ตึกเก่ายังเก๋าอยู่ รู้จัก ‘ผู้ชุบชีวิตตึกร้าง’ นักลงทุนที่เปลี่ยนอาคารและบ้านเก่าให้มีราคา

24 Sep 2024 - 5 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

“ผมเป็นนักสะสมบ้านสวย ๆ บ้านโบราณ น่าจะมากที่สุดในไทย” 

 

Intro บน Facebook ส่วนตัวของ เตอร์ - ศิริวัฒน์ มังคลรังษี อธิบายถึง Passion ของเขาได้ครบใจความ และแทบทุก Content บนหน้า Feeds ก็ว่าด้วยเรื่องราวของการเดินทางไปค้นพบและรีโนเวทบ้านโบราณในหลายทำเลทั่วไทย ทั้งหลังที่ตัวเขาเองเป็นเจ้าของ และบางหลังก็เป็นผลงานที่เขาให้คำปรึกษาด้านการซ่อมแซมและอนุรักษ์บ้านเก่า

 

“ตอนนี้ผมมีบ้านเก่าในครอบครองประมาณ 40-50 หลัง มีทั้งบ้านและอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นศิลปะจากหลากหลายยุคด้วยกัน” นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เริ่มต้นเล่าถึงงานอดิเรกที่กลายเป็นงานแห่งชีวิต ณ ปัจจุบัน “หลังที่เก่าที่สุดเป็นบ้านอายุ 175 ปี ในชุมชนตรอกบ้านจีน จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 4”

เตอร์ - ศิริวัฒน์ มังคลรังษี

นักลงทุนและนักสะสมบ้านโบราณ

 

ก่อนที่ศิริวัฒน์จะเป็นนักสะสมสินทรัพย์ในรูปแบบของบ้านโบราณ จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ของเขาเกิดจากการรีโนเวทบ้านพักของคุณปู่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นที่พักอาศัยของตัวเอง และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ด้วย Passion ที่ชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมเป็นทุน บวกกับความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในตัว เขาจึงนำความถนัดทั้งสองขั้วในตัวเองมาหลอมรวมจนเกิดเป็นงานอดิเรกชิ้นใหญ่ อย่างการทยอยชุบชีวิตบ้านโบราณขึ้นทีละหลัง จากทุกยุคและทุกย่านในประเทศไทย โดยจุดประสงค์หลักคือ เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสัมผัสความงามของอาคารบ้านเรือนที่มีเสน่ห์ต่างกันออกไป

 

บ้านโบราณเกือบทุกแห่งเป็นบ้านส่วนตัวของศิริวัฒน์ ยกเว้น  Villa Mungkala (วิลล่ามังคลา) บ้านขุนนางกลางกรุงภายในตรอกศิลป์บนถนนดินสอ ย่านราชดำเนิน ที่หลังจากรีโนเวทเสร็จเรียบร้อย ศิริวัฒน์เปิดเป็นโรงแรมขนาด 6 ห้องพัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนที่สนใจความงามของบ้านสไตล์โคโลเนียลได้มีโอกาสทดลองใช้ชีวิตในบรรยากาศย้อนวันวาน

 

แต่กว่าที่บ้านโบราณแต่ละหลังจะเป็นรูปเป็นร่าง และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย LIVE TO LIFE ชวนมาสำรวจแนวคิดของการรีโนเวทและสร้างมูลค่าให้กับตึกเก่า ผ่านมุมมองของนักลงทุนคนนี้ที่สนุกกับการชุบชีวิตอาคารโบราณด้วยตัวเองทุกขั้นตอน

Villa Mungkala

 

เศรษฐศาสตร์ในงานสถาปัตย์

 

“ผมสนใจเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็น Social Science ที่ผสมผสานทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ถือเป็นองค์ความรู้พื้นฐานและตรรกะของแนวคิดต่าง ๆ คล้ายกับเป็นแว่นที่เอาไว้ส่องโลกได้ เพราะเศรษฐศาสตร์มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม อีกทั้งความคิดของคนแต่ละยุคยังสะท้อนไว้ในงานสถาปัตย์ทั้งหมด”

 

“ในฐานะที่ผมเรียนจบเศรษฐศาสตร์โดยตรง จึงมองเรื่องการลงทุนเป็นหลัก อสังหาริมทรัพย์ที่ผมลงทุนในช่วงแรกไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตย์เท่าไร เน้นเรื่องของเงินลงทุนและ Yield (ผลตอบแทนจากสินทรัพย์) เป็นหลัก ส่วนการรีโนเวทบ้านเก่าเพื่อนำมาทำธุรกิจประเภทที่พัก น่าจะเป็นความประจวบเหมาะมากกว่า เดิมผมตั้งใจซื้อบ้านโบราณเพื่อเก็บรักษา แต่ระหว่างที่กำลังบูรณะตัวบ้าน มักมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขอเข้ามาดู อย่างบ้านหลังนี้ที่สุดท้ายก็เปิดเป็นที่พักในชื่อ Villa Mungkala” 

Villa Mungkala

 

“แขกคนแรกที่ทำให้เกิด Villa Mungkala คือ นาตาลี นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่เดินมาเจอบ้านตอนยังไม่เสร็จ แต่เธอก็ขอจองเข้าพักล่วงหน้าเดือนนึง ทำให้จากที่ผมเคยสองจิตสองใจว่าจะเปิดเป็นที่พักดีไหม พอได้แรงเชียร์จากแขกคนแรก ๆ ที่เดินมาทำความรู้จักที่นี่ ผมเลยยินดีที่จะแชร์สถานที่แห่งนี้ โดยเปิดเป็นที่พักจำนวน 6 ห้อง ที่ได้รีวิวสูงมาโดยตลอด และเร็ว ๆ นี้ผมจะเปิดบ้านโบราณที่รีโนเวทเสร็จแล้วเป็นที่พักอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น ในตรอกศิลป์ และซอยสามเสน”

 

หัวใจในการคืนชีวิตให้บ้านโบราณ

 

“ขั้นตอนของการรีโนเวทบ้านโบราณเริ่มตั้งแต่การตามหา เข้าไปสำรวจ ลงมือซ่อม และตอนที่บ้านเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่ผมชอบที่สุดคือ ครั้งแรกที่ได้เข้าไปดูบ้าน เพราะเป็นจุดที่เราสามารถใช้จินตนาการได้เยอะที่สุด เราต้องไปอ่านงานเก่าของเขาว่าห้องนี้มีไว้เพื่ออะไร ตรงนี้เจ้าของบ้านเคยใช้เป็นครัวมาก่อนใช่ไหม เพราะมีรอยเตาไฟ องค์ประกอบตรงนี้ของบ้านเป็นของดั้งเดิมหรือส่วนต่อเติม ฯลฯ สำหรับผมความสนุกอยู่ตรงนั้น” 

 

“ส่วนขั้นตอนการประกอบร่างบ้านขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ต้องอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานเยอะพอสมควร ต้องหาความรู้ว่าเป็นอาคารในยุคไหน ควรใช้วัสดุลวดลายใด เราไม่ควรเอาวัสดุผิดยุคมาใช้ และควรยึดตามหลักการอนุรักษ์ นั่นคือ อะไรที่เป็นของดั้งเดิมให้คงไว้ อะไรที่เป็นของใหม่ต้องทำให้รู้ว่านี่คือส่วนที่ต่อเติมเพิ่มเข้าไป เพื่อให้คนรุ่นถัดไปรู้ว่าส่วนไหนใส่เข้าไปใหม่”

โถงบันไดภายใน Villa Mungkala

 

“ผมไม่ได้ Strict กับอาคารทุกหลังตามหลักการดังกล่าว เพราะผมไม่ได้ทำพิพิธภัณฑ์ ผมจะนำหลักการอนุรักษ์ไปใช้ในอาคารที่เป็นงานชิ้นเอก ส่วนบ้านทั่ว ๆ ไปผมจะเน้นเรื่องจิตวิญญาณของบ้านมากกว่า เช่น Villa Mungkala หลังนี้ที่หลาย ๆ ส่วนก็ไม่ได้ Original 100% แต่จิตวิญญาณยังมีความเป็นยุคสมัยนั้นอยู่”

บรรยากาศภายในห้องพักที่ Villa Mungkala

 

“การที่เราอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ไว้ อย่างน้อยก็เป็นการเก็บรักษาองค์ความรู้ของสังคมโดยรวมไว้ให้คนรุ่นถัดไปมีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ อย่างน้อยเขาก็นำไปต่อยอดได้ การอนุรักษ์อาคารโบราณเปรียบเหมือนการเรียบเรียงไวยกรณ์ของภาษาให้ถูกต้อง ถ้าเรายังเรียงไวยกรณ์ไม่ถูก พอพูดออกมาก็จะแปร่งกลายเป็นภาษาเพี้ยน ๆ งานสถาปัตย์ก็เช่นกันที่จะกลายเป็นงานเพี้ยน ๆ ดังนั้น หากคุณอยากจะใส่บัวหรือใส่คิ้วให้บ้านดูนุ่มลง คุณต้องรู้ก่อนว่าบ้านหลังนั้นมีสัดส่วนอย่างไร”

 

เรื่องเล่าของบ้านเก่า

 

“อาคารทุกยุคมีเสน่ห์ในตัวเอง แต่ถ้าถามว่ายุคไหนที่ผมชอบเป็นพิเศษ น่าจะเป็น Art Deco เพราะดูเรียบแต่สง่า ทั้งยังสื่อถึงความเป็น Globalization ยุคแรก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1920-1940 หรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ซึ่งเป็นยุคที่งานสถาปัตย์ทั่วโลกไปในทิศทางเดียวกัน ต่างจากก่อนหน้านั้นที่งานสถาปัตยกรรมจะมีความเป็นพื้นถิ่นสูงกว่า” 

 

“Art Deco จึงเป็นยุคที่ตึกในโตเกียวหน้าตาเหมือนตึกในนิวยอร์กและลอนดอน แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าที่ควร ตัวอย่างเด่นชัดที่สุด คือ อาคารริมถนนราชดำเนินทั้งเส้น ซึ่งเป็น Streamline Modern ที่อีกไม่นานก็คงไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะเริ่มมีการทยอยบูรณะ ซึ่งคาดว่าหน้าตาอาจจะเปลี่ยนเป็น Neo Classical”

สภาพของบ้านร้างริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

ที่ศิริวัฒน์บังเอิญขับรถไปเจอ และตัดสินใจซื้อเพื่อรีโนเวท

ภาพ : ศิริวัฒน์ มังคลรังษี

 

“ถ้าถามว่าชอบบ้านหลังไหนมากที่สุด ผมก็รักของผมทุกหลัง ไม่ว่าจะเป็นบ้านในจังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ้านสมัยรัชกาลที่ 4 และมีส่วนต่อเติมเพิ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ผมเคยเลื่อน Facebook ไปเจอภาพถ่ายเก่าของบ้านหลังนี้ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1932 โดยนักเดินทางชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นรูปของตัวบ้านในมุมเดียวกับปัจจุบัน แต่ในภาพบ้านตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปิง ซึ่งตอนนี้แม่น้ำปิงโดนถมไปแล้ว ภาพถ่ายภาพนั้นทำให้ได้รู้ว่าจุดไหนเคยเป็นยุ้งข้าวมาก่อน อีกทั้งส่วนต่อเติมก็เป็นศิลปะที่หาได้ยากมากในประเทศไทย จึงถือว่าเป็นชิ้นเอก การจะลงมือทำอะไรกับบ้านหลังนี้จึงต้องประณีต ตอนนี้เลยยังไม่ได้รีโนเวท ได้แต่รักษาสภาพไว้ไม่ให้ผุพังไปมากกว่านี้”

เรือนแพสมัยรัชกาลที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์

ภาพ : ศิริวัฒน์ มังคลรังษี

 

“อีกหลังที่น่าสนใจเป็นเรือนแพในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเรือนแพสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ปัจจุบันในไทยเหลืออยู่เพียง 3 หลัง คือ ที่จังหวัดอุทัยธานี ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา และหลังนี้ซึ่งถือเป็นเรือนแพในมือเอกชนหลังสุดท้าย หากผมไม่อนุรักษ์เอาไว้ เรือนแพแบบดั้งเดิมก็จะหมดไป ทั้ง ๆ ที่เราเคยเป็นสังคมแพมาก่อน เรือนแพควรเป็นงานสถาปัตย์ชิ้นนึงที่แพร่หลายกว่านี้ แต่ในระยะเวลาแค่ชั่วหนึ่งคนนับจากปี พ.ศ. 2530 ที่เรายังมีคนแพอยู่เยอะแยะ ผ่านไปแค่ 30 ปี เรือนแพหายหมดเกลี้ยงจนแทบจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาวสยาม” 

เรือนแพสมัยรัชกาลที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์

ภาพ : ศิริวัฒน์ มังคลรังษี

 

“เรือนแพที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นเรือนแพยุคหลัง ที่ไม่ได้มีองค์ความรู้ในการต่อแพแบบโบราณ เช่น การใช้บวบหรือไม้ไผ่ที่ลอยน้ำได้เป็นตัวพยุงให้แพลอย ต้องมีการต่อขาแพเพื่อยึดกับไม้ไผ่ ซึ่งแพในยุคหลังเปลี่ยนมาใช้เหล็กแล้วเอาถังเป็นตัวรับแพกันหมด เพราะการใช้ไม้ไผ่เป็นตัวพยุงให้แพลอยน้ำต้องมีการเปลี่ยนไม้ไผ่ทุกปี คิดเป็นงบประมาณราวปีละ 8 หมื่นบาท ดังนั้น การอยู่แพจึงสิ้นเปลืองเมื่อเราไม่ได้อยู่ในยุคที่ไม้ไผ่ลำละสิบบาทอีกต่อไป”

ลายฉลุไม้ที่ Villa Mungkala

 

“บ้านทุกหลังมีปรัชญาเบื้องหลังการดีไซน์ อย่างการใส่ลายฉลุไม้ของ Villa Mungkala ก็บอกเล่าบรรยากาศของบ้านเมืองในยุคนั้นได้ดี เราอาจจะนึกว่านี่คือศิลปะราคาแพงและประดิดประดอย แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยใช้ฉลุไม้ เพราะเราเป็นประเทศยากจน เมืองที่ร่ำรวยกว่าเราในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นปีนัง มะละกา ย่างกุ้ง ไซง่อน มะละแหม่ง ฯลฯ ใช้เหล็กหล่อฉลุกันหมด เราอยากจะมีเหมือนเขา แต่ดัดแปลงเอาไม้มาทำ แต่กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ไม้มีราคาแพงกว่าเหล็กแล้ว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการรีโนเวทบ้านโบราณ”

 

บ้านโบราณคือสินทรัพย์ที่ใช้ Story ทำกำไร

 

“หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แนวโน้มของเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบรูปตัว K นั่นคือ กลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ฟื้น หรือกระทั่งย่ำแย่ลงต่อเนื่อง การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์จึงควรเลือกทำเลในเมือง หรือลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ที่มี Character พิเศษ อย่างการรีโนเวทบ้านโบราณ ซึ่งสามารถขายแพงกว่าสร้างใหม่ เพราะเศรษฐีที่อยากได้ เขายอมจ่าย เพราะบ้านโบราณไม่ได้มี Value ด้วยตัวอิฐ ไม้ หรือเหล็ก แต่ Value ที่สำคัญอยู่ในเรื่องราวของอาคารแต่ละหลัง ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ ต้องทำ Interior ให้ถึง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถถ่ายทอด Character ของบ้านออกไปได้”

บ้านที่รีโนเวทใหม่เป็นสไตล์ Mock - Tudor ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ภาพ : ศิริวัฒน์ มังคลรังษี

 

“หากการเกษียณคือการได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ ก็ถือว่าผมเกษียณแล้ว เพราะผมได้ทำสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เริ่มชีวิตวัยทำงาน ด้วยความชอบด้านการลงทุนที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้ตัวเองว่าต้องทำงานในสายนักลงทุน ทำให้ผมวางแผนว่าต้องใช้ทุนหาเงิน ไม่ใช่ใช้เงินหาทุน”

 

“การรีโนเวทบ้านโบราณน่าจะเรียกว่าเป็น Active Income สำหรับผม เพราะอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เป็น Passive Income ที่ผมไม่ต้องจัดการเอง ส่วนการรีโนเวทบ้านโบราณผมต้องลงมือทำเอง เพราะองค์ความรู้ยังอยู่ที่เราและถ่ายทอดยากพอสมควร เนื่องจากบ้านแต่ละหลังไม่เหมือนกัน ผมต้องเข้าไปควบคุมช่างด้วยตัวเองตลอด จริง ๆ แล้วเป็นงานที่เหนื่อย ถ้าไม่สนุกกับมัน คงไม่มีแรงตื่นขึ้นมาทำ และจากที่เมื่อก่อนผมทำแต่บ้านของตัวเอง ช่วงหลังมานี้มีคนติดต่อขอคำปรึกษาในการรีโนเวทบ้านโบราณมากขึ้น ซึ่งผมก็สนุกที่จะทำ”

 

“ปัจจุบันก็มีวงการของคนที่รีโนเวทบ้านโบราณอยู่ แต่ส่วนมากจะครอบครองกันคนละหลังหรือไม่กี่หลัง มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถือว่าเป็นนักสะสมบ้านโบราณ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นเรื่องดีที่มีคนรักอาคารโบราณเพิ่มขึ้น และเกิดการอนุรักษ์ศิลปะในบ้านเก่าให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ซึบซับความสวยงามนี้ต่อไป”

 

ติดตามเส้นทางการรีโนเวทบ้านโบราณของศิริวัฒน์ได้ที่ 

Facebook : Siriwat Tor Mungalarungsi

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...