

ภาพผนังวัดบอกอะไร ? คุยกับ ‘สราวุฒิ ปานหนู’ ศิลปินผู้วาดผนังวัดป๊อบ ๆ ในซีรีส์ ‘สาธุ’
Art & Culture / Art & Design
27 May 2024 - 7 mins read
Art & Culture / Art & Design
SHARE
27 May 2024 - 7 mins read
หากใครเคยได้ชมซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ จากทาง Netflix คงสังเกตเห็นว่าก่อนเริ่มแต่ละ EP. จะเปิดด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใส เมื่อเพ่งมองดูให้ลึกในรายละเอียด จะพบว่านี่ไม่ใช่ภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบที่เราเคยเห็นกันทั่วไปในวัด แต่เป็นภาพที่นำเอายุคสมัยปัจจุบันของพวกเราเข้าไปเล่าอยู่ในภาพด้วย
เจ้าของฝีแปรงผู้อยู่เบื้องหลังภาพชุดนี้ คือ กอล์ฟ - สราวุฒิ ปานหนู ศิลปินชาวลพบุรีผู้หลงใหลจิตรกรรมไทย และใช้ลายเส้นไทย ๆ แบบเดียวกับภาพจิตรกรรมบนผนังวัดแบบโบราณมาเล่าเรื่องราวของยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
‘สาธุ’ คือ เรื่องราวของ วิน เกม และ เดียร์ เพื่อนซี้ 3 คนที่จับมือกันทำธุรกิจบูรณะวัดเล็ก ๆ ในชุมชน เพื่อหวังที่จะหาผลประโยชน์จากความศรัทธาของเหล่าญาติโยม เสียดสีเรื่องจริงในวงการพุทธพาณิชย์ ซึ่งเป็นวงการทำเงินได้อย่างมหาศาล
ในภาพนี้
เดียร์ คือ กวางตัวน้อยดูไร้พิษสง
เกม คือ ลิงเจ้าเล่ห์และช่างเจรจา
วิน คือ แมวหูตาไวและเคร่งขรึม
กอล์ฟใช้สัตว์แต่ละชนิดแทนตัวละครเอกในเรื่องสาธุ ทั้งลายเส้นขนสัตว์ วัดวาอารามถูกเขียนอย่างละเอียดลออ แต่กวาง ลิง แมว ตัวละครในภาพแต่งตัวแบบวัยรุ่นเจน Z สวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ดูขัดแย้งกับลายไทยในภาพ ความเหนือจริงและความขัดแย้งในตัวเองนี่แหละคือตัวตนของกอล์ฟที่บอกผ่านภาพวาดชุดนี้
“ผู้กำกับ (วัฒนพงศ์ วงศ์วรรณ) บอกให้เราทำแบบหลุดโลกได้เลย เลยออกมาเป็นงานจิตรกรรมไทยที่ดูเซอร์เรียลหน่อย จะเห็นวัดมีแขน งานจะมีความป๊อบ โมเดิร์น ผมทดลองวางองค์ประกอบใหม่ เอางานไทย ๆ มาบิดให้เซอร์เรียลขึ้น”
เข้าโบสถ์วาดภาพ
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปิน
หลังจากที่เราได้เปิดประตูมาทำความรู้จักกอล์ฟผ่านภาพชุดจากซีรี่ส์สาธุ เราก็ได้เข้าไปยังโลกของศิลปินผู้หลงใหลจิตรกรรมไทย และเข้าไปสำรวจการเปลี่ยนผ่าน ค้นหาตัวตน ก่อนจะมาเป็นเขาอย่างในทุกวันนี้
“ช่วงที่ผมเรียนปวช. ปี 3 สาขาวิจิตรศิลป์ ผมต้องไปฝึกงาน แล้วบังเอิญมีพี่คนหนึ่งเขาอยากได้เด็กไปช่วยเขียนภาพในโบสถ์วัดในลพบุรี เราเลยได้ไปช่วยเขา เป็นครั้งแรกที่ได้วาด เรารู้สึกว่าเราชอบ น่าจะเขียนลายไทยได้ดี อาจไม่ได้ทำได้ดีแต่ว่าชอบ ชอบลายเส้นของจิตรกรรมไทย และเราชอบเขียนลายกนก ลายไทย แล้วหนังสือของ อ.สุวัฒน์ชัย ทับทิม เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสอนวาดรูปลายไทย เราสนใจพวกสอนวาดภาพป่าหิมพานต์เลยสอบเพื่อไปเรียนต่อด้านจิตรกรรมไทยเพนท์ติ้งที่เพาะช่าง”
“ตอนเข้าไปเรียนเขาให้เริ่มจากการคัดลาย เราต้องเขียนลายแบบต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนที่เขาวางมาตรฐานไว้ก่อน เริ่มทำจากสิ่งที่โบราณทำ ใช้สีที่โบราณใช้ ใช้สีฝุ่นที่ทำมาจากธรรมชาติ เราเรียนพื้นฐานทั้งหมดและเริ่มวาดภาพสร้างสรรค์โดยใช้เทคนิคที่เราเรียนมาทำเป็นธีสิส ตอนนั้นผมทำเกี่ยวกับเรื่องพระแม่ธรณีบิดมวยผม บิดออกมาเป็นชาวบ้าน เป็นอะไรมากมาย เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราก็เอาเรื่องของความเชื่อมาเขียน”
จิตรกรรมไทยโมเดิร์น
เรียนรู้วิธีจากอดีตเพื่อวาดปัจจุบัน
กอล์ฟนิยามงานของตัวเองว่าเป็นงาน ‘จิตรกรรมไทยแบบโมเดิร์น’ ซึ่งเป็นจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัยที่นำเอาความป๊อบของยุคสมัยนี้ใส่เข้าไป
“แต่ก่อนผมเขียนงานแบบโบราณ เพื่อนผมถามว่า เคยเขียนงานแล้วรู้สึกไม่เป็นตัวเองไหม เพราะเราอยากทำงานให้มันเหมือนงานโบราณ เราเลยศึกษาแล้วเห็นว่า อ๋อ ช่างโบราณเขาเขียนถึงปัจจุบันในยุคของเขา เราก็ควรจะเขียนถึงปัจจุบันในสไตล์เรา เขียนถึงเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต รูปแบบไหนที่ผมชอบผมก็เอามาใส่ในงานโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เช่น เราโตมากับเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ไม่ได้ใส่โจงกระเบน เราโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น นารูโตะ ดรากอนบอล มันมีพลังของความเซอร์เรียลเวลามาใช้ในงานของเรา ผมก็ผสมสิ่งที่ผมชอบและสิ่งที่ผมโตมากับมันลงไป ผมว่ามันสนุก”
“พอเรียนจบ ผมก็เริ่มทำงานทดลอง เป็นงานคอลลาจพูดถึงเรื่องศาสนา และ โลก 3 โลก เป็นงานเขียนแบบโบราณ และทดลองทำงานหลาย ๆ รูปแบบ แต่มาเริ่มทำงานป๊อบ ๆ แบบนี้ตอนกลับมาอยู่ลพบุรี เราเป็นคนเก็บสะสมแผ่นเสียงอยู่แล้ว และเริ่มเสพงานศิลปะจากหน้าปกแผ่นเสียง อาร์ตเวิร์กบนแผ่นเสียงมันมีความป๊อบ”
“ตอนนี้งานผมมีความป๊อบ แต่ในอนาคตอาจไม่ป๊อบก็ได้ เพราะประสบการณ์เรามากขึ้น บางงานศิลปะของศิลปินบางคนก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในการสร้าง ตอนผมอายุ 40 - 50 ปี ผมอาจไม่ทำงานป๊อบก็ได้ อาจจะทำงานอีกแบบหนึ่ง ตัวงานมันผ่านประสบการณ์ชีวิต เป็นช่วงวัยหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราเสพด้วย แม้กระทั่งเพลง หนัง ผู้คนที่เราเจอ ทุกอย่างมันจะทำให้งานของผมเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแต่ลายเส้นยังเป็นของเราอยู่”
ช่วงที่สราวุฒิลองนำลายเส้นไทยมาวาดให้สนุกขึ้น มีรุ่นพี่ชักชวนเขาไปออกแบบโปสเตอร์คอนเสิร์ตของวง H3F วงดนตรีนอกกระแสของไทยที่เขาชื่นชอบ งานที่ออกมาดูสนุกขึ้น มีการผสมผสานความเป็นไทยกับยุคสมัยใหม่ เป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาเห็นว่างานของเขาเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น
หลังจากนั้น กอล์ฟได้ออกแบบหน้าปกอัลบั้ม The Greng Jai Piece ของ Phum Viphurit (ภูมิ วิภูริศ) จากสารตั้งต้นคือน้องสล็อตของภูมิ ที่ปรุงด้วยลายเส้นของกอล์ฟ เป็นฉากงานวัดรื่นเริงสุดละเอียดลออ งดงามจนคว้ารางวัล ปกอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี จากเวที T- Pop of the Year นอกจากจะเป็นอีกก้าวที่ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว และยังทำให้ผู้คนสนใจงานของเขามากขึ้นอีกด้วย
หน้าปกอัลบั้ม The Greng Jai Piece
ภาพผนังวัดบอกอะไร ?
จิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะที่ใช้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ เรื่องราวในนิทานชาดก พุทธศาสนสุภาษิต และเล่าเรื่องของผู้คนในยุคสมัยนั้น ๆ นับตั้งแต่วันที่ได้วาดภาพโบสถ์ กอล์ฟก็สนใจเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนัง แต่เรื่องราวที่เขาเล่าผ่านภาพนั้นต่างออกไป
“พอมาทำงานป๊อบผมก็ไม่ได้อยากจะเขียนงานให้ลึกซึ้งอะไรขนาดนั้น ส่วนมากเป็นเรื่องของสังคมและเป็นประเด็นที่ผมพบเจอ อยากเขียนงานให้มันผ่านจากตัวผม สิ่งรอบตัวผมเป็นอย่างไร ประเด็นไหนพูดถึงอะไร หรือเป็นการพูดคุยกับเพื่อนหรือคนไม่รู้จัก”
“ผมชอบตัวละครชาวบ้าน ในงานจิตรกรรมไทยเขาเรียกว่า ‘ตัวกาก’ คือ ไม่ใช่ตัวพระกับตัวนาง คือตัวพระกับตัวนางจะหน้าตาสวย ใส่ชฎา ส่วนตัวกากจะเป็นชาวบ้านธรรมดา ตอนเรียนผมสนใจตัวกากมาก เพราะตัวกากเขาเล่าเรื่องราวของชาวบ้านในสมัยนั้น ว่ากำลังทำอะไร แต่งตัวอย่างไร สถาปัตยกรรมในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ตัวกากจะทำหน้าที่เล่าเรื่องราวปัจจุบันในตอนนั้น มันสามารถอ้างอิงจากงานจิตรกรรมได้”
“ส่วนศาสนาในภาพของผมสื่อออกมาในแง่ของปัญญาและความไม่งมงาย บางสิ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่เก็ตเลย ผมก็จะเขียนลงไป ใครที่เห็นงานผมแล้วรู้สึกเหมือนกับผมหมายความว่าคนคนนั้นก็จะมีสาย LAN เดียวกัน ไม่ได้เจาะจงว่าคิดแบบไหนถูกหรือผิด แต่จะให้คนจินตนาการต่อในงาน ผมพูดถึงศาสนาแบบปลายเปิด”
“บางคนอาจจะคิดว่าจิตรกรรมไทยคงไปไหนได้ยาก เพราะมันมีกรอบอยู่ อย่างพวกเรื่องศาสนา ความเชื่อ ครู แต่สำหรับผม ผมว่ามันได้ เราไม่ได้เล่าเรื่องในอดีต เรื่องความเชื่อ แต่เราเล่าเรื่องของปัจจุบัน ผ่านลายเส้นแบบไทยเฉย ๆ มันไม่มีอะไรผิด คงจะทำให้คนที่ทำงานจิตรกรรมกล้าที่จะทำงานหลากหลายมากขึ้น เราพูดถึงประเด็นในสังคมปัจจุบันมากขึ้น แต่เราก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมาใช้ในการสร้างสรรค์ได้อยู่ ลายเส้นไทยมันได้ผูกติดกับความเชื่อ มันไปได้ทุกที่”
“รู้สึกดีมากที่คนดูเข้าใจงานและเข้าถึงได้ง่าย ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมพยายามเขียนงานให้เป็นจิตรกรรมแบบโบราณ พอระยะเวลาผ่านไปค่อยเริ่มผลิตงานที่ทำให้คนเข้าใจได้มากขึ้น เห็นงานเราแล้วเอาไปคิดต่อ ผมเห็นคอมเมนต์ของหลายคนที่คิดต่อว่ามันเป็นแบบนั้น ผมรู้สึกว่า โห มันสนุกจังเลย คือมันสามารถคิดได้เลยว่าเป็นอย่างไร ไม่มีถูก ไม่มีผิด เวลาผมนำเสนองานผมไม่ค่อยใส่ความคิดตัวเองลงไป เพราะอยากให้คนกลับไปคิดและตีความในแบบของเขาผมว่างานศิลปะควรเป็นปลายเปิด ผมอยากให้งานศิลปะทำงานมากที่สุด”
ชมงานศิลปะของสราวุฒิ ปานหนู ได้ทาง @sarawut_panhnu