เที่ยวแถบเหนือไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร ทำบุญเสริมดวงตามความเชื่อชาวล้านนา-ล้านช้าง

09 Oct 2023 - 15 mins read

Travel / Thailand

Share

ใครกำลังวางแผนเดินทางท่องเที่ยวส่งท้ายปี LIVE TO LIFE ขอแนะนำทริปอิ่มบุญอิ่มใจ กับการเดินทางไปสักการะ 12 พระธาตุประจำปีนักษัตร ที่ประดิษฐานอยู่ใน 8 จังหวัดของประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก และนครพนม

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมชาวล้านนาส่วนใหญ่ รวมถึงชาวอีสานอีกเป็นจำนวนมาก ถึงให้ความเคารพบูชาพระธาตุมาอย่างยาวนาน 

 

เหตุผลเป็นเพราะชาวล้านนามีคติความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า ก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดา วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึง การที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี ตั๋วเปิ้ง (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้ เมื่อได้เวลา ดวงวิญญาณจึงเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา

 

ไม่เฉพาะตอนเกิดเท่านั้น แม้กระทั่งในตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาวล้านนาก็เชื่อกันว่าดวงวิญญาณจะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้น ๆ ตามเดิม ด้วยเหตุนี้ ชาวล้านนาโบราณจึงมีความเชื่อว่า การหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ถือเป็นการเสริมสิริมงคลครั้งใหญ่ มีอานิสงส์สูงทำให้มีอายุยืนนาน อีกทั้งเชื่อว่าเมื่อตายไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคติภพอีกด้วย

 

ความเชื่อเรื่องของการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดยังถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลที่ทำให้ชาวบ้านได้มีเหตุต้องเข้าวัด เกิดการส่งเสริมอนุรักษ์และนำเข้าสู่การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติธรรมไปในตัว จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปัจจุบัน การสืบทอดความเชื่อเรื่องไหว้พระธาตุประจำปีเกิดไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวล้านนาเพียงเท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าภาคไหน ๆ ต่างก็หาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน จนสามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาหรือทัวร์ธรรมะที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย

 

LIVE TO LIFE ขออาสาพาทัวร์ธรรมะเดินทางไปชุธาตุ ณ 12 พระธาตุประจำแต่ละนักษัตร พร้อมแทรกเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานของพระธาตุแต่ละองค์ รวมถึงแนะนำของดีประจำแต่ละท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การซื้อหาเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน

 

1.

พระธาตุประจำปีชวด (ปีหนู)

พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

พระเจดีย์ศรีจอมทอง

 

เริ่มกันที่พระธาตุประจำผู้ที่เกิดในปีชวด หรือปีหนู ได้แก่ พระธาตุศรีจอมทอง หรือที่คนเหนือออกเสียงว่า “จ๋อมตอง” ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เชียงใหม่มานานกว่า 500 ปี

 

พระธาตุศรีจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุ หรือพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวล 

 

องค์เจดีย์ของพระเจดีย์ศรีจอมทองสร้างด้วยศิลปะล้านนา มีสีทองอร่าม บริเวณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกกันว่า “ยกเก็จ” ส่วนบริเวณยอดเป็นฐานวงกลม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น และรอบฐานเจดีย์มีตุ๊กตารูปหนูวางรายล้อมเป็นสัญลักษณ์อยู่มากมาย สมกับที่เป็นพระธาตุประจำปีชวด

พระเจดีย์ศรีจอมทอง

 

ความพิเศษของพระบรมธาตุแห่งนี้ คือ ประดิษฐานในโกศภายในมณฑปปราสาทในวิหารหลวง ต่างจากพระบรมสารีริกธาตุองค์อื่น ๆ ที่มักบรรจุอยู่ในผอบฝังอยู่ใต้พระธาตุเจดีย์ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงสามารถเชิญพระธาตุศรีจอมทองออกมาสรงน้ำได้โดยตรง โดยทุกปีทางวัดจะจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ตรงกับวันวิสาขบูชา และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนืออีกครั้งหนึ่ง หากคนที่เกิดปีชวดคนไหนสะดวกก็ควรหาโอกาสไปสรงน้ำพระบรมธาตุในวันดังกล่าว เพื่อความเป็นสิริมงคลที่พิเศษยิ่งขึ้น

ตุ๊กตารูปหนูรายล้อมฐานเจดีย์

 

นอกจากองค์พระธาตุแล้ว ภายในวัดพระธาตุศรีจอมทองเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การค่อย ๆ ใช้เวลาอยู่ที่วัดแห่งนี้อย่างไม่รีบร้อน เช่น พระพุทธรูป 3 องค์ที่สร้างด้วยไม้แกะสลัก โดยเฉพาะพระประธานปางถวายเนตร ซึ่งต่างจากพระอุโบสถฉบับล้านนาทั่วไป จิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าถึงตำนานพระธาตุศรีจอมทอง และสวรรค์ชั้นต่าง ๆ 

ทั้งนี้ ทางวัดไม่อนุญาตให้สตรีขึ้นไปที่พระอุโบสถ เนื่องจากบริเวณประตูทางเข้าได้ฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีของล้านนาเอาไว้

ทุ่งดอกไฮเดรนเยีย โครงการหลวงขุนปะ

 

เดินทางมาถึงอำเภอจอมทองทั้งที ควรหาโอกาสเช็กอินยังสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอำเภอนี้ที่เป็นอีกเพชรน้ำงามประจำเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจุดสูงสุดแดนสยามบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ทุ่งนาขั้นบันไดแห่งบ้านแม่กลางหลวงและบ้านผาหมอน ทุ่งดอกไฮเดรนเยียในโครงการหลวงขุนปะ และน้ำตกน้อยใหญ่อีกมากมายที่จะทำให้คุณหลงรักอำเภอจอมทอง

 

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 157 หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 58 กิโลเมตร)

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 - 17.00 น.

โทร : 053 342 184 

Facebook : วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

 

2.

พระธาตุประจำปีฉลู (ปีวัว)

พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

 

มาเยือน “เขลางค์นคร” ทั้งที แน่นอนว่าต้องนั่งรถม้า เพื่อให้ได้ชื่อว่ามาถึงเมืองลำปาง ซึ่งว่ากันโดยสถานะแล้ว รถม้าก็คือ รถแท็กซี่ท้องถิ่น ที่ให้บริการมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นยานพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟจังหวัดลำปางเข้าสู่ตัวเมือง

 

ปัจจุบัน แท็กซี่รถม้าก็ยังคงให้บริการนักท่องเที่ยวเหมือนเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา โดยคิวรถม้าจะอยู่บริเวณหน้าศาลากลางหลังเก่า หน้าโรงแรมทิพย์ช้างลำปาง โรงแรมเวียงลคอร และโรงแรมลำปางเวียงทองลองมองหารถม้าสักคัน แล้วว่าจ้างให้ไปส่งที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง เพื่อสักการะพระธาตุประจำปีฉลูกันเลย 

รถม้าบริเวณหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง

 

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองลำปางมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี หรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 และแม้จะผ่านเวลามานานหลายศตวรรษก็ยังคงสถานะของการเป็นวัดไม้เก่าแก่ที่คงความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย 

 

ส่วนเหตุผลที่พระธาตุลำปางหลวงได้รับการนับถือให้เป็นพระธาตุประจำปีฉลูก็เพราะเริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีฉลูนั่นเอง 

นอกจากนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นวัดล้านนาเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงรักษารูปแบบคติจักรวาลวิทยาแบบโบราณเอาไว้ได้เป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้การไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวงของชาวฉลูได้รับอานิสงส์สูงสุดราวกับได้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้า จึงควรค่าแก่การทำความรู้จักจักรวาลวิทยาแห่งวัดพระธาตุลำปางหลวงก่อนไปเยือน

 

คติจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา สื่อถึงจักรวาลอันกว้างใหญ่ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร มีเทือกเขา 7 ชั้นล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นวงกลม สูงลดหลั่นกันลงมาจากศูนย์กลาง ซึ่งช่างโบราณล้านนานิยมสร้างวัดตามคติความเชื่อนี้ ดังนั้น รายละเอียดต่าง ๆ ในวัดโบราณส่วนใหญ่จึงมีความหมายที่สื่อถึงจักรวาลแบบพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาพระพุทธรูปและพระธาตุ ได้พบเห็นจักรวาลจำลองสอดแทรกอยู่ในทุกส่วนของวัด นำไปสู่ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนได้ง่ายขึ้น

บันไดนาค ทางขึ้นวัดพระธาตุลำปางหลวง

 

สำหรับจักรวาลแห่งวัดพระธาตุลำปางหลวง เริ่มตั้งแต่การก้าวเดินขึ้น บันไดนาค บริเวณประตูทางเข้า ที่สื่อถึงทางเชื่อมสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก่อนจะเดินลอด ซุ้มประตูโขง เข้าไปภายในบริเวณวัด ซึ่งบริเวณซุ้มประตูโขงมีลักษณะเป็นอาคารเรือนยอดซ้อนชั้นแบบยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูน ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์งดงามอ่อนช้อย ฝีมือช่างหลวงในสมัยโบราณ สื่อถึงความเป็นป่าหิมพานต์ที่ล้อมรอบเชิงเขาพระสุเมรุ โดยประตูโขงแห่งนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปางอีกด้วย

ลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูโขง

 

หลังจากเดินลอดซุ้มประตูโขงเข้ามาก็จะพบกับลานทราย แทนความหมายถึง มหานทีสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ก่อนจะเข้าไปสู่ องค์พระธาตุลำปางหลวง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลอย่างเขาพระสุเมรุนั่นเอง โดยองค์พระธาตุเจดีย์มีลักษณะทรงกลมแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ซึ่งลักษณะเจดีย์แบบนี้เป็นต้นแบบของพระธาตุหริภุญไชยและพระบรมธาตุจอมทอง และภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเกศาธาตุ พระนลาฎ (หน้าผาก) ข้างขวา พระศอ (คอ) ด้านหน้าและด้านหลัง 

องค์พระธาตุลำปางหลวง

 

หลังจากสักการะพระธาตุลำปางหลวงเสร็จแล้วอย่าเพิ่งรีบกลับ เพราะวิหารทั้งสี่ทิศ ที่เปรียบเสมือนทวีปทั้งสี่ที่รายล้อมเขาพระสุเมรุก็ควรค่าแก่การไปเยือนเช่นกัน เช่น วิหารหลวง สถานที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระประธานของวัด วิหารพระพุทธ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ และปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง โดยจะมีการจัดงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ดังนั้น เตรียมวางแผนการเดินทางตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เลย

 

วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

ที่ตั้ง : 271 ตำบล ลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ลำปาง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 07.30 - 17.00 น. 

โทร : 054 328 327, 054 281 359

Facebook : วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 

 

3.

พระธาตุประจำปีขาล (ปีเสือ)

พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

 

รู้หรือไม่ว่าหากต้องการให้หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง ชีวิตมีความสุขราบรื่น ไร้อุปสรรค ต้องนำผ้าแพรเนื้อดี หรือผ้าแพรสามสีก็ได้ ไปถวาย พระธาตุช่อแฮ พระธาตุเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองแพร่มานานนับพันปี

 

เหตุผลเกี่ยวพ้องกับชื่อขององค์พระธาตุ โดยสันนิษฐานว่า “ช่อแฮ” เพี้ยนมาจาก “ช่อแพร” ซึ่งเชื่อว่ามาจากชื่อของสถานที่ตั้งองค์พระธาตุคือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต ที่หมายถึงดอยแห่งผ้าแพรอันงดงาม

พระธาตุช่อแฮ

 

สำหรับองค์พระธาตุช่อแฮเป็นสถาปัตยกรรมเชียงแสนทรงแปดเหลี่ยม สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง ยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา ภายในพระธาตุบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนพระศอกข้างซ้าย

 

อีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดพระธาตุช่อแฮ ได้แก่ หลวงพ่อช่อแฮ หรือพระเจ้าช่อแฮ องค์พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีในพระอุโบสถ และหลวงพ่อทันใจ หรือพระเจ้าทันใจ หนึ่งในหลวงพ่อทันใจชื่อดังของเมืองไทย ที่นอกจากจะขึ้นชื่อด้านประทานพรให้สมปรารถนาแล้ว ยังมีอธิษฐาน ไม้เสี่ยงทาย ที่อยู่หลังซุ้มหลวงพ่อทันใจ ให้ลองเสี่ยงทายทำนายโชค เป็นอีกหนึ่งรายการที่คนมาที่นี่มาลองกัน

หลวงพ่อช่อแฮ

 

ใครอยากร่วมงานสมโภชน์ประจำปีของวัดพระธาตุช่อแฮ สามารถเดินทางไปร่วมงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮได้ในช่งเดือนมีนาคม (วันขึ้น 9 ค่ำ – ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) ที่จะมีทั้งพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวปีขาล เดินทางมาร่วมงานแห่ไหว้พระธาตุตามแบบล้านนาเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์แผ่บารมี ถือเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะพระธาตุช่อแฮ

ทิวทัศน์โดยรอบวัดพระธาตุช่อแฮ

 

ไหว้พระธาตุเสร็จแล้ว ก่อนเดินทางกลับอย่าลืมหาของฝากติดไม้ติดมือ อย่าง ขนมเปี๊ยะเสือหรือเซตมงคล ของร้านเมืองแพร่พานิช ร้านเบเกอรีเจ้าเก่าประจำเมืองแพร่ ที่อาม่าส่งต่อสูตรอร่อยมายังรุ่นหลาน จึงยังคงเอกลักษณ์ของไส้แน่น ๆ ทั้งไส้ถั่วรสออริจินัล ไส้ฟักเชื่อมสูตรโบราณเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการออกแบบหน้าตาขนมที่ความหมายดีในตัวขนมและมีขนาดพอดีคำ ที่ถูกใจผู้รับ โดยเฉพาะคนเกิดปีขาลอย่างแน่นอน

ขนมเปี๊ยะเสือ ร้านเมืองแพร่พานิช

 

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่

ที่ตั้ง : 1 หมู่ 11 ช่อแฮ เมืองแพร่ แพร่ 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.

โทร : 054 599 209

Facebook : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

เมืองแพร่พานิช

ที่อยู่ : 47, 17 ถนนรอบเมือง ต.ในเวียง อ.เมือง แพร่ 

โทร : 082 415 3992

Facebook : เมืองแพร่พานิช

 

4.

พระธาตุประจำปีเถาะ (ปีกระต่าย)

พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

 

เอ่ยชื่อจังหวัดน่าน หลายคนอาจนึกถึงภาพกระซิบรักบันลือโลกของปู่ม่าย่าม่านแห่งวัดภูมินทร์เป็นอันดับต้น ๆ โดยที่อาจจะยังไม่รู้ว่า เมืองน่านมีอีกหนึ่งอนุสรณ์แห่งความรักที่เก่าแก่ยิ่งกว่าภาพเขียนปู่ม่านย่าม่านเสียอีก สถานที่แห่งนั้นก็คือ พระธาตุแช่แห้ง นั่นเอง

เจดีย์พระธาตุแช่แห้ง

 

พระธาตุแช่แห้ง ได้ชื่อว่าเป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยมานานกว่า 600 ปี สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่พระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ. 1869 - 1902) เคยเสด็จไปช่วยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งเมืองสุโขทัยสร้างวัดหลวงอภัย (หรือวัดป่ามะม่วง ในปัจจุบัน) พระมหาธรรมราชาลิไทจึงพระราชทานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงิน และพระพิมพ์ทองแก่พระยาการเมือง จึงเป็นที่มาของการสร้างวัดพระธาตุแช่แห้งขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุข้อพระหัตถ์ข้างซ้าย ณ ทำเลบนดอยทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งยิ่งทำให้องค์พระธาตุเจดีย์ทรงระฆังสีเหลืองทองอร่ามที่สูงถึง 55.5 เมตร สง่างามโดดเด่นและสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

อุโบสถวัดพระธาตุแช่แห้ง

 

สำหรับที่มาของชื่อ ‘แช่แห้ง’ นั้น ตามตำนานของวัดพระธาตุแช่แห้งกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไคร้ และเสวยผลสมอแห้งที่พระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

 

ตัวสถาปัตยกรรมของพระธาตุแช่แห้งเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สร้างโดยช่างฝีมือชาวล้านนา มีลักษณะคล้ายพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน โดยบุรอบองค์พระธาตุด้วยทองจังโก และทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาคคล้ายกับวัดพระธาตุอีกหลายแห่ง ต่างก็ตรงหน้าบันเหนือประตูทางเข้า (หน้าจั่วของปราสาท โบสถ์ วิหารในภาษาเหนือ) ที่เป็นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือแห่งเมืองน่านโดยเฉพาะ

 

พุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวปีเถาะ ควรหาโอกาสมาร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และชมการประกวดตีกลองแอลหรือการเล่าค่าว หรือ ค่าวซอ ใน งานประเพณีหกเป็ง หรืองานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

 

และเพื่อให้เข้าถึงเมืองเล็กโรแมนติกที่เต็มไปด้วยตำนานแห่งความรักแห่งนี้ อย่าลืมหาโอกาสขึ้นรถรางชมเมืองน่าน ที่พาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น วัดภูมินทร์ วัดศรีพันต้น วัดช้างค้ำ ฯลฯ โดยจะมีไกด์ในพื้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูลบนรถรางตลอดเส้นทาง

 

วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

ที่ตั้ง : หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.

โทร : 054 601 146

Facebook : วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง

 

5.

พระธาตุประจำปีมะโรง (ปีงูใหญ่)

พระธาตุพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

 

ไม่เฉพาะผู้ที่เกิดปีมะโรงเท่านั้นที่ควรมากราบไหว้ พระธาตุพระสิงห์ สักครั้งในชีวิต เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและมีอายุมั่นขวัญยืน ชาวเชียงใหม่ยังเชื่อว่าผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยสามารถขอพรเรื่องสุขภาพจากหลวงพ่อ เพื่อให้หมดทุกข์โศกโรคภัยได้เช่นกัน

 

ความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเกิดจากศรัทธาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นนานเกือบ 700 ปี นับตั้งแต่พระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สร้างขึ้นในลังกาเมื่อ พ.ศ.700 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง” ได้รับการอัญเชิญจากพญาแสนเมืองให้มาประดิษฐานในพระวิหารลายคำ ณ วัดพระสิงค์ จนถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ของราชวงศ์จักรี วัดพระสิงค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร จึงมีชื่อว่าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 

พระมหาเจดีย์ธาตุ

 

สำหรับจุดที่ชาวปีมะโรงต้องหาโอกาสไปกราบไหว้ให้ได้นั้น ได้แก่ พระมหาเจดีย์ธาตุ หรือพระธาตุหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ โดยสร้างขึ้นในปีเดียวกับที่สร้างวัด นั่นคือ พ.ศ. 1888 ซึ่งแนะนำว่าควรเผื่อเวลาหลังจากกราบขอพรพระพุทธสิหิงค์และพระธาตุพระสิงห์ให้เยอะหน่อย โดยเฉพาะคนที่รักการเยี่ยมชมศิลปะในวัด เพราะวัดพระสิงห์ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่รวบรวมตัวอย่างงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยล้านนามากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

พระประธานตั้งอยู่ภายในกู่พระเจ้า กึ่งกลางพระอุโบสถ จึงสามารถนมัสการพระพุทธรูปได้ทั้งสองฝั่ง

 

คนรักจิตรกรรมฝาผนังย่อมไม่พลาดการไล่สายตารับชมเรื่องราวของวรรณคดีสังข์ทองและสุวรรณหงส์ที่ปรากฏอยู่ในวิหารลายคำ ซึ่งถือเป็นการบันทึกเรื่องราวที่แปลกและหาชมได้ยาก เพราะไม่ใช่พุทธประวัติหรือชาดกเหมือนวัดอื่น ๆ นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของวิหารลายคำก็น่าทึ่งไม่น้อย เพราะเป็นวิหารแบบล้านนาแท้ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบัน รวมถึง หอธรรม หรือหอไตร ที่มีการตกแต่งชั้นล่างด้วยปูนปั้นรูปเทวดาอย่างวิจิตรงดงาม จนได้ชื่อว่าเป็นหอธรรมที่งดงามที่สุดในภาคเหนือ

หอธรรม

 

วัดพระสิงห์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย หรือถ้าใครอยากหาโอกาสที่พิเศษกว่านั้น ควรเดินทางมาร่วมประเพณีปี๋ใหม่เมืองในเทศกาลสงกรานต์ เพราะจะมีขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ให้สามารถสรงน้ำเพื่อความร่มเย็นเป็นสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะในวันที่ 11 เมษายน จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์ของวัด คือพระเจ้าทองทิพย์ หรือพระสิงห์น้อย ออกมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชาภายในวิหารลายคำเพียงวันเดียวในรอบปี

 

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 2 ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 

เวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 - 18.00 น.

โทร : 053 248 604

Facebook : วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

 

6.

พระธาตุประจำปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก)

เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา จังหวัดเชียงใหม่

 

หากจะให้ถูกต้องตรงตามความเชื่อของชาวล้านนาจริง ๆ ผู้ที่เกิดปีมะเส็งจะต้องจองตั๋วเดินทางไปยังรัฐพิหารในประเทศอินเดีย เพื่อสักการะ โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิเจดีย์ แห่งพุทธคยา ที่ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็ง

 

สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางไกล สามารถไปกราบไหว้ พระเจดีย์เจ็ดยอด หรือ มหาเจดีย์พุทธคยา ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด แห่งเมืองเชียงใหม่ก็ได้รับอานิสงส์ไม่แพ้กัน

เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา

 

ด้วยความที่เจดีย์ของมหาโพธิวิหารเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ถูกนำไปสร้างเลียนแบบมากที่สุดในศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นที่จีน พม่า หรือในประเทศไทยเราเองก็มีมหาโพธิวิหารรูปทรงหน้าตาแบบนี้อยู่ในวัดหลายแห่ง แต่สำหรับที่วัดเจ็ดยอดนั้นถือว่ามีความเก่าแก่มากที่สุด และมีความสำคัญหลายด้านด้วยกัน

บรรยากาศภายในวัดเจ็ดยอด

 

วัดเจ็ดยอด สร้างโดยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โดยตั้งชื่อวัดว่าวัดโพธารามมหาวิหาร เนื่องจากมีพระเถระชาวลังกานำต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกามาปลูกในบริเวณนี้ และถือว่าต้นศรีมหาโพธิ์เป็นโพธิบัลลังก์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ นอกจากนี้ วัดเจ็ดยอดยังเคยเป็นวัดที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกในปี พ.ศ. 2020 อีกด้วย

 

นอกจากจะมีต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้สีหโคตรเสนาบดี เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อจำลองออกแบบรูปแบบเจดีย์และสัตตมหาสถานเจดีย์ มาสร้าง ณ วัดแห่งนี้ โดยมีโพธิบัลลังก์ (ต้นศรีมหาโพธิ์) เป็นศูนย์กลาง 

 

รูปปั้นงูเห่ารอบฐานพระเจดีย์

 

พระเจดีย์ของวัดเจ็ดยอดจึงมีฐานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยศิลาแลง ทรงยอดปรางค์มีอยู่เจ็ดยอดจึงเป็นชื่อเรียกขานวัดแห่งนี้ รอบฐานพระเจดีย์ประดับลวดลายปูนปั้นเทพพนมทั้งยืนทรงเครื่องและนั่งขัดสมาธิ แซมด้วยลวดลายดอกไม้ที่มีความวิจิตรพิสดาร สื่อความหมายถึงเมื่อครั้งที่เหล่าเทวดาจากหมื่นจักรวาลลงมาชุมนุมแสดงความยินดีในคราวที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ พร้อมโปรยปรายดอกไม้ทิพย์ลงมา นอกจากนี้ รอบ ๆ ฐานองค์พระเจดีย์ยังเต็มไปด้วยรูปปั้นงูเห่าและงูเล็กงูน้อยมากมายที่มีผู้นำมาถวายแก้บนตามความเชื่อในฐานะพระธาตุประจำปีมะเส็ง

ประเพณีค้ำโพธิ์

 

ภายในวัดเจ็ดยอดยังมี สัตตมหาสถาน หรือสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้ แห่งละ 7 วัน อันประกอบด้วย รัตนบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรม รัตนฆรเจดีย์ อัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) สระมุจลินท์ (ต้นจิก) และราชายตนะ(ต้นเกด) ใครที่ศึกษาพุทธประวัติมาเป็นอย่างดีน่าจะยิ่งอิ่มอกอิ่มใจในการได้มาเยือนแต่ละสถานที่สำคัญภายในวัดโบราณแห่งนี้ 

 

สิ่งหนึ่งที่ควรทำเมื่อมาถึงวัดเจ็ดยอด คือ การบูชาไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อเป็นการค้ำจุนชีวิตให้รุ่งเรือง มีอายุยืนยาวเหมือนดั่งต้นโพธิ์ตามความเชื่อของชาวล้านนา

 

วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 90 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 - 17.00 น.

โทร : 053 225 344

เว็บไซต์ : www.watjedyod.com

 

7.

พระธาตุประจำปีมะเมีย (ปีม้า)

พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองจำลอง จังหวัดตาก

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก

 

เช่นเดียวกับคนเกิดปีมะเส็ง นั่นคือ หากคนเกิดปีมะเมียต้องการไปชุธาตุประจำปีเกิดจริง ๆ ต้องเดินทางไปไกลถึงกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อสักการะพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความผูกพันของชาวล้านนาบางกลุ่มที่สืบทอดความเชื่อมาจากกลุ่มคนมอญในพม่า จึงนิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ชเวดากองและพระธาตุอินทร์แขวนจำลองหลายแห่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ บนแผ่นดินไทย

 

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ถือเป็นวัดต้นตำรับที่สร้างพระธาตุเจดีย์ชเวดากองเป็นแห่งแรก โดยตามตำนานกล่าวว่า เดิมบริเวณนี้ชื่อ ดอยมหิยังกะ มีพระอรหันต์ 4 รูปนำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเกศาธาตุ 4 เส้นของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่ง ต่อมากระบวนเสด็จพระนางจามเทวีผ่านมา จึงได้มีการบูรณะครั้งแรกเกิดขึ้น 

พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองจำลอง

 

ส่วนเจดีย์องค์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลงานของพระครูพิทักษ์พระบรมธาตุ (ทองอยู่ สุริโย) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุบ้านตาก โดยเมื่อ 80 ปีก่อน ท่านได้จาริกแสวงบุญไปยังประเทศพม่า และได้มีการเอารูปทรงของเจดีย์ชเวดากองมาสร้างครอบเจดีย์องค์เก่าซึ่งยังคงรูปทรงสมัยสุโขทัยเอาไว้ พร้อมกับสร้างพระบรมธาตุองค์เล็ก ๆ 16 องค์ เจดีย์ใส่พระพุทธรูป 16 องค์ และโขงจุดไฟเทียนอีก 6 โขง รายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ด้วย จึงทำให้ยิ่งมองดูคล้ายกับพระเจดีย์ชเวดากองอย่างไร้ข้อกังขา ชาวล้านนาที่เกิดปีมะเมียจึงนิยมไปกราบนมัสการพระบรมธาตุที่บ้านตากกันตั้งแต่ราว พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา

พระเจ้าทันใจ

 

วัดแห่งนี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ วัดพระเจ้าทันใจ เพราะเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปที่สร้างโดยพระครูบาตา อดีตเจ้าอาวาสของวัดที่มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นสักองค์ ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาจึงพร้อมใจกันนุ่งขาว ห่มขาว เริ่มก่อพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตัก 32 นิ้ว ลงรักปิดทองคำเปลว ก่อนประกอบพิธีพุทธาภิเษก 1 วัน กับ 1 คืน เสร็จพอดี จึงได้ชื่อว่าพระเจ้าทันใจ เพราะทำเสร็จเร็วทันใจ หลังจากนั้นไม่ว่าใครมาตั้งจิตอธิษฐานขออะไรก็มักจะสมความปรารถนาสืบเนื่องมานานกว่า 200 ปีแล้ว

 

สำหรับงานประเพณีสำคัญของวัดพระบรมธาตุบ้านตาก ได้แก่ ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า โดยจะจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 9 ของภาคเหนือ หรือประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อเป็นการบูชาพระบรมธาตุ ภายในงานมีการจัดขบวนแห่ ทั้งขบวนกลองยาว ขบวนปัจจัยไทยทาน ขบวนต้นเงิน ขบวนต้นผ้าป่า ขบวนตุงไชย และผ้าห่มองค์พระธาตุ ชาวปีม้าควรหาโอกาสมาร่วมงานบุญนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต

ประเพณีลอยกระทงสาย

 

หรือถ้าใครจะเดินทางไปสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองจำลองช่วงปลายปี โดยเฉพาะในเทศกาลลอยกระทง ต้องหาโอกาสไปร่วมงานลอยกระทงสาย เอกลักษณ์ประจำตลาดบ้านตาก หรือกาดต้าตง ตลาดริมน้ำที่มีสะพานไม้ไผ่ให้เดินชมวิวและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก รวมถึงของกินอร่อยและงานคราฟต์น่าซื้อกลับไปเป็นของฝากอีกมากมายก็มีให้เลือกซื้อที่ตลาดนัดสุดสัปดาห์แห่งนี้ครบครัน 

 

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก จังหวัดตาก

ที่ตั้ง : ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.

โทร : 097 968 1294

Facebook : วัดพระบรมธาตุบ้านตาก

ตลาดบ้านตาก เปิดทำการวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 15:00-21:00 น. 

Facebook : กาดต้าตง บ้านตาก

 

8.

พระธาตุประจำปีมะแม (ปีแพะ)

พระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

 

“ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์” คือคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ที่ใช้มานานกว่า 34 ปีจนติดหูคนไทย ในขณะที่ พระบรมธาตุดอยสุเทพ ซึ่งแทบจะถือเป็นแลนด์มาร์กประจำเชียงใหม่ก็ว่าได้ อยู่คู่นครพิงค์แห่งนี้มานานกว่า 600 ปีแล้ว

พระบรมธาตุดอยสุเทพ

 

พระบรมธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณปี พ.ศ.1962 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย

 

เหตุผลที่วัดพระธาตุดอยสุเทพมีทำเลที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงเกิดจากการเลือกทำเลโดยช้างมงคลของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช โดยหลังจากที่พระองค์ทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก อีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล พระองค์ได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่า หากช้างเชือกนั้นหยุดลงที่ตรงใด ก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น 

พระบรมธาตุดอยสุเทพ

 

และแล้วช้างมงคลก็เลือกมาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ พระองค์จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วย “ทองจังโก” 2 ชั้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนตราบจนปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่าหากสักการะบูชาพระธาตุครบทั้ง 4 ทิศ จะทำให้มีสติปัญญาดี พระธาตุดอยสุเทพจึงเป็นที่พึ่งทางใจของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ที่นิยมมาขอพรด้านการศึกษาเล่าเรียนเป็นสำคัญ

 

ขยายความถึง “ทองจังโก” ซึ่งหากอ่านมาถึงตรงนี้จะพบว่าเป็นส่วนตกแต่งที่สำคัญขององค์พระธาตุหลายแห่ง เช่น พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ เพราะทองจังโกถือเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นล้านนา โดยหมายถึง แผ่นทองผสมโลหะหลายอย่าง เช่น ทองแดง นาก ดีบุก มักตีแผ่เป็นแผ่นบางๆ แล้วใช้ตะปูเย็บโลหะติดกับตัวพระธาตุหรือพระเจดีย์ เพื่อป้องกันองค์พระเจดีย์ด้านในที่มักทำจากดินหรือปูนไม่ให้โดนความชื้น ความร้อน หรือการกัดกร่อนจนพังเร็วเกินควร ทองจังโกจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์พระธาตุทุกแห่งมีอายุยาวนานหลายศตวรรษโดยไม่ผุพังไปก่อนเวลาอันควร

บันไดนาคเจ็ดเศียร

 

มาถึงอีกหนึ่งไฮไลท์ในการเข้าถึงจิตวิญญาณของการมาเยือนพระบรมธาตุดอยสุเทพอย่างแท้จริง นั่นคือ การเดินขึ้น บันไดนาคเจ็ดเศียร ที่มีถึง 306 ขั้น โดยบันไดนาคแห่งนี้มีความเก่าแก่ไม่แพ้ตัววัด สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2100 โดยพระมหาญานมงคลโพธิ รวมถึงวิหารรายรอบเช่นกันที่ท่านได้สร้างไว้ก่อนหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2081 สำหรับใครที่ไม่สะดวกจะเดินเอง ทางวัดมีรถรางไฟฟ้าไว้ให้บริการ ซึ่งไม่ว่าจะขึ้นไปถึงองค์พระธาตุด้วยวิธีไหน นอกจากจะได้กราบไหว้ขอพรพระธาตุสมความตั้งใจแล้ว ยังมีทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ในมุมมองที่กว้างไกลสุดสายตาเป็นอีกหนึ่งของกำนัลที่ดีต่อใจ

ขบวนแห่ในประเพณีเตียวขึ้นดอย

ที่มา : Dhammathai.org

 

หากใครเลือกเดินทางไปให้ถึงพระบรมธาตุดอยสุเทพในคืนก่อนวันวิสาขบูชา ก็จะมีโอกาสได้ร่วมงานประเพณีเตียวขึ้นดอย ซึ่งเป็นขบวนแห่น้ำสรงพระธาตุขึ้นดอยสุเทพเป็นระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร และได้นมัสการพระธาตุ เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต

 

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 9 หมู่ 9 ถนนศรีวิชัย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 14 กิโลเมตร)

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 – 20.00 น. 

โทร : 053 295 003

Facebook : วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร Doi Suthep

 

9.

พระธาตุประจำปีวอก (ปีลิง)

พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

 

พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดองค์เดียวที่ตั้งอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย โดยเหตุผลที่ได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของคติพระธาตุปีเกิด เชื่อว่าอาจเป็นเพราะความสำคัญของพระธาตุพนมที่มีมากกว่าพระธาตุองค์อื่น ๆ ในกลุ่มวัฒนธรรมลาว-ล้านช้าง ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับล้านนา และอยู่ในเครือข่ายวัฒนธรรมเดียวกัน

พระธาตุพนม

 

ความเก่าแก่ของพระธาตุพนมนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 8 และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน แต่รู้หรือไม่ว่า พระธาตุพนมองค์ปัจจุบันไม่ใช่องค์ดั้งเดิม แต่เป็นองค์ที่สร้างขึ้นใหม่ หลังจากที่พระธาตุพนมพังถล่มลงมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เนื่องจากการก่อเสริมองค์พระธาตุให้สูงขึ้นทับลงบนยอดพระธาตุเดิมในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยเหตุผลด้านการกระตุ้นความรู้สึกร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนสองฝั่งโขง

 

องค์พระธาตุพนมที่สร้างขึ้นใหม่ยึดรูปแบบที่ก่อเสริมใน พ.ศ. 2483 เป็นหลัก คือ มีความสูง 57.5 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสสร้างด้วยอิฐสูงสง่า รูปทรงคล้ายกลีบดอกบัวตูม สลักลวดลายอย่างงดงาม สร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ทั้งยังเสริมรากฐานให้แข็งแรงขึ้นด้วยเสาเข็มมาถึง 45 ต้น พร้อมกับนำเอาชิ้นส่วนอิฐที่แตกหักกลับมาประกอบใหม่ในตำแหน่งเดิมเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับได้มีการนำพระบรมสารีริกธาตุอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ที่พบหลังจากองค์พระธาตุพังทลายกลับไปบรรจุ ณ ที่เดิม ในครั้งนั้น โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในผอบทองคำเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

 

สำหรับสิ่งของที่นิยมบูชาพระธาตุพนม ได้แก่ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีแดง ธูป 6 ดอก และเทียน 2 เล่ม เชื่อกันว่าใครที่มีโอกาสนมัสการพระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง จะได้ชื่อว่าเป็นลูกพระธาตุ นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต โดยเฉพาะชาวปีวอกที่ควรหาโอกาสมาสักการะพระธาตุพนมสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งจะยิ่งพิเศษสุดหากมาในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ที่จะมีงานนมัสการพระธาตุพนม ถือเป็นงานประเพณีที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานก็ว่าได้

ขนมกะละแมร้านพรประเสริฐ

ที่มา : ร้านกาละแมพรประเสริฐ

 

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ว่ากันว่าหากไม่ได้ไปอุดหนุนหรือลองชิม เท่ากับมาไม่ถึงอำเภอธาตุพนม นั่นคือ กะละแม ร้านพรประเสริฐ กะละแมระดับตำนาน หวานหอม นุ่มอร่อย ตัวกะละแมห่อด้วยใบตองทำให้ตอนเคี้ยวจะได้กลิ่นหอมเป็นพิเศษ ทางร้านทำสดใหม่ทุกวันและขายหมดวันต่อวัน จะซื้อกินเองหรือซื้อเป็นของฝากก็รับประกันว่าต้องติดใจทุกราย ตัวร้านไม่ได้อยู่หน้าพระธาตุ แต่อยู่เส้นที่จะออกนอกเมืองไปตัวเมืองนครพนม โทรสอบถามเส้นทางหรือสั่งจองกะละแมได้ที่ โทร 042 541 012

 

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม

ที่ตั้ง : 183/13 ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 05.00 - 21.00 น.

โทร : 094 543 5888

Facebook : วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

 

10.

พระธาตุประจำปีระกา (ปีไก่)

พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

 

หากไทม์แมชชีนมีจริง และเราลองถอยเวลากลับไปในยุคสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช ราว พ.ศ. 1607 จะพบว่าหน้าตาขององค์พระบรมธาตุหริภุญชัย องค์ดั้งเดิมไม่ได้มีหน้าตาแบบนี้ แต่มีลักษณะเป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาทก่อด้วยศิลาแลง 

พระธาตุหริภุญชัย

 

การเปลี่ยนแปลงทรวดทรงพระธาตุจากฐานเหลี่ยมเป็นฐานกลม เกิดขึ้นในสมัยที่พญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้ จึงโปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ จากสถูปสี่เหลี่ยมดัดแปลงให้มีลักษณะเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบลังกา

 

กระทั่งล่วงเข้าสู่สมัยของพระเจ้าแสนเมือง ราว พ.ศ. 1951 โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ และต่อมาใน พ.ศ. 1990 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์สำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่ ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ก่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น 92 ศอก กว้างยาวขึ้น 52 ศอก จนองค์พระธาตุมีรูปร่างที่เห็นเช่นในปัจจุบัน

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

 

แต่ไม่ว่าองค์พระธาตุจะปรากฏในรูปลักษณะใดก็ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนทุกยุคสมัย เพราะภายในองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมีธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ทั้งยังถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของชาวระกา พุทธศาสนิกชนจึงนิยมเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในวันวิสาขบูชาจะมีการจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ โดยจะมีการอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากดอยมะข้อมาเข้าร่วมการสรงน้ำตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชน์องค์พระธาตุเป็นประจำทุกปี

ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์

 

วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นวัดเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปะล้านนาแบบครบเครื่อง เช่น ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์ ทางเข้าสู่เขตพุทธาวาสของวัด ที่ตรงส่วนยอดสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น ระดับลวดลายปูนปั้นชั้นครู ขนาบด้วยสิงห์แดงหนึ่งคู่ที่ยืนตระหง่านเฝ้าประตูมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชแล้ว

 

ภายในวิหารหลวงประดิษฐาน พระมหามุนีศรีหริภุญชัย พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เป็นองค์พระพุทธรูปประธาน และมีรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้ง ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นชาวลำพูน ให้สักการะบูชา

 

นอกจากนี้ การได้เดินเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอันงดงามวิจิตรอื่น ๆ โดยรอบบริเวณวัด อาทิ หอธรรมฉลุไม้ลงรักปิดทอง หอระฆัง-กังสดาล ปทุมวดีเจเดีย์ รวมถึงการได้เยี่ยมชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์เมืองแก้ว จะยิ่งทำให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของวัดเก่าแก่ศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนอย่างแท้จริง

 

 

กราบพระเสร็จแล้ว อย่าลืมเดินข้ามถนนไปเดินช้อปที่ ขัวมุงท่าสิงห์ สะพานคนเดินที่เป็นศูนย์รวมของฝากจากเมืองลำพูนแบบครบครัน ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ และผลิตภัณฑ์จากลำไย ส่วนใครที่อยากรู้จักเมืองลำพูนให้มากกว่านี้ สามารถใช้บริการนั่งรถรางเที่ยวชมเมือง แวะชมจุดสำคัญ ๆ ในตัวเมืองลำพูนจนครบ เช่น อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี, วัดจามเทวี, วัดมหาวัน, วัดพระคงฤาษี, กู่ช้าง-กู่ม้า ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หลาย ๆ คนหลงเสน่ห์เมืองเล็กน่ารักแห่งนี้และหาโอกาสกลับมาเยือนอีกแน่นอน

 

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน

ที่ตั้ง : ถนนอินทยงยศ ตำบลในเมือง อำเภอลำพูน จังหวัดลำพูน (ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูน 150 เมตร)

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 06.30 - 21.00 น.

โทร : 087 714 4448

Facebook : วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน

 

11.

พระธาตุประจำปีจอ (ปีหมา)

พระเจดีย์วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

 

ยิ่งกว่าการไปเดินทางไปชุธาตุยังประเทศอินเดียหรือพม่าของคนเกิดปีมะเส็งและปีมะเมีย ก็คือ การไปชุธาตุของชาวปีจอที่ต้องไปให้ถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะสถานที่ประดิษฐาน พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นพระธาตุประจำปีจอ 

 

โดยตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ ซึ่งพระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้แก่เจ้าเมืองต่าง ๆ เอาไว้บูชา 

และเมื่อถอดรหัสจากพุทธประวัติ ชาวล้านนาลงความเห็นว่า ชาวปีจอสามารถนมัสการ พระธาตุอินทร์แขวน ในรัฐมอญ ประเทศพม่าแทนได้ หรือจะให้ใกล้กว่านั้นก็สามารถไปนมัสการ พระเจดีย์วัดเกตการาม ได้เช่นกัน เพราะมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์นั่นเอง 

เจดีย์จุฬามณี

 

วัดเกตการาม ถือเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 1971 ในสมัยพญาสามฝั่งแกน โดยเจดีย์จุฬามณีสร้างตามแบบศิลปะล้านนาโบราณ ตกแต่งด้วยกระจกสีงดงาม ซึ่งมีความตั้งใจที่จะจำลองพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาไว้บนโลกมนุษย์นั่นเอง โดยผู้สร้างตั้งใจสร้างให้ปลายยอดเจดีย์เอนเล็กน้อย จะได้ไม่เป็นการชี้ไปยังสวรรค์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีโดยตรง ซึ่งจะถือเป็นการไม่เหมาะสม 

 

อีกหนึ่งสถานที่ภายในวัดเกตที่งดงามด้วยศิลปะแบบโบราณ ได้แก่ พระอุโบสถ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ซึ่งแม้จะปิดไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม จะเปิดใช้เฉพาะในงานพิธีอุปสมบทเท่านั้น แต่การได้ชมการตกแต่งโดยรอบพระอุโบสถด้านนอกก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว โดยมีทั้งลายสลักไม้รูปเทพพนมสีทอง ลวดลายปูนปั้นเป็นรูปกิเลน มังกร ปลา และต้นไม้แบบจีนที่หาชมได้ยาก รวมทั้งพญานาคสองตัวที่ดูราวกับเลื้อยออกมาจากผนังโบสถ์ที่ถือเป็นงานศิลป์อันยากจะลอกเลียน

พระอุโบสถวัดเกต

 

ส่วนใครที่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็ควรหาโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม ตัวอาคารเป็นเรือนไม้ซึ่งเดิมเคยเป็นกุฏิของอดีตเจ้าอาวาส ที่คณะกรรมการชุมชนคัดค้านการรื้อทิ้งหลังสร้างกุฏิหลังใหม่ แล้วดำเนินการปรับปรุงบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน เก็บรวบรวมสมบัติดั้งเดิมของวัดและของเก่าแก่ที่ชาวบ้านนำมาบริจาคเอาไว้เป็นอย่างดี อาทิ พระพุทธรูป ช่อฟ้า ใบระกาซึ่งเป็นไม้แกะสลัก ถ้วยชามฝาจีบ ภาชนะต่าง ๆ อาวุธโบราณ เสื้อผ้าของชาวล้านนา และภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ในอดีตที่บอกเล่าความเป็นมาของบ้านเมืองแถบนี้ได้อย่างมีสีสัน

สะพานจันทร์สมอนุสรณ์พาดผ่านแม่น้ำปิง

 

อิ่มบุญเสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาอิ่มท้องและอิ่มใจกับการเดินทัวร์ให้ทั่วตลอดเส้นทางเลียบน้ำปิง ซึ่งย่านวัดเกตเป็นหนึ่งในย่านท่องเที่ยวยอดนิยมประจำเมืองเชียงใหม่ เพราะสามารถมาเที่ยวได้ตั้งแต่ก่อนเที่ยงวันยันหลังเที่ยงคืน มีครบจบทั้งบ้านเรือนเก่าแก่ที่อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี แกลเลอรี คาเฟ่ ร้านอาหารผับบาร์เจ้าดังดั้งเดิมอย่าง The Riverside, Goodview และร้านชาเวียงจูมออน ก็อยู่บนถนนเส้นนี้ หรือจะเดินข้าม สะพานจันทร์สมอนุสรณ์ (ขัวแขก) ไปซื้อของฝากที่กาดวโรรสก็ครบเครื่องไปอีกแบบ

 

วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง : 96 ถนนเจริญราษฎร์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.

โทร : 053 243 550

Facebook : วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

 

 

12.

พระธาตุประจำปีกุน (ปีหมู)

พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

 

ปิดท้ายด้วยปฐมเจดีย์แห่งอาณาจักรล้านนาอย่าง พระธาตุดอยตุง ซึ่งอยู่คู่ดอยสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรแห่งนี้มานานเกิน 1,000 ปี สำหรับที่มาของชื่อพระธาตุดอยตุงก็เก่าแก่ย้อนกลับไปไกลถึงเมื่อครั้งที่พระมหากัสสปะได้ทรงปักธงตะขาบ (ตุง) ที่มีความยาวถึงพันวาไว้บนยอดดอย ณ บริเวณที่เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า เพื่อไม่ให้ใครไปเหยียบย่ำรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ลึกลงไปใต้ดิน 8 ศอก หรือประมาณ 4 เมตร

 

ส่วนเหตุผลที่พระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุประจำปีกุน เพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังรายที่เป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ประสูติในปีกุนนั่นเอง

พระธาตุดอยตุง

 

เอกลักษณ์ของพระธาตุดอยตุง คือ เป็นเจดีย์ 2 องค์คู่กันในรูปแบบทรงปราสาทยอดทรงระฆังกลมขนาดเล็ก ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม กรุกระเบื้องดินเผา ลงรักปิดทองด้วยทองเหลืองอร่าม โดยแต่เดิมนั้นพระธาตุดอยตุงมีองค์เดียว สร้างโดยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ ที่ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้าที่ได้รับมอบจากพระมหากัสสปะมาประดิษฐานในเจดีย์องค์ปฐมบนดอยตุง ราว พ.ศ. 1 ซึ่งตรงตามพระทำนายของพระพุทธเจ้าที่เคยเสด็จมายังดอยดินแดงแห่งนี้ และกล่าวกับพระอานนท์ว่า หลังพระองค์ปรินิพพาน ให้พระมหากัสสปะนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่นี่

 

ผ่านไปอีกร้อยปี พระเจ้าอชุตราชเสด็จสวรรคต และพระเจ้ามังรายนราช ผู้เป็นพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อใน พ.ศ.100 ซึ่ง ณ เวลานั้นได้มีพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อพระวชิรโพธิเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากถ้ำสัตตบรรณคูหามาสู่โยนกนครจำนวน 150 องค์ พระเจ้ามังรายนราชจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวมาบรรจุในเจดีย์องค์ที่สองที่สร้างขึ้นเคียงข้างเจดีย์ที่พระบิดาได้ทรงสร้างขึ้น จึงเป็นที่มาของพระธาตุดอยตุงที่เคียงคู่กันมานานเกือบ 2,500 ปีนั่นเอง

 

ในสมัยต่อมา อาณาจักรโยนกนครล่มสลายกลายเป็นเมืองร้าง พระธาตุดอยตุงขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ ตัวพระธาตุจึงทรุดโทรมลงมาก จนกระทั่งเกิดการบูรณะพระธาตุดอยตุงครั้งสำคัญขึ้น เมื่อ ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ได้เดินทางจาริกแสวงบุญขึ้นมาถึงพระธาตุดอยตุง จึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุดอยตุงในปี พ.ศ. 2470 โดยได้มีการสร้างพระธาตุองค์ปัจจุบันครอบพระธาตุองค์เดิม พร้อมทั้งได้ ครูบาชุ่ม โพธิโก แห่งวัดวังมุย จังหวัดลำพูน ร่วมสร้างทางขึ้นดอยตุงเป็นระยะทาง 17 กิโลเมตรให้สาธุชนรุ่นหลังได้เดินทางไปสักการะพระธาตุดอยตุงสะดวกตราบจนทุกวันนี้

บริเวณปักตุง ณ จุดประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า

 

จากเส้นทางจาริกแสวงบุญครูบาศรีวิชัยที่ทำให้พระธาตุดอยตุงกลับมาเป็นมิงขวัญของชาวล้านนาอีกคร้ง ได้ก่อให้เกิดประเพณีสำคัญของชาวเชียงราย นั่นคือ การเดินจาริกแสวงบุญ “เตียวขึ้นดอย ตามฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ในราวเดือนมีนาคมของทุกปี ชาวปีกุนคนไหนอยากได้อานิสงส์แรงกล้าจากกำลังขาของตนเองควรหาโอกาสร่วมประเพณีเดินขึ้นดอยตุงสักครั้งในชีวิต

 

นอกจากนี้ ในวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ นิยมเดินทางมานมัสการพระธาตุดอยตุงกันอย่างเนืองแน่น 

ดอกไม้เมืองหนาวในสวนแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง

 

ส่วนใครที่วางแผนเดินทางไปสักการะพระธาตุดอยตุงในฤดูหนาว บรรยากาศรอบองค์พระธาตุจะสวยงามเป็นพิเศษ เพราะถูกหมอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณ ทั้งยังสามารถไปเที่ยวสถานที่ใกล้เคียงได้อีกเพียบ เช่น เยี่ยมชมพระตำหนักดอยตุงพร้อมถ่ายภาพดอกไม้เมืองหนาวแสนสวย จิบกาแฟสดจากไร่ดอยตุง ช้อปของกินของฝากจากชาวบ้านท้องถิ่นในกาดดอยตุง ฯลฯ 

 

วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

ที่ตั้ง : ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 46 กิโลเมตร)

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 8.00-16.30 น

โทร : 053 767 015 - 7

Facebook : วัดพระธาตุดอยตุง

 

อ้างอิง

  • Museumthailand. วัดโพธารามมหาวิหาร. https://bit.ly/3Pvs5xW
  • SummerB. ไหว้พระ วัดพระธาตุศรีจอมทอง อิ่มบุญ เสริมสิริมงคล ประจำปีเกิด ปีชวด. https://bit.ly/45crLK9
  • กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทอง ศรัทธาพระบรมสารีริกธาตุ ความพิเศษที่ต่างจากองค์อื่น. https://bit.ly/450L4WU
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. วัดพระธาตุลำปางหลวง. https://bit.ly/3RysxOu
  • Museumthailand. รถม้าเมืองลำปาง. https://bit.ly/48s57k0
  • ปิ่น บุตรี. “พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุปีขาล สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่เมืองแพร่ คนเกิดปีเสือไหว้จะได้อานิสงส์สูงล้น. https://bit.ly/46km2mC
  • ปิ่น บุตรี. เสริมสิริมงคล ไหว้ “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุปีไก่ ศูนย์รวมใจแห่ง “ลำพูน”. https://bit.ly/3EQ8l38
  • ลานธรรมจักร. ทองจังโก : ความงามบนพระเจดีย์ เอกลักษณ์แห่งล้านนา. https://bit.ly/3RRU267
  • มติชนสุดสัปดาห์. วัดพระธาตุแช่แห้ง อนุสรณ์ของความสัมพันธ์ ‘เมืองน่าน-เมืองสุโขทัย’ ในอดีต. https://bit.ly/3ri9my0
  • Nukkpidet. วัดพระบรมธาตุ พระธาตุประจำปีเกิดมะเมีย ชมประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า ชื่อดัง เมืองตาก. https://bit.ly/465oM7O
  • Topchiangmai. พระธาตุปีจอที่วัดเกตการาม วัดงามใกล้น้ำปิง. https://bit.ly/3EUgHXI
  • ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. วัดพระสิงห์. https://bit.ly/3tovc3b
  • ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. พระธาตุพนม. https://bit.ly/3LKXmvM
  • พระครูอินเดีย. พระธาตุดอยตุง ฉบับเต็ม. https://bit.ly/48GzP8Y
  • มติชนออนไลน์. ตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย พสกนิกรร่วมเดินจาริกแสวงบุญขึ้นดอยตุงคึกคัก. https://bit.ly/48HunD5

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...