้าชั้นกลางที่มีเรซิ่นเหลวเป็นวัสดุหลักเกิดการแข็งตัว ผลที่ออกมาคือการผลิตที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูง และสามารถนำออกสู่ท้องตลาดได้

 

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดที่ Adidas ตั้งเป้าไว้ พวกเขายังพยายามพัฒนานวัตกรรมโดยหวังให้รองเท้าหลุดจากห่วงโซ่ของการเป็นสินค้าใช้แล้วทิ้ง

 

‘Adidas x Parley Ocean Plastic’ แบรนด์ Adidas ได้บอกว่า “Parley เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” แม้ว่าโดยรวมแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ และรองเท้ายังคงไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ 100% ถึงอย่างนั้นก็เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับ และชื่นชมในแนวคิดการกำจัดวัสดุที่เป็นมลพิษต่อทะเลและแนวปะการัง นั่นคือการนำขยะทางทะเลมาเปลี่ยนให้เป็นเส้นใยสำหรับทอรองเท้า

 

‘Adidas x Allbirds’ หรือในชื่อ Futurecraft.Footprint เป็นการร่วมมือกับแบรนด์ Allbirds เพื่อผลิตรองเท้าวิ่งที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพียง 2.94 กิโลกรัมต่อคู่ ซึ่งน้อยกว่ากระบวนการผลิตรองเท้าวิ่งคู่อื่น ๆ ถึง 63% และใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุชีวภาพในทุกชิ้นส่วน ตั้งแต่ส่วนพื้นโฟมจากชานอ้อย 18% และยังใช้กับส่วนลิ้นรองเท้าและแผ่นรองด้านในอีก 28%​ พื้นที่ส่วนบนทั้งหมดใช้ผ้า Tencel จากเยื่อไม้ธรรมชาติ 30% คู่กับโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 70% นอกจากนี้เชือกรองเท้ายังถูกทำขึ้นมาจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลทั้งหมด

 

Adidas FUTURECRAFT. Loop “ยืดอายุการใช้งานของวัสดุให้ได้มากที่สุด” คือ แนวคิดของ FUTURECRAFT. Loop ที่ต้องการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มต้นจากการใช้เทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน (TPU) ที่ทุกชิ้นส่วนของรองเท้าประกอบกันด้วยความร้อน ไม่มีการใช้กาวในกระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนและเหมาะต่อการรีไซเคิลที่สามารถนำรองเท้าเก่าไปบดละเอียด และผลิตขึ้นมาเป็นรองเท้าคู่ใหม่ได้อีกครั้ง

 

เป้าหมายสูงสุดของ Adidas คือการกำจัดขยะออกจากสมการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลที่ไม่เป็นพิษต่อธรรมชาติ โดยหวังว่าในปี 2025 ผลิตภัณฑ์ 9 ใน 10 จะใช้วัสดุที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนประกอบ และในปี 2050 พวกเขาหวังว่าภาพรวมกระบวนการผลิตทั้งหมดขององค์กรจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% เทียบกับปี 2017

 

 

3.

Renew

กางเกงยีนสู่รองเท้า เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้กลายเป็น All-Star

 

ผลิตภัณฑ์ Eco-Friendly Sneakers ของ Converse มีชื่อว่า ‘Renew Canvas’ และมีพื้นฐานอยู่บนรองเท้ารุ่น Chuck Taylor, Chuck Taylor All Star และ Chuck 70 โดยในรองเท้า 1 คู่จะถูกรีไซเคิลมาจากขวดพลาสติก 11 ขวดให้กลายเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ 100%  แทนที่การใช้ผ้าฝ้าย นอกจากนี้ขวดพลาสติกส่วนใหญ่ยังถูกรับซื้อมาจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นการสร้างรายได้และนำขยะออกจากชุมชน

 

นอกจากนี้ Converse ยังร่วมมือกับร้านเสื้อผ้าในประเทศอังกฤษอย่าง Beyound Retro นำกางเกงยีนเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือเศษผ้ายีนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาประกอบเป็น Renew Denim หรือรองเท้าจากกางเกงยีนด้วยวิธีการ Upcycle Denim ที่นำวิธีการผลิตเครื่องหนังมาใช้กับกางเกงยีน ส่งผลให้กางเกงยีนเก่า 1 ตัว สามารถกลายเป็นรองเท้าได้ 1 คู่

 

สำหรับชิ้นส่วนผ้าเหลือทิ้งที่จากกระบวนการผลิตรองเท้าแบบดั้งเดิมของ Converse เอง จะถูกนำไปปั่นให้เป็นเส้นใย และผสมเข้ากับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ออกมาเป็น Renew Cotton ที่เปรียบเสมือนการรีไซเคิลขยะในบริษัทให้กลายเป็นรองเท้า

 

Converse ยังได้รับคำชื่นชมจากการใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติเพียงเล็กน้อย และนำสิ่งเหลือทิ้งของตัวเองกลับมาใช้ใหม่ โดยในปี 2025 พวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดสารเคมีอันตรายจากกระบวนการผลิตทั้งหมดหมดไป

 

 

4.

World's 1st Coffee Sneaker

รองเท้าจากกากกาแฟ กันน้ำ และมีพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ

 

ความพิเศษอย่างหนึ่งของแบรนด์ #RENS ไม่ใช่แค่การมี # เป็นสัญลักษณ์ของรองเท้า แต่รองเท้าของพวกเขาเป็น 100% Vegan และมีสถานะเป็น “World's 1st Coffee Sneaker” หรือ รองเท้าจากกากกาแฟคู่แรกของโลก ซึ่งรองเท้าของพวกเขา 1 คู่ผลิตขึ้นมาจากกากกาแฟใช้แล้ว 21 แก้ว ร่วมกับพลาสติกรีไซเคิล 6 ขวด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เชือกรองเท้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 100% และ Coffee Socks หรือถุงเท้าจากกากกาแฟ โดยแบรนด์รองเท้าสัญชาติฟินแลนด์นี้เชื่อว่า ความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป และมันสามารถไปได้ด้วยดีกับความมีสไตล์ในตลาดรองเท้า โดยพวกเขาหวังว่า ในอนาคตจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้

 

 

5.

Plant Shoe

รองเท้าจากธรรมชาติ 100% ที่เป็นมิตรกับเท้าและสิ่งแวดล้อม

 

ถ้าจะนึกถึงอะไรสักอย่างที่ไปสุดทางในเรื่องของ Eco-Friendly แบรนด์ Native Shoes ควรเป็นหนึ่งในนั้น เพราะพวกเขามาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “Plant Shoe” หรือรองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ 100% ซึ่งถูกประกอบผ่านแนวคิด Down to Earth เมื่อวัสดุที่บริสุทธิ์ที่สุดมาบรรจบกับการออกแบบที่เป็นมิตรต่อโลกที่สุดอันหนึ่ง อีกทั้งยังใส่ใจต่อทุกการก้าวเดินบนโลกใบนี้ เปรียบดั่งการหย่อนเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานของงานฝีมือ โดยเริ่มต้นจากพื้นดินของโลกเรา

 

วัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตของ Plant Shoe นั้นนับว่าหลากหลาย และเป็นมิตรกับธรรมชาติจนถึงที่สุด

 

สับปะรด เป็นการนำเส้นใยจากใบสับปะรดมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง ด้วยการเปลี่ยนเป็นนวัตกรรมสำหรับประกอบส่วนบนของตัวรองเท้า ไร้สีย้อม และรับผิดชอบต่อธรรมชาติ

 

ลินิน แผ่นรองพื้นรองเท้าที่มีลินินซึ่งถูกปั่นเป็นด้ายเป็นส่วนผสมนั้น รับประกันความทนทาน ระบายอากาศ และความนุ่มนวลเมื่อสวมใส่

 

ใยปอแก้ว ถูกนำมาทอเป็นพื้นรองเท้าและแผ่นในรองเท้า เพื่อให้เกิดความทนทานต่อการสึกหรอหรือการฉีกขาดในทุกก้าวที่เดิน โดยเมื่อเวลาผ่านไป เส้นใยจะอ่อนตัวลงตามธรรมชาติ แต่ความแข็งแรงทางวัสดุและความสบายในการเดินจะยังคงเดิมไม่มีเปลี่ยน

 

ยางพาราบริสุทธิ์ ถูกนำไปผลิตเป็นพื้นรองเท้าชั้นนอกด้วยฝีมือของช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ ไร้ซึ่งปิโตรเคมีหรือสารเติมแต่งใด ๆ และถูกใช้แทนกาวในการยึดติดแต่ละส่วนประกอบเข้าไว้ด้วยกัน

 

ผ้าฝ้าย ถักหรือทอเป็นได้เกือบทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ส่วนบนรองเท้าที่นุ่มและยืดหยุ่น หรือเป็นวัสดุสำหรับผลิตรองเท้าผ้าใบที่แข็งแรง ไปจนถึงเชือกผูกรองเท้าจากผ้าฝ้ายออร์แกนิก

 

ท้ายที่สุด เพื่อความพิถีพิถัน การประกอบรองเท้า 1 คู่จึงใช้กระบวนการถึง 50 ขั้นตอน กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งหมดเพื่อให้ออกมาเป็นงานฝีมือที่พร้อมใช้งานจริง และเป็นมิตรกับธรรมชาติด้วยคุณสมบัติสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นดีได้เมื่อหมดสภาพการเป็นรองเท้าแล้ว

 

 

Sustainable Sneakers เครื่องมือบ่งบอกยุคสมัยแห่งความยั่งยืน

 

ในแง่มุมหนึ่ง นับว่าเป็นข้อดีที่ได้เห็นว่า แบรนด์ Sneakers มากมายต่างมีเป้าหมายในอนาคตร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไปจนถึงการทำให้ตัวเลขกลายเป็นศูนย์ ซึ่งเป้าหมายนี้อาจเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของแบรนด์และนวัตกรรมรองเท้ารักษ์โลกที่ถูกพัฒนา เพื่อสิ่งแวดล้อม

 

ขณะเดียวกัน ทิศทางการแข่งขันที่เปลี่ยนไปของแบรนด์ Sneakers ก็เป็นเครื่องมือบ่งบอกยุคสมัยอย่างหนึ่ง จากเดิมในอดีตที่เน้นหนักไปยังรองเท้ามากฟังก์ชั่น เต็มไปด้วยวัสดุมากชิ้นที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้สวมใส่ กลับกันกับยุคสมัยนี้ ผู้คนหันมาสนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองเห็นปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังมุ่งสู่ปัญหาภาวะโลกเดือด การเปลี่ยนแปลงแนวทางการแข่งขันของแบรนด์ Sneakers จึงไม่ใช่แค่เรื่องของทุนนิยมอีกต่อไป เพราะ ณ ตอนนี้ มันกลายเป็นการแข่งขันที่เส้นชัยคือ ความยั่งยืนของโลกเราในอนาคต

 

 

อ้างอิง

  • Nike. วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. https://bitly.ws/SYVB
  • Pongnut Krainichakul. Futurecraft.Loop รองเท้าที่สามารถนำมาหลอมเป็นรองเท้าคู่ใหม่เพื่อลดปัญหาขยะรองเท้าในอนาคต. https://bitly.ws/SYVb
  • Good on You. Converse - Sustainability Rating. https://bitly.ws/SYWh
  • Native. The Plant shoe. https://bitly.ws/SYWJ

 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...