เช็กอิน ‘ฝาท่อ’ เยาวราช-ตลาดน้อย งานศิลปะบนทางเท้าที่เล่าเรื่องชุมชนให้คนเดินถนนรู้จัก

29 Nov 2024 - 7 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

การจัดระเบียบและปรับภูมิทัศน์ทางเท้าของกรุงเทพฯ ทำให้คนเดินทางเท้าสะดวกสบายขึ้น และใครที่มีโอกาสได้เดินตามท้องถนนบ่อย ๆ คงสังเกตเห็นว่าบนทางเท้ามี ‘ฝาท่อระบายน้ำลายอาร์ต’ งานศิลปะน่ารัก ๆ ทำให้ถนนเส้นเดิมดูมีชีวิตชีวาขึ้น 

 

LIVE TO LIFE พาทุกคนมาเดินเล่นดูฝาท่อใหม่ในเขตสัมพันธวงศ์ ตั้งแต่เยาวราชไปถึงตลาดน้อย ซอกแซกซอกซอยที่มีฝาท่อน่ารักอยู่บนถนนทั้งเส้น และพาไปดูการออกแบบสนุก ๆ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องความสวยงาม แต่เบื้องหลังยังแฝงเรื่องราวของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของย่านอีกด้วย

 

จากฝาท่อระบายน้ำเหล็กที่ดูแข็งทื่อ ชวนให้เดินเลี่ยง ผ่านการดีไซน์เปลี่ยนให้เป็นฝาท่อที่ต้องหยุดดู เป็นหมุดหมายที่ชวนคนออกไปเดิน  ชวนคุยกับ โจ - จุฤทธิ์ กังวานภูมิ จากกลุ่มปั้นเมือง หัวเรือของการออกแบบฝาท่อในย่านเยาวราช-ตลาดน้อย และ หนิง - ชัญญาภรณ์ ลาดเสนา นักผังเมืองชำนาญการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ที่จะมาเล่าเบื้องหลังของ ‘ฝาท่ออัตลักษณ์’ ที่เติมแต่งกรุงเทพฯ ให้มีชีวิตชีวา

ฝาท่อตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

พิกัด : หน้าทางเข้าตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยะ

 

‘ฝาท่อ’ และทางเท้า

 

ฝาท่ออัตลักษณ์เป็นไอเดียที่ผุดขึ้นจากการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับผิดชอบโดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร หัวใจหลักของงานคือปรับปรุงทางเท้าที่ทรุดโทรมทั่วกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเดินได้อย่างสะดวกสบาย ไหน ๆ ก็ปรับทางเท้าแล้ว จึงถือโอกาสเพิ่มสีสันให้เมืองด้วยศิลปะ โดยการเปลี่ยนฝาท่อแบบเดิมให้เป็น ‘ฝาท่ออัตลักษณ์’ ลายสวยที่เล่าเรื่องของย่านต่าง ๆ อย่างคมคายบนพื้นที่เล็ก ๆ ริมทางเดิน  

ฝาท่อตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

พิกัด : หน้าทางเข้าตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยะ

 

ปัจจุบันมีฝาท่อกระจายตัวอยู่ทั่วกรุง ทั้งเยาวราช นางเลิ้ง โบ๊เบ๊ หัวลำโพง ตลาดน้อย ราชดำริ ถนนวิทยุ สีลม ถนนอิสรภาพ แต่ละย่านที่นำร่องไปก่อนล้วนเป็นย่านเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีอัตลักษณ์ที่นำมาเล่าลงบนฝาท่อได้ หากสังเกตดี ๆ เราจะเห็นฝาท่อ 2 แบบ ทั้งแบบลวดลายและแบบที่ยังเป็นเหล็กดั้งเดิม ซึ่งแบบหลังแม้เป็นเพียงเหล็กกล้าธรรมดา ๆ แต่ก็ใส่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับย่านลงไปด้วย 

ฝาท่อบนทางเท้าในย่านตลาดน้อย

 

ฝาท่ออัตลักษณ์ลายแรกในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นที่คลองโอ่งอ่างในปี พ.ศ. 2562 ในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีในการทำฝาท่อแบบนี้ จึงต้องส่งไปทำที่ญี่ปุ่น แม้จะได้คุณภาพแต่ก็ยังไม่เหมาะกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยมากนัก ก่อนที่ภายหลัง กรุงเทพฯ ทำฝาท่อเพิ่มขึ้นจนสามารถผลิตฝาท่อลายอาร์ตที่ได้มาตรฐานของไทยได้

 

ฝาท่อคือแกลเลอรีริมทางที่ชวนคนเดินตามไปดู

 

ฝาท่อที่เต็มไปด้วยลวดลายมีอยู่ทั่วโลกและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ช่วงปี 80’s ในญี่ปุ่นมีการติดตั้งระบบท่อระบายน้ำใหม่ทั่วเมือง แต่มีคนต่อต้านมากมาย เพราะเชื่อว่าท่อระบายน้ำคือแหล่งรวมความสกปรก รัฐบาลจึงนำเอาศิลปะมาอยู่บนฝาท่อ แก้ปัญหาอคติของผู้คน ทำให้รู้สึกดีกับระบบระบายน้ำมากขึ้น จนทำให้ปัจจุบัน เราจะเห็นฝาท่อลวดลายอยู่ทั่วญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กหรือใหญ่ เทศบาลเกือบร้อยละ 95 ล้วนมีฝาท่อลายอาร์ตที่เล่าเรื่องย่านของตัวเองทั้งสิ้น แต่ความตั้งใจของกรุงเทพฯ แตกต่างออกไปจากญี่ปุ่น ตรงที่กรุงเทพฯ ต้องการเล่าเรื่องอัตลักษณ์มาตั้งแต่ต้น 

 

“อยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมในตำแหน่งต่าง ๆ ว่าฝาท่อแต่ละฝามีความหมายอย่างไร และสัมพันธ์กับย่านอย่างไร แม้แต่ฝาท่อธรรมดา ๆ แบบเดิมก็มีสัญลักษณ์เชิงความหมาย ออกแบบให้ส่งเสริมความเชื่อของคนในย่าน ถ้ามีฝานี้อยู่หน้าบ้านเขา เขาต้องรู้สึกว่าร่ำรวย การค้ารุ่งเรือง” 

 

“ฝาท่อถ่ายทอด เรื่องการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ทำให้คนเข้าใจ ตระหนักถึงมรดกและวัฒนธรรมภายในย่าน สร้างโหมดใหม่ให้ย่านเกิดการรับรู้ในเชิงศิลปะ เป็นอาร์ตแกลเลอรีริมทางที่ทุกคนเข้าชมได้ เป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยว จะได้เดินตามไปดู ซึ่ง ทำให้เศรษฐกิจของย่านนั้นดีขึ้น มันไม่ได้สื่อสารแค่กับ นักท่องเที่ยว แต่ยังสื่อสารกับประชาชนในย่านให้เขารู้สึกว่ามีส่วนช่วยอธิบายหรือบอกเล่าเรื่องราวนี้ด้วย” หนิงบอกกับเรา

ฝาท่อห้างทอง

พิกัด : ทางม้าลายปากซอยถ.มังกร หน้าทองใบเยาวราช

 

กว่าจะมาเป็นฝาท่อ

 

หลังจากได้รับโจทย์จากทางกรุงเทพฯ ทางทีมนักออกแบบก็เดินสำรวจทั่วย่านเพื่อเก็บข้อมูล ขั้นแรกต้องเลือกฝาท่อที่จะเป็นลายอาร์ต โดยเลือกวางจุดที่ปลอดภัยที่สุด เช่น ทางม้าลาย ป้ายรถเมล์ ใกล้ทางแยก เป็นต้น เพราะผู้คนสามารถหยุดยืนดูฝาท่อได้ เป็นจุดที่รถจะชะลอความเร็วลง เวลาออกแบบต้องตั้งฝาท่อให้ถูกทาง ให้ผู้คนสามารถยืนอ่านข้อความ ชมภาพได้ขณะที่ยืนอยู่บนทางเท้าอีกด้วย

ฝาท่อห้างใต้ฟ้า

พิกัด : ทางม้าลายแยกราชวงศ์หน้าร้าน LK BEAUTY

 

“ทุก ๆ ห้านาที เดินไปจะต้องเจอฝาท่อ สำหรับที่ตลาดน้อยเป็นซอยหักศอก อาจมีคนใช้จักรยาน มอเตอร์ไซค์ เราเลยคิดว่าน่าจะมีจุดที่ทำให้ชะลอ หยุด พอเริ่มมีคนมาท่องเที่ยว อย่างน้อยคนเดินที่ไม่รู้จักพื้นที่ก็จะไม่เดินทะเล่อทะล่า ถ้ามีฝาท่อนำสายตาให้คนมองไปตรงแยกหรือมีคนยืนมุงถ่ายรูปกัน รถจักรยานเห็นคนก็จะชะลอ ไม่พรวดพราดออกมา” โจเล่า

 

หลังจากปักหมุดฝาท่อเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสำคัญคือตามหาจุดเด่นของย่านมาวาดเป็นลวดลายบนฝาท่อ โดยในขั้นตอนนี้ ได้นักประวัติศาสตร์ ปราชญ์ท้องถิ่น และคนในชุมชน รับหน้าที่เล่าเรื่องความเป็นมาของย่านต่าง ๆ ให้เหล่าดีไซน์เนอร์หลายชีวิตที่ร่วมออกแบบฝาท่อ

 

“จุดเด่นของแต่ละจุดเลือกจากสิ่งที่อยู่ตรงนั้น รถเฟียต (FIAT) ถือเป็น Pop Culture สุด ๆ คนชอบมาถ่ายรูปกัน เจ้าของรถคืออาเฮียที่อยู่แถวนั้น เขาเอามาจอดไว้เฉย ๆ แต่มันกลายเป็นศิลปะจัดวางโดยไม่ตั้งใจ เราเห็นรูปอะไร เราก็จะเอามาอยู่บนฝาท่อ แล้วใส่ป้ายเขียนว่าห้ามจับเพิ่มลงไป เพราะรถคันนี้ชอบมีคนไปปีน มีคนบอกให้เราเอาป้ายไปติดบอกว่าห้ามจับ แต่เราว่ามันดูไม่โอเค เลยใส่ลงไปในฝาท่อแล้วกัน”

ฝาท่อซอยดวงตะวัน หรือ รถเฟียต (ตลาดน้อย)

พิกัด : ซอยดวงตะวัน

 

“ถ้าลองสังเกตดู เราใส่ความหมายลงไปในงานดีไซน์ เราใช้มาสคอตเต่าอยู่ในทุกภาพ เพราะเต่าในความเชื่อของคนจีนคือความโชคดี อายุยืน ส่วนการตีความของคนทำงานคือ ตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่เวลาเดินช้ากว่าที่อื่น ๆ มีความชิล สโลว์ไลฟ์ด้วยวิถีชุมชน เราเลยคิดว่าเป็น Gimmick ที่ดีที่จะใช้เต่าเป็นโฮสต์พาเที่ยว” 

ฝาท่อซอยดวงตะวัน

พิกัด : ซอยดวงตะวัน

 

“แต่ลวดลายบางอย่างถ้าอยู่บนฝาท่อแล้วไม่เหมาะสม ตอนทำแบบร่างเรานึกถึงศาลเจ้ากวนอู เจ้าพ่อม้า เราก็รู้ว่ากวนอูเป็นเทพเจ้าที่คนนับถือ เราก็ไม่ควรเอามาอยู่บนฝาท่อ เจ้าพ่อม้าก็ไม่ได้ ก็ต้องแก้เอาง้าวออก เพราะง้าวเป็นอาวุธปลายแหลม มันอาจหันเข้าไปหาบ้านใครแล้วทำให้เขารู้สึกไม่ดี รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ ญี่ปุ่นอาจไม่ถือ แต่ในประเทศไทยเราถือนิดนึง” 

ฝาท่อโรงงิ้ว

พิกัด : หน้าร้านฮั่วเซงฮง

 

กว่าจะออกแบบฝาท่อหนึ่งฝานอกจากเรื่องราว ความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ทั้งเหล็ก สี และความลึก เมื่อฝาท่อไปวางบนถนนแล้วต้องใช้งานได้จริง ไม่สร้างความยากลำบากให้ผู้ใช้ทางเท้า 

 

“เรื่องความลึกของฝาท่อสำคัญ ยิ่งที่ตลาดน้อย ฝาท่ออยู่ตรงแยกถนนก็เลยกลัวคนลื่น กลัวรถลื่น จึงต้องเพิ่ม Grip ให้ช่างหยอดสีไม่เสมอขอบ เพราะถ้าสีล้นจะเสี่ยงเกิดอุบติเหตุได้ เผื่อจักรยานขับมาลื่น แต่ถ้ามันเป็นสีที่หยอดไม่เต็มก็อาจทำให้มีเศษดินเข้าไปติด แถวนั้นมีต้นไทรเยอะก็อาจมีลูกไทรเข้าไปติด ต้องปัดกวาดกันบ้าง แต่คนแถวนั้นก็ช่วยดูแลความสะอาดกันอยู่แล้ว” โจเล่า

ฝาท่อตรอกศาลเจ้าโรงเกือก

พิกัด : ศาลเจ้าโรงเกือก ริมน้ำ

 

เมื่อฝาท่อสีสดมาจัดวางในย่านพลุกพล่านและมีการค้าหนาแน่น แน่นอนว่าสีของฝาท่ออาจไม่ได้สดใสเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไป จนทำให้สงสัยว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้สะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ แม้จะไม่เหมือนวันแรก แต่ทางกรุงเทพฯ มีการทำความสะอาดอยู่เสมอ รวมถึงผู้คนในชุมชนเองก็เช่นกัน 

 

“ถ้าเขารู้สึกว่าฝาท่อทำให้เศรษฐกิจในย่านนี้ดีขึ้น มีคนหยุดดู ซื้อของร้านเขา เขาก็จะอยากทำความสะอาด ยกตัวอย่างคลองโอ่งอ่างก็ได้ พอฝาท่ออยู่หน้าร้านเขา เขาก็ทำความสะอาดเพราะความเป็นเจ้าของเกิดขึ้น อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น”  

ฝาท่อสะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง

พิกัด : หัวมุมถนนบริพัตร

 

ฝาท่อและชุมชน

 

ในมุมของนักท่องเที่ยวหรือคนเดินถนนที่ไม่ได้อยู่ย่านนั้น ฝาท่อเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้คนออกไปเดินดูเมืองมากขึ้น และสำหรับคนในชุมชนแล้วสิ่งนี้เป็นเหมือนจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวของย่านไว้ มีความหมายกับคนพื้นที่ในอีกรูปแบบหนึ่ง 

 

“อย่างน้อยก็มองว่าฝาท่อเป็นไทม์แคปซูลที่อยู่ตรงนั้น มันคงไม่หายไปไหนง่าย ๆ คนจะเริ่มเกิดคำถามว่าภาพในฝาท่อคืออะไร มันคือการแสตมป์ลงไปในพื้นที่ แม้ว่าสิ่งจริง ๆ ที่อยู่บนฝาท่อจะหายไปแล้ว อย่างเช่นรถเฟียตคันนั้น เราไม่รู้เลยว่ามันจะกลายเป็นเศษเหล็กเมื่อไหร่ แต่ถึงมันจะหายไป ก็ยังมีฝาท่อตรงนี้บอกว่าครั้งหนึ่งเคยมีรถคันนั้นจอดอยู่”

 

 

เร็ว ๆ นี้กรุงเทพมหานคร กำลังจะเปิดตัว Application สะสมฝาท่อทั่วกรุงให้เราได้ไปตามสะสมฝาท่อกัน  เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Bangkok Design Week 2025 เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เชื่อว่าจะต้องทำให้การเดินเล่นในย่านต่าง ๆ สนุกขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ฝาท่อเวิ้งนาครเขษม

พิกัด : หน้าซุ้มประตูเวิ้งนาครเกษม

 

“ฝาท่อเหล่านี้ทำให้เกิดการมองเมืองในมุมใหม่ และทำให้รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ท่อระบายน้ำที่ทำหน้าที่ระบายน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ทำให้คนได้ตั้งคำถาม สนุกไปกับเรื่องราวต่าง ๆ เป็นอีกสื่อที่ทำให้คนรู้จักย่านได้มากขึ้น” โจทิ้งท้าย 

 

ใครอยากเดินดูฝาท่อ ตาม พิกัดฝาท่อในเขตสัมพันธวงศ์ ได้ที่นี่เลย

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...